แชร์ประสบการณ์ การพาสุนัขเดินทางไปอเมริกา Nov 17

ข้อมูล ณ November 2017

กรุณาตรวจสอบข้อมูลที่อัพเดทจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเดินทางอีกครั้ง เพื่อความถูกต้องของข้อมูล

ข้อความทั้งหมดเป็นการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวค่ะ


ขั้นตอนการพาสุนัขเดินทางไปอเมริกา

1.
สุนัขต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน Rabies อย่างน้อย 30 วันก่อนวันเดินทาง
โดยปกติ ตอนเราพาสุนัขไปฉีดตามคลีนิค คุณหมอจะติดสติ๊กเกอร์ยี่ห้อวัคซีนไว้ในสมุดพร้อมตรายางประทับชื่อคุณหมอ   วันที่ไปด่านกักกัน คุณหมอที่ด่านฯ แจ้งว่า ควรมีลายเซ็นคุณหมอเซ็นคู่กับตราประทับด้วย (บางคลีนิคคุณหมอไม่ได้เซ็นชื่อกำกับ)  แต่เคสของเราคุณหมอที่ด่านฯ อนุโลมให้ค่ะ

ด้วยความที่สมุดวัคซีนที่ไอน์สไตน์กับโคดี้มี เป็นภาษาไทยล้วน  เกรงว่าเวลาไปอเมริกาแล้ว เจ้าหน้าที่ที่นั่นจะเกิดคำถามได้  จิ๊บเลย download แบบฟอร์ม และพิมพ์ไปให้คุณหมอกรอกข้อมูลให้  ซึ่งใบรับรองวัคซีน Rabies ใบนี้ มีประโยชน์มากๆ  เพราะเจ้าหน้าที่สนามบินที่บอสตันสนใจใบวัคซีนนี้ มากกว่า health certificate

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ  requirement การพาสุนัขเข้าอเมริกา
https://www.cdc.gov/importation/bringing-an-animal-into-the-united-states/dogs.html

แบบฟอร์มที่จิ๊บพิมพ์ไปให้โรงพยาบาลสัตว์ที่ฉีดวัคซีนกรอกให้





2.
พาสุนัขไปขอ Export License and Health Certificate

เอกสารที่ต้องเตรียมไปด่านกักกันสัตว์ ที่บริเวณคลังสินค้าสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมกับสุนัข
พาสปอร์ตเจ้าของ และสำเนา
เอกสารจองตั๋วเครื่องบิน
สมุดวัคซีนตัวจริง พร้อมสำเนา
เอกสารไมโครชิพ พร้อมสำเนา
ค่าธรรมเนียม สุนัขสองตัวรวมกัน ห้าร้อยกว่าบาท
หมายเหตุ
สุนัขที่จะออกจากไทยต้องได้รับการฝังไมโครชิพ (เป็น requirement ของกรมปศุสัตว์ของไทยค่ะ ถึงแม้ทางฝั่งอเมริกาไม่ได้บอกให้ฝัง) จิ๊บพาหมาๆ ไปฝังที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ  ค่าใช้จ่ายตัวละประมาณ 1,500 บาท
ขอเอกสาร Export License และ  Health Certificate ประมาณ 3 วันก่อนการเดินทาง เอกสารมีอายุ 7 วัน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.customs.go.th/list_strc_simple_neted.php?ini_content=individual_F01_160913_01&ini_menu=menu_individual_submenu_02&lang=th&left_menu=menu_individual_submenu_02_160421_02



การจองตั๋วเครื่องบิน

เราเลือกบินกับ Qatar Airways เพราะเห็นว่ามีบริการพาสุนัขออกเดินยืดเส้นยืดสาย ระหว่างรอต่อเครื่อง  เนื่องจากเครื่อง delay ตอนออกจากกรุงเทพฯ ไป  1 ชม. ทำให้เวลาต่อเครื่องค่อนข้างกระชั้นชิด   ไอน์กับโคดี้จึงไม่ได้ออกมาเดินเล่นค่ะ

