อยากรู้ว่าจริงๆแล้วขุนศรีวิสารวาจากับศรีปราชญ์เป็นพี่น้องกันจริงๆไหม

เราหาประวัติในgoogleเจอแต่ว่า
ศรีปราชญ์เป็นลูกของพระโหราธิบดี
กับประวัติว่าขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต เท่านั้นอะค่ะ
เห็นในนิยายกับในละครเป็นพี่น้องกัน
จริงๆแล้วเป็นพี่น้องกันไหมคะ
ใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงลึก หรือเรียนสายนี้มาโดยตรงรบกวนช่วยบอกหน่อยค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ไม่จริงครับ

ออกขุนศรีวิสารวาจา (มักสะกดผิดเป็น วิศาลวาจา) ในประวัติศาสตร์ไม่มีประวัติว่าเป็นใคร หรือมีชื่อจริงว่าอะไร มีหลักฐานเพียงว่าเป็นบุตรของราชทูตที่เคยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกสที่กรุงลิสบัว (ซึ่งผู้เขียนนิยายบุพเพสันนิวาสใช้ช่องว่างทางประวัติศาสตร์สมมติว่าราชทูตผู้นี้ก็คือออกญาโหราธิบดี) ส่วนตัวออกขุนศรีวิสารวาจา ก่อนเป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส เคยเป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิโมกุลในอินเดียมาก่อน แต่ไม่ชัดเจนว่าในครั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งอะไร


ส่วนศรีปราชญ์ นักประวัติศาสตร์หลายท่านวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องเล่าหรือตำนานที่อาจได้เค้าโครงมาจากบุคคลจริง มากกว่าจะมีบุคคลที่มีตัวตนจริงชื่อว่า "ศรีปราชญ์"  

ประวัติศรีปราชญ์ที่แพร่หลายกันในปัจจุบันอ้างอิงจากหนังสือ "ตำนานศรีปราชญ์" ที่เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นหนังสือแต่งสมัยหลังมาก และชื่อหนังสือก็ระบุชัดว่าเป็นเพียง "ตำนาน" เนื้อหาหลายประการไม่สามารถหาหลักฐานอื่นมาสอบทานได้ เช่นอ้างว่าศรีปราชญ์เป็นลูกชายพระโหราธิบดี หรือศรีปราชญ์ถูกประหารในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชย์เป็นผู้แต่งกำศรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งไม่เคยปรากฏหลักฐานใดรองรับ

ถ้าพิจารณาเอกสารที่เรียบเรียงโดยคนที่มีชีวิตทันสมัยอยุทธยาอย่างคำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ก็มีกล่าวถึงบุคคลชื่อ "ศรีปราชญ์" อยู่ แต่กลับระบุว่าอยู่ในสมัยพระเจ้าเสือไม่ใช่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่เนื้อหาของเอกสารประเภทคำให้การฯ ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่มีความพิสดารและไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยอื่นอยู่มาก เป็นบุคคลในตำนานหรือเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาอย่างมุขปาฐะ (Oral history) มากกว่าครับ

คนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังคงเชื่อว่าศรีปราชญ์อยู่ในสมัยพระเจ้าเสือดังที่ปรากฏในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติของคุณพุ่ม กวีหญิงสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่เหตุที่พระยาปริยัติธรรมธาดาเปลี่ยนศรีปราชญ์ไปอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่มีการวิเคราะห์ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์มีทัศนะต่อกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแง่ลบมาก เลยเปลี่ยนให้ศรีปราชญ์ไปอยู๋ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นยุครุ่งเรืองในสมัยกรุงเก่าแทน


วรรณกรรมที่อ้างว่าแต่งโดยศรีปราชญ์ อย่างกำสรวลสมุทร (หรือที่เรียกกันว่า กำสรวลศรีปราชญ์) พิจารณาโวหารและเนื้อหาแล้วพบว่าแต่งในสมัยอยุทธยาตอนต้น และผู้แต่งควรเป็นพระมหากษัตริย์ด้วย ดั้งระบุไว้ในร่ายตอนต้นว่า "ราเมศไท้ท้าวตั้ง แต่งเอง ฯ" ซึ่ง พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) ทรงวิเคราะห์ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระอินทราชา) พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ


อนิรุทธคำฉันท์ ก็มีการวิเคราะห์ว่าแต่งโดย "พระมหาราชครูมเหธร" ซึ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระมหาราชครูพระบอโรหิต ผู้แต่ง "สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์" และ "เสือโคคำฉันท์" เนื่องจากโวหารใกล้เคียงกันมากจนเชื่อว่าแต่งโดยคนๆ เดียวกัน ซึ่งพิจารณาโวหารต่อไปแล้วน่าจะเป็นคนเดียวกับพระมหาราชครูผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ด้วย

ทั้งนี้เดิมเชื่อว่าศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์โดยล้อไปกับสมุทรโฆษคำฉันท์ที่พระมหาราชครูแต่ง  ในสมุทรโฆษคำฉันท์ในส่วนที่พระมหาราชครูเป็นผู้แต่งกลับมีการอ้างถึงเรื่องอนิรุทธอยู่ สมุทรโฆษคำฉันท์จึงน่าจะแต่งหลังอนิรุทธคำฉันท์

