การสวดพระคาถา ให้บังเกิดอานุภาพศักดิ์สิทธิ์

การสวดพระคาถา ให้บังเกิดอานุภาพศักดิ์สิทธิ์

    การสวดคาถา คือ การเปล่งเสียงเป็นคาถาสื่อถึงพระพุทธเจ้า หรือองค์เทพต่างๆ โดยการสวดคาถาของท่าน แล้วน้อมจิตของเราไปตามคำสวดแล้วระลึกถึงองค์ท่าน ท่านมาปรากฏต่อหน้าเราเพื่อประทานพรในการทำพิธีให้สำเร็จ ไม่สวดตะโกนหรือค่อยเกินไป แต่สวดให้มีพลังโดยการสั่งของจิต และองค์ประกอบในการสวดนั้นมีดังนี้


    ๑. ฐานจิตของการสวด คือ เราจะต้องตั้งจิตระลึกถึงองค์ท่าน เช่น พระพรหม โดยใช้คาถาเป็นสื่อนำไปถึงองค์พ่อพรหม สวดคาถาของพระพุทธเจ้า จิตเราก็น้อมระลึกให้เห็นถึงพระพุทธเจ้า จิตของเราไม่วอกแวกซัดซ่าย


    ๒. เจตนาที่เป็นกุศล คือ เราสวดเพื่อรักษาคนป่วย หรือเจตนาไปในทางดีเป็นมงคล และไม่สวดเพื่ออวดเก่ง หรืออวดโชว์


    ๓. อินทรีย์ คือ ร่างกายและจิตใจ


        ๓.๑ อินทรีย์ภายนอก คือ ร่างกายของเราต้องมีความพร้อมเสมอ เช่น ไม่หิว ไม่ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ร่างกายไม่เจ็บปวดใดๆ ถึงขั้นเป็นการรบกวนสมาธิในการสวด


        ๓.๒ อินทรีย์ภายใน คือ ภายในจิตวิญญาณของเราจะต้องประกอบด้วยองค์คุณต่อไปนี้


            ๑) พละ ๕ คือ การมีกำลัง ๕ ประการในจิตวิญญาณของเรา ได้แก่

                 ๑.๑) สัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าสวดแล้วได้ผล เชื่อว่าการสวดของเรามีผลต่อเรา และบุคคลอื่นๆ ที่เราประสงค์อยากให้มีให้เป็น และเชื่อในองค์เทพ คาถาที่เราสวด

                       ๑.๒) วิริยะ คือ ความเพียร พยายามมุ่งมั่นในการสวด ไม่ย่อท้อ

                       ๑.๓) สติ คือ ความระลึกได้ และมีสัมปชัญญะ พิจารณาสิ่งที่ขณะกระทำ

                       ๑.๔) สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น แน่วแน่ สมาธิมีอยู่ด้วยกัน ๒ ลักษณะ คือ สมาธิแล้วนิ่ง กับสมาธิเคลื่อนไหว สิ่งที่เราจะใช้สมาธิในการสวดนี้จะเป็นสมาธิเคลื่อนไหว บางครั้งมือทำการถวายบัวไฟ แต่ปากของเราก็ท่องคาถาไปด้วย และนับคาถาที่เราสวดไปแล้วกี่จบ หากไม่ฝึกสมาธิเคลื่อนไหวก็จะลืมไปชั่วขณะว่าเราสวดได้กี่จบแล้ว

                       ๑.๕) ปัญญา คือ ความรอบรู้ รอบรู้ในคาถาที่เราสวด


            ๒) อิทธิบาท ๔ คือ หลักแห่งการก้าวหน้าหรือเกิดผลสัมฤทธิ์สิ่งต่างๆ มีดังนี้

                ๒.๑) ฉันทะ คือ ความพึงพอใจ มีความปรารถนา มีความอยากได้อยากเป็น ฉันทะของเราจะแข็งแรงหรืออ่อนขึ้นอยู่กับตบะของเราเข้มแข็งพอหรือยัง ถ้าตบะเราอ่อนก็ล้มเลิกกลางคันเสียง่ายๆ

                       ๒.๒) วิริยะ คือ ความเพียรพยายามทำให้สำเร็จ

                ๒.๓) จิตตะ คือ ความตั้งใจ ความใส่ใจ เอาใจใส่ในสิ่งนั้นๆ แม้มีอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ แม้มีมารมาลองจิตใจให้เราปล่อยวางก็สามารถเอาชนะจิตมารได้

                ๒.๔) วิมังสา คือ หมั่นพิจารณาไตร่ตรอง ตรวจสอบ แก้ไข พัฒนา ทำต่อเนื่อง สม่ำเสมอ


            ๓) สติปัฏฐาน ๔ คือ ที่ตั้งแห่งความระลึกถึง ๔ ประการ ได้แก่

                ๓.๑) กาย คือ การพิจารณาความพร้อมของร่างกายของเรา การแต่งตัว เป็นต้น

                ๓.๒) เวทนา คือ ความรู้สึก การสัมผัส การรับรู้ถึงคาถา องค์เทพเทวาต่างๆ การที่เราสื่อถึงองค์เทพและองค์เทพสื่อถึงเรา การรับพลังจากท่าน

                ๓.๓) จิต คือ สภาพที่รับรู้อารมณ์ จิตนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เราต้องประคองจิต และรู้จักกำหนดจิตให้เป็นไปต่างๆ เช่น บางครั้งเราสวดถึงองค์เทพแต่จิตนึกถึงอาหารการกิน นึกถึงแฟน นึกไปต่างๆ นานาๆ เราต้องดึงจิต บังคับจิตให้อยู่กับสิ่งที่เราสวดคาถา

            ๓.๔) ธรรม คือ สิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เช่น มีความปลื้มปิติซาบซ่าน เป็นต้น


    ๔. สิ่งแวดล้อมสัปปายะ คือ ความเหมาะสมของสถานที่การสวดมนต์ ถ้าฝึกฝนมาไม่ดีพอ เกิดเสียงรบกวน คนพุ่งพ่าน มีมารมาผจญ ทำให้สวดสับสน ติดขัด หรือลืมได้

---------------------------

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่