ลูกจ้างมีเฮ! คลังบังคับบริษัทมีพนักงาน 100 คน ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

https://moneyhub.in.th/article/provident-fund-new-rule/

    เฮกันให้สุดเสียง สำหรับพนักงานเอกชนที่บริษัทมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เตรียมรับสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคตการเงินที่สดใสหลังวัยเกษียณ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเผยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. โดยสาระสำคัญของกฎหมายจะบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2561
region4.prd.go.th
region4.prd.go.th

สำหรับการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนั้น ปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเป็นการให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบฝ่ายละ 3% ใน 3 ปีแรก จากนั้นจะเพิ่มเป็นฝ่ายละ 5% และ 7% ตามลำดับในช่วงเวลาต่อไป ส่วนลูกจ้างคนใดที่มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างเป็นผู้จ่ายแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะถือว่าลูกจ้างยังมีรายได้น้อยอยู่

    ส่วนใครที่กังวลว่า การจ่ายเงินสมทบจะสร้างภาระให้มากขึ้นหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ ปลัดกระทรวงฯ ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่เป็นปัญหาหนักให้ทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้าง เพราะผู้ประกอบการจะเป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีกำลังความสามารถในการจ่ายเงินสมทบนี้ได้ โดยไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ และประจวบเหมาะที่ในปี 2561 ลูกจ้างก็มีภาระเรื่องการเสียภาษีน้อยลงอยู่แล้วตามผลบังคับใช้ กระทรวงการคลังจึงอยากให้นำภาระภาษีที่ลดลงมาเป็นเงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณจะดีกว่า

banner_webheader-
เข้าใจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันหน่อย

ลูกจ้างหลายคนอาจรู้สึกว่า การที่ต้องถูกหักเงินจำนวนหนึ่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหมือนกับไม่ได้รับเงินเดือนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หากพิจารณาให้ดีเงินที่ถูกหักจะช่วยให้ชีวิตบั้นปลายของคุณมีความมั่นคง และสุขสบายนั่นเอง มาทำความเข้าใจกันสักนิดว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ประโยชน์กับลูกจ้างอย่างเราๆ มากแค่ไหน

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งในรูปแบบการออมเงินระยะยาวที่ลูกจ้างกับนายจ้างทำร่วมกัน โดยที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างตัดเงินเดือนส่วนหนึ่งไปเป็น “เงินสะสม” เข้ากองทุนฯ และนายจ้างก็จ่าย “เงินสมทบ” อีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนของลูกจ้าง โดยต้องสมทบให้ไม่ต่ำกว่าอัตราเงินสะสมของลูกจ้าง หรือจะสมทบให้มากกว่าก็ได้

2.กรณีที่ลาออกจากบริษัท ลูกจ้างจะได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายเข้ากองทุนคืนเต็มจำนวน รวมกับเงินสมทบจากนายจ้างตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ เช่น

    อายุงานน้อยกว่า 1 ปี จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง ร้อยละ 10
    อายุงานตั้งแต่ 1-5 ปี จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง ร้อยละ 50
    อายุงานตั้งแต่  5 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง ร้อยละ 100
    แต่หากลูกจ้างไม่สะสมต่อ แล้วลาออกจากกองทุนไป เงินจำนวนนี้จะถูกนำมาคิดคำนวณภาษีในปลายปี

3.หากลูกจ้างมีอายุเกิน 55 ปี หรือกลายเป็นผู้พิการ หรือเสียชีวิต เงินกองทุนนี้สามารถเบิกออกมาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

4.กรณีเปลี่ยนงานใหม่ที่มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถโอนเงินส่วนนี้ไปสะสมต่อกับที่ทำงานใหม่ได้
นับเป็นข่าวดีอีกครั้ง ที่สร้างความชื่นฉ่ำใจให้พนักงานภาคเอกชนได้มีพลังในการทำงาน เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นสวัสดิการที่ดีสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่การันตีถึงการมีเงินออมหรือเงินใช้ในชีวิตบั้นปลายวัยเกษียณอย่างแน่นอนนั่นเอง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่