การเข้าสู่นิโรธสมาบัติ

การเข้าสู่นิโรธสมาบัติ

    มีครูบาท่านหนึ่งอยู่ทางภาคเหนือ บำเพ็ญพระกรรมฐานในถ้ำ ได้ประกาศตัดทางโลก ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน เข้ากรรมฐานบำเพ็ญในถ้ำ ไม่พบใคร และไม่ให้ใครพบ ท่านฉันแต่ผลไม้ น้ำดื่ม นม รวมทั้งขนมปัง หากต้องการสิ่งใด พระครูบาก็จะเขียนจดหมายทิ้งไว้หน้าประตู

    พอครูบาออกมาจากถ้ำนั้นผมยาว เป็นเพราะอยู่คนเดียว ไม่มีใครปลงผมให้ เมื่อออกมาก็จะปลงผมตามปกติ ส่วนที่ไม่มีหนวดเครานั้น เพราะเป็นคนไม่มีขน ไม่มีหนวดเครา  การทำเช่นนี้ไม่ใช่การขังตัวเอง เพราะตลอด ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน ตนยังสามารถเดินออกมาเข้าห้องน้ำ สรงน้ำ ทั้งยังซักจีวรในพื้นที่กลางแจ้งได้ ไม่ใช่ว่าตนเองจะจำศีลโดยไม่เห็นเดือนเห็นแสงตะวัน

    ท่านถือหลักเหมือนกับพระพุทธเจ้าตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็จะเป็นคล้ายๆ อย่างนี้ คนเราต้องผ่านอย่างนี้ ผ่านความทุกข์ตรงนั้นถึงจะมาสำเร็จ ถึงจะมารับรู้ความจริงคืออะไร ไม่ใช่ว่า ฟังแต่ฟังแล้วก็รู้ เราต้องเข้าสมาบัติ

    การเข้าสมาบัติคือการเข้าไปทดสอบความจริง ถึงจะเรียกว่า เข้าสู่สมาบัติ เขาประกาศชัดเจน เป็นเส้นทางปฏิบัติ คือ ท่านกำลังทำอยู่ ท่านไม่ได้บอกว่าท่านสำเร็จเป็นอะไร ถ้าจะเป็นการอวดอ้าง เราก็อย่าไปเชื่อ เรื่องก็จบ ท่านจะทำอย่างไรไปจะเป็นยังไงก็เป็นเรื่องของท่าน ทุกคนต้องผ่านอะไรบางอย่าง แล้วล้มเหลว แล้วถึงจะขึ้นมาใหม่ได้ เราต้องพิสูจน์ทราบ ว่าจริงอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทุกข์อย่างนั้นจะเป็นยังไง เราเรียกว่า สมาบัติ คือเข้าไปสัมผัสความจริง

    สมาบัติ คือ เข้าไปพิสูจน์ความจริง ภาวะการณ์ตรงนั้น เรียกว่า สมาบัติ

    สำหรับความหมายที่คณาจารย์ต่างๆ อธิบายมีดังนี้

    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านกล่าวว่า สมาบัติ ๘ (คุณวิเศษเป็นที่อันบุคคลเข้าถึง หรือ ธรรมวิเศษที่ควรเข้าถึง, การบรรลุขั้นสูง — attainment) ได้แก่ ฌาน ๘ คือ รูปฌาน ๘ และ อรูปฌาน ๔

    พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ท่านกล่าวว่า

    สมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงฌาน, การบรรลุฌาน, ธรรมที่พึงเข้าถึงฌาน

    สมาบัติ โดยทั่วไปหมายถึงทั้งฌานและการเข้าฌาน ที่กล่าวว่า เข้าสมาบัติ ก็คือ เข้าฌาน นั่นเอง

    สมาบัติ มี ๘ อย่าง เรียกว่า สมาบัติ ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔, เรียกแยกว่า รูปสมาบัติ อรูป สมาบัติ เรียกรวมว่า ฌานสมาบัติ

    สมาบัติ อีกอย่างหนึ่งคือ นิโรธสมาบัติ หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งละเอียดสุขุมกว่าอรูปฌาน เมื่อรวมกับสมาบัติ ๘ ข้างต้นก็เป็น ๙ มีคำเรียกต่างหากว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ

    พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า สมาบัติ [สะมาบัด] น. ภาวะที่จิตสงบประณีต, คุณวิเศษที่เกิดจากการที่จิตเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่, การบรรลุคุณวิเศษชั้นสูงด้วยอำนาจของการเข้าสมาธิ, มีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ ฌาน เป็น ฌานสมาบัติ มี ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔. (ป., ส. สมาปตฺติ).    

