เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล..ข้าพระพุทธเจ้า**ห้องเพลงคนรากหญ้า**24/10/2560 อโนดาต-หิมพานต์



(Cr. คุณทาร์ซาน)



มณฑลพระเมรุมาศ


สระอโนดาต-ป่าหิมพานต์





ภูมิสถาปัตยกรรมรอบพระเมรุมาศ สื่อถึงพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจด้านน้ำของในหลวง

นอกจากการออกแบบพระเมรุมาศให้วิจิตรงดงามตามราชประเพณีแล้ว การตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบพระเมรุมาศก็ต้องงดงามเช่นเดียวกัน

หากเปรียบพระเมรุมาศเป็นเขาพระสุเมรุ เชิงเขาก็คือป่าหิมพานต์ มีสระอโนดาตเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประดับรอบพระเมรุมาศ



ที่ออกแบบสระอโนดาตเพราะต้องการสื่อถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของในหลวงรัชกาลที่ 9

ในโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ มีกว่า 3,000 โครงการที่เกี่ยวกับน้ำ น้ำจึงเป็นลักษณะเด่นหนึ่งที่เห็นแล้วเรานึกถึงพระองค์

ภูมิสถาปัตยกรรมที่อยู่ลานรอบฐานพระเมรุมาศ เป็นการออกแบบโดยตีความจากแผนภูมิจักรวาล โดยเปรียบพระเมรุมาศกับเขาพระสุเมรุ บริเวณรอบๆ เป็นจักรวาลประกอบด้วยสัตตบริภัณฑคีรี มหาสมุทร ทวีปทั้ง 4 เป็นการตีความในเชิงผัง ที่งานภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมต้องไปด้วยกัน



"ลานรอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อโนดาต ป่าหิมพานต์ มีโขดหิน รวมทั้งมีสัตว์หิมพานต์ในสระอโนดาตด้วย เพื่อสื่อว่าเป็นการส่งเสด็จกลับสู่สวรรค์"

สรุปว่า เชิงเขาพระสุเมรุมีป่าหิมพานต์ตั้งอยู่

ป่าหิมพานต์มีสระทั้งหมด 7 สระ (สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมัณฑากิณี และสระสีหัปปาตะ)

บรรดาสระใหญ่ทั้ง 7 นั้น สระอโนดาตเป็นสระที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาทั้ง 5  


สระอโนดาต

สระอโนดาต แปลว่า สระที่ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน เป็น 1 ใน 7 สระในป่าหิมพานต์

รอบสระอโนดาตมีเขารายล้อมอยู่ 5 เขา ได้แก่ ยอดเขาสุทัสสนะ ยอดเขาจิตตะ ยอดเขากาฬะ ยอดเขาคันธมาทน์ และยอดเขาไกรลาส ซึ่งเขาทั้ง 5 มีลักษณะโค้งงุ้มเหมือนปากกา ปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ไม่ให้โดนแสงเดือนแสงตะวัน สระอโนดาตจึงไม่โดนแสงส่องให้ร้อน

สระอโนดาตเป็นที่สรงน้ำแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมถึงผู้วิเศษ เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น



สำหรับสระอโนดาตหิมพานต์ สร้างขึ้นด้วยคติความเชื่อไตรภูมิ เปรียบประดุจในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นสมมติเทพที่ทรงครองใจประชาราษฎร์ สระอโนดาตยังบอกเล่าเรื่องราวโครงการในพระราชดำริ ที่เกี่ยวกับน้ำ กว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ที่ทำให้คนไทย อยู่ดีกินดี บนแผ่นดินของพ่อ ใต้ร่มพระบารมี ๗๐ ปี ที่ทรงบำบัดทุกข์บันดาลประโยชน์ บันดาลความสุข เพื่อปวงชนชาวไทย

พระเมรุมาศ ทั้ง 4 ทิศ เทคอนกรีต วางระบบท่อน้ำก่อสร้างเป็นสระน้ำและติดตั้งระบบระบายน้ำ พื้นสระติดเป็นหินขัดสีน้ำเงินเข้ม คล้ายสีมรกต ผสมกับหินเกล็ดแก้วแวววาว ภายในบ่อน้ำ ให้ความเสมือนจริงของสระอโนดาตมากที่สุด



นอกจากนี้ “บริเวณสระอโนดาตจะมีระบบไฟฟ้าแอลอีดีและไอหมอกซ่อนอยู่ในโครงสร้างอยู่ตรงขอบล่างส่วนมุม โดยในช่วงกลางคืนเมื่อเปิดไฟจะเห็นเป็นภาพของสระอโนดาตเรืองแสงเป็นสีมรกต ส่วนตอนกลางวันจะมีน้ำพ่นขึ้นมาเพื่อลดอุณหภูมิของลานพระราชพิธี อีกทั้งจะได้มุมมองพระเมรุมาศที่ต่างออกไปดูเป็นเมฆเหมือนกับพระเมรุมาศตั้งอยู่กลางเมฆหมอก




