ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๓๕ เข้าเฝ้าองค์พ่อขุน

.
                                                  

บทที่ ๓๕ เข้าเฝ้าองค์พ่อขุน

แสงสีทองยามเช้าสาดส่องเจิดจ้า สีหน้าผู้คนที่เดินผ่านเข้าออกประตูเมืองด้านทิศเหนือของสุโขทัยต่างแช่มชื่น
ครั้นเห็นพิไลเดินมากับแสงพราย หลายคนต่างเดินเข้ามาทักทายและแสดงความชื่นชมยินดีทั้งกับสำนักบ้านเงินบ้านทองและตัวชายหนุ่ม

“คนนี้หรือพ่อแสงพราย แหมรูปก็งาม ฝีมือก็เป็นเลิศ” หญิงสาวคนหนึ่งไล่เลียง หลังจากทักทายพิไล

“ใช่จ้ะ แสงพรายที่ปั้นแบบองค์พระซึ่งองค์พ่อขุนทรงเลือกเป็นลำดับแรก”

“งั้นเดี๋ยว ก็คงได้รับแต่งตั้งเป็นช่างเอกปั้นหล่อองค์พระใหญ่แน่”
“แหมพิไล ยินดีด้วยนะ...” หญิงสาวอีกคนปรี่เข้ามา “พ่อหนุ่มคนนี้คือศิษย์คนใหม่ของปู่หลวงใช่ไหม... รูปงามอย่างที่เค้าว่ากันจริงด้วย”

กว่าพิไลจะหลุดออกจากย่านพลุกพล่านหน้าประตูเมืองก็วุ่นวายอยู่ครู่ใหญ่ เพราะต้องคอยตอบคำถามผู้คนที่นางรู้จัก แต่นางก็กระทำด้วยใจที่อิ่มเอม แม้แสงพรายจะเป็นเป้าหมายของการชื่นชมและเอ่ยถึงแต่เจ้าตัวกลับยืนนิ่งกึ่งก้มหน้าอยู่ข้างพิไล สีหน้าเรียบสงบและไม่พยายามจะสบตากับผู้ใด

“นี่ ทีหลังเวลาคนเขาเข้ามาทักทาย ท่านก็ต้องเตรียมพูดจากับเขาบ้าง ไม่ใช่ยืนนิ่งเป็นหุ่นไม่รับรู้สิ่งใด จนตัวฉันเก้อแทน”
พิไลพูดขึ้นเมื่อเดินปลีกออกมาแล้ว จนใกล้ถึงทางเข้าเขตพระตำหนัก

ไม่มีคำตอบโต้ใดๆ จากแสงพราย จนหญิงสาวรู้สึกขึ้นเองว่าคำตอบคือ...คนเหล่านั้นล้วนเข้ามาทักทายพิไล มิใช่ตน...

เมื่อมาถึงพระตำหนัก แสงพรายเดินตามพิไลขึ้นไปบนเรือน เห็นองค์หญิงกัณฐิมาศประทับบนพระแท่นใหญ่ มีนางข้าหลวงสายพินนั่งอยู่กับพื้นด้านข้าง
พระพักตร์งามผ่องสดใส ประดับด้วยรอยแย้มพระสรวลชวนพิศน่าลุ่มหลง

“มากันแล้วหรือ” รับสั่งทักทาย ในขณะที่พิไลนั่งพับเพียบก้มกราบ ส่วนแสงพรายคุกเข่าพนมมือถวายบังคม

องค์หญิงทรงทอดสายพระเนตรที่เป็นประกายมายังแสงพราย บ่งบอกถึงความยินดีแต่ก็แฝงแววกระด้างเย็นชา
“ขอบใจพิไลที่เป็นธุระให้เรา... และขอบใจท่านที่อุตส่าห์มาพบเราในวันนี้”

แสงพรายนิ่งมิตอบคำ จนพิไลต้องกราบทูลขึ้นว่า
“หามิได้เพคะ การใดที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ เกล้ากระหม่อมฉันยินดีรับสนองด้วยเกล้า เพคะ”

พระนางทรงแย้มพระสรวลรับ รับสั่งว่า
“แสงพราย ท่านยังขุ่นเคืองเราอยู่หรือที่เป็นสาเหตุให้ท่านบาดเจ็บสาหัสเพราะฝีมือขุนกาฬ”