    สมาบัติก็คือเป็นความรู้ ความเป็นปัญญา ต้องเข้าไปสู่ความเป็นปัญญาว่าตรงนั้นผิดถูกยังไง อะไร

    ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่พบคำว่า "จริงแท้หนอ" ถ้าเราไม่ค้นพบจริงแท้หนอแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร คือ ไม่ประจักษ์ จิตของเราไม่ประจักษ์แล้วเราจะซึ้งยังไง แต่จิตเรายังไม่ประจักษ์ก็จบตรงนั้น

    เราเอาพริกมาแล้วบอกว่าเผ็ดๆๆๆ เราไม่ได้เอาเข้าปากกิน เราก็ไม่รู้อยู่ดี จริงไม่จริง แค่ไหน แล้วเรารอดได้มั้ยจากตรงนั้น


ความหมายนิโรธสมาบัติ

    พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า นิโรธสมาบัติ น. การเข้าสู่นิโรธ เป็นวิธีพักผ่อนของพระอรหันต์.

    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านกล่าวว่า นิโรธสมาบัติ การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญา ความจำได้หมายรู้ และเวทนา การเสวยอารมณ์ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ, พระอรหันต์และพระอนาคามีที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงจะเข้านิโรธสมาบัติได้ (ข้อ ๙ ใน อนุปุพพวิหาร ๙)

    พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ท่านกล่าวว่า นิโรธสมาบัติ แปลว่า การเข้านิโรธ, การเข้าถึงความดับ หมายถึงการเข้าถึงความดับสัญญา (ความจำ) และเวทนา (ความรับอารมณ์) ทั้งหมด ซึ่งสามารถดับได้ถึง ๗ วัน เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติ เรียกย่อว่า เข้านิโรธ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

    นิโรธสมาบัติ ต้องเป็นพระอรหันต์และพระอนาคามีผู้ได้สมาบัติ ๘ จึงจะสามารถเข้าได้ ถือกันมาว่าผู้ได้ถวายอาหารแด่พระสงฆ์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติมื้อแรกจะได้รับอานิสงส์ในปัจจุบันทันตา ทั้งนี้เพราะเป็นอาหารมื้อสำคัญหลังจากที่ท่านอดมาถึง ๗ วัน ร่างกายจึงต้องการอาหารมากเป็นพิเศษ

    คนเรามรรค ใครๆก็จะสามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้ถึงตรงนั้น เราบอกว่าเราจะไปเชียงราย ใครๆ ก็สามารถไปเชียงรายได้ ไม่ใช่ว่าเราอยู่แม่จันแล้วบอกว่าเราไปถึงเชียงรายแล้ว อย่างนี้แหละท่านหลอกเราแล้ว แต่เส้นทางพหลโยธินนี้ใครๆ ก็เดินทางไปได้ เราจะไปห้ามไม่ให้เดินถนนสายนี้ก็ไม่ได้ เราจะประกาศว่าเส้นทางนี้จากแม่สายไปเชียงราย เหมือนกัน เส้นทางนี้นำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ แต่เขาไม่ได้ประกาศว่าตนเองเป็นพระอรหันต์แล้วมันผิดตรงไหน แต่ทุกคนต้องเดินทางนี้ แล้วท่านเดินทางนี้แล้วจะบอกว่าท่านผิดได้ยังไง

    แม่สาย ไปเชียงราย เส้นทางนี้แหละ แล้วเรามาบอกว่า คุณเดินไม่ได้ มันผิด ต้องพระอรหันต์เท่านั้นที่เดิน ไม่ได้ ใครจะไปถึงอรหันต์ก่อน ไม่มี ก็ต้องเดินไปถึงจะสำเร็จอรหันต์

