ความยุติธรรมของประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึงความยุติธรรม.



กฎหมายกับความยุติธรรม

              กฎหมายกับความยุติธรรม      

                                                   

         แนวคิดเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมีอยู่ ๒ สำนักซึ่งแตกต่างกัน คือ “สำนักกฎหมายธรรมชาติ”   มองว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมิใช่กฎสูงสุดแต่เป็นกฎที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ การตีความกฎหมายจึงต้องให้ความสำคัญกับความยุติธรรมที่ถูกต้องแท้จริงสอดคล้องกับกฎธรรมชาติมากยิ่งกว่าตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร  ส่วนกฎธรรมชาติจะมีที่มาหรือลักษณะอย่างไรนั้น   ย่อมขึ้นอยู่กับศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อของแต่ละสังคม  อย่างเช่น  ศาสนาคริสต์  ฮินดู พราหมณ์หรืออิสลาม จะมีความเชื่อในกฎของพระเจ้า   ส่วนศาสนาพุทธนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า กฎอิทัปปัจจยตาเป็นกฎธรรมชาติที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใด ๆเหมือนกับกฎพระเจ้า[2]

         อีกสำนักหนึ่งคือ “สำนักกฎหมายบ้านเมือง” มองว่ากฎหมายต้องแยกออกให้ชัดเจนระหว่างกฎหมายที่เป็นอยู่กับกฎหมายที่ควรจะเป็น  กฎหมายธรรมชาติเป็นกฎหมายที่ควรจะเป็นไม่ใช่กฎหมายที่เป็นอยู่  กฎหมายที่มีผลบังคับได้ต้องออกโดยผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุดของรัฐเท่านั้น และต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกระบวนการนิติวิธีที่กำหนด    การตีความกฎหมายต้องยึดถือถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเป็นหลัก  เรื่องอื่น ๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีลธรรม คุณธรรมหรือความยุติธรรม ถือว่าเป็นเรื่องนอกกฎหมาย   ความยุติธรรม คือ ความยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้  สิทธิจะมีได้ด้วยกฎหมายสร้างขึ้นและกฎหมายให้การรับรองเท่านั้น หามีสิทธิตามธรรมชาติไม่ [3]

         สำหรับประเทศไทยเรา  แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธแต่แนวความคิดเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมดูเหมือนจะโน้มเอียงไปในทางสำนักกฎหมายบ้านเมืองมากกว่า  โดยนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่จะมีความเห็นกันว่าเมื่อมีกฎหมายบัญญัติเรื่องใดไว้แล้วก็ถือว่ายุติตามนั้น ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้   จะแก้ไขหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นเองไม่ได้  แม้จะเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมก็ตาม  เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ    ตัวอย่างภาพสะท้อนแนวคิดความเชื่อดังกล่าว เช่น

          คำสอนของพระองค์เจ้ารพีพัฒน์ที่ว่า“กฎหมายคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ”  หรือ “เราจะต้องระวังอย่าเอากฎหมายไปปนกับความดี ความชั่ว หรือความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งหรือเป็นแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม...กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือ จากผู้ปกครองแผ่นดิน หรือที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น”[4]

        นอกจากนั้น ยังปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาอีก เช่น

         คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๑๔/๒๔๕๙ ได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า           “ ความยุติธรรม แปลว่า  ความประพฤติอันชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเท่านั้น ความเห็นส่วนตัวของบุคคลย่อมแปรปรวนไปต่าง ๆมียุติธรรมไม่ได้เลย”   

         คำพิพากษาฎีกา ที่  ๑๒/๒๕๒๑ วินิจฉัยไว้ว่า “ข้ออ้างเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น  จะต้องเป็นไปเพื่อคู่ความทั้งสองฝ่าย มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย” [5] 

         นอกจากนั้น  รัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่ผ่านมาก็มักจะบัญญัติเป็นหลักการไว้อย่างชัดเจนว่า ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต้องดำเนินการตาม “กฎหมาย”  เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๓๔ มาตรา  ๑๘๖  บัญญัติไว้ว่า  “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล  ซึ่งต้องดำเนินการตาม กฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” เป็นต้น                   

         เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น  คงจะเนื่องมาจากบุคคลสำคัญในแวดวงนักกฎหมายไทยในอดีตเรียนจบจากประเทศในแถบยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษซึ่งถือเป็นบ่อเกิดแห่งสำนักกฎหมายบ้านเมือง  

