เกณฑ์ประมูล 900/1800 Mhz รอบใหม่! พ.ค.61 เริ่ม 3.7 หมื่นล้าน ยันไม่ตัด JAS ชี้ ใครเบี้ยว ปรับอื้อ 7.7 พันล้าน!!



กสทช. เล็งเคาะประมูลคลื่นสัมปทานดีแทค พ.ค. 2561 ราคาเริ่มต้นทะลุ 3.7 หมื่นล้านต่อไลเซนส์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ภายใต้สัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม(แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(ดีแทค) เพื่อเตรียมการประมูลก่อนที่จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า คณะทำงานสำหรับเตรียมประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานดีแทคกับแคท ได้ยกร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นก่อนหมดสัมปทาน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคม พิจารณาในวันที่ 6 พ.ย. ก่อนนำเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาวันที่ 8 พ.ย. 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาของบอร์ด กสทช. ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ใช้บริการหลังสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้มีการเคาะราคาประมูลได้ราวเดือน พ.ค. 2561 และมอบใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลได้เสร็จเรียบร้อยไม่เกินเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. 2561

โดยสาระสำคัญคือ คลื่นย่าน 900 MHz จะจัดประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 MHz ราคาเริ่มต้นประมูล 37,988 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี

ส่วนคลื่นย่าน 1800 MHz จัดประมูล 3 ใบอนุญาต แถบคลื่น 15 MHz ต่อใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาทต่อใบอนุญาต อายุใบอนุญาต 15 ปี

โดยผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถเข้าประมูลแต่ละย่านความถี่ได้แค่ 1 ใบอนุญาต แต่กรณีคลื่น 1800 MHz หากมีผู้เข้าประมูลแค่ 3 ราย กสทช.จะนำคลื่นออกประมูลแค่ 2 ใบอนุญาตเท่านั้น ขณะที่เงื่อนไขการชำระเงินและการขยายโครงข่ายต่างๆ จะยึดตามเงื่อนไขการประมูลครั้งก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาด

ส่วนบริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ที่เคยทิ้งใบอนุญาตในการประมูลคลื่นครั้งก่อน สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้ หากได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน เนื่องจากได้เสียค่าปรับต่างๆ ตามคำสั่ง กสทช. ครบแล้ว แต่หากผู้ชนะประมูลคลื่นครั้งนี้ไม่ชำระเงินค่าประมูล ทิ้งใบอนุญาตจะถูกริบเงินประกัน 5% ของราคาเริ่มต้นประมูล และค่าปรับอีก 15% รวมราว 7,700 ล้านบาท

https://www.prachachat.net/ict/news-63872




กสทช.แจงหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 900,1800 เมกกะเฮิรตซ์



กรุงเทพฯ 1 พ.ย. กสทช.แจงหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 ,1800 เมกกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้นกว่า 38,000 ล้านบาท คาดประกาศหลัเกณฑ์เดือนม.ค. ก่อนประมูลเสร็จกลางปี 61

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)แถลงหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกกะเฮิรตซ์และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 ว่า กสทช.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองย่านเรียบร้อยแล้วเพื่อให้การดำเนินการประมูลและโอนย้ายคลื่นความถี่เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาก่อนจะสิ้นสุดสัมปทานเพื่อไม่ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการเยียวและไม่ให้เกิดผลกระทบกับการโอนย้ายลูกค้าไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ สำนักงานฯ ได้จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่เสร็จแล้ว โดยร่างฯได้ยึดหลักเกณฑ์เดิมของกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้กำหนดไว้ สำหรับสาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์การประมูลได้กำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ จัดประมูลจำนวน 5 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท ราคาประมูลเพิ่มในแต่ละรอบอยู่ที่รอบละ 76 ล้านบาท หลักประกันการประมูล 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี ค่าปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เมื่อประมูลได้แล้วจำนวน 5,699 ล้านบาท (ร้อยละ 15 ของราคาขั้นต่ำ) แบ่งการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็น 4 งวด งวดแรกชำระภายใน 90 วัน ขั้นต่ำ 4,020 ล้าบาท ปีที่สองขั้นต่ำ 2,010 ล้านบาท ปีที่ 3 จำนวน 2,010 ล้านบาท ปีที่ 4 ชำระส่วนที่เหลือทั้งหมด

ส่วนคลื่นย่าน 1800 เมกกะเฮิรตซ์ นำมาประมูลจำนวน 45 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาท โดยให้ราคาเพิ่มขึ้นในแต่ละรอบรอบละ 75 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี หลักประกัน 1,873 ล้านบาท ค่าปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประมูล 5,619 ล้าบาท (ร้อยละ 15 ของราคาขั้นต่ำ) แบ่งการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็น 3 งวด งวดแรกชำระภายใน 90 วัน ขั้นต่ำร้อยละ 50 ของราคาที่ประมูลได้ งวดที่สองร้อยละ 25 งวดที่ 3 ร้อยละ 25 ทั้งสองย่านความถี่ผู้ชนะประมูลต้องขยายโครงข่ายการให้บริการครอบคลุมร้อยละ 50 ภายใน 4 ปี ร้อยละ 80 ภายใน 8 ปี

สำหรับการประมูลผู้เข้าประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง การเคาะราคาจะต้องมีจำนวนผู้เข้าประมูลมากว่าจำนวนใบอนุญาต ผู้ชนะคือผู้ให้ราคาสูงสุดเมื่อสิ้นสุดการเคาะราคา  กรณีคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ หากมีผู้เข้าประมูล 3 รายจะมีการเคาะราคา 2 ใบอนุญาต หากมีผู้เข้าประมูล 2 รายจะมีการเคาะราคา1 ใบอนุญาต และหากมีผู้เข้าประมูล 1 รายจะขยายเวลาการประมูลออกไป 30 วันจนกว่าจะมีผู้เข้าประมูลเพิ่มขึ้น ขั้นตอนต่อไปสำนักงานฯ จะนำร่างหลักเกณฑ์ เข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการด้านโทรคมนาคมภายในวันที่ 6 พ.ย.ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยคาดว่าจะออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้ในเดือนมกราคม ทั้งนี้หากการสรรหาคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2561 สำนักงานฯจะนำร่างหลักเกณฑ์เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดก่อนนำไปประกาศในราชกิจการนุเบกษา



“การเคาะราคาน่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเดือน มิถุนายน 2561 จากนั้นจะมีการชำระเงินและส่งมอบคลื่นความถี่ กสทช.ประเมินว่ายังไงก็ต้องมีคนเข้าประมูล  จากการประเมินความต้องการใช้คลื่นความถี่ของสหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู) ยังมีความจำเป็นที่ผู้ให้บริการต้องการใช้คลื่นความถี่ยังไงก็ตามก็ต้องมีคนเข้า ส่วนหากใครที่ประมูลได้แล้วจะทิ้งใบอนุญาตจะโดยยึดเงินประกันและเสียค่าปรับรวมกว่า 7 พันล้านบาท ” นายฐากร กล่าว-สำนักข่าวไทย.

http://www.tnamcot.com/view/59f94dece3f8e40ae18e5188






แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่