ป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์

ป่าหิมพานต์ หรือ หิมวันต์ เป็นป่าในวรรณคดีและความเชื่อในเรื่องไตรภูมิตามคติศาสนาพุทธและฮินดู

มีความเชื่อว่า ป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 โยชน์ (1 โยชน์ เท่ากับ 10 ไมล์ หรือ 16 กิโลเมตร) วัดโดยรอบได้ 9,000 โยชน์ ประดับด้วยยอด 84,000 ยอด

ในป่าหิมพานต์นี้เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด รู้จักในนามของสัตว์หิมพานต์ ซึ่งล้วนแปลกประหลาดต่างจากสัตว์ที่มนุษย์ทั่วไปรู้จัก เป็นสัตว์หลายอย่างผสมกันแล้วตั้งชื่อขึ้นใหม่ สัตว์เหล่านี้เกิดจากจินตนาการของจิตรกรไทยโบราณ ที่ได้สรรค์สร้างภาพจากเอกสารเก่าต่างๆ

สัตว์หิมพานต์จำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ สัตว์ทวิบาท (มีสองขา) สัตว์จตุบาท (มีสี่ขา) และจำพวกปลา





สัตว์หิมพานต์ที่สระอโนดาตรอบพระเมรุมาศเป็นฝีมือการปั้นและลงสีของช่างเมืองเพชร ช่างสิบหมู่ และจิตอาสา สรรค์สร้างสัตว์หิมพานต์ช้าง ม้า โค และสิงห์ ให้วิจิตรงดงาม ทั้ง 4 ทิศ

สัตว์มงคลประจำ 4 ทิศ และความหมาย



สัตว์มงคลประจำ 4 ทิศตั้งอยู่บนลานอุตราวรรต บนแท่นรูปหัวสัตว์มงคลที่กำลังพ่นน้ำลงสู่สระอโนดาตเบื้องล่าง ข้างบันไดนาค 1 เศียร ทั้ง 4 ทิศ ที่ขึ้นสู่ฐานชาลาชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ ทิศละ 1 คู่ เปรียบดั่งทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ และมีสัตว์หิมพานต์มากมาย ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศก็จะมีสัตว์หิมพานต์แต่ละประเภทอาศัยอยู่ ดังนี้


ทิศเหนือ: ช้าง อาศัยอยู่ปากแม่น้ำหัตถีมุข อันเป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก

ช้างเป็นสัตว์ประจำทิศเหนือ มาจากการที่พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระสุบิน (ความฝัน) ว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วมีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงนำดอกบัวมาถวาย ซึ่งมีความหมายว่าผู้มีบุญญาธิการเพียบพร้อมด้วยบารมีจุติมากำเนิดในครรภ์ของพระองค์





ทิศใต้ : โค อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอุสภมุข อันเป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่จำนวนมาก

โค หรือวัว สัตว์ประจำทิศใต้ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อแต่โบราณนานมา วัวนับเป็นสัตว์ที่ให้คุณแก่มนุษย์และมีการบูชาวัวมาตั้งแต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ




ทิศตะวันออก : ราชสีห์ อาศัยอยู่ปากแม่น้ำสีหมุข อันเป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่จำนวนมาก

สิงห์ สัตว์ประจำทิศตะวันออก หมายถึง การแสดงธรรมอย่างเสาอโศก หรือเสาหินโบราณที่บนยอดเสาเป็นรูปสิงห์แกะสลัก 4 ตัวนั่งหลังชนกันในลักษณะคำรามพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะผู้ปกครองอนุทวีปอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 4 ได้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา เสาอโศกจึงเป็นสัญลักษณ์บอกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดุจดั่งพญาราชสีห์ และเปล่งสุรสีหนาทกึกก้องไปทั่วชมพูทวีป





ทิศตะวันตก : ม้า อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอัสสมุข อันเป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่จำนวนมาก

ม้าเป็นสัตว์ประจำทิศตะวันตกคือ ม้ากัณฐกะ ... ม้าพระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ในวันที่พระราหุลประสูติเพื่อทรงออกผนวช ม้ากัณฐกะเป็นม้าสหชาติที่เกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ  และมีความจงรักภักดีต่อเจ้าชายสิทธัตถะมาก เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นามว่ากัณฐกเทวบุตร




ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.kingrama9.net/Crematory/Detail/21
http://www.gqthailand.com/life/article/mythical-creatures-of-the-royal-cremation
http://www.nationtv.tv/main/program/nation-ent/378549884/
http://www.tnews.co.th/contents/349801
http://news.thaipbs.or.th/content/266361
https://rama9.matichon.co.th/gallery/p-1354
http://news.sanook.com/3893242/
https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/85151.html
http://www.bugaboo.tv/watch/340764
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่