ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา เสริมสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

กระทู้ข่าว


ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (FLEC) ภายใต้ความร่วมมือของ 5 หน่วยงานรัฐและเอกชน เดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์และลดปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้อง ยกระดับคุณภาพชีวิตลูกเรือประมงและแรงงานประมงต่อเนื่อง  เสริมสวัสดิการและสร้างความมั่นคงในการทำงานให้แรงงานและครอบครัว  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้บุตรหลานแรงงาน เพื่อส่งต่อเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ

ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา  หรือ  Fishermen's Life Enhancement  Center Songkhla : FLEC  เกิดจากความร่วมมือของ 5   หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย  องค์กรสะพานปลา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการค้ามนุษย์ในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นให้มีประสิทธิผล  และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงและครอบครัวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  กำหนดระยะเวลาของโครงการ 5 ปี ( ปี 2559-2563 )

นายปรีชา เจ๊ะสา  สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประมงจังหวัดสงขลา  กล่าวว่า  ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมง   มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และให้ความรู้แรงงานประมง เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย  ตลอดจนให้คำปรึกษาและเป็นที่พี่งให้แก่ลูกเรือประมง  รวมไปถึงลูกจ้างในธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องกับการประมง  สามารถขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์ฯ เพื่อเรียกร้องสิทธิเมื่อมีการถูกละเมิดสิทธิและเข้าถึงสิทธิของตนเอง
  
" ทั้ง 5 หน่วยงาน ที่ร่วมจัดตั้งศูนย์ฯ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ  ช่วยเหลือลูกเรือประมงให้มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมาย  สนับสนุนยาสามัญประจำบ้านให้แก่เรือประมง ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงาน  โดยในส่วนของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯเอง  มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆของแรงงาน " นายปรีชา กล่าว

นางสาวนาตยา   เพชรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา   ในฐานะกรรมการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา กล่าวถึง การดำเนินงานของศูนย์ฯ ตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559  จนถึงปัจจุบัน  เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ว่า มีลูกเรือประมงและแรงงานประมงต่อเนื่องที่เข้าถึงบริการต่างๆของศูนย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อาทิ การให้พยาบาลและคัดกรองโรคเบื้องต้น ศูนย์รับประสานงานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของแรงงาน โดยตลอดทั้งปี 2559  มีจำนวนแรงงานที่เข้าถึง 2,030 คน และเพิ่มเป็น  3,483 คน ในปี 2560  ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.- มิ.ย.) มีจำนวนแรงงานเข้าถึง 2,245  คน   ซึ่งในส่วนของการดำเนินงานของศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากซีพีเอฟอย่างต่อเนื่อง

ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานที่ติดตามแรงงานมาด้วย มีการจัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลานแรงงานเป็นศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว  ซึ่งตอบสนองความต้องการของแรงงานได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเมื่อปี 2560 มีบุตรหลานของแรงงานที่เข้าเรียนที่ศูนย์จัดการเรียนการสอน 59 คน สามารถส่งเด็กที่ผ่านการประเมินและผู้ปกครองมีความพร้อมเข้าเรียนที่โรงเรียนเทศบาล 1 (ถนนนครนอก) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำนวน   7  คน ส่วนปีการศึกษา 2561  มีเด็กที่ผ่านการประเมินและผู้ปกครองพร้อมสนับสนุนและส่งเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1 จำนวน   6  คน

“ครึ่งปีแรก ศูนย์ฯเน้นการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ต่างๆ และการฝึกอาชีพเสริม การจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ และการให้บริการในด้านการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือเบื้องต้น ส่วนกิจกรรมในครึ่งหลังของปีนี้ เน้นอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของแรงงานที่ควรรู้  ความปลอดภัยจากการทำงานบนเรือ กฎหมายแรงงาน สุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดการเรียนการสอนให้แก่ลูกหลานแรงงาน” กรรมการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา กล่าว

นายสมาน อายุ 35 ปี  อาชีพกรรมกรแพปลา ชาวกัมพูชา  เล่าว่า เคยเข้าร่วมในหลายกิจกรรมของศูนย์ฯ  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ไปเรื่อยๆ และจัดต่อเนื่อง  เพราะแรงงานสามารถทำงานไปด้วยและนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันควบคู่กัน  เช่น กิจกรรมปลูกผักสวนครัว   การอบรมด้านสุขภาพ  การปฐมพยาบาลบื้องต้น  ความรู้เรื่องสิทธิแรงงาน เป็นต้น  นอกจากนี้ เวลาที่แรงงานหรือบุตรหลานเจ็บป่วย สามารถไปรับบริการยารักษาโรคได้  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และตนยังส่งลูกชายวัย 5 ปี เข้าเตรียมความพร้อมด้านภาษาซึ่งปัจจุบันย้ายเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 2/1 ที่โรงเรียนเทศบาล 1 (ถนนนครนอก) แล้ว  
  
“หลังจากที่จัดตั้งศูนย์ ฯ ช่วยให้แรงงานมีที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของแรงงาน  จากเดิมที่เวลามีปัญหาไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร และยังสามารถนำลูกหลานมาฝากให้เรียนหนังสือที่นี่  มีคุณครูคอยดูแล ไม่ต้องกังวล เพราะก่อนหน้านี้บางครั้งต้องพาลูกไปทำงานด้วย กลัวลูกตกน้ำ เนื่องจากที่ทำงานอยู่ใกล้ทะเล” นายสมาน กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่