สื่อนอกยกคุณประโยชน์ ทำสมาธิ ช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง แนะเอาเป็นแบบอย่าง !

เฟซบุ๊กรายการ Good Morning America เผยการสัมภาษณ์พิเศษทีมหมูป่าครั้งแรก
หลังแถลงข่าวใหญ่ไป โดยผู้สื่อข่าว เจมส์ ลองแมน
ออกอากาศทางรายการ Good Morning America ของสถานีโทรทัศน์เอบีซี

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เฟซบุ๊กรายการ Good Morning America ของสถานีโทรทัศน์เอบีซี
ได้เผยคลิปการสัมภาษณ์สุดพิเศษของทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าฯ ทั้ง 13 ราย ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย
จำนวนทั้งสิ้น 17 วัน ภายหลังจากมีการแถลงข่าวใหญ่ไปแล้ว โดยผู้สัมภาษณ์คือ เจมส์ ลองแมน ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ
ที่มาปักหลักทำข่าวติดตามภารกิจช่วย 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ
และก่อนหน้านี้ได้เคยมีโอกาสสัมภาษณ์น้องไตตั้น วัย 11 ขวบ 1 ในทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย มาแล้วครั้งหนึ่ง

         โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้มีขึ้นที่วัด ในบรรยากาศเรียบง่ายและเป็นกันเอง เจมส์ ลองแมน
นั่งที่พื้นสัมภาษณ์ทั้ง 13 คน ในลักษณะสบาย ๆ คล้ายกับว่านั่งคุยกัน โดยโค้ชเอกวัย 25 ปี
ได้บรรยายถึงความรู้สึกในนาทีที่รู้ว่าต้องติดอยู่ในถ้ำไม่มีทางออก เจมส์ถามโค้ชเอกว่า
ตอนนั้นเห็นว่ามีเชือก คิดว่าจะใช้ทำอะไร

โค้ชเอกเผยว่า ตนอาสาที่จะเสี่ยงชีวิตดำน้ำไปดูว่าจะมีทางไหนที่จะสามารถออกไปบ้าง
โดยผูกเชือกไว้กับตัวแล้วให้เด็ก ๆ จับปลายเชือกไว้ แล้วบอกพวกเขาว่า ถ้าไม่กระตุกแสดงว่าปลอดภัยออกไปได้
แต่ถ้ากระตุก 2 ครั้งคืออันตราย และสุดท้ายตนก็ต้องดำกลับมาเพราะไม่มีทางออก ตอนแรกที่รู้ว่าติดถ้ำแน่ ๆ
ตนเลือกที่จะไม่บอกเด็ก ๆ เพราะกลัวว่าพวกเขาจะตื่นกลัว จากนั้นตอนที่อยู่ในถ้ำ

ก็สอนให้เด็ก ๆ นั่งสมาธิกำหนดจิต สวดมนต์ทุกคืนเพื่อให้จิตใจสงบและหลับสนิท

................................................................

ล่าสุด เว็บไซต์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ของสหรัฐฯ ได้หยิบนำประเด็นของเด็ก ๆ
และโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าฯ ทั้ง 13 ชีวิต มาเป็นกรณีศึกษา โดยมีคำถามเกิดขึ้นว่า

ทำไมเด็ก ๆ ทั้งหมดถึงมีจิตใจที่เข้มเข้มและใจเย็นมาก ทั้ง ๆ ที่ติดอยู่ในถ้ำนานกว่า 10 วัน

          ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เป็นเพราะ นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก วัย 25 ปี
ซึ่งเคยบวชเรียนศึกษาพระธรรมมาก่อนหน้านี้ ได้สอนเด็ก ๆ ให้นั่งสมาธิเจริญสติในขณะที่ติดอยู่ภายในถ้ำ
เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน และผ่อนคลายความวิตกกังวล รวมถึงความหิวด้วย

          ดร.คริสเตน ไลออนส์ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Metropolitan State University
ในนครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ และผู้ศึกษาด้านการฝึกสมาธิ เผยว่า สำหรับเด็ก ๆ ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในถ้ำ

"การทำสมาธิเจริญสติจะช่วยให้พวกเขานิ่งสงบแม้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดมาก ๆ
โดยการทำสมาธิจะช่วยให้พวกเขาสนใจแต่สิ่งที่เป็นปัจจุบันตรงหน้า
มากกว่าคิดเรื่องอดีต หรือวิตกกังวลเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"


