ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๕๒ โลหะเจ็ดชนิด

.
                                                  

บทที่ ๕๒ โลหะเจ็ดชนิด

เช้าวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑...

ลานดงตาลแน่นขนัดไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศที่ทยอยมุ่งหน้าเข้ามาเพื่อชื่นชมความงดงามขององค์พระพุทธรูปที่จัดสร้างประชันกันของสองสำนักใหญ่ และผลที่จะประกาศออกมาว่าใครคือผู้ชนะได้เป็นช่างเอกในการสร้างพระใหญ่ประจำรัชกาล

หลายคนมาพร้อมขันข้าว แสดงว่าเมื่อทำบุญตักบาตรเสร็จแล้วก็ตรงมายังลานดงตาลทีเดียว...

กลางลาน.. เบื้องหน้าพระแท่นมนังคศิลาบาตรมีโต๊ะวางอยู่เช่นดังครั้งประกวดแบบปั้นองค์พระ เพียงแต่ครั้งนี้จัดวางด้วยห่อผ้าขาวขนาดใหญ่อยู่บนฐานตั้ง จำนวน ๒ ชุด ซึ่งเข้าใจได้ว่าภายในคือองค์พระพุทธรูป ผู้คนต่างส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ถึงฝีมือของครูผาทินเจ้าสำนักพุทธาไลย และแสงพรายศิษย์คนใหม่แห่งสำนักบ้านเงินบ้านทอง

ครูผาทินมีสีหน้าอิ่มเอิบ แย้มยิ้มพูดคุยกับผู้คน ผิดกับปู่หลวงแสงคำสีหน้าเฉยชาไม่ยินดียินร้าย มิได้ปรารถนาจะสนทนากับผู้ใด

“สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และพระศรีธรรมราชพระมเหสีเสด็จ”

เสียงประกาศของพนักงานวังในดังขึ้น พร้อมกับเสียงผู้คนทยอยขยับร่างเคลื่อนไหว ถวายบังคมแสดงความเคารพสูงสุดไปตามรายทางที่ทรงย่างพระบาทผ่าน จนกระทั่งถึงกลุ่มสุดท้ายที่ถวายบังคมเบื้องพระพักตร์เมื่อองค์พ่อขุนพระยาลือไทเสด็จขึ้นประทับบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร มีองค์พระมเหสีและองค์หญิงกัณฐิมาศประทับบนพระแท่นองค์เล็กในลำดับถัดมา
จากนั้นบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางใหญ่น้อยต่างเข้าประจำที่ของตน

ครั้งนี้ขุนวังเสนะทิพมิต้องอยู่เฝ้ารับเสด็จที่ลานดงตาลเหมือนเมื่อครั้งประกวดแบบปั้นองค์พระ ซึ่งต้องคอยควบคุมมิให้ความแพร่งพรายว่าแบบปั้นองค์ไหนเป็นของสำนักใด ในครั้งนี้จึงได้ร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอุโบสถ (วันพระ) และตามเสด็จองค์พ่อขุนจากวัดมหาธาตุถึงลานดงตาล

จากนั้นองค์พ่อขุนทรงพระราชปฏิสันถารกับไพร่ฟ้าชาวเมืองสุโขทัยที่มาร่วมชุมนุมกัน ทรงอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยให้คุ้มครองปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ไร้โรคภัยเบียดเบียน ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลอยู่ในธรรม สร้างความปลื้มปิติแก่ชาวเมืองทุกคน...

