พี่โป๊ปในเรื่องบุพเพฯเป็นลูก พระโหราธิบดี จริงๆมั้ยครับ แล้วศรีปราชญ์ตกลงมีจริงมั้ย

ขุนศรีวิสารวาจา เป็นลูก พระโหราธิบดี จริงๆหรือครับ แล้วศรีปราชญ์มีตัวตนจริงๆมั้ย แล้วทำไมขุนศรีวิสารวาจาถึงได้เป็นพระเอก มีบทบาทสำคัญอะไรบ้างหลังจากยุคพระเพทราชาปฏิวัติ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ตามคุณ arawadee ครับ

ออกขุนศรีวิสารวาจา (มักสะกดผิดเป็น วิศาลวาจา) ในประวัติศาสตร์ไม่มีประวัติว่าเป็นใคร หรือมีชื่อจริงว่าอะไร มีหลักฐานเพียงว่าเป็นบุตรของราชทูตที่เคยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกสที่กรุงลิสบัว (ซึ่งผู้เขียนนิยายบุพเพสันนิวาสใช้ช่องว่างทางประวัติศาสตร์สมมติว่าราชทูตผู้นี้ก็คือออกญาโหราธิบดี) ส่วนตัวออกขุนศรีวิสารวาจาเมื่อก่อนเป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส เคยเป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิโมกุลในอินเดียมาก่อน แต่ไม่ชัดเจนว่าในครั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งอะไร

ในจดหมายเหตุของ เดอ วีเซ ซึ่งเรียบเรียงจดหมายเหตุเกี่ยวกับคณะทูตสยามขณะที่พำนักในฝรั่งเศสไม่ได้เขียนเรื่องราวของออกขุนวิสารวาจาไว้มากนัก คงเป็นด้วยเหตุที่ท่านเป็นตรีทูตซึ่งเป็นผู้น้อยเลยให้ออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) ราชทูตเป็นผู้มีบทบาทหลักมากกว่า เช่นเดียวกับออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูตซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทเช่นกัน  

หลังจากกลับมาถึงกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ราชทูตกับอุปทูตมีหน้าที่คอยเตรียมการรับคณะทูตฝรั่งเศสของลาลูแบร์ ส่วนออกขุนศรีวิสารวาจาไม่มีหน้าที่ในส่วนนี้ แต่ปรากฏในจดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์ราชทูตฝรั่งเศสว่า ท่านต้องไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เพื่อกราบทูลถวายรายงานเรื่องการไปเจริญทางพระราชไมตรีในประเทศฝรั่งเศสในคราวนี้ ซึ่งเข้าใจว่าจะกราบทูลตามรายงานที่คณะทูตไปจดบันทึกไว้อย่างละเอียดเมื่อยังอยู่ที่ฝรั่งเศส

ไม่ค่อยพบหลักฐานกล่าวถึงออกขุนศรีวิสารวาจาที่ชัดเจนเหมือนกับราชทูตและอุปทูตซึ่งมีบทบาทในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ ใน พ.ศ. ๒๒๓๑ แต่พบว่าท่านมีชีวิตอยู่ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏหลักฐานในจดหมายบาทหลวงกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยามถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) กล่าวถึงออกขุนศรีวิสารวาจา (ในตอนนั้นจะมีบรรดาศักดิ์ใดไม่ปรากฏ) ออกไปรับบาทหลวงตาชารด์ซึ่งเป็นราชทูตฝรั่งเศสที่เมืองมะริด จึงสันนิษฐานว่าท่านน่าจะรับราชการอยู่ในกรมพระคลังหรือกรมท่าที่รับผิดชอบเรื่องต่างประเทศตามเดิมครับ

