ย้อนบันทึกพระเมรุมาศครั้งประวัติศาสตร์! ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติกษัตริย์ไทย

ย้อนบันทึกประวัติศาสตร์พระเมรุมาศกษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดย อาจารย์สันติสุข โสภณสิริ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารและประวัติศาสตร์ไทย มาเล่าเรื่องราวอันน่าสนใจกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

“ในสมัยก่อนนั้น การสร้างพระเมรุมาศให้กับพระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์พระองค์นั้น รวมทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมั่งคั่งของกษัตริย์พระองค์นั้น รวมทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมั่งคั่งของกษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วย” อาจารย์สันติสุข เกริ่นเข้าเรื่อง

...ในสมัยที่สร้างพระเมรุมาศที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรานั้น เป็นพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยในยุคนั้นถือเป็นยุคทอง เพราะมีการติดต่อค้าขายกับฝรั่ง มีทรัพย์สินมากมาย ทำให้กษัตริย์พระองค์ต่อมา ทรงสร้างพระเมรุมาศให้อย่างยิ่งใหญ่ ว่ากันว่าสูงถึง 2 เส้น (1 เส้น = 20 วา, 1 วา = 2 เมตร) ประมาณ 80 เมตร หรือสูงเทียบเท่ากับตึก 26 ชั้นในปัจจุบัน!

ส่วนในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถือว่ายิ่งใหญ่รองลงมาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ว่าได้ เพราะพระองค์ท่านสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้ทรงสร้างพระเมรุมาศอย่างยิ่งใหญ่ให้กับพระเชษฐา โดยมีความสูงของพระปรางค์ 1 เส้น 17 วา ประมาณ 74 เมตร


อะไรเอ่ย...คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ? อาจารย์สันติสุข ตั้งคำถาม ...โลงศพหรือเปล่าคะ... ผู้สื่อข่าวตอบคำถามข้างต้น

แหล่งข่าวที่อยู่ตรงหน้า ยิ้มแล้วตอบว่า “ใช่...หมายความว่า พระโกศส่วนใหญ่กษัตริย์มักจะไม่ได้เห็น แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีนั้น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีมรณานุสติ หมายถึง การนึกถึงว่าความตายเป็นของธรรมดา เมื่อเกิดมาได้
แล้วก็ต้องตายในที่สุด

ขณะนั้น พระองค์ท่านทรงพระชราภาพมาก จึงทรงสั่งให้สร้างพระโกศขึ้นมา ซึ่งพระโกศที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น ขนาดพอดีกับตัวคน แต่พระโกศของรัชกาลที่ 1 นั้น ใหญ่มาก! มากขนาดที่ว่า พระองค์ท่านสามารถเดินขึ้นไปนั่งประทับได้ ใหญ่ขนาดไหนลองคิดดูแล้วกัน นี่แค่พระโกศนะ ไม่ใช่พระเมรุมาศ ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงภาพพระปรางค์วัดอรุณ และข้างในมีพระเมรุมาศอีกชั้นหนึ่ง

หลังจากสร้างพระโกศเสร็จ พระองค์ท่านก็ให้ไปตั้งไว้ในพระที่นั่งของท่านเลย คือ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ถึงขนาดที่ว่าพระสนมเอกของท่านตกอกตกใจ ทูลห้ามปรามและร้องห่มร้องไห้เป็นการใหญ่ พระองค์ท่านก็ตรัสกลับไปว่า ‘กูไม่ถือ ถ้าไม่เอามาตั้งให้ดู ทำไมกูจะได้เห็น’ พระองค์ท่านไม่ถือว่าเป็นลางร้ายใดๆ เหมือนทรงรู้ เพราะหลังจากที่สร้างไว้หนึ่งปี พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต”


ถัดมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ทรงไม่โปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ โดยมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า

‘แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป’ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ก็ทำตามพระราชประสงค์ ทำพระเมรุมาศยอดแหลมที่เรียกว่า กุฎาคาร เป็นเรือนที่มีหลังคาต่อเป็นยอดแหลม ทำทรงเป็นมณฑปคลุมพระเมรุมาศด้านในอีกที ไม่ทำเป็นพระปรางค์เหมือนสมัยอยุธยา