เมื่อถูกทักถึงตัวครั้งนี้ แสงพรายจำต้องกราบทูลตอบไป... ฟังเผินๆ คล้ายวาจายอกย้อน
“หามิได้ พระเจ้าค่ะ... เกล้ากระหม่อมทำผิดกับพระองค์ไว้ แม้จะต้องบาดเจ็บมากมายกว่านี้ก็เป็นที่สมควร พระเจ้าค่ะ”

“จริงสินะ ท่านทำผิดกับเราไว้...” รับสั่งด้วยพระสุรเสียงเข้ม “แล้วตอนนี้อาการบาดเจ็บของท่านเป็นอย่างไรบ้าง”
“อาการของเกล้ากระหม่อมทุเลาดีแล้ว อีกไม่นานคงเป็นปกติ พระเจ้าค่ะ”

“เป็นปกติหรือ... ตอนท่านบาดเจ็บหมดสติอยู่ เราได้นิมนต์พระเถระมาช่วยรักษา พระคุณเจ้าบอกว่าท่านมีอาการบาดเจ็บสาหัสเรื้อรังอยู่ก่อน จนทำให้แขนของท่านไร้เรี่ยวแรงเกือบจะพิการอยู่แล้ว”

“พระเถระ...” แสงพรายแม้เพียงพึมพำขึ้น แต่ในใจกลับปรากฏคำถาม...ทำไมพระเถระรูปนี้จึงสามารถบ่งบอกว่าเราเคยบาดเจ็บสาหัสมาก่อน
“ใช่ พระเถระ... ท่านเป็นศิษย์คนสุดท้ายของพระมหาเถรศรีศรัทธา”

เพียงได้ยินชื่อพระมหาเถรศรีศรัทธาเท่านั้นแสงพรายก็ขนลุกซู่ พลั้งปากออกไป
“ศิษย์พระมหาเถรศรีศรัทธา... แล้วตอนนี้ท่านอยู่ที่ใด”

องค์หญิงกัณฐิมาศทรงหาได้ใส่พระทัยต่อคำกราบทูลถาม อันไร้ซึ่งคำลงท้ายแสดงความเคารพไม่
“ท่านไม่ต้องกังวล... เราได้ขอให้พระคุณเจ้าช่วยรักษาอาการบาดเจ็บเรื้อรังดังกล่าว เมื่อถึงเวลาพระคุณเจ้าจะมาพบท่านเอง... ทีนี้ท่านบอกเราได้หรือไม่ว่าทำไมจึงได้บาดเจ็บจนแทบพิกลพิการปานนี้”

พระสุรเสียงของพระนางราบเรียบในตอนท้าย คล้ายคาดคั้นให้ชายหนุ่มตอบ ในขณะที่เจ้าตัวหันไปชำเลืองมองพิไลอยู่แวบหนึ่ง ก่อนกราบทูลว่า
“เป็นความผิดที่เกล้ากระหม่อมได้กระทำไว้ ฟ้าดินจึงลงโทษให้บาดเจ็บพิกลพิการ พระเจ้าค่ะ”

“ความผิดรึ...” พระนางพลันรับสั่งด้วยพระสุรเสียงเย็นชา “ท่านมีความผิดใดให้ละอายต่อฟ้าดินอีก นอกจากที่ได้กระทำไว้ที่สุพรรณภูมิ”

...บรรยากาศบนเรือนพระตำหนักนิ่งเงียบไปทันที ส่วนพิไลได้แต่หันซ้ายมองขวาไปมาระหว่างพระนางและชายหนุ่ม แม้พระองค์หญิงกัณฐิมาศยังคงประดับด้วยรอยแย้มพระสรวลบนพระพักตร์ที่งามสง่า แต่กลับคล้ายมีประกายไฟลุกโชนอยู่ในดวงพระเนตร

“เกล้ากระหม่อมยินดีชดใช้ทุกความผิดที่ได้เคยกระทำไว้... รวมทั้งความผิดที่เมืองสุพรรณภูมิ”

สายพระเนตรของพระองค์หญิงจ้องประสานตาชายหนุ่มด้วยแววประหลาด
“สายพิน เจ้าช่วยพาพิไลไปหยิบเครื่องของสำหรับฝึกหัดงานปั้นแล้วนำขึ้นมาบนเรือนด้วยเถอะ”
“เพคะ”

แล้วสองหญิงสาวก็พากันลงจากเรือนพระตำหนัก ทิ้งแสงพรายไว้กับองค์หญิงกัณฐิมาศเพียงลำพัง...



