ความรู้เรื่ององค์คณะลูกขุน เหมาะไหมหากประยุกต์ใช้กับการตัดสินคดีในสังคมไทย????

ผมเขียนกระทู้นี้ขึ้นมาด้วยความที่ตัวเองไม่ใช่นักกฎหมาย หรือหากจะว่าไปแล้วมีความรู้ทางกฎหมายอยู่บ้าง แต่ไม่เท่าพี่ๆหรือน้องๆที่เป็นทนายความ หรือเรียนจบกฎหมายมาหรอกนะครับ แต่ขอชี้ประเด็นอีกอย่างหนึ่งที่ว่าไปแล้วระบบการตัดสินคดีแบบที่ใช้ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาที่ใช้องค์คณะลูกขุนเป็นผู้ตัดสินในเรื่องข้อเท็จจริง (ตัดสินแค่ว่าผิด หรือไม่ผิด) ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่ตัดสินในข้อกฎหมายเช่นจำคุกกี่ปี ประหารชีวิตหรือไม่ และต้องใช้ข้อกฎหมายตัดสินไปตามข้อเท็จจริงตามที่คณะลูกขุนตัดสิน โดยมากคณะลูกขุนมี 12 คน และการตัดสินข้อเท็จจริงนั้นจะต้องใช้เสียงส่วนมาก 9 หรือ 10 เสียง แทบเรียกว่าเป็นเสียงเอกฉันท์ ลูกขุนก็คือคนธรรมดาต่างสาขาอาชีพ เหมือนเราๆท่านๆนี่แหละครับ ไม่จำเป็นต้องจบกฎหมายใดใดทั้งสิ้น วันนี้ลองมาอ่านดูนะครับ ว่าระบบการใช้องค์คณะลูกขุนมีข้อดีอย่างไร จริงๆศึกษากันมาเยอะในการทำวิจัยของคนเรียนกฎหมายนะครับว่า เมืองไทยเหมาะไหมที่จะใช้องค์คณะลูกขุน เพราะถ้าปรับใช้จริงมันคือการปรับระบบยุติธรรมครั้งใหญ่สุดในแผ่นดินนี้เลยก็ว่าได้ ผมพร้อมที่จะยอมรับฟังการตอบรับจากทุกๆท่านเลยนะครับ  

หลังจากที่ท่านอ่านบทความจบแล้ว ขออนุญาตแทรกคลิปด้านล่างบทความนะครับ  พอดีเพื่อน ทนาย แหมบางคนไวจริงๆ อุตส่าห์ส่งบทจบการแถลงของทั้งฝ่ายรัฐคืออัยการ และฝ่ายทนายจำเลย มาให้ดูตอนจบภาพยนตร์เรื่อง ยุติธรรมอำมหิต ปี 1996 เป็นส่วนภาพยนตร์ฝรั่งแต่พากย์ไทยนะครับ คมแบบ.... โอ้พระเจ้า สะอึกหัวใจการแถลงปิดคดีของทนายฝ่ายจำเลย โมเมนต์หนึ่ง ผมอึ้งนะครับ ที่คณะลูกขุนกล้าตัดสินด้วยแบบนี้ แม้เรารู้ว่ามันผิดกฎหมาย จำเลยได้ทำผิดจริงๆในข้อหาฆ่าคน แต่ดูแล้วเออผมสะอึกและเข้าใจคณะลุกขุนเลยว่าทำไมตัดสินออกมาในรูปแบบนี้  มองให้ลึกด้วยหัวใจแล้วท่านจะเข้าใจ แค่ 11 นาทีคุ้มค่าแก่การดูครับ (ปล.พยายามหาดูเต็มเรื่องคิดว่า youtube คงไม่กล้าให้มีใครเอาลงแน่เพราะเรื่องติดลิขสิทธิ์)

แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2014/04/52542

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับระบบการทำงานของตุลาการอเมริกันไปบ้างแล้ว โดยระบบที่เรียกว่า common law  การตัดสินอรรถคดีในระบบอเมริกันที่มีหลักใหญ่ความคือ การใช้สามัญสำนึก (common sense) ในการตัดสินคดีต่างๆ ซึ่งก็คือ ระบบลูกขุน (jury duty) นั่นเอง ลูกขุนก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างคุณอย่างผมนี่แหละที่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะผู้พิพากษาได้ ทั้งที่เราไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายกันเอาเลยก็ยังได้ เพราะระบบตุลาการอเมริกันวัดความยุติธรรมจากสำนึกภายในของแต่ละบุคคล แม้ว่าการคัดเลือกคณะลูกขุนจะมีขั้นตอนและอาศัยคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกันแต่ก็ไม่เป็นที่ยุ่งยากดูสูงส่งเหมือนบางประเทศที่ใช้ระบบ civic law หรือระบบตุลาการที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย

ระบบตุลาการอเมริกันตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาที่เชื่อในความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์ เชื่อว่าความรู้ไม่ใช่เครื่องวัดศีลธรรมภายในของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ต่างหากที่เป็นมาตรวัดคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันเอง  และการที่สังคมมนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้ อารยธรรมมีการพัฒนามาตลอด ไม่กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน หรือเสมือนสังคมสัตว์ ก็เพราะคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

