10 หนังจิตหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) ยอดเยี่ยมตลอดกาล


หนังในลิสต์นี้เป็นการนำเสนอตัวละครที่สื่อถึงลักษณะของผู้ป่วยทางจิตแบบพารานอยด์ ที่มีอาการหวาดวิตก หมกมุ่น หลงผิด และมักแสดงออกถึงความรุนแรง ก้าวร้าว จนในบางรายต้องปลีกวิเวกหรือแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งความเจ็บป่วยทางจิตลักษณะนี้เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ทั้งการเผชิญสถานการณ์กดดันหรือตึงเครียดบ่อยๆจนเกิดความรู้สึกแง่ลบที่ฝังลึก การเสพข้อมูลที่รุนแรงและน่ากลัวอย่างพวกข่าวฆาตกรรมจนเกิดการหลอนจิตตก หรือแม้แต่การเสพยาบางประเภทเช่นกัญชา แอมเฟตามีน โคเคน ที่นำสู่อาการจิตหลอน หวาดวิตก
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. The Babadook (2014)

การเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมของผู้กำกับหน้าใหม่ Jennifer Kent ที่ใช้ปมการสูญเสียสามีของหญิงแม่หม้ายไปต่อยอดเล่าเนื้อหาสยองขวัญของปีศาจบาบาดุคที่ตัวหนังถูกรองรับด้วยหลักทางจิตวิทยา และได้โฟกัสไปยังหญิงแม่หม้ายที่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวด ความเหงา และแรงกดดันจากสังคมในฐานะผู้เป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกคนเดียว จนนำไปสู่สภาวะป่วยทางจิตขั้นรุนแรงและต้องพยายามต่อสู้กับปีศาจร้ายที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ ขณะที่ฝั่งลูกชายก็ดูมีปัญหาทางจิตและมักแสดงออกถึงความก้าวร้าว ความรุนแรงที่ต่างไปจากเด็กรุ่นเดียวกัน จนกลายเป็นอีกตัวผลักดันที่ทำให้จิตของหญิงแม่หม้ายยิ่งดำดิ่งลงสู่ด้านมืด








9. Spider (2002)

หนังระทึกขวัญเชิงจิตวิทยาของ David Cronenberg ที่ใช้บรรยากาศความเงียบสงัดเพื่อพาคนดูไปล้วงลึกปมสะเทือนขวัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวตนอันผิดแปลกในปัจจุบัน โดยพูดถึงชายที่ถูกปล่อยตัวจากสถานบำบัดทางจิตเพื่อไปยังแหล่งที่พักฟื้นแห่งใหม่สำหรับผู้ป่วย ซึ่งรูปแบบการสำรวจตัวละครจะถูกกระตุ้นผ่านสถานที่และเหตุการณ์ รวมไปถึงการพบเห็นผู้คนหรือสิ่งของบางอย่างที่เชื่อมไปยังความทรงจำอันโหดร้ายในวัยเด็ก โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันระหองระแหงในครอบครัวและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ทำให้อาการป่วยที่เคยทุเลากลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ความหลอนและความวิตกที่นำไปสู่การปลดเปลื้องต้นตอแห่งความเจ็บปวด








8. Pi (1998)

หนังระทึกขวัญเชิงจิตวิทยาสุดบ้าคลั่งที่จะพาคนดูไปค้นหาความลับของค่าพาย (π) โดยผ่านมุมมองของชายหนุ่มที่ในวัยเด็กเคยถูกแสงอาทิตย์ทิ่มทะลุผ่านม่านตาจนเกิดความผิดปกติทางสมองและกลายเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ซึ่งการเล่าแบบภาพขาวดำของ Darren Aronofsky เป็นผลดีในแง่การขับความดิบของเรื่องราวและสร้างจุดโฟกัสที่ชัดเจนให้กับคนดู โดยเฉพาะตลอดทั้งเรื่องที่จะขับเคลื่อนโดยหนุ่มอัจฉริยะรายนี้ที่มองว่าคณิตศาสตร์เป็นภาษาแห่งธรรมชาติและสามารถหาคำตอบได้โดยการแทนค่าผ่านสิ่งต่างๆรอบตัว และมันก็ทำให้เขาเกิดการหมกมุ่นจนค่อยๆดำดิ่งลงสู่ด้านมืดและเกิดสภาวะจิตหลอนขั้นรุนแรง