    โอบอุ้มเอาพระภูธร             เห็จขึ้นเขจร
เพรี้ยวในห้องหาวผยอง
    ดุจศรีพรหมรักษ์ตระกอง      อนิรุทธเปรียบปอง
ไปสมอุษาเทวี

เมื่อพิจารณาแล้วการใช้คำและสำนวนแล้วโวหารของอนิรุทธคำฉันท์กับสมุทรโฆษคำฉันท์ สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ และเสือโคคำฉันท์ใกล้เคียงกันมาก เป็นลักษณะเฉพาะตัวของกวียากจะลอกเลียนได้ง่าย ผู้แต่งจึงสมควรเป็นคนๆ เดียวกัน

ยกตัวอย่าง การพรรณาบ้านเมืองกรุงศรีอยุทธยาใน สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ ซึ่งแต่งโดยพระมหาราชครูมเหธร

    ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์   คือเทวนฤมาน
แลแมนมารังรจนา
   สูงส่งเทอดทัดพรหมา          บังแสงสูริยา
บอไขทิพาราษตรี
   เทพาสูรชนเปรมปรีดิ            เยอรยอสดุดีย
มกุฎเกล้าภพไตรย
   เรืองบนปราการแก้วใส          ตั้งเหนือบูรไร
จปิ้มจแป่มป้านลม
   สูงกว่าโศฬศเมืองพรหม        ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรินทรพิมาน

เทียบกันแล้ว พบว่าโวหารในการพรรณากรุงศรีอยุทธยาใกล้เคียงกับการพรรณนาเมืองทวารกาของพระกฤษณะในอนิรุทธคำฉันท์มาก

   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์    มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์
   เรืองรอบฟ้าหล้าเพ็ฐพูล        เทียมทิพยจำรูญ
จำรัสทิพาราตรี
   เทพาสุรคณาเปรมปรีดิ์         เยินยอสดุดี
ดิลกโลกยสมเด็จ
   เรืองเหนือปราการแก้วเพ็ชร   บราลีขบวนขเบ็จ
ระริบจรปาดป่ายลม
   สูงทัดเทียมเมืองพรหม         ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรีฤๅปาน

สรรเสริญพระเกียรติฯ นั้นได้ยอยกสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสมอพระนารายณ์อวตาร โดยเรียกว่าเป็น "พระจักรี" อีกตอนหนึ่งก็ระบุว่าทรงอวตารลงมาโลกมนุษย์

   ปางนั้นก็จะถึงทำนาย          องค์พระนารายณ์
นรินทรเสด็จไคลคลา

และอ้างอิงถึงทวาบรยุคซึ่งพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งสอดคล้องกับการการลบศักราชของพระเจ้าปราสาททองในพงศาวดารที่ระบุว่าใน จุลศักราช ๑๐๐๐ จะเป็นกลียุค พระองค์จึงจะลบศักราชให้เป็นทวาบรยุค

   เดอมเมื่อกฤดาทวา            บรยุคคคงตรง
สบสัตวธำรงธรง                   ทศพิธธรรมา

ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้ก็ไปพ้องกับในอนิรุทธคำฉันท์ที่ระบุว่า

   ปางพระจักรีแปรเป็น          กฤษณะราญรอนเข็ญ
อรินทรเสี้ยนสยบนา
   เสด็จเนาในเมืองทวา         รพดีสมณา   (คือเมือทวารกา แต่ในที่นี้พ้องกับ ทวารวดี ซึ่งเป็นอีกชื่อของกรุงศรีอยุธยา)
คือวิษณุโลก บ ปาน
   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์  มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อหาตอนนี้ในสรรเสริญพระเกียรติฯ เปรียบเปรยพระเจ้าปราสาททองในรูปแบบเดียวกันว่าทรงอวตารมายังกรุงศรีอยุทธยา (ก็คือ ทวารวดีหรือ ทวารกา ของพระกฤษณะ)

   เจียรจากไอสวรรยลงมา      ครอบครองอยุทธยา
บุรินทรอินทรพิศาล
   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์  คือเทวนฤมาน
แลแมนมารังรจนา  
  

ด้วยเหตุผลที่วรรณกรรมทั้งสองชิ้นมีสำนวนโวหารและการเปรียบเปรยที่ใกล้เคียงกันมาก จึงมีการวิเคราะห์ว่าอนิรุทธคำฉันท์น่าจะแต่งโดยพระมหาราชครูมเหธรตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว โดยน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ทรงทำพิธีลบศักราช เช่นเดียวกับที่แต่งสรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน

เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระมหาราชครูมเหธรผู้นี้ได้เลื่อนเป็นพระมหาราชครูพระบอโรหิต ซึ่งน่าจะได้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ต่อมา แต่ว่ายังแต่งไม่เสร็จก็ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงได้พระราชนิพนธ์ต่อมา

ส่วนที่ว่าศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้น ไม่มีหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือรองรับในเรื่องนี้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่