เมื่อผ่านช่วงสายใกล้เพล แสงพรายจึงออกจากพระตำหนัก ส่วนพิไลถูกขอให้อยู่ต่อเพื่อเป็นพี่เลี้ยงดูแลการฝึกปั้นงานของพระองค์หญิงตามแนวทางที่ชายหนุ่มถวายคำแนะนำไว้

แม้มิใช่วันที่ต้องถวายงานสอน แต่พิไลก็ยินดีที่จะได้อยู่เฝ้า ด้วยมีความสุขใจทุกครั้งที่ได้ใกล้ชิดองค์หญิงกัณฐิมาศ
นางสังเกตว่าหลังจากทิ้งให้พระองค์หญิงและแสงพรายได้อยู่กันตามลำพัง เมื่อกลับขึ้นเรือนพระตำหนักมาอีกครั้ง ดูเหมือนท่าทีของคนทั้งสองจะเปลี่ยนไป...

“องค์หญิงทรงได้คำตอบเรื่องอาการบาดเจ็บเดิมของแสงพรายบ้างหรือเปล่าเพคะ” พิไลเห็นจังหวะจึงกราบทูลถาม

“เขาไม่ยอมบอก เพียงแต่บอกว่าเขาทำผิดคำสาบานเลยมีอันเป็นไป” องค์หญิงทรงแย้มพระสรวลละไมรับสั่งตอบ... เป็นรอยยิ้มที่นุ่มนวลอารี ผิดจากช่วงเช้าเมื่อแรกมาเข้าเฝ้า
“ทำไมล่ะเพคะ ทำไมถึงบอกไม่ได้”

“คนเราทุกคนก็มีความลับของตนทั้งนั้นละ พิไลเอ๋ย... เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทุกอย่างก็จะปรากฏออกมาเอง”
“ความลับหรือ.. แสงพรายมีความลับปกปิดอยู่หรือ เพคะ”

องค์หญิงกัณฐิมาศมิทรงตอบ แต่ทรงแย้มพระสรวลนุ่มนวลลึกซึ้ง จนแม้พิไลยังอดหวั่นไหวในความงามของพระนางมิได้...

-----------------------------------

จากประตูเมืองศาลหลวงด้านทิศเหนือ เดินตรงตามถนนพระร่วงเข้ามา เบื้องขวาคือลานดงตาล เบื้องซ้ายคือวัดสรศักดิ์และบริเวณเขตพระตำหนักสำคัญของเจ้านายฝ่ายใน ครั้นเดินตรงต่อมาก็ถึงใจกลางเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดมหาธาตุ และพระราชวัง

ครั้นแล้วปู่หลวงจึงนำแสงพรายเดินไปทางเบื้องซ้ายหรือทางทิศตะวันออกเลียบแนวกำแพงพระราชวัง แล้วค่อยหยุดลงตรงหน้าประตูใหญ่ มองเข้าไปเห็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จออกประชุมขุนนางขององค์พ่อขุน ด้านหน้ารายล้อมด้วยเสนาทหาร

เมื่อผ่านทหารรักษาประตูวังเข้าไป พระที่นั่งเบื้องหน้าดูกว้างใหญ่ สูงตะหง่านด้วยเสาหินศิลาแลง ตัวผนังสูงก่ออิฐโบกปูน พระบัญฑูร (หน้าต่าง) ยกสูงรายรอบผนังด้านซ้ายและขวา ทำด้วยไม้สักจำหลักลวดลายประณีตงดงาม

ปู่หลวงเดินเข้าไปเจรจากับพนักงานวังในที่ยืนอยู่ด้านหน้าคนหนึ่งแล้วจึงกลับมาพาแสงพรายเข้าไปภายในพระระเบียงที่กว้างขวางอยู่ด้านนอกท้องพระโรง แล้วนั่งหมอบร่วมกับขุนนางผู้น้อยที่เฝ้าอยู่รายรอบ