"ฝ่ายในกรุงก็เตรียม การที่จะรับบาดหลวงตาชาทุกอย่าง ไทยได้จัดให้ข้าราชการล่วงหน้าไปรับบาดหลวงตาชา คนสำคัญ ที่เปนหัวหน้าไปนั้น มีขุนนางที่เคยเปนราชทูตที่ ๓ ไปยังประเทศฝรั่งเศสคน ๑ ขุนนางผู้น้อยซึ่งได้เคยไปฝรั่งเศสและกลับมากับบาดหลวงตาชาและเคยผ่านมาทางเมืองเบงกอลมายังเมืองไทย เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๒ (พ.ศ.๒๒๓๕) คน ๑ กับมองซิเออร์แวงซังแปงเฮโรล่ามของเราคน ๑ รวม ๓ คนเปนหัวหน้าออกไปรับบาดหลวงตาชา"

หลังจากนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงออกขุนศรีวิสารวาจาอีก



ส่วนศรีปราชญ์ นักประวัติศาสตร์หลายท่านวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องเล่าหรือตำนานที่อาจได้เค้าโครงมาจากบุคคลจริง มากกว่าจะมีบุคคลที่มีตัวตนจริงชื่อว่า "ศรีปราชญ์"  

ประวัติศรีปราชญ์ที่แพร่หลายกันในปัจจุบันอ้างอิงจากหนังสือ "ตำนานศรีปราชญ์" ที่เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นหนังสือแต่งสมัยหลังมาก และชื่อหนังสือก็ระบุชัดว่าเป็นเพียง "ตำนาน" เนื้อหาหลายประการไม่สามารถหาหลักฐานอื่นมาสอบทานได้ เช่นอ้างว่าศรีปราชญ์เป็นลูกชายพระโหราธิบดี หรือศรีปราชญ์ถูกประหารในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชย์เป็นผู้แต่งกำศรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งไม่เคยปรากฏหลักฐานใดรองรับ

ถ้าพิจารณาเอกสารที่เรียบเรียงโดยคนที่มีชีวิตทันสมัยอยุทธยาอย่างคำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ก็มีกล่าวถึงบุคคลชื่อ "ศรีปราชญ์" อยู่ แต่กลับระบุว่าอยู่ในสมัยพระเจ้าเสือไม่ใช่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่เนื้อหาของเอกสารประเภทคำให้การฯ ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่มีความพิสดารและไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยอื่นอยู่มาก เป็นบุคคลในตำนานหรือเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาอย่างมุขปาฐะ (Oral history) มากกว่าครับ

คนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังคงเชื่อว่าศรีปราชญ์อยู่ในสมัยพระเจ้าเสือตามหลักฐานที่คุณ arawadee ยกมา แต่เหตุที่พระยาปริยัติธรรมธาดาเปลี่ยนศรีปราชญ์ไปอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่มีการวิเคราะห์ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์มีทัศนะต่อกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแง่ลบมาก เลยเปลี่ยนให้ศรีปราชญ์ไปอยู๋ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นยุครุ่งเรืองในสมัยกรุงเก่าแทน


วรรณกรรมที่อ้างว่าแต่งโดยศรีปราชญ์ อย่างกำสรวลสมุทร (หรือที่เรียกกันว่า กำสรวลศรีปราชญ์) พิจารณาโวหารและเนื้อหาแล้วพบว่าแต่งในสมัยอยุทธยาตอนต้น และผู้แต่งควรเป็นพระมหากษัตริย์ด้วย ดั้งระบุไว้ในร่ายตอนต้นว่า "ราเมศไท้ท้าวตั้ง แต่งเอง ฯ" ซึ่ง พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) ทรงวิเคราะห์ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระอินทราชา) พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ


อนิรุทธคำฉันท์ ก็มีการวิเคราะห์ว่าแต่งโดย "พระมหาราชครูมเหธร" ซึ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระมหาราชครูพระบอโรหิต ผู้แต่ง "สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์" และ "เสือโคคำฉันท์" เนื่องจากโวหารใกล้เคียงกันมากจนเชื่อว่าแต่งโดยคนๆ เดียวกัน ซึ่งพิจารณาโวหารต่อไปแล้วน่าจะเป็นคนเดียวกับพระมหาราชครูผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ด้วย

