ปตท. ชิงตลาดยาแสนล. แตกไลน์ผนึกองค์การเภสัชฯ จ่อตั้ง รง.ผลิตยามะเร็ง

ปตท. ชิงตลาดยาแสน ล. แตกไลน์ผนึกองค์การเภสัชฯ จ่อตั้งรง. ผลิตยามะเร็ง

22 January 2018

ตลาดยา 1.44 แสนล้าน ระอุ ยักษ์ใหญ่ปตท.โดดร่วมวง เซ็นเอ็มโอยู อภ. ประเดิมพันล้านเป็นทุนวิจัยยากลุ่มมะเร็งปูทางก่อนผุดโรงงาน “เขตอีอีซี” เพิ่มรายได้นอนออยล์ องค์การเภสัชฯชี้เป็นการเปิดทางเข้าถึงยามีคุณภาพ ราคาถูก

ธุรกิจตลาดยาในประเทศไทยปี 2559 มีมูลค่ากว่า 1.44 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง ส่งผลให้คนไทยต้องซื้อยาในราคาแพง องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงมีแนวนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงด้านยา โดยการหาพันธมิตรภาคเอกชนในการวิจัยและร่วมผลิตยาในประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและราคาถูก

ล่าสุด อภ.ได้ดึงยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ปตท. ร่วมเป็นพันธมิตรในการวิจัยผลิตยาต้านมะเร็ง โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เป็นตัวแทน ปตท. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ MOU ร่วมกับองค์การเภสัชฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 5 ปี (2561-2565) ก่อนที่ตกลงความร่วมมือถึงรูปแบบการร่วมทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานหรือสนับสนุนงบประมาณกันอีกครั้ง

ต่อเรื่องนี้นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเซ็นเอ็มโอยู ในการศึกษาร่วมทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาในประเทศ เนื่องจากองค์การเภสัชฯ มีความต้องการใช้ยาแต่มียาบางชนิดไม่สามารถผลิตในประเทศได้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ปตท.จึงเล็งเห็นว่า ปตท.มีศักยภาพในการลงทุนโรงงานขนาดใหญ่ ขณะที่องค์การเภสัชฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยยา

++ร่วมทุนตั้งรง.สเต็ปต่อไป
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือโครงการโรงงานยาในครั้งนี้ ยังเป็นเมกะเทรนด์ของ ปตท. ที่จะเป็น New S-Curve เพื่อการเติบโตในระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีใหม่ สำหรับรายละเอียดเงินลงทุนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุน แต่หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จ ปตท.ก็มีความพร้อมด้านเงินลงทุน สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานยาดังกล่าว ยังมองในพื้นที่อีอีซี แต่จะอยู่จังหวัดใดนั้น ต้องดูความเหมาะสมต่อไป

“สาเหตุที่ ปตท.สนใจร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาร่วมกับองค์การเภสัชฯ เพราะเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เป็นเมกะเทรนด์ ตามกลยุทธ์ Design Now ของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันพบว่า ความต้องการใช้ยาในประเทศเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ยาบางชนิดยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ต้องนำเข้า ซึ่ง ปตท. จึงร่วมกับทางองค์การเภสัช เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศ ซึ่ง ปตท.มีการผลิตปิโตรเคมี ต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมยาในอนาคต” นางศรีวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ปตท. มีเป้าหมายภายใน 5 ปีที่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจนอนออยล์ ให้มีสัดส่วน 30-35% จากที่มีสัดส่วน 18-20% ในปีที่ผ่านมา จึงเตรียมขยายการลงทุนในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิตีมอลล์ ร้านอาหาร สถาบันการเงิน ฟิตเนส ธุรกิจกาแฟอเมซอนในปี 2561 มีแผนขยายสาขาในประเทศอีก 300 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 2,900 แห่ง ภายใน 5 ปี รวมถึงการกำลังหาพันธมิตรลงทุนโรงแรมราคาประหยัด บัดเจ็ตโฮเต็ล ตามปั๊มนํ้ามันด้วย

728x90-03-3-503x62
++พันล.ปูทางวิจัยยามะเร็ง
ด้านแหล่งข่าวจากองค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมมือกับปตท.ครั้งนี้ ปตท.จะให้ทุนในการวิจัยยาต้านมะเร็งเบื้องต้นร่วมพันล้านบาท ซึ่งจะเป็นการศึกษาวิจัยโรคมะเร็ง 10 ชนิดที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในประเทศไทย อาทิ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาที่ผลิตในประเทศและมีราคาที่ถูกลงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการรองรับความต้องการในอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งเร็วๆ นี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติแผนการขยายการลงทุนโรงงานยาที่รังสิต เฟส 2 มูลค่าร่วม 5,000 ล้านบาทอีกด้วย

ดร.ภ.ญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการ อภ. เปิดเผย ก่อนหน้านั้นว่าโรงงานที่รังสิตในเฟส 2 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกจำนวนมาก อาทิ ยานํ้าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 2 เท่า เป็นต้น หากได้รับอนุมัติจากครม. คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างราว 18 เดือน เริ่มผลิตยาได้ช่วงเดือนกันยายน 2564 ขณะเดียวกันย้ายฐานการผลิตยา 90% ที่สำนักงานถนนพระราม 6 ไปยังโรงงานแห่งใหม่ด้วย โดยนอกจากยาจะขายภายในประเทศแล้ว ยังมีแผนส่งยาออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศเป็น 10% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 2% ปัจจุบันมียอดขายยา 2,778 ล้านบาท

++ร่วม 3 กลุ่มเอกชนผลิตยา
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น อภ.ได้ลงทุนร่วมกับเอกชนในการผลิตยาประเภทต่างๆ 3 บริษัท ประกอบด้วย 1. บริษัท เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GHP ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท อภ.ถือหุ้นในสัดส่วน 40% คิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาท ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous solutions) นํ้ายาล้างไต (CAPD) ระบบเซฟล็อก นํ้ายาล้างไตชนิดใช้กับเครื่อง Hemodyalysis (HD-A และ HD-B) 2. บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ หรือ GPO-MBP เพื่อผลิตและจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคในคน มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท อภ.ถือหุ้นในสัดส่วน 49% ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 147 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำวัคซีนเข้มข้น (Bulk Vaccine) มาทำการ formulate ก่อนบรรจุลงขวด (Vial)

และ 3. บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด หรือ Thai Herbal ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท โดยอภ. ถือหุ้นในสัดส่วน 49% คิดเป็นมูลค่า 39.20 ล้านบาท ที่เหลือเป็นบริษัทอื่นๆ อาทิ บริษัท ที.เอ็น.พี.เฮลท์แคร์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 27.24% คิดเป็นมูลค่ากว่า 21.78 ล้านบาท บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วน 2.25% คิดเป็นมูลค่า 6 แสนบาท เป็นต้น ซึ่งจะทำการผลิตยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงอภ. จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่บริษัทเอกชนต่างๆ ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่