หนี้ ช.พ.ค. ครู โพธิ์สัตว์ ผู้ช่วยคนพ้นทุกข์ ?

ฉบับที่ ๓๖ วันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เรื่อง หนี้ ช.พ.ค. ครู โพธิ์สัตว์ ผู้ช่วยคนพ้นทุกข์ ?

          ครู รากศัพท์เดิม “คุรุ” แปลว่าหนัก
         “ครู” เป็นอาชีพที่สำคัญมาก เนื่องจากคนเป็นครูต้องอยู่กับเด็กกับเยาวชนผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ อบรม ขัดเกลา ยกระดับจิตใจให้พวกเขาเหล่านั้นพาตัวเองและสังคมให้อยู่รอดปลอดภัย อาจกล่าวได้ว่า ครู คือ “พระโพธิสัตว์” ผู้พาผู้อื่นให้พ้นทุกข์นั่นเอง
          การเป็นครู จึงต้องเสียสละมากมาย ดั่งบารมี 10 ทัศของพระพุทธองค์ก็ว่าได้ บางครั้งต้องสละทั้งทรัพย์ อวัยวะ แม้กระทั่งชีวิต เพื่อลูกศิษย์ เราจึงยกย่องครู เพราะ”สร้างดินให้เป็นดาว” แต่ด้วยปัญหาหลายอย่างรุมล้อมมากมายทั้งภายนอก ภายใน ภาวะหนี้สินของครูหลายคนได้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นวิกฤติกระทบถึงความเป็นต้นแบบพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ที่ช่วยแสวงหาทางพ้นทุกข์ให้เยาวชน แม้กระทั่งสังคมก็อาศัยความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของครูเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แล้ว”ครูยังเอาตัวไม่รอด จะช่วยใครได้”
         จากเหตุการณ์ครูกลุ่มหนึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งแกนนำครูได้ประกาศบนเวที และให้สมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมพูดตามว่า "วันที่ 14 ก.ค. 61 ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาล และธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการ ช.พ.ค.ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไป ลูกหนี้ ช.พ.ค จำนวน 450,000 คน"
         หลายคนมองว่าการกระทำเช่นนี้เท่ากับการเบี้ยวหนี้ ถ้าหากครูไม่จ่ายหนี้ ก็เท่ากับว่าขาดจริยธรรม จึงไม่ควรไปสอนคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักเรียน  ส่วนต้นเหตุด้านลบเพราะครูอวดร่ำอวดรวย จึงเป็นหนี้ ด้านบวกคือ รายจ่ายครูเยอะต้องช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน สังคมพอหารายได้เพิ่มจากธุรกิจ แต่เศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งเสียหาย
         หากวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถึงปัญหา ทางออกที่เหมาะสม สะท้อนหลักธรรมใด ผู้เขียนนึกถึง ความคาดหวังของสังคม ไม่ได้มองครูแสวงหาบ้าน รถ อวดความมั่งมีแบบ “สุขของคฤหัสถ์ 4 “ แต่ครูคือต้นแบบในทุกเรื่อง
        หลักธรรม 4 ประการที่ทำผู้ครองเรือนมีความสุข
        1. อัตถิสุข หมายถึง ความสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยแรงกาย สติปัญญาความสามารถของตนเอง 
        2. โภคสุข หมายถึง สุขอันเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง หรือสร้างประโยชน์สุขต่อบุคคลอื่นในสังคม 
        3. อนณสุข หมายถึง สุขจากการไม่เป็นหนี้ 
        4. อนวัชชสุข หมายถึง สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือความภูมิใจเอิบอิ่มใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียน ไม่ได้ทั้งทางกายวาจาใจ
        เมื่อครูแสวงหาสุขแบบคฤหัสถ์ จากสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ครู ในหน้าที่ที่เป็นโทษ จากครูผู้สูงส่ง กลายเป็นครูผู้ยากไร้ ยิ่งเรื่องข่มขืน โกงอาหารเด็ก รับแป๊ะเจี๊ยะ ฯลฯ ถ้าครูทำหน้าที่แบบพระโพธิสัตว์จริงๆ ผู้เขียนคิดว่าปัญหาหนี้สิน หรือทุกอย่างที่ครูประสบนั่น หากลูกศิษย์ สังคมทราบ ต้องช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่อย่างว่า ครูคือมนุษย์ท่านหนึ่งย่อมพลาดได้ ขอสังคมไทยเคารพครู เหมือนดั่งพระ ผู้เป็นความหวังเป็นแสงสว่างแก่โลกใบนี้
        ทุกท่านคิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนความความรู้กันใน Comment Facebook, YouTube, Blog, Line, IG, Twitter, pantip ...กันนะครับ ขอบคุณครับ

                 B.S.
          20 ก.ค. 2561
      
ตอน หนี้ ช.พ.ค. ครู โพธิ์สัตว์ ผู้ช่วยคนพ้นทุกข์ ? เวลา 14.00-14.20 น. https://youtu.be/7BsAlaM5sc4
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่