ช่อง 7 เบอร์หนึ่ง ผู้ไม่เคยแคร์ใคร


"ช่อง 7 เบอร์หนึ่ง ผู้ไม่เคยแคร์ใคร"
ถึงจะเป็นเบอร์ 1 ทั้งในแง่เรตติ้งรายได้และกำไร แต่ช่อง 7 ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองอยู่บน “หอคอยงาช้าง” โดยไม่สนใจอะไรกับความเปลี่ยนแปลง

ตรงกันข้ามที่ผ่านมาช่อง 7 ปรับตัวเองแบบ 360 องศาไม่ว่าจะเป็นการมุ่งไปสู่ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เปิดตัวแอพพลิเคชั่น DO7HD รวมไปถึงยังสร้าง social TV หลากหลายรูปแบบ และการจัดกิจกรรมโรดโชว์ 7 HD Festival แบบรัวๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัด  

เพราะช่อง 7 รู้ดีว่ายุคทีวีดิจิทัลมีความท้าทายมหาศาล ทั้งการแข่งขันรุนแรงขึ้นทวีคูณหลายเท่าตัวจาก 6 ช่องมาเป็น 24 ช่องเข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณา ซ้ำร้ายกว่านั้นยังโดนสื่อออนไลน์ เข้ามาแย่งชิงทั้งเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาอีกระลอก

แม้ช่อง 7 ยังกำไรต่อเนื่องแต่ก็น้อยลงทุกปี ขณะที่คู่แข่งตลอดกาลอย่างช่อง 3 ในปีที่ผ่านมา ขาดทุนกับเกมทีวีดิจิทัล

ถึงจะกำไรน้อยลงแต่ในภาพรวมช่อง 7 ก็ยัง Strong ไม่ว่าจะยุค “อนาล็อก” ไล่มาถึง “ดิจิทัล”

เหตุผลข้อแรกสุดของความแข็งแกร่งนี้ มาจากช่อง 7 เลือกที่จะตอกย้ำ “จุดแข็ง” Content ตัวเองโดยไม่สนใจกับสารพัดกระแส Content แนวใหม่ๆ ที่เข้ามาในเกมทีวีดิจิทัล

เพราะไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว,เกมโชว์,จนไปถึงสินค้าขายดีอย่างละคร ช่อง 7 จะเน้นเนื้อหาไปที่กลุ่มเป้าหมายของตัวเองชัดเจนนั้นคือ ชาวบ้านทั่วไป, พ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มคนต่างจังหวัด ถึงจะมีกระแสโจมตีว่าเป็น Content ภูธร

แต่หากคำว่า “ภูธร” ยังคงขายได้และถูกจริตคนระดับ Mass ที่เป็นฐานผู้ชมหลักของตัวเอง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรมาก แค่เติมความสดใหม่เข้าไป

ทำให้ล่าสุดนอกจากประกาศจะปรับการแพร่ภาพเป็นระบบดิจิทัลทุก Content ในช่องตัวเอง ยังมีการปรับผังเพิ่มรายการใหม่ๆ อาทิเช่น “รสชาติไทย” รายการที่จะพาไปชิมอาหารไทยและวัฒนธรรมจังหวัดต่างๆ, รายการตกสิบหยิบล้าน ตอน นักสู้ 5 ภาค รายการแข่งขัน 5 ภาคชิงเงินล้าน,“นักปั้นมือทอง” รายการที่นำ 4 โปรดิวเซอร์วงการเพลงไทยมาแข่งขันชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท และอีกสารพัดรายการที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา

จะเห็นได้ว่ารายการใหม่ๆ ที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็ยังคงเน้นไปที่ฐานคนดูหลักของตัวเองเหมือนเดิม พร้อมกับคงรูปแบบเดิมคือการจ้างผลิตจนไปถึงการขายเวลาออกอากาศ

เหตุผลต่อมาคือช่วงที่มีการประมูลทีวีดิจิทัลนั้นช่อง 7 เลือกที่จะประมูลแค่ช่องเดียว แล้วบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ขณะที่ช่อง 3 เลือกประมูลถึง 3 ช่องที่ต้องแบกรับต้นทุนระยะยาวในการประมูล 3 ช่องรวมกันประมาณ 6,300 ล้านบาทแล้วนั้น ยังรวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งจ้างพนักงานเพิ่มและค่าโปรดักชั่นในการผลิตรายการป้อนทั้ง 3 ช่องตัวเอง

แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด ช่อง 3 จากที่กำไรเคยมหาศาลตัวเลขในบัญชีเปลี่ยนเป็นสีแดงขาดทุน พร้อมกับต้องมีแผนกู้ชีวิตตัวเอง ด้วยกฎให้พนักงานสมัครใจลาออกพร้อมจ่ายเงินชดเชย,และงดจ่ายโบนัสพนักงานในทุกระดับ

เหตุการณ์วิกฤติช่อง 3 ครั้งนี้กลายเป็น “ชัยชนะ” ที่ขาดลอยของช่อง 7 นับตั้งแต่อยู่ในธุรกิจทีวีจอแก้ว

อีกทั้งการเป็นช่องที่ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล เพราะหากยังจำกันได้เมื่อ 9 ปีที่แล้วในปลด “เจ้าแม่วิกหมอชิต สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นั้นมีการคาดเดาสารพัดวิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับช่อง 7 ไม่ว่าจะเป็นดาราที่จะหนีไปซบช่องคู่แข่ง,การขาดพลังคอนเน็กชั่นในการขายเวลาโฆษณา

หรือล่าสุด การเปลี่ยนผู้บริหารแต่งตั้งให้ “สมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง” ลูกหม้อของช่อง 7 ให้ดำรงตำแหน่ง “รักษาการกรรมการผู้จัดการ” แทน “พลากร สมสุวรรณ” รวมไปถึงยังมีบุคลากรสำคัญๆ ช่อง 7 อีกหลายคนไหลออกไปอยู่ช่องคู่แข่ง

แต่ดูเหมือน กฤตย์ รัตนรักษ์ บิ๊กบอสแห่งช่อง 7จะมีความคิดไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แม้คนๆนั้นจะถือเป็น คนเก่าคนแก่ที่ช่วยกันสร้างช่อง 7 ให้เป็นเบอร์หนึ่งในวงการทีวีเมืองไทย

ถึงบุคลิกนายใหญ่คนนี้จะเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ชอบเป็นข่าว แต่ทุกครั้งที่เขาเคลื่อนไหว

“สะเทือนไปทั้งวิกหมอชิต”


ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/45678
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่