ทั้งนี้เดิมเชื่อว่าศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์โดยล้อไปกับสมุทรโฆษคำฉันท์ที่พระมหาราชครูแต่ง  ในสมุทรโฆษคำฉันท์ในส่วนที่พระมหาราชครูเป็นผู้แต่งกลับมีการอ้างถึงเรื่องอนิรุทธอยู่ สมุทรโฆษคำฉันท์จึงน่าจะแต่งหลังอนิรุทธคำฉันท์

    โอบอุ้มเอาพระภูธร             เห็จขึ้นเขจร
เพรี้ยวในห้องหาวผยอง
    ดุจศรีพรหมรักษ์ตระกอง      อนิรุทธเปรียบปอง
ไปสมอุษาเทวี

เมื่อพิจารณาแล้วการใช้คำและสำนวนแล้วโวหารของอนิรุทธคำฉันท์กับสมุทรโฆษคำฉันท์ สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ และเสือโคคำฉันท์ใกล้เคียงกันมาก เป็นลักษณะเฉพาะตัวของกวียากจะลอกเลียนได้ง่าย ผู้แต่งจึงสมควรเป็นคนๆ เดียวกัน

ยกตัวอย่าง การพรรณาบ้านเมืองกรุงศรีอยุทธยาใน สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ ซึ่งแต่งโดยพระมหาราชครูมเหธร

    ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์   คือเทวนฤมาน
แลแมนมารังรจนา
   สูงส่งเทอดทัดพรหมา          บังแสงสูริยา
บอไขทิพาราษตรี
   เทพาสูรชนเปรมปรีดิ            เยอรยอสดุดีย
มกุฎเกล้าภพไตรย
   เรืองบนปราการแก้วใส          ตั้งเหนือบูรไร
จปิ้มจแป่มป้านลม
   สูงกว่าโศฬศเมืองพรหม        ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรินทรพิมาน

เทียบกันแล้ว พบว่าโวหารในการพรรณากรุงศรีอยุทธยาใกล้เคียงกับการพรรณนาเมืองทวารกาของพระกฤษณะในอนิรุทธคำฉันท์มาก

   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์    มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์
   เรืองรอบฟ้าหล้าเพ็ฐพูล        เทียมทิพยจำรูญ
จำรัสทิพาราตรี
   เทพาสุรคณาเปรมปรีดิ์         เยินยอสดุดี
ดิลกโลกยสมเด็จ
   เรืองเหนือปราการแก้วเพ็ชร   บราลีขบวนขเบ็จ
ระริบจรปาดป่ายลม
   สูงทัดเทียมเมืองพรหม         ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรีฤๅปาน

สรรเสริญพระเกียรติฯ นั้นได้ยอยกสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสมอพระนารายณ์อวตาร โดยเรียกว่าเป็น "พระจักรี" อีกตอนหนึ่งก็ระบุว่าทรงอวตารลงมาโลกมนุษย์

   ปางนั้นก็จะถึงทำนาย          องค์พระนารายณ์
นรินทรเสด็จไคลคลา

และอ้างอิงถึงทวาบรยุคซึ่งพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งสอดคล้องกับการการลบศักราชของพระเจ้าปราสาททองในพงศาวดารที่ระบุว่าใน จุลศักราช ๑๐๐๐ จะเป็นกลียุค พระองค์จึงจะลบศักราชให้เป็นทวาบรยุค

   เดอมเมื่อกฤดาทวา            บรยุคคคงตรง
สบสัตวธำรงธรง                   ทศพิธธรรมา

ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้ก็ไปพ้องกับในอนิรุทธคำฉันท์ที่ระบุว่า