“ขอเดชะฝ่าพระบาท บัดนี้ถึงควรแก่เวลาที่ฝ่าพระบาทจะทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่สองสำนักช่างเลื่องชื่อจัดสร้างขึ้นทูลเกล้าถวายและจะได้ทรงพิจารณาเลือกเป็นองค์ต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูปใหญ่ประจำรัชกาลต่อไป พระพุทธเจ้าข้า”

“ขอบใจท่านขุนวัง ท่านครูแสงคำและท่านครูผาทินที่ช่วยดำเนินการจนสำเร็จดังที่เราหวัง วันปวารณาออกพรรษานี้เราจะจัดพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปทั้งสององค์ หวังว่าผลบุญนี้จะอำนวยให้พวกท่านและชาวเมืองสุโขทัยมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองสืบไป”

“เป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธเจ้าข้า” ผู้มีนามตามรับสั่งทั้งสามกราบทูลขึ้นพร้อมกัน แล้วขุนวังก็กราบทูลถามขึ้นว่า
“ขอเดชะฝ่าพระบาท จะโปรดให้พวกข้าพระพุทธเจ้าเปิดผ้าที่หุ้มห่อองค์พระพุทธรูปขึ้นพร้อมกัน หรือจะทอดพระเนตรครั้งละองค์ พระพุทธเจ้าข้า”

“องค์พระพุทธรูปของสองสำนักใหญ่ เปรียบประดุจดวงอุทัยที่จรัสโชติช่วง อย่าให้ต้องประชันแสงพร้อมกันเลย จงเปิดขึ้นทีละองค์... คราวก่อนสำนักบ้านเงินบ้านทองมีชัย ครั้งนี้เราขอชื่นชมพระพุทธรูปที่หล่อเป็นองค์สำเร็จแล้วของสำนักพุทธาไลยก่อนเถิด”

“พระพุทธเจ้าข้า” ขุนวังรับพระราชดำรัส แล้วหันมาทางครูผาทินพร้อมพยักหน้าเป็นสัญญาณให้ดำเนินการ

ครูผาทินถวายบังคม แล้วเดินเข่าไปยังโต๊ะตัวกลางยังจุดที่วางห่อผ้าขาวคลุมองค์พระพุทธรูปของสำนักตน ลุกขึ้นจัดแจงเปิดผ้าที่คลุมออก... เผยให้เห็นองค์พระพุทธรูปที่งดงามเปล่งปลั่ง...รูปองค์ดูแล้วแข็งแรงมีพลัง ยิ่งเมื่อได้เนื้อทองสุกวาวยิ่งมีพลังอำนาจผสานมาในความงดงาม

เสียงผู้คนที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นต่างครางฮือฮาออกมา พร้อมส่งเสียงชื่นชม แม้จะกระซิบกระซาบกันแต่ด้วยคนหมู่มากจึงดังเซ็งแซ่ไปทั่วดงตาล

“สวยงามมาก ท่านครูผาทิน... ตอนลงสีผึ้งดูสวยงามแข็งแรงแต่กระด้าง เมื่อมาหล่อด้วยเนื้อทองคำกลับลดทอนความกระด้างลงไป เหลือแต่ความแข็งแรงและประกายเลื่อมทองของอำนาจ”

ทรงพระสรวลด้วยพระทัยยินดี จากนั้นจึงรับสั่งกับขุนนางผู้เป็นเสาหลักของเมืองทั้งสี่ขึ้นว่า
“ขุนวัง ขุนคลัง ขุนทัพและขุนเกษตร... การประกวดครั้งนี้เราอยากฟังความคิดเห็นของพวกท่าน ท่านเห็นกันอย่างไรก็จงแสดงออกมาเถิด”

“พระพุทธเจ้าข้า” ขุนทั้งสี่รับพระราชดำรัส แล้วขุนวังจึงกราบทูลขึ้นเป็นคนแรก

“ขอเดชะฝ่าพระบาท ครูผาทินมีฝีมือ หล่อพระพุทธรูปสมดังคำเล่าลือ เนื้อทองที่หล่อออกมาแลดูนวลงดงามเป็นผิวเดียวกัน จากแบบปั้นองค์พระที่เคยแลดูกระด้างก็กลับดูนวลตาหาความกระด้างแทบไม่พบเจอ นับว่าใช้จุดเด่นของเนื้อทองคำลบจุดด้อยออกไปได้หมดสิ้น... ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมในฝีมือของครูผาทินจริงๆ พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงพยักพระพักตร์ด้วยพอพระราชหฤทัย

