10 หนังฮาร์ดไซไฟ (Hard Sci-Fi) ยอดเยี่ยมตลอดกาล


หนังฮาร์ดไซไฟ (Hard Sci-Fi) คือหนังที่มีการเซ็ทองค์ประกอบโดยรวมที่ดูสมจริง และให้ความสำคัญถึงการอ้างอิงและหาข้อพิสูจน์ด้วยหลักการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแก่นความคิดหรือเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหนังอาจเกิดขึ้นแล้วในยุคปัจจุบันหรือมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต โดยหนังฮาร์ดไซไฟจะมีความคาบเกี่ยวกับหนังซอฟท์ไซไฟ (Soft Sci-Fi) ที่แม้จะหนักแน่นด้วยความสมจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่ต่างกันแต่ตัวหนังมักสอดแทรกด้วยแอคชั่นผจญภัยเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูผ่อนคลายกว่าการตรึงด้วยโทนดราม่าเน้นนำเสนอกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งการแบ่งแยกหนังทั้งสองประเภทให้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์จึงดูเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันหนังบางเรื่องยังเกิดข้อถกเถียงถึงโทนหนังหรือความสมจริง เเละท้ายที่สุดแล้วต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์และดุลพินิจของผู้เขียน เเน่นอนว่าหากเกิดข้อผิดพลาดประการใดขึ้นทางผมเองก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย...
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. Contact (1997)

ช่วงศตวรรษที่ 20 อาจมีเพียง Contact ซึ่งเป็นหนังไซไฟที่เล่นไอเดียการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวได้อย่างสมจริงที่สุดนับตั้งแต่ Close Encounters of the Third Kind โดยวางปมเกี่ยวกับเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคลื่นสัญญาณวิทยุปริศนาจากนอกโลก และโฟกัสไปยังตัวละครที่รับบทโดย Jodie Foster หัวหน้าทีมถอดรหัสที่ใช้หลักการของตัวเลขคณิตศาสตร์เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การค้นพบพิมพ์เขียวสำหรับสร้างยานอวกาศ แม้หนังจะมุ่งเน้นการหาคำตอบด้วยหลักวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่นั้นคืออะไร แต่บางอย่างก็ไม่อาจหาคำตอบได้ด้วยหลักของเหตุผลและข้อพิสูจน์ตามหลักวิชาการ ซึ่งมันก็ไปสู่การตั้งคำถามเชิงปรัชญาให้คนดูได้กลับไปขบคิดกัน








9. The Martian (2015)

คงเรียกได้ว่าเป็นผลงานดีที่สุดของ Ridley Scott ในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษนับจาก American Gangster กับหนังไซไฟอวกาศที่สมจริงด้วยหลักวิทยาศาสตร์และนำเสนอในรูปแบบหนังเซอร์ไววัลได้อย่างน่าติดตาม โดยวางปมเกี่ยวกับหนุ่มนักพฤกษศาสตร์ที่ประสบอุบัติภัยจากพายุลูกยักษ์และติดค้างบนดาวอังคาร ซึ่งประเด็นสำคัญคือเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดบนดาวที่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว ความแห้งแล้ง ไร้ซึ่งน้ำและอาหาร โดยหนังมุ่งนำเสนอชีวิตประจำวันของตัวละครที่ค่อยๆคิดค้นและลองผิดถูกกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผลิตน้ำและปลูกมันสําปะหลังเพื่อประทังชีวิต ขณะเดียวกันก็ได้แต่หวังว่าความช่วยเหลือจากโลกจะมาถึงในเร็ววัน








8. Gravity (2013)

รูปแบบหนังเซอร์ไววัลที่ซัทอัพเรื่องราวอยู่นอกอวกาศ และมีองค์ประกอบความเป็นไซไฟสมจริงที่สุดเรื่องหนึ่งนับจาก 2001: Space Odyssey ซึ่งการันตีได้จาก 7 รางวัลออสการ์ที่เหมารวมด้านงานภาพ เสียง และเทคนิคพิเศษ อีกทั้งผู้กำกับอย่าง James Cameron ยังเคยให้สัมภาษณ์กับทาง Variety ไว้ว่า "เป็นหนังไซไฟอวกาศที่มีงานภาพยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา" โดยวางพล็อตง่ายๆเกี่ยวกับวิศวกรสาวกับนักบินอวกาศที่ประสบวินาศภัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศ และโฟกัสไปยังการเอาชีวิตรอดของตัวละครภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ที่ค่อยๆปลดปล่อยความตึงเครียดของตัวละครและสร้างความลุ้นระทึกจากสถานการณ์บีบคั้นได้อย่างสมจริง








