เขียนถึงแม่ในวันแม่

เขียนถึงคนอื่น เขียนโน่น เขียนนี่มาเยอะแล้ว แทบไม่ค่อยได้เขียนถึงแม่ตัวเอง  เมื่อกี้เพิ่งเสร็จจากการจัดเก็บ โละหนังสือ เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้ซ่อนไว้ในหลืบ ทำให้นึกถึงแม่ตัวเองขึ้นมาได้ ก็เลยอยากจะเขียนถึง (กึ่งนินทา) สิ่งที่ได้เรียนรู้จากแม่ และอยากขอเชิญชวนเพื่อนร่วมบอร์ดช่วยกันแชร์เรื่องของแม่ตัวเองบ้าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

    ขอเรียกแม่ตัวเองว่า หม่าม้าแล้วกันนะคะ เพราะเป็นคำที่ดิฉันใช้เรียกแม่

    หม่าม้าดิฉันเป็นลูกคนจีนที่เกิดในมาเลเซีย และถือใบต่างด้าวอยู่หลายสิบปีก่อนจะได้รับสัญชาติไทยในที่สุด หม่าม้าเกิดเป็นลูกของอากอง อาม่าที่เป็นคนกรีดยาง ภายหลังจากการทำงานหนักและเก็บหอมรอมริบ ก็สามารถอัพเกรดตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าของสวนในที่สุด

    ตั้งแต่เด็กมา หม่าม้าต้องตื่นประมาณตีหนึ่ง ตีสอง เพื่อมาเตรียมต้มน้ำร้อนและออกไปช่วยเก็บน้ำยาง กล่าวอย่างย่อ ๆ โดยรวม ๆ  คือเป็นเด็กชาวสวนชาวไร่ที่ต้องทำงานหนักและไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือมากนัก  ฟังรุ่นผู้ใหญ่เล่าความจนแล้วบางทีเราก็นึกภาพไม่ออกเช่น มีเสื้อผ้าแค่สองชุดใส่เสร็จต้องรีบซัก เพราะต้องใส่สลับไปมา


    หม่าม้ามาเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนตอนอายุสิบกว่าขวบแล้ว เรียนอยู่ไม่กี่ปี จนอ่านภาษาจีนออกและเขียนได้เป็นอย่างดี และทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ในระบบสูง แต่หม่าม้ากลับมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ดิฉันทึ่ง และพบว่า ขนาดดิฉันเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของประเทศนี้ ก็ยังมี “ทักษะการดำเนินชีวิต” และ “การเรียนรู้ในชีวิต” ได้ไม่เท่าหม่าม้า

    จะขอยกตัวอย่างมาแชร์ให้ฟังพอขำ ๆ นะคะ
นานาชอบ

       ๑.    หม่าม้าเป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ตั้งแต่ดิฉันเด็ก ๆ หม่าม้ามักบอกเสมอว่า อยากให้ลูก ๆ รู้ภาษาจีน และอังกฤษ หม่าม้าบอกว่า
อีกหน่อยไปทำงาน “ถ้ารู้ทั้งจีน และอังกฤษด้วยจะได้เปรียบ  รู้ภาษาเดียว มันไม่พอ”   และแม้ว่าครอบครัวเราจะค่อนข้างขัดสน แต่หม่าม้าก็พยายาม ส่งเสริมเรื่องการเรียนอย่างเต็มที่

       ดิฉันเองชอบภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาจีนแค่พอพูดได้แบบงู ๆ ปลา ๆ ในครอบครัวเท่านั้น และทุกวันนี้ เวลาเดินทางไปประเทศที่ใช้ภาษาจีนก็ยังสามารถพูดถามทาง  หรือกล่าวโต้ตอบแบบเบสิคกับคนท้องถิ่นได้