    เขาพูดแบบว่า คนทั่วไปมาเดินเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่อย่างนี้ ทุกคนต้องเดินอยู่ ยังปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่มีใครเป็นอรหันต์ เราเดินทางอยู่แม่สายไปเชียงราย เราเดินทางอยู่ไม่ใช่บอกว่าเราถึงเชียงรายแล้วได้ที่ไหน เราก็เป็นได้แค่ผู้เดินทาง

    ใครก็ประกาศว่าจะเดินทางไปเชียงรายได้ หรือว่าเราจะไม่ประกาศว่าเราจะเดินทางไปเชียงราย แล้วเราประกาศแล้วมันผิดตรงไหน ไม่ใช่ว่าคนไปถึงเชียงรายแล้วพูดว่าฉันไปเชียงราย เหมือนกับว่า คนมาเดินตรงนี้ เป็นอรหันต์ก่อนถึงจะมาเดินทางนี้ได้เหรอ ใครก็เดินได้ แต่ถ้าประกาศว่าฉันเป็นอรหันต์นี่แหละผิดเลย

    เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งอรหันต์ ใครๆก็เดินได้ ปรารถนาได้ ก็ไปเดินได้

    คนจะได้นิโรธสมาบัติหรือไม่ได้ ก็มีสิทธิ์เดินทางนี้ เช่น รถเก๋งจะเดินถนนสายนี้ได้มั้ย รถมอเตอร์ไซค์เดินได้มั้ย รถจักรยานปั่นได้มั้ย หรือแม้แต่คนจะเดินด้วยเท้าเปล่าบนถนนสายนี้ได้มั้ย ก็แล้วแต่บุคคลนั้น

    เพราะว่าเส้นทางนี้เปิดกว้าง ใครก็ได้มาเดิน ถ้าใจอยากเดิน ก็แค่นี้เอง ใครสำเร็จก็ไปถึง ใครไม่สำเร็จก็ไปไม่ถึง คุณจะเดินด้วยขาสองเท้าคุณก็เดินเหนื่อย เอาแค่เดินจากแม่สายไปห้วยใคร้เราก็เลิกเดินก็ได้ รถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถเก๋ง ไปถึงห้วยใคร้รถเสียก็ได้ เกิดไปชนกับคนอื่น ไปถึงกลางทางก็ได้ ไปไม่ถึงเหมือนกัน คนที่เดินเท้าอาจจะเดินไปถึงก็ได้ ไม่เห็นผิดตรงไหน

    อย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่ง บ้านรวยมาก เป็นผู้มีอันจะกิน แต่ห้วงหนึ่งของชีวิตเขาเสียใจบางเรื่อง แล้วเขาทำตัวไปเป็นคนขอทาน ไปคุ้ยขยะหาอาหารกิน ทั้งบูดทั้งเน่า แต่ก็ยังกิน แล้วอย่างนี้ล่ะ เรียกว่าอะไร เรียกว่า สมาบัติสามัญชน คือเขาเน้นเรื่องปฏิบัติแต่ไม่ได้เน้นเรื่องปริยัติธรรม นี่แหละ สมาบัติชาวบ้าน คือ รู้ได้ด้วยตนเองเป็นเอหิปัสสิโก

    เขาเคยอยู่ข้างหนึ่งที่สุขล้นมาแล้ว เขาอยากรู้ว่าทุกข์ล้นเป็นยังไง เมื่อก่อนสุข ทุกอย่างจะเอาอะไรเอาได้หมด ตรงนั้นสุดโต่ง ตรงนี้ก็สุดโต่งเหมือนกัน เสร็จแล้วเขาจะมาหาช่องกลาง คือ เวลานี้ เวลานี้เขาสรุปแล้ว คือช่องทางอย่างนี้แล้ว เอาความปัจจุบันของเขา

    การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญา และเวทนา

    คำว่า "ดับ" คืออะไร ความดับก็คือไม่ไปยึดถือ สมมติว่าสิ่งนี้อยู่ในสมองเรา เราเห็นแล้ว เราดับ คือ ไม่อยู่ในสมองเรา เราไม่ไปยึดเขา เขาก็จะไม่ไปอยู่ในสมองของเรา นี่แหละการดับสัญญาตรงนั้น สัญญาณตรงนั้น

