ญี่ปุ่นออกนโยบาย Shining Monday อนุญาตให้ พนง. มาสาย ชิลได้ในวันจันทร์


           รัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบาย วันจันทร์สดใส กระตุ้นให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างมาทำงานสายได้เป็นพิเศษในวันจันทร์ เพื่อจะได้เริ่มสัปดาห์ใหม่อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น และลดความความเครียดลง

           เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ได้ออกนโยบาย "วันจันทร์สดใส" (Shining Monday) กระตุ้นให้นายจ้างอนุญาตให้พนักงานสามารถมาทำงานสายได้เป็นพิเศษในวันจันทร์แรกของเดือน เพื่อให้ประชากรวัยทำงานสามารถเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและไม่ต้องรีบร้อน เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างเคร่งเครียด ผู้คนมากมายทำงานติดต่อกันจนดึก และมีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเพราะการทำงานหนัก
           
           ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ทางการญี่ปุ่นได้มีการออกนโยบายคล้าย ๆ กับ "วันจันทร์สดใส" มาแล้ว นั่นก็คือ นโยบาย "วันศุกร์ดีเยี่ยม" (Premium Friday) ซึ่งอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถเลิกงานได้เร็วกว่าปกติในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับไปใช้เวลาร่วมกับครอบครัว หรือไปทำธุระส่วนตัวต่าง ๆ ก่อนพักผ่อนในวันเสาร์อาทิตย์ แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายวันศุกร์ดีเยี่ยมกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

           ประชากรวัยทำงานที่ปรับตัวตามนโยบายวันศุกร์ดีเยี่ยม มีจำนวนแค่  11.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากวันศุกร์สิ้นเดือนคือวันที่วุ่นวายที่สุด หลาย ๆ บริษัทต้องสะสาง หรือสรุปงานต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น พนักงานที่มีงานล้นมือจึงไม่สามารถกลับบ้านเร็วได้ บริษัทผู้จ้างงานเองก็ไม่ประทับใจนโยบายนี้เช่นกัน

           หลังจากที่ นโยบายวันศุกร์ดีเยี่ยมล้มเหลว รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายวันจันทร์สดใสมาแทนที่ และได้ทำการทดลองใช้ที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ก่อน เพื่อตรวจสอบประเมินความคิดเห็น ข้อดี-ข้อเสีย ต่าง ๆ ก่อนนำไปบังคับใช้จริง โดยวันแรกที่เริ่มทดลองใช้คือวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งหมด เดินทางมาทำงานหลังพักกลางวันไปแล้ว เริ่มต้นทุกอย่างช่วงบ่ายทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะหายไปหลายร้อยคนในตอนเช้า มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินงานของกระทรวงแต่อย่างใด

ข่าวจาก : กระปุกดอทคอม
https://hilight.kapook.com/view/177129

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่