การรู้อริยสัจควรแลกเอา  แม้ด้วยการถูกแทงด้วยหอกวันละ ๓๐๐ ครั้ง ๑๐๐ ปี(พระสูตร)

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุร้อยปี พึงกล่าวกะบุรุษผู้มีชีวิตร้อยปี อย่างนี้ว่า “เอาไหมล่ะ ท่านบุรุษผู้เจริญ ! เขาจักแทงท่านด้วยหอกร้อยเล่มตลอดเวลาเช้า ร้อยเล่มตลอดเวลาเที่ยง ร้อยเล่มตลอดเวลาเย็น. ท่านบุรุษผู้เจริญ ! เมื่อเขาแทงท่านอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มทุกวัน ๆ จนมีอายุร้อยปี มีชีวิตอยู่ร้อยปี ; โดยล่วงไปแห่งร้อยปีแล้ว ท่านจักรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ท่านยังไม่รู้เฉพาะแล้ว” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! กุลบุตรผู้รู้ซึ่งประโยชน์ ควรจะตกลง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุว่า สังสารวัฏนี้มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นเบื้องต้นและที่สุดแห่งการประหารด้วยหอกด้วยดาบด้วยหลาวด้วยขวาน ก็จะไม่ปรากฏ, นี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็เป็นฉันนั้น : เรากล่าวการรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ ว่าเป็นไปกับด้วยทุกข์กับด้วยโทมนัสก็หามิได้ ; แต่ เรากล่าวการรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ ว่าเป็นไปกับด้วยสุขกับด้วยโสมนัสทีเดียว. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้. 



- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๑/๑๗๑๘.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่