ในระบบตุลาการของอเมริกันนั้น หลายเมืองถึงกับมีการเลือกตั้ง (vote) บุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ผู้พิพากษา ซึ่งว่าไปแล้วบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้พิพากษานี้เป็นแค่ผู้จัดระบบหรือกระบวนการตัดสินอรรถคดีให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น  ผู้พิพากษาเหล่านี้ไม่มีหน้าที่ในการตัดสินคดีโดยตรงแต่เพียงผู้เดียวหรือตัดสินกันแต่เฉพาะบรรดาผู้พิพากษาอาชีพ แต่ในการพิจารณาคดีนั้นอาศัยคณะลูกขุน

เพราะความเชื่อที่ว่าเมื่อคุณกับผมฟังการไต่สวนคู่ความร่วมกับพยานบุคคลและพยานหลักฐานแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ทางกฎหมายใดๆ นี่แหละ คุณกับผมก็สามารถที่จะสามารถจับได้ว่าใครเป็นฝ่ายพูดจริงใครเป็นฝ่ายพูดเท็จในศาล ซึ่งเป็นการปลุกสำนึกของความเป็นมนุษย์ของคุณและผมให้ทำงาน เพราะทั้งคุณทั้งผม เราต่างไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในคดีเลย ไม่มีความผูกพันหรือมีความหลังต่อกันมาก่อน

แน่นอนว่าคุณและผมที่ทำหน้าที่ลูกขุนนี้ เราอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งในท้ายที่สุดก็ต้องมาตัดสินกันด้วยการโหวตเช่นกันว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไร ผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้อธิบายให้คุณกับผมฟังว่าผลของข้อกฎหมายเป็นอย่างไร คุณกับผมมีสิทธิที่จะใช้หัวอกหัวใจใส่ลงไปในผลที่จะเกิดขึ้นกับคดีเหล่านี้ เช่น โทษจำคุกระยะเวลาสั้นยาว  หากคุณกับผมไม่อาศัยสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงแล้ว คุณกับผมก็อาจมีตราบาปติดอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นคุณกับผมก็ต้องมาคิดอย่างรอบคอบว่า เราจะต้องตัดสินอย่างตรงกับสามัญสำนึกให้มากที่สุด

ระบบลูกขุนอเมริกัน ทำให้ตระหนักได้ประการหนึ่งว่า ความรู้ทางด้านกฎหมายไม่ใช่คำตอบของความยุติธรรม บุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายไม่ได้เป็นผู้ไร้ซึ่งอคติเสมอไป หากแต่ความรู้เองกลับเป็นอคติอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ อคติที่มาจากความรู้ หรือความเชื่อมั่นในความรู้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย นอกเหนือไปจากมุมมองการให้คุณค่าความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงอำนาจการตรวจสอบตุลาการหรือผู้พิพากษาประจำของคนอเมริกัน อย่างเช่น การอาศัยกระบวนการเลือกตั้งในบางรัฐหรือบางเมือง เป็นต้น หากประชาชนในท้องถิ่นเห็นว่าผู้พิพากษาทำหน้าที่ได้ไม่ดี ไม่ยุติธรรม พวกเขาก็ไม่เลือกผู้พิพากษาคนเดิมต่อไป

อีกประการหนึ่งคือ ความยุติธรรมกับผลประโยชน์ หลักการของระบบกฎหมายแบบสามัญสำนึกมองว่า เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแบบขาประจำทำงานไปนานๆก็ย่อมจะยึดติดกับตำแหน่ง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นได้ ดังนั้นตำแหน่งผู้พิพากษาจึงไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute power) แต่จะขึ้นกับการตัดสินใจร่วมของคณะลูกขุนที่มาจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วไป ทั้งนี้ต้องกลับไปดูการพิจารณาคุณสมบัติของคณะลูกขุนด้วยว่า ฝ่ายอเมริกันมีการพิจารณาด้วยความเข้มงวดรัดกุม เช่น ถ้าพูดถึงสาขาอาชีพ เขาไม่เลือกบุคคลที่มีอาชีพเดียวกับคู่ความ เพราะอาจทำให้เกิดอคติในการตัดสินคดีจากความเป็นผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพเดียวกันก็ได้

เหนืออื่นใด คือ การมองผู้พิพากษาคือคนๆหนึ่งเหมือนกับคนทั่วไป ผมเห็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งที่เนวาดาถูกโอบคอโดยประชาชนและเดินสนทนาอย่างสนิมสนมในงานปาร์ตี้เรี่ยไรเงินเพื่อสังคมสงเคราะห์แห่งหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกัน ผู้พิพากษา ก็เป็นคนของประชาชนไปด้วยในตัว เช่น ผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เพราะในระบบการสรรหาผู้พิพากษาในระดับตั้งแต่ระดับหัวหน้าศาลท้องถิ่นขึ้นไปของอเมริกัน ไม่มากก็น้อยต้องยึดโยงกับประชาชน  ดังกรณีการยึดโยงกับสภาท้องถิ่น ของเมืองหรือของรัฐ เป็นต้น