“ขอเดชะฝ่าพระบาท” ขุนทัพไกรหาญกราบทูลขึ้น “องค์พระพุทธรูปที่หล่อออกมานั้นงดงามเป็นเลิศ พระวรกายดูแข็งแรงเปี่ยมพลัง พระพักตร์ที่อวบอิ่มสัณฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมดูมีอำนาจ สะกดหมู่มาร...ข้าพระพุทธเจ้าอดคิดมิได้ว่า ยามนี้บ้านเมืองมีเภทภัย เป็นศึกอโยธยาที่ยกทัพขึ้นมาแทบทุกปี ถ้าจัดสร้างองค์พระพุทธรูปใหญ่ประจำรัชกาลตามแบบของครูผาทิน จะเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงแย้มพระสรวลรับฟัง
“แล้วท่านขุนทั้งสองเล่า มีความเห็นเช่นไร”

ขุนคลังวิเศษถวายบังคม กราบทูลขึ้น
“ขอเดชะฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยว่าพระพุทธรูปของครูผาทินนั้นงดงาม ดูแข็งแรงทรงอำนาจ ซึ่งนั่นนับเป็นความยอดเยี่ยมในฝีมือของครูท่าน...แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังติดใจในฝีมือปั้นแบบองค์พระของพ่อหนุ่มจากสำนักบ้านเงินบ้านทอง ครั้งนี้จะขอดูว่าฝีมือการหล่อองค์พระจะเลอเลิศเหมือนการปั้นหุ่นแบบองค์พระหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับท่านขุนวิเศษ...” ขุนเกษตรจานกราบทูลขึ้น “ฝีมือการหล่อพระเป็นวิชาอีกแขนงหนึ่งต่างจากการปั้นรูป ครั้งก่อนแสงพรายได้แสดงความเหนือกว่าของฝีมือการปั้นรูปอย่างเด่นชัด ส่วนครั้งนี้ครูผาทินได้แสดงให้เห็นแล้วว่าวิชาการหล่อองค์พระพุทธรูปของท่านนั้นมิได้เป็นรองผู้ใด คงต้องรอชมพระพุทธรูปของแสงพรายว่าฝีมืองานหล่อของเขาจะช่วยเสริมเพิ่มเติมให้แบบปั้นองค์พระสวยงามประณีตยิ่งขึ้นไปได้อีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

“ดีมาก...” รับสั่งขึ้นด้วยพอพระราชหฤทัย “ครูผาทิน ท่านหุ้มห่อองค์พระพุทธรูปได้แล้ว”

“พระพุทธเจ้าข้า” ครูผาทินที่หมอบราบอยู่ข้างโต๊ะลุกขึ้นจัดแจงรวบผ้าขาวห่อหุ้มองค์พระพุทธรูปกลับคืน

...พลันแสงแวววาวแห่งความงดงามคล้ายลับหายไปจากลานดงตาลทันที

เสียงซุบซิบของผู้คนต่างสรรเสริญความงดงามของพระพุทธรูปที่เพิ่งได้ชม สีหน้าทุกคนมีแต่รอยยิ้มแย้มแห่งความสุขและความสดชื่น...ยกเว้นสีพระพักตร์ขององค์หญิงกัณฐิมาศ

พระนางทรงเคร่งเครียดกลัดกลุ้มพระทัย ยามนี้มิได้ทรงคำนึงถึงผลแพ้ชนะของการประกวดองค์พระพุทธรูป หากแต่ทรงเป็นกังวลถึงพระอาญาร้ายแรงที่แสงพรายจะได้รับเมื่อความจริงเรื่องทองคำสูญหายถูกเปิดเผยออกมา...ซึ่งก็คือชั่วไม่กี่อึดใจข้างหน้า...