7. Moon (2009)

หนังฮาร์ดไซไฟจากทุนสร้างเพียง 5 ล้านเหรียญ ที่อัดแน่นด้วยคุณภาพของตัวบทจากการวางปมที่น่าเชื่อถือและเชื่อมโยงไปยังพล็อตทวิสต์ได้อย่างมีชั้นเชิง โดยเล่นประเด็นการขาดแคลนทรัพยากรที่นำไปสู่การส่งมนุษย์ไปนอกโลกเพื่อแสวงหาแหล่งอารยธรรมใหม่ และหนังโฟกัสไปยังชายคนหนึ่งซึ่งทำงานบนดวงจันทร์และกำลังจะได้กลับโลกหลังหมดสัญญาจ้างกับบริษัทต้นสังกัด โดยยอดเยี่ยมของหนังจะเป็นการเล่นกับความรู้สึกของตัวละครที่ค่อยๆนำเสนอเรื่องราวที่ดูเป็นปกติกับกิจวัตรที่ต้องทำซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละวัน ก่อนเกิดจุดหักเหสำคัญในช่วงกลางเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจและบรรยากาศของหนังที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง








6. Ex Machina (2015)

หัวใจสำคัญที่ Alex Garland เคยสะท้อนผ่านงานเขียนบทหนังไซไฟอย่าง Never Let Me Go เป็นการตั้งแง่ด้านคุณธรรมและจริยธรรมผ่านเหล่ามนุษย์โคลน หรือย้อนไปที่ 28 Days Later ก็เคยสำรวจความเป็นมนุษย์ภายใต้ฉากหลังของโลกล่มสลาย ซึ่ง Ex Machina เป็นงานกำกับเรื่องแรกที่ยังคงไว้ซึ่งประเด็นสำคัญจากงานเขียนบทเรื่องก่อนๆ แต่จะพาไปสำรวจในระดับที่ลึกกว่าเดิมโดยตั้งคำถามความเป็นมนุษย์ต่อปัญญาประดิษฐ์ และวางพล็อตเกี่ยวกับหนุ่มโปรแกรมเมอร์และผู้บริหารบริษัทซอร์ฟแวร์ที่กำลังทำวิจัยหุ่นปัญญาประดิษฐ์ภายในห้องแลปลับ ซึ่งจุดสำคัญของหนังคือการสำรวจความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์ที่ค่อยๆแสดงถึงความชัดเจนผ่านการโต้ตอบบทสนทนาและความคิดโดยเบื้องลึก ที่นำไปสู่ไคลแม็กซ์ที่สร้างความตระหนักถึงเส้นแบ่งความเป็นมนุษย์และหุ่นยนต์








5. Interstellar (2014)

หนังไซไฟอวกาศแบบฉบับของ Christopher Nolan ที่อัดแน่นด้วยหลักการและศัพท์เทคนิคทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพและกฎของเมอร์ฟีเป็นแก่นสำคัญของเรื่อง โดยหนังเล่าถึงโลกที่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกิดผลกระทบร้ายแรงในวงกว้าง ทางนาซ่าจึงหาทางออกโดยการเดินทางสู่อวกาศเพื่อแสวงหาแหล่งอารยธรรมใหม่ให้กับมนุษยชาติ นำทีมโดยหนุ่มชาวไร่ผู้เป็นอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเรื่องราว โดยเฉพาะพาร์ทความสัมพันธ์พ่อลูกที่ไม่เพียงแต่ใช้การจากลาอันแสนเศร้าเพื่อสร้างมิติให้กับตัวเนื้อหา แต่ยังต่อยอดไอเดียด้วยหลักทางฟิสิกส์ที่นำไปสู่การเปิดเผยความจริงโดยการเชื่อมโยงปมปริศนาที่ถูกวางไว้ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ








4. Gattaca (1997)

การเขียนบท Andrew Niccol นอกจากมีไอเดียที่สมจริงและดูจับต้องได้ ยังสะท้อนไปถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถูกอธิบายด้วยแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ โดยหนังสร้างโลกที่พันธุกรรมกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ชนชั้นทางสังคมและมนุษย์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พวกยีนเด่นและยีนด้อย ซึ่งหนังวางปมโดยให้ตัวเอกที่รับบทโดย Ethan Hawke เป็นพวกยีนด้อยและโฟกัสไปยังเป้าหมายในการเป็นนักบินอวกาศ และจุดสำคัญของหนังคือมนุษย์ยีนด้อยที่ถูกมองว่าเป็นพวกอ่อนแอและเป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมได้ถูกปิดกั้นจากสังคมชั้นสูงและนักบินอวกาศก็เป็นอาชีพที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่ทว่าความมุ่งมั่นที่แรงกล้าของตัวเอกที่พยายามฝึกฝนร่างกายและเรียนรู้สิ่งต่างๆเพื่อเอาชนะเส้นแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ ก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญจากชายคนหนึ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล








3. Blade Runner (1982)

แม้จะล้มเหลวด้านรายได้ในช่วงออกฉาย แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว่านี่คือหนึ่งในหนังไซไฟดีที่สุดตลอดกาล กับการพูดถึงแก่นของศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ ภายใต้การเซ็ทองค์ประกอบของโลกอนาคตที่ดูสมจริง โดยวางปมเกี่ยวกับ 'เรพลิแคนท์' หรือเหล่ามนุษย์เทียม 4 ตนที่หลบหนีมายังโลก ทำให้ 'เบลดรันเนอร์' หรือตำรวจพิเศษ ต้องออกตามล่าเพื่อทำการปลดระวางพวกมัน ซึ่งส่วนผสมของหนังฟิล์มนัวร์เป็นอีกจุดที่ต่อยอดประเด็นด้านศีลธรรมได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดกับตัวเอกที่รับบทโดย Harrison Ford ที่ดูเป็นคนเย็นชา ไม่เชื่อใจใคร และโฟกัสเฉพาะภารกิจของตนเอง แต่การได้พบกับเรพลิแคนท์สาวรายหนึ่ง กลับมาสร้างความปั่นป่วนในจิตใจและกลายเป็นจุดพลิกผันทางความคิดของตัวละคร








2. Solaris (1971)

หนังไซไฟที่อัดแน่นด้วยทฤษฎีเชิงวิทยาศาสตร์ และนำเสนอในเชิงปรัชญาที่ลึกระดับเดียวกับ 2001: A Space Odyssey ที่จะเด่นกว่าในแง่องค์ประกอบความเป็นไซไฟ แต่ขณะที่ Solaris จะเข้าไปสำรวจแก่นแท้ของเนื้อหาผ่านจิตใจของตัวละครได้ชัดเจนยิ่งกว่า ซึ่งหนังเปิดเรื่องด้วยนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่กำลังยืนครุ่นคิดท่ามกลางธรรมชาติเป็นเวลานาน เสมือนให้คนดูเตรียมรับมือกับความเรียบนิ่งอันยืดยาวที่กำลังตามมา ก่อนจะตัดให้เห็นปมสำคัญของเรื่องที่นักจิตวิทยาถูกส่งไปยังดาวเคราะห์โซลาริสเพื่อเก็บข้อมูลและไขปริศนาถึงสิ่งที่นักบินอวกาศเคยเผชิญว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอาการทางจิตหรือไม่ โดยไฮไลท์สำคัญก็อยู่ในช่วงครึ่งหลังที่นักจิตวิทยาต้องต่อสู้กับรากเหง้าของความเจ็บปวดที่สะท้อนออกมาในเชิงรูปธรรม








1. 2001: A Space Odyssey (1968)

นับเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อสำหรับหนังยุค 60 กับการเซ็ทองค์ประกอบและเทคนิคงานภาพที่นำเสนอความเป็นไซไฟที่ดูสมจริง ทั้งยังสะท้อนความลับของจักรวาลที่ย้อนไปถึงยุคบรรพชนโดยเล่าผ่านจังหวะเรียบนิ่ง เน้นภาษาภาพที่จะให้คนดูค่อยๆคิดวิเคราะห์และตกผลึกถึงแก่นแท้ของหนัง ด้วยเหตุผลดังกล่าวก็ไม่น่าแปลกใจที่หนังจะถูกยกย่องว่าเป็นหนังไซไฟดีที่สุดตลอดกาล โดยหนังเปิดเรื่องด้วยการปรากฏของโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ พร้อมกับฝูงลิงที่กำลังฟาดฟันกันด้วยแท่นกระดูก ก่อนตัดภาพไปยังสถานีอวกาศกับการค้นพบแท่งสีดำปริศนาที่จะนำไปสู่วิวัฒนาการของมนุษยชาติ
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังทั่วไปเเละซีรีส์(โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี)



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่