   ปางพระจักรีแปรเป็น          กฤษณะราญรอนเข็ญ
อรินทรเสี้ยนสยบนา
   เสด็จเนาในเมืองทวา         รพดีสมณา   (คือเมือทวารกา แต่ในที่นี้พ้องกับ ทวารวดี ซึ่งเป็นอีกชื่อของกรุงศรีอยุธยา)
คือวิษณุโลก บ ปาน
   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์  มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อหาตอนนี้ในสรรเสริญพระเกียรติฯ เปรียบเปรยพระเจ้าปราสาททองในรูปแบบเดียวกันว่าทรงอวตารมายังกรุงศรีอยุทธยา (ก็คือ ทวารวดีหรือ ทวารกา ของพระกฤษณะ)

   เจียรจากไอสวรรยลงมา      ครอบครองอยุทธยา
บุรินทรอินทรพิศาล
   ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์  คือเทวนฤมาน
แลแมนมารังรจนา  
  

ด้วยเหตุผลที่วรรณกรรมทั้งสองชิ้นมีสำนวนโวหารและการเปรียบเปยที่ใกล้เคียงกันมาก จึงมีการวิเคราะห์ว่าอนิรุทธคำฉันท์น่าจะแต่งโดยพระมหาราชครูมเหธรตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว โดยน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ทรงทำพิธีลบศักราช เช่นเดียวกับที่แต่งสรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองคำฉันท์ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน

เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระมหาราชครูมเหธรผู้นี้ได้เลื่อนเป็นพระมหาราชครูพระบอโรหิต ซึ่งน่าจะได้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ต่อมา แต่ว่ายังแต่งไม่เสร็จก็ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงได้พระราชนิพนธ์ต่อมา

ส่วนที่ว่าศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้น ไม่มีหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือรองรับในเรื่องนี้ครับ
ความคิดเห็นที่ 2
๑. พระเอกของเรื่องเป็น "ขุนศรีวิสารวาจา" เป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส มีเอกสารกล่าวถึงที่มาของขุนศรีวิสารวาจาตรีทูต จากจดหมายเหตุโกศาปานไปฝรั่งเศส (Voyage des ambassadeurs de Siam en France) เขียนโดย ฌ็อง ด็องโน เดอ วีเซ (Jean Donneau de Visé) กล่าวว่า

"...ท่านอัครราชทูตก็เป็นน้องของเสนาบดีกระทรวงพระคลัง (Barcalon ) อุปทูตเล่าได้เคยเป็นราชทูตสยามไปเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงจีนมาแต่ก่อน ได้ทำการในตำแหน่งนั้นเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีนและพระเจ้ากรุงสยามด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนตรีทูต (ออกขุนศรีวิสารวาจา) ก็เป็นบุตรของราชทูตสยามซึ่งได้ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโปรตุเกส...”

เพราะฉะนั้น บิดาของขุนศรีวิสารวาจา ซึ่งเคยเป็นทูตที่โปรตุเกสต้องเป็นขุนนางกรมพระคลังแน่นอน (ราชทูตต้องมาจากรมนี้) จึงเป็นไปไม่ได้ที่ขุนศรีวิสารวาจาจะเป็นบุตรพระโหราธิบดี (มีหลักฐานว่าเป็นออกพระไม่ใช่ออกญา) ซึ่งสอดคล้องกับธรรมเนียมแต่เดิมที่บิดาและบุตรมักเป็นขุนนางกรมเดียวกัน ด้วยเหตุนี้คุณรอมแพงคนเขียนนิยาย ก็เลยแต่งให้พระโหราธิบดีไปเป็นทูตที่โปรตุเกสซะเลย (ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้ที่พระโหราธิบดีซึ่งเป็นเจ้ากรมโหรหน้าขึ้นกรมกรมวัง จะสามารถไปเป็นทูตได้) ครับ