    มีอยู่ แต่เราไม่ไปยึดไว้ เราก็ปล่อยไว้อยู่ในธรรม สิ่งต่างๆ มาในสมองเรา เราไม่ไปยึด สิ่งนั้นก็อยู่ในสมองเราไม่ได้ มันก็ดับในสมองเรา

    แล้วที่เราไปนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติเพื่อมาดับตรงนี้นี่เอง เพื่อมาดับสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป็นไทขึ้นมา เพื่อไม่ให้เหนี่ยวรั้งจากอารมณ์ต่างๆ เพื่อเป็นอิสระในการเดินทาง เหมือนกับว่าเราขนสัมภาระเยอะแยะแล้วเราจะเดินไปไหวมั้ย เราจะผ่านรูเข็ม ด้ายจะมีปมไม่ได้

    เข้าไปในนิโรธสมาบัติแล้ว จำเป็นต้องออกมาด้วยเหรอ เราเข้าไปเพื่อไปเรียนรู้ ไม่ออกมาเราก็จมปลักในนั้น

    อย่างเช่น พระพุทธเจ้า เข้านิโรธสมาบัติ ถ้าท่านไม่ออกมา ท่านก็จะจมปลักอยู่ในนั้น ท่านก็ต้องอดข้าวต่อไป

    แล้วทำไมเข้านิโรธสมาบัติ ต้องเข้าไป ๗ วัน ถึงจะออกมา ก็ ๗ วัน เข้าไปก็เยอะแล้ว เกินไปที่จะรู้แล้ว บางคนเข้าไปแค่วันเดียวก็รู้แล้ว เพราะว่าเขาพร้อม เข้าไป ๑ ชั่วโมงก็ได้ เข้าไปแค่วินาทีเดียวก็ได้ แค่หนึ่งลมหายใจก็ได้ อยู่ที่เราพร้อมหรือไม่พร้อม อยู่ที่บุญบารมีของเราก็ได้ หรือตัวบารมีของเราก็ได้ หรือว่าตัวตบะบารมีของเราก็ได้ เพียงแค่เราพร้อม อีกนิดเดียวก็สัปปายะแล้วนี่ แค่หนึ่งขณะหายใจจะแค่ไหน แค่หายใจเข้าไป หายใจออกมาก็สำเร็จแล้ว บางคนรู้แล้วแต่อยากจะอยู่ต่อก็มี แล้วที่เขาอยู่ต่อเพื่อพิสูจน์ว่าจะมีอะไรอีกมั้ย บางทีเรารู้แล้วกลัวจะไม่ครบใช่มั้ย แล้วเราอยู่ต่อแล้วจะมีอะไรอีก เพิ่มเติม หรือครบถ้วนมั้ย หรือสิ่งที่เรารู้ประจักษ์มานี่ จะแข็งแรงพอมั้ย พอหรือยัง

    แม้ว่าเราได้แล้วเราจะมีความคิดเช่นนั้นหรือ? แน่นอน นี่คือคนรอบคอบ ไม่คิดมักง่าย พอคว้าได้ก็รีบเพ่นออกมา ออกมาแค่จุ๊ดจู๊ เป็นหนอนชาเขียวอยู่นี่แหละ ทุกวันนี้เราเพ่นมาเร็วไป เพราะยังต่อไม่เสร็จ

    แล้วทำไมบางคนก็ต้องเข้าไปนิโรธสมาบัติบ่อยจัง ก็มีข้อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ ก็เข้าใหม่แล้วนี่ เราจะคิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยหมด อย่างนี้ไม่ใช่ ที่เราเข้าไปครั้งใหม่นี้เป็นข้อๆ ไม่ใช่ข้อเก่า ธรรมะเป็นข้อๆ ธรรมเป็นข้อๆ ธรรมเป็นภาวะๆ ก็ยังศึกษาไม่หมด ขนาดพระพุทธเจ้าต้องอาศัยกี่ร้อยชาติกว่าจะศึกษาหมด พอเรียนรู้ไม่หมดก็ต้องเข้าไปศึกษาให้หมด พิสูจน์ต่ออยู่นั้น เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ พิสูจน์อย่างหนึ่งแล้วก็ต้องไปพิสูจน์ต่อว่ามันจะเป็นยังไง มีผลข้างเคียงมั้ย ก็ค้นหาใหม่ว่าผลข้างเคียงจะแก้ไขใหม่ได้ยังไง เป็นเส้นทางแห่งการศึกษาโดยธรรม ต้องเป็นอย่างนี้