       ครอบครัวเราเลยมีวิถีที่ย้อนแย้งนิดหนึ่งคือ ถ้าเป็นเรื่องเรียนไม่ว่าจะเรียนภาษาอังกฤษ หรือเรียนเปียโน เราจะได้เรียนอย่างเต็มที่ แต่บ้านเราไม่ซื้อรถ ไม่ซื้อกระทั่งมอเตอร์ไซค์ หม่าม้าไปไหนมาไหนโดยการขี่จักรยาน (อ้อ ... แล้วสมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว ขี่จักรยานมันไม่ได้ chic แบบสมัยนี้เน้อ)  แต่ลูกกลับได้ลงเรียนภาษากับครูต่างชาติ และมีเปียโนที่บ้านไว้ให้หัดเล่นก๊องแก๊งด้วยนะเออ


       สมัยใหม่นี้ พ่อแม่คงส่งลูก ๆ เรียนดนตรี หรือเล่นกีฬาเพื่อสะสมเก็บในพอร์ต  แต่สมัยนั้น หม่าม้าดิฉันเรียนมาน้อยเกินกว่าจะรู้ว่าพอร์ตงานของเด็กคืออะไร  เราได้เรียนเปียโนเพียงเพราะ หม่าม้าเล่าให้ฟังว่า สมัยรุ่นสาว ในละแวกบ้านที่เคยอยู่ มีสาวนักเรียนนอกคนหนึ่งเล่นเปียโนเก่ง  หม่าม้าได้แต่ไปคอยเงี่ยหูฟังเค้าเล่น แต่ไม่มีทั้งเงินและความรู้ว่าต้องไปหาใครสอน เลยหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า ถ้าลูกอยากเรียน จะพยายามส่งเรียน


       ดิฉันไม่ชอบเล่นดนตรีมากนัก ชอบฟังและเรียนพวก music   appreciation มากกว่า หม่าม้าแอบผิดหวังเหมือนกันที่ลูก ๆ ไม่ชอบเล่นเปียโนมากนัก  และขอสารภาพตรง ๆ เลยว่า ดิฉันก็แอบโกรธตัวเองนิดนึง (แค่นิดเดียวจริง ๆ ) ที่ไม่ได้ขยันซ้อมเพื่อเอาใจหม่าม้าเลย  เป็นเหตุให้กลับไปเรียนเปียโนใหม่ตอนอายุเกือบ ๆ สี่สิบและขวนขวายสอบ Grade 6 ของ Trinity มาได้

       อ้อ...หนังสือภาษาอังกฤษที่เห็นในรูปข้างบน เป็นหนังสือนิทานที่ตอนนั้น หม่าม้าแวะมาทำธุระที่กรุงเทพแล้วซื้อให้ บอกว่าจะให้ลูกหัดอ่าน ตอนนั้น ดิฉันอายุได้สิบขวบ ได้มาก็ดูแต่ภาพ อ่านไม่ค่อยจะออก พอมาวันนี้ เห็นแล้วอมยิ้มเลย


        ๒.    หม่าม้าเป็นคนชอบเรียนรู้  ไม่กลัวที่จะซักถาม และเปิดกว้างกับสิ่งรอบตัว
พาพันขยัน

        ดิฉันเรียนรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นจากหม่าม้าค่ะ  แม้ว่า หม่าม้าดิฉันจะอ่านและเขียนไทยได้นิดหน่อยเล็กน้อยมาก    และพูดไทยไม่ชัด ไม่ได้เรียนจบสูง แต่หม่าม้าก็เริ่มหัดเล่นหุ้นมาตั้งแต่สมัยเกือบสามสิบปีที่แล้ว  ตอนนั้น หม่าม้าอายุห้าสิบกว่าเกือบหกสิบแล้วนะคะตอนเปิดพอร์ตครั้งแรก และเริ่มเรียนรู้รหัสต่าง ๆ ที่ใช้ในวงการหุ้น ทั้งตัวย่อหลักทรัพย์ และ ตัวย่อที่ใช้ เช่น XD หมายถึงปันผลอะไรเงี้ยค่ะ

       หม่าม้าเป็นคนสอนดิฉันว่า บมจ. แต่ละที่ มีตัวย่อว่าอะไรในตลาด เช่น BBL คือ แบงค์กรุงเทพ TFB คือกสิกร อ้อ...แต่เดี๋ยวนี้เค้าเปลี่ยนเป็น  Kbank แล้วจ้า ... เป็นต้น

