(บทความ)รู้หรือไม่ กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม

.
       การที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ย่อมหนีธรรมชาติของสัตว์สังคมไปไม่พ้น ที่มีการจัดระดับชนชั้นสถานะกันเองตาม "อำนาจ" ที่แต่ละคนมีอยู่ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉานที่อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มีจุดเดียวที่แตกต่างและทำให้มนุษย์อยู่เหนือสัตว์เดรัจฉานอื่นๆ คือ มนุษย์มีความคิดจิตใจและรู้จักเรียนรู้

       มนุษย์เรียนรู้ว่า การใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจของชนชั้นผู้นำ นั้นเป็นสิ่งที่คนที่อำนาจน้อยกว่าหรือไร้อำนาจตามลำดับชนชั้นสังคม ล้วนไม่มีใครอยากเผชิญ เพราะหาความแน่นอนในการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ เป็นบวกก็ดีไป แต่ถ้าเป็นลบ ผลลัพธ์ที่คนไร้อำนาจต้องได้รับก็น่ากลัวเสมอ

       เมื่อถึงยุคกลาง ปราชญ์นักคิด บุคคลที่มีอำนาจจากสติปัญญาที่ล้ำหน้าคนอื่น สามารถชักนำความคิดบุคคลอื่นได้ ในยุคนั้น จึงได้เผยแพร่แนวคิดของ การปกครอง ในสังคมมนุษย์ และที่สุดถึงจะใช้เวลาหลังจากนั้นอีกเป็นพันปี ก็ได้พัฒนาจนเป็นหลักเกณฑ์การปกครองการใช้อำนาจ ที่เรียกขานว่า กฎหมาย (the Rule of Low) ที่ช่วยให้ชนชั้นไร้อำนาจ ได้รับความ"ยุติธรรม"จากการใช้อำนาจของผู้ถืออำนาจในการปกครอง


        กฎหมายจึงกลายมาเป็นเป็นข้อกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์    เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความคิดหรือความเชื่อของมนุษย์เป็นพื้นฐานข้อกำหนดใดจะเป็นกฎหมายจึงได้มีแนวความคิดของนักปราชญ์กฎหมายในหลายๆยุคให้ความหมายของกฎหมายไว้   ความคิดเห็นของนักปราชญ์กฎหมายนี้มีหลากหลายสำนักและมีแนวความคิดต่าง ๆ กันตามวิวัฒนาการของสังคม    

         แนวคิดเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมีอยู่ ๒ สำนักซึ่งแตกต่างกัน คือ “สำนักกฎหมายธรรมชาติ”   มองว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมิใช่กฎสูงสุดแต่เป็นกฎที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ การตีความกฎหมายจึงต้องให้ความสำคัญกับความยุติธรรมที่ถูกต้องแท้จริงสอดคล้องกับกฎธรรมชาติมากยิ่งกว่าตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร  ส่วนกฎธรรมชาติจะมีที่มาหรือลักษณะอย่างไรนั้น   ย่อมขึ้นอยู่กับศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อของแต่ละสังคม  อย่างเช่น  ศาสนาคริสต์  ฮินดู  พราหมณ์หรืออิสลาม จะมีความเชื่อในกฎของพระเจ้า   ส่วนศาสนาพุทธนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” เป็นกฎธรรมชาติที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใด ๆเหมือนกับกฎพระเจ้า

         อีกสำนักหนึ่งคือ “สำนักกฎหมายบ้านเมือง” มองว่ากฎหมายต้องแยกออกให้ชัดเจนระหว่างกฎหมายที่เป็นอยู่กับกฎหมายที่ควรจะเป็น  กฎหมายธรรมชาติเป็นกฎหมายที่ควรจะเป็นไม่ใช่กฎหมายที่เป็นอยู่  กฎหมายที่มีผลบังคับได้ต้องออกโดยผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุดของรัฐเท่านั้น และต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกระบวนการนิติวิธีที่กำหนด    การตีความกฎหมายต้องยึดถือถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเป็นหลัก  เรื่องอื่น ๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีลธรรม คุณธรรมหรือความยุติธรรม ถือว่าเป็นเรื่องนอกกฎหมาย   ความยุติธรรม คือ ความยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้  สิทธิจะมีได้ด้วยกฎหมายสร้างขึ้นและกฎหมายให้การรับรองเท่านั้น หามีสิทธิตามธรรมชาติไม่

         สำหรับประเทศไทยเรา  แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธแต่แนวความคิดเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมดูเหมือนจะโน้มเอียงไปในทางสำนักกฎหมายบ้านเมืองมากกว่า  โดยนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่จะมีความเห็นกันว่าเมื่อมีกฎหมายบัญญัติเรื่องใดไว้แล้วก็ถือว่ายุติตามนั้น  ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้   จะแก้ไขหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นเองไม่ได้  แม้จะเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมก็ตาม   เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

        ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกา
         คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๑๔/๒๔๕๙  ได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า “ความยุติธรรม แปลว่า ความประพฤติอันชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเท่านั้น  ความเห็นส่วนตัวของบุคคลย่อมแปรปรวนไปต่างๆ หาความยุติธรรมไม่ได้”   

         คำพิพากษาฎีกา ที่  ๑๒/๒๕๒๑  วินิจฉัยไว้ว่า “ข้ออ้างเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น  จะต้องเป็นไปเพื่อคู่ความทั้งสองฝ่าย มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย

         นอกจากนั้น  รัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่ผ่านมาก็มักจะบัญญัติเป็นหลักการไว้อย่างชัดเจนว่า ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต้องดำเนินการตาม “กฎหมาย”  เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๓๔ มาตรา  ๑๘๖  บัญญัติไว้ว่า  “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล  ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” เป็นต้น

         ซึ่งสอดคล้องกับ คำสอนของพระองค์เจ้ารพีพัฒน์ ผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" ที่ว่า “กฎหมายคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ”  หรือ “เราจะต้องระวังอย่าเอากฎหมายไปปนกับความดี ความชั่ว หรือความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งหรือเป็นแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม...กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือ จากผู้ปกครองแผ่นดิน หรือที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น”  


หากดูจากความหมายตามพจนานุกรรม ก็จะพบว่า
ความหมายของคำว่า ยุติธรรม นั้นหมายถึง
        น. ความเที่ยงตรง, ความชอบธรรม, ความถูกต้อง.
ส่วนความหมายของคำว่า กฏหมาย นั้นหมายถึง
        น. กฎที่สถาบันหรือผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ


ดังนั้นการที่จะสรุปว่า กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม ก็ไม่น่าจะผิดพลาดแต่อย่างใด
ป.ล.พอแค่นี้ดีกว่า เขียนมากไปเดี๋ยวกะทู้จะหายไปพร้อมล็อคอิน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่