          ทั้งนี้ รายงานเผยว่า ทางผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทั้งหลาย สามารถนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ได้
เพื่อให้ลูกหลานสามารถจัดการกับความเครียดได้ โดยระบุว่า แม้ว่าลูก ๆ ของพวกเราจะไม่ได้
เผชิญกับสถานการณ์น่าหวาดกลัวอย่างการติดอยู่ในถ้ำ แต่เด็กทุก ๆ คนจะต้องมีช่วงเวลาที่มีความรู้สึกอึดอัด
เครียดหรือไม่สบายใจ เช่น การสอบวิชาคณิตศาสตร์ยาก ๆ หรือการถูกเพื่อนแกล้งที่สนามเด็กเล่น
แม้กระทั่งเด็กวัยแบเบาะ ก็สามารถสอนให้ฝึกสมาธิได้ ตลอดจนถึงวัยรุ่น




            
นอกจากนี้แม้กระทั่งการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ก็สามารถใช้เป็วิธีการฝึกสมาธิไปพร้อมกันได้
อาทิ การสวมใส่รองเท้า การอาบน้ำ หรือการแปรงฟัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาเด็ก ๆ แปรงฟัน
ให้เด็ก ๆ ตั้งใจพิจารณาว่า รู้สึกอย่างไรขณะที่บีบหลอด รสชาติของยาสีฟันเป็นอย่างไร
และสัมผัสของแปรงสีฟันเมื่อกระทบฟันและเหงือกเป็นอย่างไร


            โดยการฝึกสมาธิเช่นนี้เป็นประโยชน์ทำให้มีสติรับรู้การกระทำตลอดเวลา
ไม่เพียงแต่ต่อเด็ก ๆ เอง แต่สำหรับผู้ใหญ่ก็สามารถนำวิธีการฝึกสมาธิไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  
และยิ่งมีการรวบรวมการทำสมาธิในชีวิตประจำวันได้มากเท่าไหร่ เชื่อว่ามันจะช่วยส่งผลดีต่อตัวเรามากเท่านั้น
และใครจะรู้ ในบางกรณีสำหรับบางคน การทำสมาธิอาจจะเป็นการช่วยชีวิตพวกเขาเลย
เช่นเดียวกับเด็ก ๆ และโค้ชทีมหมูป่าฯ 13 ชีวิต


ที่มา [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้




เพิ่มเติม

การทำสมาธินั้น มีมาแต่โบราณแล้ว แต่ที่เห็นชัดเจนก็อยู่ในชมพูทวีปยุคก่อนพุทธศักราช
โดยในลัทธิต่างๆและศาสนาพราหณ์ ก็มีการนั่งสมาธิเพื่อค้นหาจุดมุ่งหมายสูงสุดของจิตวิญญาณ
หรือค้นหาทางเพื่อที่เข้าถึงพระเจ้าของแต่ลัทธินั้นๆ

โดย คำว่า สติ หมายถึงการรู้ตัว และสมาธิ หมายถึง การที่เรามีสติต่อเนื่อง
ดังนั้น การทำสมาธิ จึงหมายถึง การทำให้ตัวเองมีความรู้สึกที่ใดที่หนึ่งตลอดเป็นระยะเวลาหนึ่ง นั้นเอง

การทำสมาธิ จึง ทำได้ในทุกๆกริยาอาการ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน
ดังที่ในศาสนาพุทธ ได้มีคำว่า กายคตาสติ


กายคตาสติ



หยั่งเปรียบดั่งแม่น้ำทั้งหลายมีมหาสุมทรเป็นที่หยั่งลงภายใน
มหาสมุทรเปรียบดั่งกายคตาสติ(ความไม่ประมาท)
แม่น้ำทั้งหลาย เป็นอุปมาของธรรมทั้งหลายเหล่านี้ อันได้แก่

1.อานาปานสติสมาธิ
เป็นธรรมอันเอก เป็นวิหารธรรมของพระศาสดาเมื่อปลีกวิเวก เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ด้วยการพิจารณาว่า ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก นั้นเป็นกายอันหนึ่งๆในกายทั้งหลาย ดังนี้ก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ


2. การรู้อิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน

เรา เดินอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า “เราเดินอยู่”
เมื่อยืน ย่อมรู้ชัดว่า "เรายืนอยู่"
เมื่อนั่ง ย่อมรู้ชัดว่า "เรานั่งอยู่"
เมื่อนอน ย่อมรู้ชัดว่า "เรานอนอยู่"
เมื่อเราตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใด ก็ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้น
ก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ


3. การมีสัมปชัญญะความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
ในกรณีการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับหลัง การเหลียวดูแลดู การคู้ การเหยียด ...
ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
พระองค์ทรงตรัสถึงการเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ


4. การพิจารณากายในเรื่องของความไม่งาม(อสุภะสัญญา)
พิจารณาเห็นกายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆว่า ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก...
ก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ


5. การพิจารณากายโดยความเป็นธาตุมีอยู่ในกายนี้(ดิน น้ำ ไฟ ลม)
พิจารณากายนี้
รู้โดยความเป็นธาตุดิน
รู้โดยความเป็นธาตุน้ำ
รู้โดยความเป็นธาตุไฟ
และ รู้โดยความเป็นธาตุลม ว่าไม่สำคัญโดยความเป็นธาตุเหล่านี้
ไม่ยินดีและไม่สำคัญว่าเป็นเรา ก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ


ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีการกระทำในใจ (มนสิการ) เป็นแดนเกิด
มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง
ผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้แล้ว สำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖
มีจิตตั้งมั่นแล้วเนืองๆ พึงรู้ความดับกิเลสของตน

กายคตาสติของเรานี้ จักเป็นสิ่งที่เราอบรม
กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้
เพียงตั้งไว้เนืองๆ
เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี ดังนี้
กายคตาสติ  (การมีความระลึกรู้อยู่ที่กาย)




พระศาสดาตรัสว่า

"สติเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวง
ผู้ใดไม่เจริญกระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ
ผู้นั้นเป็นผู้หลงลืมอมตะ(ความไม่ตาย) เป็นผู้ประมาท(ต่อความตาย)
ผู้ประมาทคือผู้ที่ไม่สังวรอินทรีย์
ผู้ที่ไม่สำรวมอินทรีย์คือผู้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ"



"แม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่ โน้มไปสู่ น้อมไปสู่ โอนไปสู่สมุทร ฉันใด
กุศลธรรมเหล่าใดซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา มีความไม่ประมาทเป็นมูล มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง ฉันนั้น
ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย มีเบื้องต้นคือศีลและทิฏฐิที่ตั้งไว้ตรง เป็นเบื้องต้น
ดุจดั่งพระราชาทั้งหลายย่อมเดินตามพระมหาจักพรรดิ์ผู้เป็นยอดของพระราชาเหล่านั้น"


พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เรียกว่า
"จิตก็ดี มโนก็ดี วิญญาณก็ดี ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปตลอดวันตลอดคืน"


ปุถุชนผู้มิได้สดับในธรรมไม่อาจรู้ธรรมอันเป็นเครื่องเกิดปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับอันประเสริฐ
พระองค์เปรียบอุปมากายของเรานี้อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูติรูป ๔
เพราะเหตุแห่งการบังเกิดขึ้น การเสื่อมลงไป การถูกยึดครอง หรือแม้แต่การตายก็ดี
ปุถุชนผู้มิได้สดับในธรรมนี้ก็ยังพอจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปล่อยวางลงได้บ้างในกาย
กายจึงเปรียบเหมือนเสาเขื่อนเสาหลัก ยึดกาย จึงดีกว่ายึดจิต ดังนี้

จึงควรมีสติเข้าไปตั้งไว้ในกาย นี้จึงเป็น กายคตาสติ
อันพระองค์สรรเสริญว่าเป็น
หนทางที่ให้ไปถึงธรรมในเบื้องหน้า
หนทางให้ไปถึงอสังขตะ ไม่มีเกิด ไม่มีเสื่อม ไม่มีตาย
ทางคือความสิ้นไปแห่ง ราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ

กายคตาสติ เป็นธรรมที่พระองค์สรรเสริญว่า
เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เพื่อปัญญาเจริญไพบูลย์
มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง ดังนี้แล้ว
กายคตาสติจึงเป็นธรรมที่เอื้อต่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน


แต่อย่างไรก็ตาม ศาสนาพุทธยังได้มีการสอนเพิ่มเติมจากการทำสมาธิขึ้นไปอีก
โดยให้ทำสมาธิควบคู่ไปกับการ วิปัสสนา คือ การโยนิโสมนสิการให้เห็นการเกิดดับ
หมายถึง การทำในใจโดยแยบคาย การคิดพิจารณาอย่างละเอียด มองการเกิดดับของสิ่งต่างๆให้ออก

ดังพระสูตร

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่ง
วิชชา (ความรู้แจ้ง) . ๒ อย่าง อะไรเล่า ?
๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
อบรมแล้ว จิตจะเจริญ
จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว จะ ละราคะได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ
ปัญญา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้วจะ ละอวิชชาได้ แล.
ทุก. อํ. ๒๐/๗๗/๒๗๕.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่