๒. ศรีปราชญ์ มีหลักฐานที่เก่าที่สุดที่เอ่ยถึง คือ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม วึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นคำให้การของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่อครั้งตกไปเป็นเชลยที่พม่า กล่าวเรื่องศรีปราชญ์ไว้ว่า "...อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น พระองค์พอพระทัยเล่น กาพย์ โคลง ฉันท์ ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์เองก็ดี จึงมหาดเล็กคนหนึ่งเป็นนักปราชญ์ช่างทำกาพย์โครงฉันท์ดีนัก พระองค์โปรดปรานแล้วประทานชื่อเสียงเรียกว่า ศรีปราชญ์ เป็นสำหรับได้ทำโคลงหลวง ครั้นอยู่มาศรีปราชญ์นั้นทำโคลงให้กับพระสนมข้างใน ครั้นพระองค์ทราบก็ทรงพระโกรธ แต่ไม่ลงโทษทัณฑ์จึ่งส่งไปไว้เมืองนคร...ศรีปราชญ์จึ่งไปทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้...จึ่งเอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย...ศรีปราชญ์จึ่งว่าเรานี้เปนนักปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นแต่เจ้าเมืองนครจักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยตามเจ้าเมืองนคร สืบไปเมื่อหน้าขอให้ดาบอันนี้คืนสนองเถิด ครั้นศรีปราชญ์ว่าแช่งไว้ดังนั้นแล้ว ศรีปราชญ์ก็ตายด้วยตามเจ้าเมืองนครสั่ง...ครั้นอยู่มาพระองค์มีรับสั่ง ให้เรียกหาตัวศรีปราชญ์...เสนาจึ่งทูลว่า ศรีปราชญ์ทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้งเจ้าเมืองนครรู้ก็โกรธ จึ่งฆ่าศรีปราชญ์เสีย พระองค์ก็ทรงพระโกรธ...แต่กูยังไม่ฆ่ามันให้ตาย อ้ายเจ้าเมืองนครมันไม่เกรงกู...รับสั่งกับเสนาให้เร่งออกไป แล้วเอาดาบเจ้าเมืองนครที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้นฆ่าเจ้าเมืองนครเสียให้ตาย..."

ในมุขปาฐะที่เล่าต่อ ๆ กันมาเรื่องศรีปราชญ์ มักจะบอกว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรชายพระโหราธิบดีบ้าง พระมหาราชครูบ้าง แต่จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมจะสังเกตว่า  ไม่มีสักบรรทัด ที่เล่าว่าศรีปราญ์เป็นบุตรของพระโหราธิบดีหรือพระมหาราชครู (สองตำแหน่งนี้เป็นคนละตำแหน่ง จึงไม่ใช่คนเดียวกัน คนหนึ่งเป็นโหรอีกคนเป็นพราหมณ์ อยู่คนละกรม) ที่สำคัญ ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กลับบอกว่าเรื่องราวของศรีปราชญ์เกิดขึ้นในรัชกาลพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งเรารู้จักกันในพระนามพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ ไม่ได้เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ตามที่รับรู้กันมา (ห่างกันราวยี่สิบปี) โดยมีหลักฐานยืนอีกชิ้นหนึ่ง ที่บอกว่าเรื่องราวของศรีปราชญ์เกิดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าเสือไม่ใช่พระนารายณ์ นั่นคือเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวว่า  “...นามพระศรีสุริเยนนเรนทร์ราช เกิดศรีปราชญ์ปรากฏไว้ยศถา...” แล้วเรื่องศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดีมาจากไหน? คำตอบ คือ มาจากตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) หรือบรรดาศักดิ์เดิมหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เล่าว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดี

จากหลักฐานที่หลากหลาย ก็พอจะประมาณได้ว่าศรีปราชญ์อาจมีตัวจริงในความรับรู้ของชาวกรุงเก่า และอาจมีหลายคนด้วย ตามการวิเคราะห์จากลิงค์ในเรือนไทยที่คุณ Mr. Forever ได้ใส่เอาไว้ แต่เรื่องของศรีปราชญ์มักอยู่ในรูปของมุขปาฐะ ชนิดเดียวกันกับเรื่องที่ปรากฏในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน


๓. ขุนศรีวิสารวาจา หลังจากคณะทูตกลับจากฝรั่งเศสแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หรือมีบทอย่างใด ๆ อีกครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่