เสวนาเกี่ยวกับปรัชญาเต๋าเต๋อจิงบทที่๗ มิได้อยู่เพื่อตนเอง

กระทู้สนทนา
เรื่องของความดีงามจะว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนสิ่งสมมติทางสังคมที่เป็นค่านิยมเรื่องความถูกต้อง
แต่ความดีงามนี้อาจกระทำอย่างหลอกลวงกันก็ได้เพื่อหวังการยอมรับและคำยกย่องจากผู้อื่น
ส่วนความดีงามที่กระทำโดยสุจริตนั้นมาจากจิตสำนึกที่เร้าคุณธรรมหรือมีคุณธรรม
ความดีงามนั้นมักจะเป็นค่านิยมตามความเชื่ออย่างเช่น เชื่อว่าจะได้รับผลดีตอบแทนหรือได้ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น
ท่านเล่าจื้อเองก็สอนให้ผู้คนประพฤติในสิ่งที่ดีงามเช่นกัน แต่ท่านไม่ได้สอนแบบนั้น
ท่านไม่เคยอาศัยหลักความเชื่อหรืออาศัยความศรัทธาใดๆ ความดีงามของท่านล้วนเกิดมาจากความรู้ความเข้าใจ
หากเราสามารถเข้าใจในถ้อยคำของท่านเราก็จะพบว่าท่านเพียงอธิบายธรรมชาติตามที่เป็นจริง
เราจึงไม่ปฏิเสธและปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านโดยซื่อตรงด้วยปัญญา
โดยปกติแล้วคนเราจะทำสิ่งใดย่อมหวังผลตอบแทนที่คุ้มค่าอยู่เสมอ
แต๋เต๋านั้นเป็นการเข้าใจในธรรมชาติซึ่งไม่มีผลให้คาดหวัง แต่ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ชีวิตย่อมมีอยู่
เพราะเต๋าคือความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่แท้จริง มีความสมบูรณ์จนไม่อาจก่อตัณหาเพิ่มเติมได้อีก
เต๋าได้ชื่อว่าทาง เป็นทางที่ก่อให้เกิดความดีงาม
ผู้ที่จิตใจยังปกคลุมด้วยราคะพยาบาทย่อมจะเดินไปในทางอื่นและมีชีวิตในแบบอื่น(การใช้ชีวิต)
บทความที่ผมกำลังจะกล่าวอรรถาธิบายต่อไปนี้เป็นบทที่เจ็ดจากตำราเต๋าเจ๋อจิงของท่านเล่าจื้อ
ซื่งแฝงด้วยนัยะของการลดละความเห็นแก่ตัว
ผู้มีปัญญาดีเมื่อได้รับฟังแล้วก็อาจเบิกบานด้วยใจยินดีตามคำท่านได้
อนึ่งผมพิรณาเต๋าในฐานะของนักศึกษาที่เพิ่งจะเริ่มต้นและยังมิใช่ผู้รู้จึงอาจมีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่
ผมจึงหวังได้รับการให้อภัยในข้อที่ผิดพลาดนั้น
และหวังให้ท่านช่วยชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างในข้อผิดพลาดนั้นด้วย
หากเป็นได้ก็จะขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
           .......................................

       เต๋าเต๋อจิง บทที่๗ มิได้อยู่เพื่อตนเอง

   " ฟ้ามีอายุยาวนาน ดินมีอายุยาวนาน
เหตุเพราะฟ้าและดินมิได้ดำรงอยู่เพื่อตัวเอง จึงสามารถอยู่ได้คงทน
ดั้งนั้นปราชญ์ย่อมตั้งตนไว้รั้งท้าย แล้วก็กลับกลายเป็นหน้าสุด
ละเลยตนเองกลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดี
เพราะปราชญ์ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองมิใช่หรือ ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความอุดมสมบูรณ์ "
          ...........................................

    คนเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่างคนก็ต่างขวนขวายหาใส่ปากใส่ท้องของตน
หลายคนใส่ใจแต่เฉพาะตัวเองจนลืมใส่ใจบุคคลอื่น
การดิ้นรนทำให้เกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างกัน
สะสมเพิ่มพูนจนต่างคนต่างก็มีความรู้สึกเห็นแก่ตัว
แต่สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยน้ำใจ ดังนั้นนักปราชญ์จึงจำเป็นต้องอบรมปลูกฝังธรรมะลงในหัวใจของผู้คน
เพื่อมุ่งหวังให้คุณธรรมศีลธรรมช่วยค้ำจุนสังคมเอาไว้ไม่ให้เกิดความวุ่นวายแตกแยกขึ้น
   " ฟ้ามีอายุยาวนาน ดินมีอายุยาวนาน
เหตุเพราะฟ้าและดินมิได้ดำรงอยู่เพื่อตัวเอง จึงสามารถอยู่ได้คงทน "
     ฟ้าและดินเป็นธรรมชาติที่สอดคล้องแหมาะสมจึงทำให้ชีวิตสามารถเจริญเติบโตได้
ฟ้าและดินต่างก็ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตโดยไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนผู้คนจึงไม่อาจชิงชัง
การทำหน้าที่ของฟ้าและดินเป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่โดยไม่ได้แสดงตัวตนให้ปรากฏ
ข้อนี้ผมหมายความว่า  ฟ้าดินไม่ได้มุ่งหวังผลใดๆ  เพื่อตนเอง
เพราะการกระทำของฟ้าดินเปรียบเหมือนไร้ตัวตน จึงไม่ได้สนใจต่อคำสรรเสิญและนินทาใดๆ
ข้อนี้จึงอาจเป็นการแสดงออกแทนความคงทนตั้งมั่นของฟ้าและดินได้
การทำความเข้าใจในธรรมชาติเพื่อรู้จักซึ่งความถูกต้องเหมาะสมในการปฏิบัติตน
ก็เพื่อการปกปักรักษาคุณค่าของสิ่งๆ นั้นให้ยั่งยืน
การอยู่ร่วมในสังคมก็เช่นเดียวกัน หากผู้คนทั้งในระดับบุคคลไปถึงระดับสังคมใหญ่
ต่างก็แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันหรือมุ่งหมายความเป็นใหญ่กันแล้วล่ะก็
สังคมนั้นย่อมเกิดความวุ่นวายและความแตกสามัคคีกัน
การทุจริตคดโกงต่อกันและการสร้างความแตกแยกในสังคมใยจะไม่ได้มาจากความเห็นแก่ตัว
เพราะเมื่อเห็นแก่ตัวแล้วเลห์เพทุบายต่างๆ ก็มีตามมา
เพื่อทำให้ตัวเองได้อยู่หน้าคนอื่นหรืออยู่สูงกว่าคนอื่นในด้านต่างๆ นั้น
   "ดังนั้นปราชญ์ย่อมตั้งตนอยู่รั้งท้าย แล้วก็กลับกลายเป็นหน้าสุด
ละเลยตนเองกลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดี
เพราะปราชญ์ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองมิใช่หรือ ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความอุดมสมบูรณ์ "
     ปราชญ์ไม่ได้ศึกษาธรรมะเพียงเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้นแต่ท่านยังมีความเคารพในธรรมนั้นด้วย
นี่หมายความว่าการใช้ชีวิตของท่านถึงแม้จะมีอิสรภาพแต่ก็ยังเดินไปตามทางที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสมอยู่เสมอ
สังคมมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและร่มเย็นก็เพราะผู้คนเปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรีไม่เห็นแก่ตัว
นักปราชญ์เมื่ออยู่ในสังคมท่านจึงมิได้เห็นแก่ตัว นี่ก็ถือว่าเป็นการเคารพต่อธรรมอย่างหนึ่ง
การทำงานของท่านจึงเปรียบเหมือนการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
ในขณะที่คนอื่นๆ ต่างก็พากันตักตวงสั่งสมใส่ตนเองท่าเดียว
นี่จึงอาจถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างของโลกได้ด้วย
"ละเลยต่อตนเอง" คำนี้เป็นคำพูดธรรมดาแต่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