เพลานี้เป็นยามเย็น ซึ่งองค์พ่อขุนมักทรงประชุมว่าราชกิจอันเกี่ยวเนื่องกับวังในหรือเรื่องราวทั่วไป ส่วนยามเช้าและบ่ายทรงประชุมขุนนางเรื่องงานเมืองงานนครและทรงตัดสินฎีกาต่างๆ
สักครู่พนักงานวังในจึงมานำปู่หลวงและแสงพรายเข้าสู่ท้องพระโรง

“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำแสงคำ หัวหน้าสำนักบ้านเงินบ้านทอง พร้อมแสงพรายเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าข้า” เสียงกราบบังคมทูลเบิกตัวปู่หลวงและแสงพรายดังอยู่ด้านในท้องพระโรง

ต่อเมื่อแสงพรายติดตามเข้าไป เห็นองค์พ่อขุนพระยาลือไทประทับอยู่บนบัลลังก์องค์ใหญ่วิจิตรตระการเด่นเป็นเอกอยู่เบื้องกลาง เบื้องขวาขององค์พ่อขุนประทับด้วยองค์พระมเหสี พระราชบุตรและเชื้อพระวงศ์องค์สำคัญ แต่ที่สะดุดใจแสงพรายคือองค์หญิงกัณฐิมาศประทับร่วมในที่ประชุมด้วย ซึ่งปกติพระนางมักไม่เสด็จสู่ท้องพระโรงท่ามกลางหมู่คณะใหญ่ ด้วยเป็นราชนิกุลเชื้อพระวงศ์น่าน

เบื้องซ้ายบนตั่งนั่งด้วยขุนวังเสนะทิพ ขุนคลังวิเศษ ขุนเกษตรจาน ขุนทัพไกรหาญ... และขุนกาฬ ส่วนบรรดาข้าราชบริพารคนอื่นๆ นั่งราบกับพื้นทั้งเบื้องซ้ายและขวา

แม้ท้องพระโรงกว้างใหญ่รายล้อมด้วยบุคคลมากมายแต่ภายในกลับเงียบสงบ จนแสงพรายแทบจะได้ยินเพียงเสียงเดินเข่าของตนกระทบถูลงบนพื้นไม้สักแผ่นใหญ่ลงน้ำมัน สิ่งเดียวรอบข้างซึ่งดูเคลื่อนไหวคือดิ้นเงินดิ้นทองจากอาภรณ์แพรพรรณอันปราณีตที่คลุมเรือนร่างของผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย ล้อไปกับลายที่ปรากฏบนเสาและผนัง ซึ่งเป็นลายกนกและลายเทพพนมสีเงินสีทองเลื่อมระยับตัดขอบดำขอบแดง

ปู่หลวงเองก็สวมชุดที่ตัดเย็บด้วยแพรพรรณงดงาม จึงมีเพียงชายหนุ่มผู้เดินเข่าอยู่กลางท้องพระโรงที่สวมใส่เสื้อผ้าเรียบง่ายสีเทาหม่นสะอาดตา ดูเรียบสมถะ แต่กลับขับเน้นใบหน้าที่ดูคมคายให้โดดเด่น แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างที่บ่าด้านขวาดูลู่ห่อลงมิผึ่งผาย ครั้นสองช่างต่างวัยเดินเข่ามาถึงกึ่งกลางเฉพาะพระพักตร์ จึงถวายบังคมแด่องค์กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย

“ท่านครูแสงคำ... เขานี่หรือคือแสงพราย แห่งสำนักช่างหลวงเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ปั้นแบบองค์พระภายในค่ำคืนเดียว”
“พระพุทธเจ้าข้า คนผู้นี้คือแสงพราย เป็นศิษย์ของพี่ชายข้าพระพุทธเจ้าที่ชื่อแสงใหญ่ ซึ่งได้ย้ายไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยแผ่นดินก่อน พระพุทธเจ้าข้า”