         อย่างไรก็ตาม  ก็มีนักกฎหมายและนักคิดนักปราชญ์ของไทยจำนวนไม่น้อยที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง  แต่มีความเห็นค่อนไปในทางแนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติที่แนบอิงอยู่กับพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด   ดังปรากฏตามคำกล่าวที่สะท้อนออกมาให้ได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้ง คือ   “กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม   แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น”  ซึ่งต่อมาได้มีการพยายามผลักดันให้นำหลักการแนวคิดดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏร่องรอยให้เห็นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๔๐ หลายมาตรา เช่น  มาตรา  ๒๗  บัญญัติว่า  “สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ย่อมได้รับการคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี  ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย ในการบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง”  และมาตรา ๒๓๓ บัญญัติไว้ว่า  “ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล  ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ  ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ”  ซึ่งมีผู้รู้ให้ความเห็นไว้ว่า การกำหนดให้ศาลตัดสินคดีตามรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้ศาลต้องคำนึงถึง “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนเป็นสำคัญ   อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลแนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาตินั่นเอง [6] 

         ปัจจุบัน  แนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติยังได้รุกคืบก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง  โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๕๐ มาตรา  ๑๙๗  บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล  ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม  ตามรัฐธรรมนูญ    ตามกฎหมาย  และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ”  จึงมีปัญหาน่าคิดว่าโดยผลแห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว  หากศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกับความยุติธรรมขัดแย้งกันศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจตัดสินคดีโดยยึดถือหลักความยุติธรรมแต่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้หรือไม่  อย่างไร   

         ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าน่าจะไม่ได้  เพราะหากพิจารณาถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ มาตรา  ๑๙๗  จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีนัยยะความหมายแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มาตรา  ๒๓๓  เลย  การเพิ่มถ้อยคำที่ว่า “โดยยุติธรรม”  เข้าไป ก็คงจะมีผลเพียงแค่เป็นการเน้นย้ำหรือเตือนสติผู้บังคับใช้กฎหมายให้ระลึกอยู่เสมอว่า  การตีความรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นเป้าหมายสูงสุดเท่านั้น   คงไม่สามารถตีความขยายไปถึงขั้นให้ศาลตัดสินคดีด้วยการยึดหลักความยุติธรรมเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงตัวบทกฎหมายได้

         อย่างไรก็ตาม  ผู้เขียนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติที่เห็นว่า  ความยุติธรรมต้องมาก่อนกฎหมาย  จะถือว่ากฎหมายคือ ความยุติธรรมที่เด็ดขาดในทุกเรื่องทุกกรณีไม่ได้  เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดทำให้ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือความยุติธรรมได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดที่เกิดจากอคติทั้งสี่ อันได้แก่  ฉันทาคติ โทสาคติ  ภยาคติและโมหาคติ  นอกจากนั้น  ยังเห็นว่าในความเป็นจริงแล้วการใช้ภาษาของมนุษย์ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด  ย่อมมีข้อจำกัดอยู่ในตัวที่ไม่สามารถบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมได้อย่างชัดเจนในทุกเรื่องทุกประเด็นได้     

         แต่ปัญหาก็คือว่า  คำว่า  “ความยุติธรรม” นั้น บางครั้งบางเรื่อง   อาจมีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันได้  ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไข ต่าง ๆมากมาย  อีกทั้งในทางปฏิบัติที่เป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้   เหตุผลเพราะว่าต้องยอมรับความจริงว่า   กฎหมายเกิดขึ้นเนื่องจากมีความขัดแย้งในสังคม  มนุษย์จึงคิดสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการยุติความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง การใช้กฎหมายตัดสินแก้ไขปัญหาในแทบทุกเรื่องทุกคดี  จึงย่อมมีทั้งคนได้คนเสียเสมอ  ซึ่งคำถามที่มักจะตามมาก็คือ คำว่า ความยุติธรรมที่ว่านั้น หมายถึง ความยุติธรรมของใครและเพื่อใคร   

         อย่าว่าแต่กฎหมายที่ผู้คนในสังคมเห็นว่า  วิปริตหรือสร้างความ อยุติธรรมขั้นร้ายแรงเลย   แม้แต่กฎหมายที่ทุกคนยอมรับว่าน่าจะมีความยุติธรรมเป็นอย่างดี   แต่เมื่อนำไปปรับใช้กับบางเรื่องบางคดีอาจกลับกลายเป็นความไม่ยุติธรรมไป  ตัวอย่างเช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๖๓๓   บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่า  “ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน”  ซึ่งมองดูเผิน ๆจะเห็นได้ว่าน่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว  แต่สมมุติว่ามีครอบครัวหนึ่งฐานะค่อนข้างยากจน มีลูก  ๒  คน คนโตไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ  ต้องทนลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสช่วยพ่อแม่หาเงินเพื่อส่งน้องเรียนจนจบปริญญาและมีหน้าที่การงานที่ดี รายได้สูง  ปรากฏว่าหลังพ่อแม่เสียชีวิต ลูกทั้งสองคนทะเลาะขัดแย้งกันไม่สามารถตกลงแบ่งมรดกกันได้ จึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาล ศาลจึงตัดสินคดีไปตามกฎหมายด้วยการแบ่งทรัพย์มรดกให้คนละกึ่งหนึ่ง  คำถามก็คือว่า  เกิดความยุติธรรมต่อทายาทผู้พี่หรือไม่ 