      และแม้หม่าม้าจะไม่ได้จบเอ็มบีเอหรือเศรษฐศาสตร์ แต่หม่าม้าก็มีวิธีอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในวงการหุ้นแบบงู ๆ ปลา ๆ แบบบ้าน ๆ ให้ดิฉันเข้าใจได้   ถึงแม้สไตล์เรื่องการลงทุนของเราแม่ ๆ ลูก ๆ จะต่างกันโดยสิ้นเชิง     และบ้านเราก็อลเวง เฮฮา บลัฟกัน ทับถมกัน เรื่องการเป็นเม่าหรือการติดดอยเป็นประจำ

เม่าพาลวีไอกับเทคนิคเม่าอ่านเม่าสงสัย

      ส่วนตัว      ดิฉันเป็นนักลงทุนระยะยาว ชอบหุ้นไม่หวือหวา  ชอบเก็บไว้กินปันผล แทบไม่เทรดบ่อยเลย  ต่างกับหม่าม้าในวัย 86 ที่ยังบำเพ็ญตนเป็น day trader รายกระจิ๋วหลิวอยู่  หม่าม้ามักพูดแบบขำ ๆ ว่าเทรดพอค่ากับข้าว

      ครั้งหนึ่ง ดิฉันจะซื้อหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง หม่าม้าถามว่าทำไมถึงซื้อ
ดิฉันก็ตอบไปว่า “จะเอาปันผล เนี่ยได้หุ้นละสองบาท หม่าม้าเอาไหม”  
แม่อิชั้นสวนมาเลยว่า “ตัวนี้ ลื้อดูไป   หลังปันผล มันตกหนักกว่าสองบาทอีก” แล้วมันก็เป็นอย่างที่หม่าม้าพูดเอาไว้จริง ๆ ด้วย

     ดิฉันเคยซื้อหุ้น TPC ในเครือปูน และเห็นว่า ดี มั่นคง ไม่หวือวา ราคาที่ดิฉันซื้อมาได้ถ้าเทียบกับปันผลแล้วถือว่าดีมาก เลยโอนหุ้นเป็นของขวัญให้หม่าม้า  ปรากฏว่าขุ่นแม่อิชั้น แทนที่จะเก็บไว้ยาว ๆ รอเพียงปันผล  เธอไม่ฮ่ะ ...  เธอยังเอามาเทรดต่อ
เม่าบัลเล่ต์


    พูดเรื่องหุ้นแล้ว ยังมีอะไรมานินทาหม่าม้าได้ต่ออีกเยอะ พูดเลย  ทั้งเรื่องแอบสั่งขายหุ้นของพี่สาว เพราะหม่าม้าดูทรงแล้ว หุ้นน่าจะตก แต่หุ้นดันขึ้นพุ่งสวนขึ้นไป ตั้งแต่นั้น บ้านเราแยกพอร์ต แยกโบรคเกอร์เป็นอิสระจากกันโดยสิ้นเชิง


     วันดีคืนดี มี IPO ตัวใหม่ ๆ มา ถ้าตัวไหนท่าทางจะดี หม่าม้ามีโทร.ทางไกลขึ้นมาด้วยว่า
     “ลื้อจะเอาไหม เดี๋ยวสั่งจองโบรคเกอร์ไว้ให้”  ดิฉันฟังแล้วร้องอู้หูในใจเลย เพราะพอร์ตพวกเรากระจ้อยร่อยกระจิ๋วหลิวยังอุตส่าห์ได้ IPO กะเค้าด้วย ฝีมือคุณแม่วัย 80 กว่าของอิชั้นล้วน ๆ เลยฮ่ะ
เม่าบัลเล่ต์

     ดิฉันไม่ได้ห้ามเรื่องเล่นหุ้น เพราะเชื่อมือและเชื่อใจว่าแม่ตัวเองเป็นคนมีวินัยในการบริหารเงิน  การเล่นหุ้นทำให้หม่าม้าได้เปิดหูเปิดตา  ได้มีอะไรทำ มีสังคม มีข่าวให้ติดตาม และมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้หม่าม้ารู้สึกภูมิใจในตัวเอง

