JJNY : อดีตรมว.คลังยื่นจม.ถึงนายกฯ ห่วงอีอีซีให้ประโยชน์เอกชนเกินจำเป็น-ทำรัฐเสียประโยชน์

กระทู้คำถาม
วันนี้ (12 มีนาคม) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่อง เงื่อนไขในโครงการอีอีซีที่อาจเป็นการผิดกฎหมาย โดยระบุว่า

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่ปรากฏข้อมูลในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ในโครงการอีอีซีนั้น ข้าพเจ้าในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความเห็นว่าอาจจะมีการดำเนินการที่ทำความเสียหายให้แก่ฐานะการคลังของประเทศ และอาจเป็นการผิดกฎหมาย จึงขอเสนอแนะต่อท่าน ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. เงื่อนไขที่ปรากฏในสื่อ

๑.๑ ข้าพเจ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวว่า ในการให้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงแก่เอกชน รัฐบาลจะร่วมลงทุนโดยจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ๓.๗ พันล้านบาท ลงทุนก่อสร้างงานโยธาอีก ๑.๒ แสนล้านบาท ในขณะที่ฝ่ายเอกชนจะจ่ายเงินลงทุน ๙ หมื่นล้านบาท

๑.๒ ฝ่ายเอกชนจะได้ประโยชน์
(ก) สัมปทานบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง ๕๐ ปี
(ข) สิทธิเช่าและพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ๔ สถานี ที่พัทยา ศรีราชา ฉะเชิงเทรา และระยอง ๕๐ ปี
(ค) สัมปทานบริหารจัดการรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ๕๐ ปี
และ (ง) สิทธิเช่าและพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ดิน ๑๕๐ ไร่ที่มักกะสัน ๕๐ ปี

๑.๓ ฝ่ายเอกชนมีหน้าที่
(๑) ต้องจ่ายเงินชดเชยขาดทุนของการรถไฟฯ ๑ หมื่นล้านบาทในทันทีสำหรับสิทธิในสัมปทานรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์
(๒) ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน ๑๕๐ ไร่ที่มักกะสัน ๕๐ ปี ปีละประมาณ ๑ พันล้านบาท
(๓) ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินรอบ ๔ สถานี
และ (๔) ต้องคิดค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง ๓๓๐ บาทต่อเที่ยว

ข้อ ๒. อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจะไม่เป็นภาระแก่เอกชน

กรณีถ้าหากรัฐบาลพิจารณาว่าอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ ๓๓๐ บาทต่อเที่ยวจะเป็นภาระต่อฝ่ายเอกชน จึงต้องให้ผลตอบแทนพิเศษแก่เอกชนเพื่อชดเชยนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าจะเป็นการให้ประโยชน์พิเศษแก่ฝ่ายเอกชนมากเกินจำเป็น เพราะในอนาคตเมื่อมีข้อมูลชัดแจ้งว่า รถไฟความเร็วสูงมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแต่ก็ยังขาดทุน รัฐบาลก็ย่อมจะยินยอมให้มีการปรับค่าโดยสารสูงขึ้น

ดังนั้น เรื่องอัตราค่าโดยสารจึงไม่สามารถจะพิจารณาได้ว่าเป็นภาระแก่ฝ่ายเอกชน

ข้อ ๓. รัฐได้ผลตอบแทนสำหรับที่ดินมักกะสันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ารัฐได้ผลตอบแทนสำหรับที่ดินมักกะสันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เนื่องจากถึงแม้บวกตัวเลขค่าเช่าตลอด ๕๐ ปีได้ ๕ หมื่นล้านบาทก็ตาม แต่มูลค่าปัจจุบัน (present value) ต่ำมาก โดยกรณีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๕-๖ ต่อปี จะมีมูลค่าปัจจุบันเพียงระหว่าง ๑-๒ หมื่นล้านบาทเท่านั้น และถึงแม้จะคำนึงถึงเงินชดเชยขาดทุนของการรถไฟฯ อีก ๑ หมื่นล้านบาท ก็ยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขอันทำให้รัฐได้ผลตอบแทนต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทั้งที่สามารถทำการเปรียบเทียบได้ง่ายนั้น อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ฐานะการคลังของประเทศเสียหาย

ข้อ ๔. การรวมโครงการทำให้ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

กรณีที่รัฐบาลนำที่ดินมักกะสันไปรวมเข้ากับโครงการใดใน ๔ โครงการตามข้อ ๑.๒ ข้างต้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด จะทำให้โครงการมีมูลค่าโดยรวมเป็นจำนวนเงินสูง มีผลเป็นการกีดกันเอกชนรายย่อมให้ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฐานะการคลังของประเทศ เพราะ

(ก) ที่ดินมักกะสันเป็นโครงการใหญ่ในตัวเอง และเนื่องจากจะใช้เพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์แบบหลากหลาย (mixed use) โดยมิใช่งานอุตสาหกรรม หรืองานโกดังเก็บสินค้า ดังนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน จึงมิได้ขึ้นอยู่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือโครงการรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์
(ข) ความรู้และความชำนาญในการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ก็ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงดังเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อยๆ เพื่อจะเปิดให้มีผู้เข้ามาแข่งขันจำนวนมาก
(ค) รัฐควรเป็นผู้กำหนดแผนผังแบ่งพื้นที่มักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เอง เพื่อจะสามารถกันพื้นที่สำหรับสาธารณะให้พอเพียงอย่างเหมาะสม แทนที่จะมอบให้เอกชนเป็นผู้พิจารณา
(ง) ตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะของการใช้งานของพื้นที่มักกะสันนั้น เป็นเอกเทศอิสระจากพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างสิ้นเชิง และโครงการรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ก็ใช้พื้นที่มักกะสันแต่เพียงเล็กน้อย โดยมีสถานีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นเอกเทศของตนเองแล้ว อีกทั้งในแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ข้าพเจ้าก็ไม่พบว่ามีส่วนใดที่จะใช้พื้นที่มักกะสัน จึงไม่มีเหตุผลที่จะเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปไว้ในโครงการ อีอีซี
(จ) การนำเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปผูกรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงและ/หรือโครงการรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์โดยไม่จำเป็น และโดยไม่มีเหตุผลเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าในเชิงวิศวกรรม อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม กลับจะทำให้โครงการที่รวบเข้าเป็นหนึ่งเดียวดังกล่าวเป็นโครงการขนาดยักษ์ใหญ่ จะทำให้มีผู้เข้าแข่งขันน้อยลง และเป็นการทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อ ๕. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

๕.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เกี่ยวกับกรณีที่รัฐจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด อันจะกระทบต่อรายได้ของรัฐ และ มาตรา ๑๖๔ (๑) คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ซึ่งคำว่าประโยชน์สูงสุดย่อมหมายความว่าไม่มีวิธีการอื่นที่จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงกว่านี้

๕.๒ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ กำหนดโทษสำหรับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่า การกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่