เท่ากับว่าระบบตุลาการอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยโดยปริยาย มีการวางโครงสร้างเพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลจากประชาชน  เพราะเกี่ยวข้องกับมวลชนโดยตรง ตุลาการคือ สามัญชน ที่มาแล้วไปตามวาระ ความรู้ในเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าสำนึกของความยุติธรรมต่อคู่ความหรือคู่ขัดแย้ง

น่าแปลกที่ว่า ระบบยุติธรรมของตุลาการอเมริกันผูกพันถึงมวลชนด้วย คือ เสียงส่วนใหญ่ของคณะลูกขุนที่เป็นเครื่องชี้ชะตากรรมของคู่ความในที่สุด ดังนี้แล้วก็เชื่อมโยงไปถึงความนิยมชมชอบในตัวของผู้พิพากษาด้วยว่า“สังคมท้องถิ่นนั้นๆเห็นว่าการตัดสินคดีของเขาหรือเธอยุติธรรมหรือไม่” ถ้าเห็นว่าการตัดสินไม่ค่อยยุติธรรมก็จะไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยุติธรรมที่ว่าก็อาศัยเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมด้วย เช่น พยาน หลักฐานต่างๆ ด้วย

ในส่วนของศาลสูง ซึ่งเป็นศาลการเมือง มีหน้าที่ในการตีความข้อขัดแย้งทางกฎหมายของรัฐและของประเทศ  รวมถึงข้อขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาตินั้น ที่มาของผู้พิพากษาก็ยึดโยงกับระบอบรัฐสภาของอเมริกัน  คือโดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดีและการรับรองของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (รัฐละ 2 คน)

การตีความของศาลสูงอเมริกันสามารถถูกลบล้าง (overrule) ได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา  ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลจึงไม่ใช่เป็นคำตัดสินสุดท้ายที่จะแก้ไขอะไรไม่ได้ ระบบการถ่วงดุลของศาลสูงถูกทำโดยอำนาจของประชาชนในเชิงของการยอมรับของสาธารณะหรือที่เรียกว่า ระบบ public acceptance ที่หมายถึง คำตัดสินของศาลสูงจะต้องได้รับการยอมรับและต้องไม่ขัดแย้งกับความเห็นวิญญูชนสาธารณะจนน่าเกลียด  จนเห็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันในระหว่างหมู่ชนหรือประชาชนโดยทั่วไปในประเทศ

ดังนั้น ว่าโดยน้ำหนักของกระบวนการยุติธรรมอเมริกันแล้ว ได้ถูกวางไปที่ 3 ส่วน คือ  ส่วนประชาชน หมายถึง ประชาชนมีอำนาจในการจัดการเรื่องความยุติธรรมของพวกเขาด้วยกันเอง,  ส่วนความเสมอภาค หมายถึง ในระหว่างผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีกับผู้ที่อยู่ในกระบวนการตัดสินคดีมีความเท่ากันในแง่ความเป็นมนุษย์ และส่วนความเรียบง่าย ไร้พิธีรีตองเชิงตัวบทกฎหมายในกระบวนการพิจารณาคดี หมายถึง การวางเครื่องมือ คือ สามัญสำนึกในการพิจารณาคดีไว้เป็นลำดับแรก วางเครื่องมือตัวบทกฎหมายเป็นลำดับที่สอง

กระบวนการยุติธรรมอเมริกันไม่เชื่อในองค์เอกอธิปัตย์ตุลาการ  แต่เชื่อในปัจเจกสามัญสำนึกที่ขยายต่อไปถึงระบบสำนึกร่วมของหมู่ชนในสังคม

ระบบตุลาการอเมริกันจึงไม่แปลกแยกออกไปจากอำนาจหรือความผูกพันต่อประชาชนแต่อย่างใด มีความผันผวนของตำแหน่งในแบบที่เรียกว่า “การสถาปนาอำนาจชั่วคราวจากประชาชน” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “การสถาปนาอำนาจถาวร” ในรูปแบบข้าราชการประจำ ที่ไร้ซึ่งความผันผวน และมีการตระหนักรู้ถึงสุขทุกข์ที่เกิดจากความผันผวนของโลกภายนอก หรือโลกของชาวบ้านน้อย

เหมือนที่ผู้พิพากษาอเมริกันคนหนึ่งเคยบอกกับผมว่า “ความมั่นใจในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา(ว่ายุติธรรมดีแล้ว) ก็คือ ความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง” นั่นเอง

บทตัดตอนภาพยนตร์ ยุติธรรมอำมหิต เมื่อพยายฝ่ายโจทก์ให้การช่วยจำเลยในชั้นศาล
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
สรุปคดีของทั้งอัยการ และทนายฝ่ายจำเลย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่