คำว่าละเลยต่อตัวเองนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เอาใจใส่ตัวเองหรือห้ามให้ความสนใจต่อตัวเองแต่อย่างใด
เพราะทั้งหมดนี้ที่แนะนำมาไม่ได้เป็นความเชื่อหรือเป็นอุดมการณ์
แต่กลับเป็นการช่วยเหลือตนเองของผู้ปฏิบัติในการกำจัดอวิชชาเพื่อการมีชีวิตที่สุจริตขึ้น
อันเป็นวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้องอย่างหนึ่ง
ซึ่งอาจจำเป็นต้องย้อนไปดูคำพูดของท่านเล่าจื้อในบทก่อนหน้านี้เพื่อทำความเข้าใจต่อคำพูดดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นว่า
  "เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น
เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี ความชั่วก็อุบัติขึ้น" (จากบทที่สอง)
    นี่คือลักษณะของตัวตนและการตกอยู่ในสภาวะ โดยการมีอุปปาทาน
คำว่าตัวตนในเต๋านั้นไม่ได้หมายความว่าตัวเอง แต่กลับหมายถึงรูปธรรมนามธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นในตน
หรือก็คือกระบวนการของความคิดปรุงแต่งที่เป็นที่มาของตัวเองและสิ่งอื่นๆ
หากเราคิดว่าตัวเองขี้เหร่เราก็อยากดูดีขึ้นมา และหากเราเห็นว่าตัวเองเป็นคนชั่วเราก็อยากเป็นคนดีขึ้นมา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่มักเป็นไปตามค่านิยมที่สังคมกำหนดไว้
เมื่อมีตัวตนและสนใจต่อตัวเองขึ้นมาคนเราก็จะทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อสนองกิเลสตัณหา
มากกว่าคิดทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อส่วนรวม
การละเลยต่อตนเองจึงมีความหมายในทำนองนี้ ละเลยแล้วกลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดีนี่หมายความว่า
เราไม่ได้แบกรับการคาดหวังใดๆ อยู่ ทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นและมีความยินดีในการทำหน้าที่
การไร้แรงกดดันทั้งต่อภายนอกและภายในกลับทำให้คนเราทำหน้าที่ต่างๆ โดยสุจริตขึ้นได้
ละเลยต่อตนเองจึงเปรียบเหมือนการละทิ้งโลกธรรม อันเป็นความสนใจในสิ่งที่เป็นเปลือก
ถ้าไม่ทำแบบนี้เราก็จะใช้ชีวิตไปตามกิเลสตัณหานะ ไม่มีทางที่จะใช้ชีวิตอย่างบัญฑิตหรืออริยะได้เลย
แต่คนที่เติมเต็มตนเองด้วยความดีงามและสติปัญญากลับมีความสมบูรณ์ในตนเองได้
นี่เป็นเพราะท่านรู้จักละทิ้งตัวตนที่เป็นเพียงสภาวะสมมติ
ดังนั้นท่านเล่าจื่อจึงกล่าวว่า"เพราะปราชญ์ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองมิใช่หรือ ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความอุดมสมบูรณ์ "
ว่าโดยย่อก็คือลักษณะของ ความไม่เห็นแก่ตัว นั่นเองที่ทำให้เกิดความรู้สึกพอใจต่อชีวิตของตน
และมีชีวิตที่บริสุทธิ์ดีงามมากขึ้น

               ..................................................................

      ผมขอจบการอธิบายปรัชญาจากหนังสือเต๋าเต็กเก็งบทที่๗ ลงแต่เพียงเท่านี้นะครับ
และหวังว่าจะได้รับความอนุเคราห์จากท่านผู้อ่านทุกท่าน
ในการแก้ไขเพิ่มเติมตรงจุดที่ผมยังเข้าใจไม่ถูกต้องตามที่ท่านเล็งเห็นอยู่
ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเสียสละเวลามานั่งอ่านบทความของผมด้วยครับ
"หากฟ้าดินต่างก็พากันเห็นแก่ตัว สังคมเราจะอยู่ร่มเย็นได้หรือ" (อันนี้ความเห็นผมเองครับ)
บทความจาก https://amehart.blogspot.com ถึงเจ็ดบทล่ะนะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่