การตั้งพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงมีที่มาที่ไปอย่างไร? ผู้สื่อข่าวซักถามด้วยความสงสัย

อาจารย์สันติสุข เล่าด้วยความเชื่ยวชาญว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น สนามหลวงถูกเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ หรือ ท้องพระเมรุ โดยมีที่มาจากคติความเชื่อที่ว่า การสร้างบ้านสร้างเมืองไม่ใช่มีแต่เมืองมนุษย์ แต่ยังต้องมีนครของเทวดาด้วย ดังนั้น ทุ่งพระเมรุที่เห็นโล่งๆ ดูกว้างใหญ่ไพศาลนั้น มีสิ่งที่เรียกว่า ‘เขาพระสุเมรุ’ อยู่ โดยตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา หมายถึง ภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ ซึ่งบันทึกไว้ในไตรภูมิพระร่วงสมัยพระเจ้าลิไท โดยเขาพระสุเมรุบางคติก็ว่าเป็นที่อยู่ของพระอิศวร แต่ของไทยระบุว่าเป็นที่อยู่ของพระอิศวร แต่ของไทยระบุว่าเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ในดาวดึงส์


จึงมีความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์ของไทยจุติลงมาจากสวรรค์ หมายความว่า จุติลงมาจากเขาพระสุเมรุ และเสด็จลงมาเป็นสมมติเทพในเมืองมนุษย์ เพื่อเป็นพระพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ดังนั้น เมื่อพระองค์ท่านได้ล่วงลับไป นั่นแปลว่า พระองค์ท่านทรงเสด็จกลับไปสู่สรวงสวรรค์ โดยคำว่า ‘สวรรคต’ มาจาก ‘สวรรค์’ หมายถึง ชั้นวิมานซึ่งที่อยู่ของเทวดา และคำว่า ‘คต’ หมายถึง ไป จึงหมายความได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จกลับไปอยู่ที่ของเทวดาอย่างเก่า หรือคำว่า ‘สวรรคาลัย’ หมายถึง ประทับอยู่บนวิมานชั้นฟ้า

“ประเทศเราเริ่มใช้ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ตอนที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระชนกาธิบดีในรัชกาลที่ 1 โดยสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2338 เป็นพระเมรุมาศที่สร้างเหมือนของพระมหากษัตริย์ เพราะฐานะพระราชบิดา พระราชมารดา ทำเมรุเทียบเท่าพระมหากษัตริย์"

อาจารย์สันติสุข นิ่งคิดครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า “ในประวัติศาสตร์ไทยยังไม่เคยให้ประชาชนเข้ามาร่วมงานของกษัตริย์เลย เพราะถือเป็นพระราชพิธีที่ทำกันภายในพระบรมมหาราชวัง แต่ในครั้งนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมในงานพระราชพิธี และเปิดให้เข้ามากราบถึงในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเรียกได้ว่า ใกล้ชิดมากๆ รวมทั้งยังให้เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมด้วย ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 9 และเป็นเรื่องอัศจรรย์ไม่แพ้กับเรื่องอัศจรรย์ทางธรรมชาติเลย” นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ จะมีกษัตริย์จากประเทศต่างๆ มาร่วมพระราชพิธีในครั้งนี้หรือไม่นั้น อาจารย์สันติสุข เผยว่า “เป็นเรื่องที่น่าคิด เนื่องจากเมื่องานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ตอนปี พ.ศ.2549 นั้น ได้มีกษัตริย์และผู้นำทั่วโลกมาร่วมงานด้วย จึงต้องรอติดตามว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเตรียมเชิญมาหรือยัง แต่คิดว่าน่าจะเชิญมาร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นครั้งสุดท้าย

...และถ้าเสด็จมา ก็ถือเป็นเรื่องอัศจรรย์และยิ่งใหญ่ เพราะในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์หรือตัวแทนพระมหากษัตริย์มาร่วมงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติและพระราชพิธีพระบรมศพเลย มีแต่ประเทศราช ก็เลยเข้าใจว่างานพระเมรุมาศคราวนี้ ก็น่าจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่