“เราจำได้ดี ในแผ่นดินของพระราชบิดา เมืองนครฯ มีหนังสือมาขอพระราชทานช่างเอก ครั้งนั้นพี่ชายของท่านรับอาสาไป... แม้แผ่นดินจะเสียช่างเอกไป แต่วันนี้เราได้ตัวแทนฝีมือของครูแสงใหญ่กลับมาแล้ว” ทรงพระสรวล เบิกบานพระราชหฤทัย

“ขอเดชะ ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี พระพุทธเจ้าข้า... ฝ่าพระบาทมีพระราชประสงค์จะสร้างองค์พระใหญ่ประจำรัชกาล แต่ได้ฝีมืออดีตบรมครูที่ตกทอดมา ช่างเป็นข่าวดียิ่งนัก พระพุทธเจ้าข้า” ขุนคลังกราบทูลแสดงความเห็น

“ยังหรอกท่านขุนคลัง แม้ว่าเราจะถูกใจในแบบปั้นองค์พระของสำนักบ้านเงินบ้านทองอยู่มาก แต่ก็ยังต้องหล่อรูปองค์พระออกมาให้เราตัดสินเป็นครั้งสุดท้ายเสียก่อน” แล้วทรงเบือนพระพักตร์มารับสั่งกับปู่หลวงต่อ “หวังว่าสำนักของท่านครูคงไม่ทำให้เราผิดหวัง”
“ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำให้สุดความสามารถ พระพุทธเจ้าข้า”

องค์พ่อขุนทรงพิศลักษณะของแสงพราย แล้วตรัสขึ้น
“แสงพราย ศิษย์เอกของครูแสงใหญ่... เจ้าช่วยบอกเราเถิด ว่าอะไรดลใจให้เจ้าปั้นแบบองค์พระออกมาเช่นนี้”

แสงพรายยกมือขึ้นถวายบังคมเหนือเกล้าแล้วมาตั้งพนม กราบทูลว่า
“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าแม้มิรู้ลึกซึ้งในน้ำพระทัยของฝ่าพระบาท แต่มั่นใจว่ามีพระราชประสงค์จะให้องค์พระใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นเป็นศูนย์รวมมิ่งขวัญและกำลังใจของชาวสุโขทัย การที่องค์พระใหญ่จักรวมใจผู้คนได้นั้นต้องเริ่มจากภาวะอารมณ์เริ่มต้นที่ตรงกัน แล้วจึงเหนี่ยวนำสู่ความหวังแห่งอนาคต...

ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินได้ฟังปู่หลวงแสงคำและครูพิธานกล่าวพิจารณาถึงข้อบกพร่องของแบบปั้นองค์พระ องค์ก่อนหน้าที่ทดลองปั้นออกมาแล้วไม่ถูกใจ จึงถือเป็นคำครูอยู่ในใจถึงข้อกำหนดรูปลักษณะที่ควรหลีกเลี่ยง... อันชาวสุโขทัยย่อมจดจำและภาคภูมิใจในความรุ่งโรจน์ของอดีตจึงได้นำมาปั้นเป็นช่วงหน้าตักฐานองค์พระ ผสานกับภาวะปัจจุบันที่แสดงออกทางช่วงลำตัว เหนี่ยวนำสู่ปิติและความหวังในช่วงพระเศียร ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วสิ่งที่ดลใจให้ปั้นแบบองค์พระออกมาได้ลักษณะเช่นนี้ ก็คือคำสั่งสอนของปู่หลวงแสงคำและครูพิธานนั่นเอง พระพุทธเจ้าข้า”

องค์พ่อขุนทรงตบพระชานุเบาๆ ด้วยพอพระราชหฤทัย
“เจ้านี่...นอกจากจะมีฝีมือช่างเป็นเลิศ ยังมีโวหารอันไพเราะ หาได้ทะนงตนว่าเก่งเหนือใคร กลับกล่าวยกย่องบูชาครูประจำสำนัก... รูปลักษณะเจ้าก็งาม เหมาะสมกับจิตใจและฝีมือที่ประเสริฐนัก”

ตรัสแล้วทรงเรียกพนักงานวังในให้นำแพรพรรณและเบี้ยอัฐเข้ามา

“เราขอมอบแพรพรรณเละอัฐเงินเหล่านี้ เป็นรางวัลสำหรับฝีมือของเจ้า”

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่