เมื่อเราซื้อตั๋วแล้วทางเว็บไซต์  ก็โทรไปที่สำนักงาน Qatar ที่กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งว่าเราจะมีสุนัขเดินทางด้วย  พร้อมแจ้งขนาดกรง (ความกว้าง สูง ยาว) และนำหนัก กรง + สุนัข  ราคาค่าขนส่งต่อกรงคือ USD350 (ราคาขึ้นอยู่กับขนาดของกรง)

การชำระเงินค่าส่งน้องหมา  จ่ายที่สนามบินค่ะ ควรเผื่อเวลาตอนไปเช็คอินด้วย เพราะต้องเดินขึ้นไปจ่ายเงินที่ชั้น 6   ไม่สามารถจ่ายที่เคาน์เตอร์เช็คอินได้

นโยบายของแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน  ควรเช็คกับการสายบินโดยตรงเสมอค่ะ

การเลือกซื้อกรง
ขอแนะนำให้ซื้อของ PetMate  หลีกเลี่ยงการซื้อกรงของจีน  เพราะบางครั้งอาจไม่ได้มาตรฐาน สายการบินมีสิทธิ์ปฏิเสธการเดินทางของน้องหมาได้   ลงทุนซื้อของดีๆ แข็งแรงทนทานเลย เพราะเราคงไม่อยากเสี่ยงที่น้องหมาอาจจะหลุดจากกรง ระหว่างการขนย้าย

และต้องมีขวดน้ำ และถาดอาหารติดอยู่ที่ประตูกรงด้วย  



การเตรียมตัวสุนัขก่อนการเดินทาง

จิ๊บอยากให้เค้าคุ้นเคยกับกรงก่อนการเดินทาง  จึงเอากรงมาตั้งไว้ที่บ้านอยู่ 2-3 สัปดาห์ก่อนเดินทางจริง  มีการปิดประตูขังไว้บ้างวันละ 1-2 ชม.   พอเค้าออกมา ก็ให้รางวัลนิดหน่อยค่ะ  

ด้านในกรง  ด้านล่างจิ๊บปูด้วยแผ่นรองซับฉี่ 2-3 ชั้น  และจึงวางที่นอนนุ่มๆ ไป
และอย่าลืมใส่ผ้าขนหนูที่มีกลิ่นเจ้าของไปด้วยนะคะ  ได้ทั่งความอบอุ่น และได้กลิ่นเราด้วยค่ะ  อาจจะใส่ของเล่นของเค้าที่จะไม่เป็นอันตรายติดไปด้วย

ด้านบนกรง จิ๊บจะติดอาหารเม็ดไปด้วยเพียงเล็กน้อย  เพราะถ้ากินมากไป เค้าอาจจะอาเจียนได้  แต่เคสเรา เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาให้อาหารหมาเลย เพราะว่าเวลาต่อเครื่องค่อนข้างน้อย    แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ สุนัขสามารถอดอาหาร 1 วันได้สบายๆ ค่ะ
และติดสายจูงสั้นๆ ไว้บนกรงด้วย โดยใส่ถุงซิปล็อค และแปะด้วยเทปกาวข้างๆ ตามรูป

พอเดินทางมาถึงอเมริกา  หลังจากเจ้าหน้าที่ Immigration stamp หนังสือเดินทางของเราเรียบร้อยแล้ว  จิ๊บถามเจ้าหน้าที่ว่า เอกสารเกี่ยวกับสุนัขให้กับเจ้าหน้าที่ท่านไหน  เจ้าหน้าที่ Immigration ให้รอแป๊บนึง และมีพนักงานมาพาไปหาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อตรวจเอกสาร  ซึ่งที่บอสตัน เค้าเรียกหาดูเฉพาะ Rabies Vaccination Certificate  โดยที่ไม่ได้เก็บเอกสาร Health Certificate และ Export License  ไปเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่