วิธีการเข้าสู่นิโรธสมาบัติ

    ขั้นที่ ๑. เข้าไปพิสูจน์ ว่าอะไรเป็นอะไร ให้เรียนรู้สิ่งที่จริงแท้

    ขั้นที่ ๒. ให้ละ คือ จริงแท้เป็นยังไง เราต้องสรุปจะเอายังไง หรือไม่เอาล่ะ

    ขั้นที่ ๓. ปล่อย ไม่ให้ไปเหนี่ยวกัน ไม่ให้ไปยึดไว้ คือ เริ่มละ เริ่มวาง พอละถึงจุดหนึ่งก็เข้าสู่ขั้นที่ ๔

    ขั้นที่ ๔-๕ คืนสู่ธรรม คือ ไม่ให้ยึดไว้ในจิต ในความคิดเรา ในจิตของเรา เราไม่ยึดไว้ นี่แหละเราถือว่าดับในจิต แต่ตัวนั้นไม่ได้ดับแต่ตัวนั้นอยู่ในธรรม คือ สรุปแน่ชัดล่ะ ไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นกับอันนี้ละ ก็จะเข้าสู่กระบวนการแยกปลดปล่อย พอเข้าสู่ขั้นที่ ๕ คือปล่อยออกมา คือ ไม่ยึดก็เป็นอิสระต่อกัน ต่อกันเพราะถือว่าข้างในดับ เพราะเราไม่คิดถึงเขาล่ะ ดับล่ะ

    ทำไมข้อ ๔-๕ มารวมกัน เพราะเป็นขั้นตอน เช่น ขั้น ๔ คือ รู้จักว่าตัวนี้จะไม่ยึดถือแล้ว พอเรารู้แล้วว่าตรงนี้จะไม่ยึดถือเราจะเริ่มปล่อย ขั้นที่ ๕ ถึงจะดับ ไม่ให้ยึด ไม่เกี่ยวกันล่ะ เพียงแต่ข้อ ๔ พึงรู้ รู้แล้วกำลังปฏิบัติ ข้อที่ ๕ ไม่เกี่ยวล่ะ ถึงจะดับได้ หลุดได้ เป็นจังหวะขั้นตอน เห็นเป็นภาพต่อเนื่องมั้ย? เป็นภาพต่อเนื่องเราถึงเอาข้อ๔-๕ มารวมกัน จะต่อเนื่องกัน ถ้า ๕ ไม่มี ๔ เกิดไม่ได้ ถ้า ๔ ไม่มี ๕ จะไม่สำเร็จ

    นิโรธสมาบัตินี้สำคัญมาก คนมักจะละเลย ไม่เข้าใจ พอเราฝึก เข้าสู่สมาบัติถึงจะปล่อยวางได้

    คนเราจะหลุดจากอะไรต้องเข้าสู่สมาบัติตรงนี้ เราก็จะหลุดโดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องฝืนชะตา แต่ใหม่ๆ เราต้องฝืน แต่ถ้าเรามาถึงตรงนี้เราไม่ต้องฝืน ชิวๆ เลย

    ทุกคนสามารถนำสมาบัตินี้ไปใช้ได้ ไม่มีจำกัดว่าคนนี้ใช้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเป็นโจร แต่เกิดความสำนึก ไปใช้สมาบัติ องคุลิมาลก็ยังรอดมาได้ พิสูจน์ทราบแล้วว่ามันจริงแท้ อย่างไหนดีกว่า

    สมาบัติคือการเข้าไปพิสูจน์จริงแท้ ประจักษ์แล้วคืออะไร นี่แหละ เรียกว่าสมาบัติ

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่