     เดือนก่อนโน้น ดิฉันกลับไปบ้าน และกำลังจะชวนหม่าม้าออกไปข้างนอก  ขุ่นแม่ปฏิเสธค่ะ ด้วยเหตุผลว่า “จะดูการถ่ายทอดสด การพบกันระหว่างคิมจองอึน กับโดนัลด์ ทรัมป์”

     ดิฉันเหลือบตามองบนและอดคิดไม่ได้ว่า “แม่อิชั้นออกจะสนใจความเป็นไปของโลกเกินเบอร์ไปนิดนึงนะ”

เม่าตกใจเม่าหอยทาก


     ๓.    หม่าม้าเป็นคนความจำดีมาก

                ดิฉันจำได้ว่า ตอนอายุประมาณเจ็ดขวบ เคยต้องออกไปเล่านิทานภาษาจีนหน้าชั้น  ก็ถือโพยท่อง ๆ ระหว่างที่หม่าม้ากำลังถูบ้าน  ดิฉันท่องไปดูโพยไป วนซ้ำไปมา ก็ยังท่องผิดท่องถูก  ส่วนหม่าม้าที่ก้มถูบ้านอยู่เงยหน้าขึ้นมาแล้วสามารถพูดสิ่งที่ดิฉันพยายามท่องออกมาได้ถูกต้องเกือบหมด และบอกว่า “ง่ายขนาดนี้ ทำไมท่องไม่ได้ซักทีฮึ”

เม่าอ่านหนังสือพิมพ์


               หรือบางทีหม่าม้าก็จะทดสอบความจำดิฉันด้วยการถาม เช่น
              
              “TPC ลื้อซื้อมาเท่าไร ลื้อมีกี่หุ้น”
              
             ดิฉันก็จะจึ๊กจั๊กแล้วบอกว่าจำไม่ได้ แล้วก็ต้องค่อย ๆ พยายามไล่ความจำว่าซื้อมาเท่าไร เพราะไม่อยากให้หม่าม้าคิดว่าดิฉันมักง่ายและปล่อยปละเรื่องการลงทุน

พอดิฉันตอบว่าจำไม่ค่อยได้ ประมาณยี่สิบกว่าบาทมั้ง

             หม่าม้าจะสวนขึ้นมาทันทีว่า “ตัวนี้ลื้อมี xxxx หุ้น ซื้อมาที่ราคา xx บาท แค่นี้ก็จำไม่ได้  ทำไมลื้อโง่ยังงี้หา ?”

เม่าตาสว่าง

            คือ บอกแล้วว่า ครอบครัวเราเลี้ยงดูกันมาทื่อ ๆ แบบจีน ๆ บ้าน ๆ ถ้าคิดว่าโง่ ก็จะบอกเลยว่า “โง่” ไม่ต้องมีการถนอมน้ำใจคิดคำพูดสวยหรู  เพราะไม่มองว่า “โง่” เป็นคำด่า มองว่ามันเป็น “คำบรรยายคุณลักษณะ” (ซึ่งแน่นอนค่ะ ...  mindset แบบนี้ ทำให้คนฟังทั้งขำทั้งเจ็บเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า)


           ๔.    หม่าม้าเป็นคนวางแผนชีวิตและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สันโดษ

          ด้วยความที่ครอบครัวเรามีภูมิหลังที่อัตคัดขัดสน และลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในช่วงที่ลูก ๆ กำลังเติบโตมาโดยตลอด  ทำให้หม่าม้าต้องประหยัด และวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาก

          แน่นอนว่า การศึกษาก็ถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่งที่ต้องวางแผนอย่างระมัดระวังภายใต้งบที่จำกัด ดิฉันจำได้ว่า ครอบครัวเราแทบไม่เคยออกไปกินข้าวนอกบ้าน และถึงไปกินนอกบ้านก็สั่งแต่จานเด็ด ห้ามสั่งน้ำผลไม้ น้ำอัดลมเด็ดขาด ตามร้านขายแพงเกินไป
เรื่องเที่ยวนี่ตัดไปได้เลย พักโรงแรมนี่แทบไม่เคยเหมือนกัน แอร์ไม่มี รถไม่มี แต่เราก็ได้กินแต่อาหารที่สะอาด อร่อย มีประโยชน์ ปรุงในบ้านสด ๆ ทุกมื้อและอยากเรียนอะไรก็ได้เรียน

