สถานภาพของ "พระเพทราชา" เป็น "ขุนนาง" หรือเป็น "เจ้านาย" ?

สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

อย่างที่รู้กันอยู่ว่าช่วงนี้ละครเรื่อง"บุพเพสันนิวาส" กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และในละครเรื่องนี้ก็ยังนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายๆอย่าง หลังจากที่ผมได้ดูละครบุพเพสันนิวาส EP.9 สังเกตเห็นว่าในฉากที่ "พระนารายณ์" เสด็จออกว่าราชการในท้องพระโรง ทำไม "พระเพทราชา" ถึงมีตำแหน่งแห่งเฝ้าที่เหมือนกับเป็น"เจ้านาย" คือนั่งบนแท่นใกล้กับพระที่นั่ง ทั้งๆที่มีบรรดาศักดิ์เป็น "ออกพระ" (ศักดินา 5,000 ไร่) ดำรงตำแหน่ง "เจ้ากรมพระคชบาล" ในขณะที่ขุนนางซึ่งมีบรรดาศักดิ์สูงกว่าอย่าง "ออกญาโกษาธิบดี(เหล็ก)" (ศักดินา 10,000 ไร่) ยังนั่งเฝ้าอยู่กับพื้นห่างออกมา อีกทั้งเครื่องประดับและทรงผมของ "พระเพทราชา" ก็ยังดูแตกต่างไปจากขุนนางคนอื่นๆอีกด้วย ดังนั้นผมจึงเกิดความสงสัยเกี่ยวกับสถานภาพของ "พระเพทราชา" ว่าสรุปแล้วเป็น "ขุนนาง" หรือเป็น "เจ้านาย" กันแน่ ?

เท่าที่ผมเคยอ่านประวัติของ "พระเพทราชา" ท่านมีพื้นเพมาจากบ้านพลูหลวงจังหวัดสุพรรณบุรี แม่ของท่านก็เป็นแม่นมอีกคนของ"พระนารายณ์" และน้องของท่านก็เป็นบาทบริจากริกาของ"พระนารายณ์" อีกด้วย (ส่วนพ่อของท่านเป็นใคร ยังไม่ทราบ)

หากผมเข้าใจผิดหรือข้อมูลผิดพลาดใดๆต้องขออภัยไว้ด้วย และท่านใดมีความรู้หากกรุณาช่วยบอกหรือแสดงความคิดเห็นจะเป็นพระคุณมากครับ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 3
หลักฐานอย่างของราชทูตลาลูแบร์กล่าวว่า ตระกูลของพระเพทราชาเองได้รับราชการมานานแล้วในตำแหน่งสูงและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ แต่ไม่พบหลักฐานว่าท่านมีความสัมพันธ์ทางไหน เรื่องที่ว่าเป็นเชื้อสุโขทัยหรือสุพรรณภูมิก็เป็นข้อสันนิษฐานเท่านั้น และเรื่องที่ว่ามีพระนามเดิมว่า "ทองคำ" พบแต่หลักฐานสมัยหลังเท่านั้นครับ

"...แม้จะมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงออกพระ ก็ยังมีศักดิ์อำนาจยิ่งใหญ่ประชาชนพลเมืองก็รักมาก เพราะท่านเป็นผู้รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา...ได้แสดงความกล้าหาญให้ประจักษ์ไว้เป็นอันมากในการรบกับชาวพะโค ความแกล้วกล้าในการศึกนี้แล ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นเจ้านายทรงโปรดปราน ตระกูลของท่านได้รับราชการสืบกันมาช้านานในตำแหน่งอันสูงส่ง และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อยู่เนืองๆ และมีผู้คนได้โจษขานกันอย่างเปิดเผยว่า ตัวท่านเองหรือออกหลวงสุรศักดิ์ (Oc-Loüang Sourasac) บุตรของท่านอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้อยู่"

จึงน่าเชื่อได้ว่าตระกูลของพระองค์มีฐานะใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ได้เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาจากบ้านพลูหลวงที่ได้ดีเพราะแม่เป็นพระนมครับ


จริงๆ ตามพงศาวดารใช้คำว่า "พระเพชราชาจางวางกรมช้างเปนชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมื่องสุพรรณ์บูรีย" ในที่นี้ไม่สามารถสื่อได้ชัดเจนว่าพระเพทราชาเป็นแค่ "สามัญชน" หรือ "ไพร่" อย่างที่มักกล่าวกัน เพราะไปดูจากคำว่า "ชาวบ้าน"

ซึ่งเป็นการแยกคำที่ไม่น่าจะถูกต้อง ควรจะแยกเป็น "ชาว" กับ "บ้านพลูหลวง"

คำว่า "ชาว" บอกได้แค่ว่าเป็นผู้มีภูมิลำเนาหรือมีพื้นเพเดิม อยู่ที่ "บ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี" เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสกุลขุนนางหรือผู้มีเชื้อสายสืบต่อกันมาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสามัญชนก็ได้ครับ


ส่วนเรื่องที่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์มักอ้างอิงหลักฐานของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่ติดตามคณะทูตของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) เข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ สมัยพระเพทราชา ในฉบับแปลภาษาอังกฤษกล่าวว่าพระเพทราชาเป็นบุตรพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะพระเพทราชากับพระนารายณ์พระชนม์ใกล้ๆกัน ตอนสมเด็จพระนารายณ์ประสูติ เจ้าฟ้าชัยที่เป็นพระเชษฐาองค์ใหญ่ก็อายุเพิ่งช่วงโสกันต์

เมื่อมาลองดูต้นฉบับภาษาดัตช์ พบว่าใช้คำว่า zuster ซึ่งสามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sister หรือ nurse ก็ได้ ในที่นี้ควรจะเป็น nurse ที่หมายถึงพี่เลี้ยงหรือแม่นมมากกว่าครับ เพราะสอดคล้องกับหลักฐานอื่น

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากหลักฐานอื่นแล้วน่าเชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับพระราชวงศ์จริงมาหลายชั่วคนแล้ว แต่ยังไม่พบรายละเอียดที่ชัดเจนครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่