ยามเมื่อทรงหันไปทอดพระเนตรมองแสงพราย สีหน้าชายหนุ่มดูราบเรียบ เด็ดเดี่ยว ทรงครุ่นคำนึงด้วยขุ่นพระทัย...นี่ท่านช่างไม่รู้เลยหรือว่ามัจจุราชมารอคร่าชีวิตท่านอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะช่วยท่านให้ได้...

“เชิญสำนักบ้านเงินบ้านทอง เปิดองค์พระพุทธรูปออกมา” เสียงขุนวังกล่าวขึ้น

ทุกคนในลานดงตาลพากันเงียบเสียง ต่างเฝ้ารอดูพระพุทธรูปที่หล่อมาจากแบบปั้นองค์พระที่ชนะการประกวดในครั้งก่อน

สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังแสงพรายที่เดินเข่าเข้าหาองค์พระพุทธรูปในห่อผ้า...มีเพียงสายพระเนตรของพระองค์หญิงกัณฐิมาศที่มิอาจทรงฝืนพระทัยดูได้ เปลือกพระเนตรปิดสนิทข่มลงจนมิทรงเห็นสิ่งใด.. ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปยึดกุมพระหัตถ์ของพระนางสาขาองค์พระมเหสีไว้แน่น

เวลาทุกขณะที่ผ่านไปในดวงพระหทัยช่างทรมานและอึดอัด.. ทุกสรรพสิ่งคล้ายหยุดนิ่ง มีแต่ความเงียบ...

ป่านนี้..แสงพรายน่าจะได้เปิดผ้าคลุมที่หุ้มห่อองค์พระออกแล้ว... พระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองคำเพียงครึ่งหนึ่ง...

เกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงยังเงียบจัง...

“งามยิ่งนัก.. ช่างงดงามยิ่งนัก”
พระสุรเสียงขององค์พ่อขุนดังกังวาน...

องค์หญิงกัณฐิมาศทรงลืมพระเนตรขึ้น เห็นแสงพรายทรุดกายนั่งหมอบอยู่ข้างโต๊ะ ด้านบนวางไว้ด้วยพระพุทธรูปที่งามล้ำวิจิตรแปลกตา องค์พระพุทธผิวทองคำงามโชติช่วงห่มหุ้มด้วยจีวรผิวโลหะที่ต่างชนิดออกไป

ผิวของพระเศียร พระอุระ (อก) และพระกร (แขน) เบื้องขวา รวมถึงพระหัตถ์ และพระบาท ส่วนที่เผยพ้นจากจีวรที่ครอง ทั้งหมดต่างเป็นทองคำบริสุทธิ์
ส่วนจีวรที่ครองจนถึงองค์ฐานเป็นโลหะสีทองเจือเงินนวลผ่อง.. ส่องประกายเลื่อมพรายสีเขียวแกมน้ำเงิน

ผู้คนรอบบริเวณที่อยู่ในอาการเงียบตะลึงงันพลันค่อยๆ เริ่มส่งเสียง ไม่เว้นแม้แต่ปู่ครูและครูพิธาน...ความสว่างไสวคล้ายเจิดจ้าขึ้นยังลานดงตาลอีกครั้ง...และเจิดจรัสยิ่งกว่าครั้งเมื่อครู่ก่อนหน้า

องค์พ่อขุนทรงลุกจากพระแท่นที่ประทับ เสด็จไปยังโต๊ะที่จัดวางพระพุทธรูปอันวิจิตรพิสดาร ทรงเพ่งพิศลักษณะของพระพุทธและเนื้อผิวทุกส่วน...

