ความอยากฉลาด มันจะช่วยดับความอยากโง่ๆ

อริยสัจข้อที่สองเรียกว่าเหตุให้เกิดความทุกข์   ในอริยสัจอย่างที่สรุปสั้น ๆ ท่านเรียกว่า "ตัณหา" คือความอยาก  เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ในภาษาไทยคำว่าความอยากนี้  มันกำกวมไม่เหมือนในภาษาบาลีที่เรียกว่าตัณหา  ตัณหาในภาษาบาลีหมายถึงความอยากที่มาจากความโง่  มาจากอวิชชาเป็นเหตุให้อยากด้วยอำนาจอวิชชา  ความอยากอย่างนี้จึงจะเรียกว่าตัณหา  ถ้าเป็นความอยากที่มาจากวิชชา  ความต้องการที่มาจากปัญญา  อย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา  เช่นเรารู้ว่าจะต้องดับทุกข์อย่างไร  แล้วเราอยากจะดับทุกข์พยายามจะดับทุกข์อยู่  ความอยากอันนี้ไม่เรียกว่าตัณหา  แต่พอแปลคำว่าตัณหาเป็นความอยากในภาษาไทยคนที่เข้าใจผิดว่า อะไรก็เป็นตัณหาไปหมด แล้วห้ามไปหมด ก็เลยไม่กล้าอยากอะไร  แม้แต่อยากทำการงานเป็นต้น  แล้วก็ไปโทษพระพุทธเจ้าตามเคย  ว่าตรัสอะไรไว้ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องก็มี  หรือว่าหลักธรรมนี้มันใช้ไม่ได้กับเราเสียแล้วก็มี  เพราะว่าไปเข้าใจคำนี้ผิด  

ฉะนั้นความอยากที่เป็นกิเลสนั้นมันเป็นความอยากที่มาจากความโง่และหลงทะเยอทะยาน  กระวนกระวายระส่ำระส่าย  และแม้จะได้ทำไป  ก็ทำไปตามความโง่ความหลงความสำคัญผิด  เขาจึงเรียกว่าความโลภ  หรือเรียกว่าตัณหา  หรือว่าอุปาทานหรืออะไรก็สุดแท้  มันเป็นความต้องการด้วยความโง่  แต่ถ้าความประสงค์หรือความต้องการที่เป็นไปตามปัญญาที่แท้จริงนี้  เขาเรียกว่าความปรารถนาหรือความต้องการ  แล้วแต่จะเรียกกัน  

ในภาษาบาลีก็เรียกความต้องการนี้ว่าความพอใจเช่นฉันทะบ้าง  ปัถนาความปรารถนาบ้าง  สังกัปปะความดำริประสงค์บ้าง  ถ้ามันเป็นไปในทางถูกต้องแล้วไม่เรียกว่าตัณหา ต่อเมื่อมันมีความโง่ความไม่รู้เป็นมูลจึงเรียกว่าตัณหา  เพราะฉะนั้นเราจะต้องจับใจความสำคัญให้ถูกต้องว่า  ถ้าต้องการอะไรอยากอะไรประสงค์อะไร  จงดูเสียก่อนว่ามันเป็นความต้องการของวิชชาหรือของอวิชชา  ความอยากในกามารมณ์อย่างนี้  มันเป็นความอยากของอวิชชา  หรือของวิชชา  หรือว่าถ้าเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์   จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความรู้สึกชนิดใดอย่างนี้เป็นต้น  จึงจะไม่เป็นความทุกข์ขึ้นมา

ขอให้เข้าใจถูกกันเสียด้วยว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสว่า  อย่าแต่งงานอย่ามีผัวมีเมียทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปบวชกันเสียให้หมด  อย่าเกี่ยวข้องกับกามารมณ์  ท่านไม่ได้ตรัสอย่างนี้  จะเป็นพระหรือฆราวาสก็ได้  จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหนทางที่ตรัสไว้  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส  คือกามารมณ์นี้ก็ต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ  ให้รู้ความพอเหมาะพอดีในทางที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา  แต่จะให้เกิดความรู้บางอย่างบางประการขึ้นมาเรื่อย ๆ จนรู้สึกจนรู้จักเบื่อหน่ายไปเองในตอนหลัง  อย่างนี้มันก็กลายเป็นการศึกษาไป  

การที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเหล่านั้นกลายเป็นการศึกษาไปในตัว  ถึงจะเป็นอะไรก็ตามใจ  ถ้ามนุษย์ยังจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้อง  ก็ไปเกี่ยวข้องด้วยวิชชา  ด้วยปัญญา  ด้วยความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่เพียงพอ  ก็ได้ทั้งนั้น  แล้วมันค่อยเลื่อน ๆ ของมันขึ้นไปเองตามลำดับ ๆ จนกระทั่งว่าไม่เกี่ยวข้องหรือไม่อะไรเลย.

นี่เราจะต้องเข้าใจคำนี้ให้ถูกต้อง  คำว่าตัณหาในภาษาบาลี  ก็หมายถึงว่าอยากด้วยอวิชชา  ความอยากที่เป็นไปด้วยปัญญา  หรือวิชชานั้นยังมีอยู่ส่วนหนึ่ง  แล้วอันนั้นแหละจะช่วยดับความอยากที่เป็นไปด้วยอวิชชาในตอนหลังอีก

พุทธทาสภิกขุ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่