7. A Beautiful Mind (2001)

เรื่องจริงของ 'จอห์น แนช' ผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1994 ซึ่งถูกหยิบยกมาสร้างเป็นหนังชีวประวัติผ่านมุมมองของ Ron Howard ที่การันตีด้วยการคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไล่เรียงเหตุการณ์จากช่วงที่เข้าศึกษาในพรินซ์ตันที่ต้องเผชิญกับเหล่าหัวกะทิมากมายและเขาก็ได้แต่หมกมุ่นในการคิดค้นหลักทฤษฎีใหม่ๆเพื่อการยอมรับจากผู้คนในวงกว้าง ขณะเดียวกันหนังก็ค่อยๆเปิดเผยมุมซ่อนเร้นของตัวละคร ที่นำไปสู่ความวิตก ความหวาดระแวงจนไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกแห่งความจริงกับความฝันได้ ซึ่งหนังจะใช้เวลาช่วงครึ่งหลังพาไปสำรวจการต่อสู้กับอาการป่วยทางจิตที่ได้พลังใจจากภรรยาที่คอยอยู่เคียงข้างเสมอมา








6. Shutter Island (2010)

หนังสืบสวนนีโอนัวร์ของ Martin Scorsese ที่อัดแน่นด้วยบริบทอันซับซ้อนและชวนให้น่าค้นหา โดยวางปมเกี่ยวกับสองตำรวจที่เข้ามาสืบการหายไปของคนไข้รายหนึ่งบนเกาะที่ตั้งโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งระหว่างการสืบสวนทั้งคู่ได้พบกับเหตุไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับวิธีการรักษาเหล่าคนไข้ที่สืบเนื่องไปยังเบื้องหลังอันดำมืดของผู้คุมเกาะ ขณะเดียวกันก็เกิดโมเม้นท์พลิกผันไปมาตามสไตล์ตัวเอกในหนังฟิล์มนัวร์ เมื่อตำรวจหนุ่มที่นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio ถูกภาพเหตุการณ์บางอย่างไปกระตุ้นความทรงจำที่โหดร้ายในอดีต จนเกิดความวิตก สับสน ความอลหม่านในจิตใจ ที่ตามมาด้วยเครื่องหมายคำถามถึงตัวตนที่แท้จริง








5. Black Swan (2010)

หมกมุ่นในความสมบูรณ์แบบเพื่อก้าวสู่จุดสูงสุดของสายอาชีพ เป็นหัวใจสำคัญที่ Natalie Portman ต้องสื่อผ่านตัวละครนักบัลเลต์สาวที่กำลังช่วงชิงบทเด่นของละครเวทีและต้องเผชิญกับคู่แข่งตัวฉกาจที่พร้อมจะมาทดแทนตัวเธอได้ทุกเมื่อ โดยหนังโฟกัสไปยังตัวเอกสาวที่มีความซับซ้อนในจิตใจที่ค่อยๆสื่อถึงพัฒนาการจากด้านสว่างซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกตามค่านิยมและการปลูกฝังทางสังคม จนนำไปสู่ด้านมืดที่ความหมกมุ่นในชัยชนะได้ไปกระตุ้นสัญชาตญาณดิบที่ถูกกดทับในเบื้องลึกของจิตใจ ขณะเดียวกันเทคนิคการเล่าเรื่องของ Darren Aronofsky ก็ช่วยเสริมสภาวะทางจิตที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม








4. The Snake Pit (1948)

อาจเปรียบได้กับ One Flew Over the Cuckoo's Nest ที่มีตัวเอกเป็นเพศหญิงและใส่ปมปริศนาเพิ่มมิติให้เรื่องราว ทั้งยังเล่นประเด็นจริยธรรมทางการแพทย์ได้น่าสนใจ โดยหนังเล่าถึงหญิงสาวรายหนึ่งที่ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิต แม้ภายนอกเธอจะดูเหมือนคนปกติทั่วไปแต่ภายในกลับซ่อนปมซ่อนเร้นบางอย่างเอาไว้ ซึ่งหนังจะค่อยๆเปิดเผยตัวตนที่น่าสงสัยและอาจสืบเนื่องไปถึงความผิดปกติทางจิต เริ่มจากใช้แฟลชแบ็คเล่าผ่านชายผู้อ้างตนว่าเป็นสามี โดยช่วงของการเดทกันเธอมักแสดงถึงพฤติกรรมหวาดระแวงและอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญเธอเคยหายตัวไปกว่าหกเดือนและกลับมาพร้อมท่าทีเสมือนว่าไม่เคยเกิดอะไรขึ้น








3. The Tenant (1976)

ความหวาดระแวงที่ถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร เป็นหัวใจสำคัญจากหนังเรื่องสุดท้ายใน "ดิ อพาร์ทเม้นท์ ทริโลจี้" ของ Roman Polanski กับการเปิดปมด้วยเหตุฆ่าตัวตายของสาวรายหนึ่งในอพาร์ทเม้นท์ เป็นผลให้ผู้เช่าห้องคนต่อมาต้องเจอกับเหตุการณ์แปลกประหลาด ความกดดัน ความตึงเครียดที่ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้น โดยหนังโฟกัสไปยังชายซึ่งเป็นผู้เช่าคนใหม่ที่ยังค้างคาใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรทั้งพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว ดูไร้น้ำใจของเหล่าผู้เช่า และการถูกบีบด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่สภาวะวิตกจริตขั้นรุนแรง ครุ่นคิดแต่เรื่องด้านลบ ไม่เชื่อใจใคร หวาดระแวงว่าจะมีใครมาทำร้ายอยู่ตลอดเวลา








2. Take Shelter (2011)

ภัยพิบัติทางธรรมชาติผสมผสานกับโรคทางจิตเภทจนกลายเป็นพล็อตที่สดใหม่และสะท้อนวิถีชีวิตกลุ่มคนชนชั้นกลางได้อย่างสมจริง โดยพูดถึงครอบครัวหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และโฟกัสไปยังตัวละครพ่อที่นำแสดงโดย Michael Shannon ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันทางสังคม จนค่อยๆถูกความเครียดกลืนกิน เกิดความวิตกจริตขั้นรุนแรง ต้องเจอกับความฝันที่โหดในทุกค่ำคืน และที่สำคัญหนังพยายามเล่นกับด้านซิกเซ้นส์ของตัวละครที่เหตุการณ์ในฝันค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นความจริงโดยเฉพาะการเข้าถล่มของพายุทอร์นาโด แต่ขณะเดียวกันหนังก็ใช้หลักทางจิตวิทยามาหักล้างเพื่อรักษาสมดุลของความเคลือบแคลง ที่คนดูต้องคอยเฝ้ามองข้อเท็จจริงจวบจนถึงวินาทีสุดท้าย








1. Repulsion (1965)

ความหวาดระแวง ความเกลียดชังผู้ชาย และพฤติกรรมต่อต้านสังคม เป็นความวิกลจริตที่สื่อให้เห็นจากปฐมบท "ดิ อพาร์ทเม้นท์ ทริโลจี้" ของ Roman Polanski โดยโฟกัสไปยังชีวิตหญิงสาวที่ทำงานในร้านเสริมสวย กับบุคลิกภายนอกที่ดูเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ดูไม่มีพิษภัยกับใคร ทว่าเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นกับคนรอบๆตัว ทั้งการพลอดรักของพี่สาวกับคนรักในยามค่ำคืน และภาพอันน่าโศกเศร้าของหญิงสาวที่ถูกคนรักทอดทิ้ง กลายเป็นตัวกระตุ้นปมฝังใจในอดีต ที่เธออาจเคยถูกชายชั่วข่มขืนกระทำชำเราและสะท้อนออกมาเป็นความฝันอันโหดร้าย ซึ่งหนังจะค่อยๆแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ความขยะแขยงผู้ชายที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่สภาวะวิตก หวาดระแวงที่ยากเกินเยียวยา   
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังทั่วไปเเละซีรีส์(โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี)



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่