ออกขุนศรีวิสารวาจา ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตัวจริงของพระเอกบุพเพสันนิวาส

ตอนนี้ละครบุพเพสันนิวาสเป็นกระแสโด่งดังมากจนคนทั่วไปรู้จัก “พ่อเดช” หรือ “หมื่นสุนทรเทวา” พระเอกของเรื่องซึ่งได้เค้าโครงมาจาก “ออกขุนศรีวิสารวาจา” ตรีทูตในคณะทูตของออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) ซึ่งเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ผมจึงคิดว่าควรเรียบเรียงประวัติของออกขุนศรีวิสารวาจาที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยละเอียดให้ได้ศึกษากันเป็นการเสริมความรู้หลังดูละครนะครับ



ภาพพิมพ์ครึ่งตัวออกขุนศรีวิสารวาจา
ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมาน (Johann Hainzelman) จิตรกรชาวเยอรมันที่พำนักในฝรั่งเศส
ต้นฉบับของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส



หลักฐานเกี่ยวกับออกขุนศรีวิสารวาจามีดังนี้ครับ


ออกขุนศรีวิสารวาจา ไม่ปรากฏนามเดิม ทราบแต่บรรดาศักดิ์กับทินนามเมื่อเป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส ซึ่งต้องอ่านว่า “วิ-สา-ระ-วา-จา” ไม่ใช่ “วิ-สาน-วา-จา” เพราะเป็นคำสมาส นอกจากนี้ปรากฏในตราประทับที่อยู่ในภาพพิมพ์ของท่านระบุทินนามในภาษาไทยว่า “ขุนวิสาระวาจา” และปรากฏเรียกทินนามในภาษาฝรั่งเศสว่า OOC, COUNSRIVISÂRAVÂKIAA หรือ Tan oc-Cun Sriui Sarauacha.


สำหรับครอบครัวของท่าน ปรากฏในจดหมายเหตุ Voyage des ambassadeurs de Siam en France (แปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า ‘โกศาปานไปฝรั่งเศส’ โดย เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์) ของ ฌ็อง ดงโน เดอ วีเซ (Jean Donneau de Visé) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุเกี่ยวกับคณะทูตกรุงศรีอยุทธยาชุดนี้ในคณะที่พำนักอยู่ในฝรั่งเศสอย่างละเอียด โดยได้ตีพิมพ์ที่ปารีสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙)

จดหมายเหตุนี้ระบุว่าออกขุนศรีวิสารวาจา “...เป็นบุตรชายของราชทูตแห่งพระเจ้ากรุงสยามผู้เคยไปเจริญสัมพันธไมตรีที่โปรตุเกส (que le troiʃiéme eʃtoit Fils de l'Ambaʃʃadeur du Roy de Siam en Portugal.)”

สอดคล้องกับภาพพิมพ์รูปราชทูตของฝรั่งเศสอีกหลายรูป เช่น รูปหมู่ของราชทูตอุปทูตและตรีทูตผลงานของ นิโกลาส์ เดอ ลาร์แมซแซ็ง (Nicolas de Larmessin) ที่ให้ข้อมูลไว้ตรงกันว่า

“ออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูต ยังหนุ่มแน่นอยู่ อายุราว ๒๕ ถึง ๓๐ ปี บิดาของเขาเคยเป็นราชทูตไปยังประเทศปอร์ตุเกส (OOC,COUNSRIVISÂRAVÂKIAA TRITHOVD ; Ieune hoe agé déruiron 25 au 30, ans, Son Pere Est a pnt, en ambassade En Portugal)”



ก่อนจะได้เป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส ออกขุนศรีวิสารวาจาเคยเป็นทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับจักรวรรดิโมกุลในอินเดียด้วย ปรากฏในปรากฏใน Journal du voyage de Siam fait en 1685. & 1686 หรือจดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามของ บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (François-Timoléon, abbé de Choisy) ระบุว่า “ตรีทูตเคยไปที่ประเทศโมกุลมาแล้ว” แต่ไม่ชัดเจนว่าตอนนั้นท่านมีตำแหน่งใดในคณะทูต


ใน ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๘) พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งคณะทูตนำโดย เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ (Alexandre, Chevalier de Chaumont) เขามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงแต่งตั้งคณะทูตให้เดินทางไปยังฝรั่งเศส โดยให้ ออกพระวิสุทสุนธรเป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต



เหตุที่ออกขุนศรีวิสารวาจาได้รับแต่งตั้งเป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส เดอ วีเซ ได้บรรยายไว้ว่า

“ที่จริงท่านยังหนุ่มมากอยู่ ความสามารถยังมิได้ปรากฏขึ้นที่ไหน แต่อาศัยเหตุที่บิดาของท่านเคยเป็นราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีที่พระราชสำนักปอร์ตุคาลมาแล้ว จึงนับเหมือนว่าท่านเป็นเชื้อชาติราชทูต พระเจ้ากรุงสยามจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นตรีทูตมาเพื่อดูแลการงานเมือง คล้าย ๆ กับให้มาฝึกซ้อมมือซ้อมใจให้เป็นราชทูตตามตระกูลต่อไปข้างหน้า”

จึงสันนิษฐานว่าออกขุนศรีวิสารวาจาและบิดาน่าจะรับราชการอยู่ในกรมพระคลังหรือกรมท่าซึ่งรับผิดชอบเรื่องการต่างประเทศเหมือนกัน ตามปกติของขุนนางไทยสมัยโบราณที่บิดามักถ่ายทอดความรู้ราชการในกรมที่รับผิดชอบให้บุตร เมื่อบุตรเติบใหญ่ก็มักได้รับราชการในกรมเดียวกับบิดา จึงได้ทำหน้าที่เป็นทูตไปต่างประเทศเหมือนบิดา


ออกขุนศรีวิสารวาจาเคยเกือบจะไม่ได้ไปฝรั่งเศส เพราะเคยมีผู้กล่าวโทษเขาต่อสมเด็จพระนารายณ์ ปรากฏในบันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๘๕ ระบุว่า

“ท่านตรีทูตนั้นเป็นชายหนุ่ม แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเขาจะได้มา (ประเทศฝรั่งเศส) เพราะเมื่อแปดวันมานี้เองมีผู้ยื่นฎีการ้องทุกข์กล่าวโทษเขาต่อพระเจ้าแผ่นดิน และสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงปรารถนาให้ราชทูตของพระองค์ท่านทุกคนปราศจากมลทินด่างพร้อย”

เข้าใจว่าฎีกาฟ้องร้องฉบับนั้นถูกตีตกไป เพราะออกขุนศรีวิสารวาจายังคงได้เป็นตรีทูตและออกเดินทางไปฝรั่งเศสในที่สุด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่