         เวลาดิฉันมองย้อนกลับไปยังรู้สึกว่า หม่าม้านำพาครอบครัวมาได้ยังไงในงบที่น้อยมากแบบนั้น และลูกก็ไม่ได้รู้สึกอัตคัดอะไรด้วย กินอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ  อุปกรณ์การเรียนครบ เพียงแต่สิ่งอำนวยความสะดวกและของฟุ่มเฟือยเป็นศูนย์เท่านั้น



           ๕.    หม่าม้าเป็นคนใจกว้าง (ถ้าเทียบภูมิหลัง และอายุ)
           เวลาดิฉันอ่านประสบการณ์ที่คนอื่นแชร์เรื่องการใช้อารมณ์ หรือคำพูดผรุสวาทในบ้าน บอกตรง ๆ ดิฉันเข้าใจมาก ๆ เพราะบ้านดิฉันก็เป็น  พูดกันตรงไปตรงมา  ภาษาพูดบางทีมันก็บอกภูมิหลังนะคะว่าเรามาจากไหน ผ่านประสบการณ์อะไรมา เจอสังคมประเภทไหน

          ถึงแม้ จะเข้าใจความรัก ความห่วงใย ความหวังดี ความทุ่มเทของครอบครัวมากแค่ไหน แต่บางทีเราก็อดเจ็บไปกับคำพูดไม่ได้
แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันซึ้งและประทับใจในตัวหม่าม้ามากก็คือ วันหนึ่ง เรานั่งคุยกัน หม่าม้าก็พูดขึ้นมาเรียบ ๆ ว่า

         "หม่าม้าเกิดมาในครอบครัวที่ลำบาก โตมาในสภาพสังคมที่บีบคั้น และการเลี้ยงดูที่กระพร่องกระแพร่ง การศึกษาการเข้าสังคมก็น้อย บางที อาจจะพูดอะไรหยาบคายไป แรงไป หรือทำร้ายจิตใจลูก ๆ โดยไม่รู้ตัว ก็ต้องขอโทษด้วยนะ อย่าถือสานะ"

         ดิฉันฟังแล้วน้ำตาไหลภายใน ซาบซึ้งใจกับความใจกว้างของแม่ตัวเองมาก ที่กล้ายอมรับ และพูดอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ผ่านมา และความบาดหมางที่บางครั้งเราต้องเผชิญ

        นี่เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของการลด "อัตตา" ของบุคคลที่มีบุญคุณที่สุดในชีวิตดิฉัน และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า หม่าม้าไม่ได้แค่ทำหน้าที่เลี้ยงตัว หรืออบรมเพาะบ่มด้านความคิด ทัศนคติและสติปัญญาเท่านั้น  แต่มิติทางจิตใจ หม่าม้าก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

        ครอบครัวเราไม่ค่อยได้มีอะไรซาบซึ้ง น้ำตาไหลอะไรกันเท่าไร แต่สิ่งที่ทำให้เราผูกพันกันทางใจอย่างแน่นแฟ้น คือ เราสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาอย่างเปิดใจ เราขอบคุณ เราขอโทษ เราโต้เถียง เราทะเลาะ เราห่วงใย เราพูดคุย ท้ายที่สุด เราพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมสมาชิกแต่ละคนถึงเป็นอย่างที่เค้าเป็น ทำอย่างที่เค้าทำ เลยทำให้เรายังผูกพันกัน ยังอยู่กันได้ ยังรักกันดูแลกันมาจนวันนี้

       สุขสันต์วันแม่ค่ะ

       แชร์กันบ้างนะคะ คุณได้เรียนรู้หรือประทับใจอะไรในตัวคุณแม่คุณบ้าง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่