“เราไม่เคยเห็นใครหล่อพระพุทธรูปสองเนื้อโลหะพร้อมกันได้แนบเนียนเช่นนี้มาก่อน...เจ้าทำได้อย่างไร เราใคร่รู้รายละเอียด” รับสั่งขึ้นกับแสงพรายที่เฝ้าอยู่แทบเบื้องพระบาท

“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าแยกเตาหล่อโลหะเป็นสองเตา เตาหนึ่งหลอมละลายทองคำบริสุทธิ์ ส่วนอีกเตาหลอมละลายโลหะ ๗ ชนิดผสมผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันเรียกว่า สัตโลหะ... ส่วนแบบปั้นองค์พระได้นำมาพอกดินแล้วเผาเอาสีผึ้งภายในออกกลายเป็นแม่พิมพ์ ข้าพระพุทธเจ้านำแม่พิมพ์นั้นมาสวมครอบตาข่ายที่มีปลายเชือก ๘ เส้น แต่ละเส้นนำขึ้นพาดกับตะขอเหล็กที่เกี่ยวห้อยอยู่ ๘ ทิศ สำหรับคอยชักเลื่อนปรับเปลี่ยนมุมและสมดุลของน้ำโลหะที่เทลงไป พระเจ้าค่ะ...

เมื่อเริ่มต้นเอาพระเศียรองค์พระลงแต่จัดตะแคงเป็นมุมเฉียงเอียงด้านพระกรเบื้องขวาลง ให้แนวขอบจีวรที่พาดเฉียงพระอุระอยู่ขนานกับแนวพื้นราบ แล้วเทน้ำทองจากมุมฐานพระด้านซ้ายให้ไหลลงไปยังพระเศียร พระอุระ และพระกรเบื้องขวา จนน้ำทองขึ้นมาถึงแนวขอบจีวรที่พาดพระอุระและระดับข้อพระหัตถ์ขวา...

จากนั้นรอจนน้ำทองเริ่มจับตัวจึงดึงเชือกปรับเปลี่ยนมุมเล็กน้อยแล้วเทสัตโลหะเข้าไปยังส่วนที่เป็นจีวรหุ้มพระวรกายและเทน้ำทองเข้าไปยังพระกรขวาผ่านช่องสายชนวนที่ต่อเข้าทางพระดรรชนี... ช่วงนี้ต้องเทน้ำสัตโลหะและน้ำทองให้ได้สัดส่วนไล่ระดับขึ้นมาพอดีกัน มิเช่นนั้น ส่วนที่มากกว่าจะขับดันไหลไปยังอีกฝั่ง...”

“เจ้าคะเนปริมาณทองที่เทลงไปอย่างไร จึงไม่ให้ขาดหรือเกินระดับที่ต้องการ”

“ข้าพระพุทธเจ้าทำสายชนวนเล็กๆ ต่อไว้ในจุดต่างๆ เช่นที่ริมขอบจีวรตรงพระอุระ เมื่อระดับน้ำทองปริ่มขึ้นมาถึงขอบจีวรดังกล่าว จะมีน้ำทองเล็ดออกมา ข้าพระพุทธเจ้าก็รองน้ำทองที่ไหลล้นออกมาด้วยภาชนะ จนเมื่อหยุดไหลจึงอุดช่องชนวนเสีย พระพุทธเจ้าข้า”

“เป็นวิธีการที่แยบยลจริงๆ” ทรงกล่าวชื่นชม

“ปกติธาตุทองจะเป็นธาตุที่หนักกว่าโลหะใดๆ พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเทน้ำทองไปแล้วก็มิต้องกังวลว่าสัตโลหะจะไหลลงไปแทนที่น้ำทอง หากแต่ตอนเททองเข้าไปในพระกรขวา น้ำหนักของทองที่หนักกว่าจะขับดันไปทางจีวรกลางพระวรกายที่เทด้วยสัตโลหะ ดังนั้นต้องรีบเทสัตโลหะให้ระดับอยู่สูงขึ้นไปเล็กน้อยเพื่อให้มีมวลน้ำหนักมากกว่า แต่กระนั้นในตอนท้ายน้ำทองก็ยังคงไหลซึมจับตามแนวขอบของจีวรบ้าง เมื่อขัดผิวโลหะออกมาจึงกลายเป็นรัศมีทองของผิวพระวรกายสุกเปล่งปลั่งจนสะท้อนทาบติดริมขอบจีวร...”

“มิน่า เราจึงเห็นขอบของจีวรสะท้อนรับผิวทองขององค์พระพุทธ”

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่