         จากตัวอย่างดังกล่าว   จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วเราคงไม่สามารถเขียนกฎหมายให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคนได้  คำกล่าวในลักษณะประชดประชันที่ว่า  “ความยุติธรรมที่แท้จริงไม่มีในโลก” นั้น  จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความจริงเลยสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่ยังไม่หลุดพ้น    ความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นหากจะมีได้ก็คงจะได้แก่  “การให้ความยุติธรรมกับตัวเอง” ด้วยการนำหลักการแนวคิดแห่งศาสนามาปรับใช้   เช่น  การรู้จักปล่อยวาง  ให้อภัย  มีเมตตา  เสียสละ  ฯลฯ เป็นต้น แล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร 

         ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่า  แนวทางแก้ไขปัญหาน่าจะได้แก่  การบัญญัติกฎหมายให้มีลักษณะที่เปิดกว้างและมีความยืดหยุ่นให้มากที่สุด  มีหลักการและข้อยกเว้นที่เหมาะสม  เราต้องสร้างกฎหมายให้มีชีวิตหรือจิตวิญญาณ (Spirit)[7] สามารถเจริญเติบโตนำไปปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมได้ในทุกสถานการณ์ของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีข้อจำกัด   หากเราบัญญัติกฎหมายที่มีลักษณะผูกมัดตายตัว ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆแล้ว  บางสถานการณ์อาจถึงทางตันและฝ่ายที่เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมย่อมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น  ซึ่งแนวโน้มที่จะมีการแก้ไขกฎหมายในลักษณะเด็ดขาดตายตัวสุดขั้วไปทางแนวคิดอีกฟากฝั่งหนึ่งย่อมมีอยู่สูงยิ่ง ท้ายที่สุดอีกฝ่ายหนึ่งก็จะพยายามต่อสู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายกันอีก กลับไปกลับมาไม่มีที่สิ้นสุดและการต่อสู้ก็คงจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  

         สำหรับปัญหาที่ว่า   ความเห็นส่วนตัวของบุคคลย่อมแปรปรวนไปต่าง ๆมียุติธรรมไม่ได้เลยหรือผู้ใช้กฎหมายบางคนอาจใช้กฎหมายไปในทางทุจริตคิดมิชอบนั้น   ก็คงต้องคิดหามาตรการแก้ไขที่ “คน”  ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาให้ความรู้ เพิ่มพูนปัญญา ฝึกฝนพัฒนาจิตหรือคิดสร้างระบบคานดุลตรวจสอบที่เหมาะสม  เอาจริงเอาจัง อย่างเฉียบขาดกับนักกฎหมายที่ทำตัวเป็นกาฝากในกระบวนการยุติธรรม   

         หากเราตั้งข้อสมมุติฐานด้วยการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ  “ผู้ใช้กฎหมาย”  แล้ว ก็คงจะถูกโต้แย้งในทำนองเดียวกันว่าในเมื่อ “ผู้ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย” ก็เป็นคนเหมือนกันแล้วเราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่า  กฎหมายที่ออกมานั้นไม่ได้เกิดจากความคิดความเห็นที่วิปริตแปรปรวนหรือแฝงเร้นด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์   ท้ายที่สุดการแก้ไขปัญหาก็จะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า พายเรือในอ่าง โทษกันไปโทษกันมาไม่มีที่สิ้นสุด  

         นอกจากนั้น ยังเห็นว่าในระบบรัฐสภานั้นดูเหมือนว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจออกกฎหมายได้อย่างไม่มีขอบเขต  ในอังกฤษถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า  Parliament   may  legally  make  or  unmake  any  law  whatsoever[8] คือ รัฐสภามีอำนาจที่จะออกกฎหมายหรือไม่ออกกฎหมายใด ๆก็ได้  สำหรับประเทศไทยก็เป็นที่รู้กันดีว่า ด้วยปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆมากมาย ทำให้มีผู้แทนในรัฐสภาจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่