[CR] เรื่องราวจากหุบเขา..และชาวอาข่า 'หมู่บ้านแม่จันใต้ เชียงราย'

หมุนทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาสู่ความเรียบง่ายที่ “แม่จันใต้”

' หมู่บ้านเหนือเมฆ
   กาแฟชั้นเลิศ ชาชั้นดี วิถีอาข่าไทย '


           หมู่บ้านแม่จันใต้ ตั้งอยู่บนทิวเขาที่กั้นระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย  หลีกหนีความวุ่นวายจากตัวเมืองเชียงรายมากว่า 90 กิโลเมตร ความสุขและความสงบเกิดขึ้นที่นี้ ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่โอบล้อม และวัฒนธรรมเผ่าอาข่าที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่กลางหุบเขาเล็ก ๆ แห่งนี้ แต่เดิมบรรพบุรุษอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน รวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนใหญ่ แต่ด้วยพื้นที่เล็กและจำกัด รวมไปถึงมุมมองทางศาสนาที่ต่างกัน ทำให้ต้องแยกย้ายและจัดตั้งถิ่นฐานกันใหม่  
           เวลาทำหน้าที่เดินไปตามเข็มนาฬิกาไม่ได้มีอิทธิพลกับชาวอาข่าที่นี้มากมายนัก  ต่างกัน..เสียงไก่ขันเสมือนนาฬิกาปลุกที่มีชีวิต บอกให้เราลืมตาตื่นทำมาหากิน  เช้ายังไม่ทันฟ้าสางชีวิตขับเคลื่อน สายหมอกละเลียดขอบเขาให้ชวนหลงใหล ประตูบ้านเปิด หนุ่มสาวเฒ่าแก่จุดฟืนไฟหุงหาอาหาร  เดินยิ้มแย้มทักทาย พูดคุยกัน ชีวิตมันไม่ต้องมีอะไรมาก ไม่ต้องเร่งไปตามใคร ที่นี้เป็นอย่างนั้น ตะวันขึ้นขอบฟ้าทำหน้าที่ไปตามเวลา คนหนุ่มสาวหยิบจับเครื่องมือออกไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปตามฤดู สิ่งที่ทำให้การเกษตรของที่นี้เป็นไปอย่างมีระเบียบคือ 38 ครัวเรือน ทำกินไปตามขอบเขตผืนป่าที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดสรรพื้นที่ในหุบเขาแห่งนี้ทั้งหมดไม่ขยายไปกว่านี้ แม้ว่าความต้องการผลผลิตของการตลาดจะมากขึ้นแค่ไหน พื้นที่ทำกินไม่ได้ขยายตาม ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วผลผลิตเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ และพอเพียงตามแนวพระราชดำรัช มีแค่ไหนทำกินแค่นั้น ไม่มีขยายไปรุกล้ำป่า ... เพื่อการทำกินในพื้นที่อย่างยั่งยืนและดำรงธรรมชาติให้คงไว้เพื่อคนรุ่นหลัง แต่เดิมพื้นที่บุกเบิกด้วยการปลูกฝิ่นในสมัยก่อน ปัจจุบัน พี่สันติกุล จือปา ผู้นำชุมชนที่หมู่บ้านแห่งนี้ปรับวิถีภายใต้แนวคิดที่ว่า “จากแดนฝิ่นสู่ถิ่นกาแฟ” จนทำให้กาแฟในพื้นที่หมู่บ้านนี้ขึ้นชื่อ และสร้างรายได้สู่ทุกครัวเรือน
.
.

บทที่ 1 การเดินทาง
       เราเช่ามอไซค์ จาก Bikky ร้านอยู่ตรง บขส เชียงราย เริ่มเดินทางจากจุดนี้ไปยังเส้นถนนหมายเลข 118 จนถึงปากทาง วัดแม่ต๋ำ จึงเลี้ยวเข้ามาถนนทางหลวงชนบท 3063 เอาล่ะ.. จากตรงนี้ไป คือเส้นทางที่ไม่รู้จบ นับจากตรงปากทางเข้าแยกนี้ไปอีก ประมาณ 23 กิโลเมตร เส้นทางคดเคี้ยวและชันพอสมควร แต่ถ้าจะมาด้วยรถสาธารณะ ก็จะมีรถที่จอดอยู่ บขส. มาถึง ปากทางแม่ต๋ำ และต้องต่อรถจากแม่ต๋ำ ไปยังหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น รถสาธารณะ หรือ รถส่วนตัว จะไปสุดทางแค่นี้ ต้องโทรให้ชาวบ้านข้างในมารับ เพราะเส้นทางจากห้วยน้ำขุ่นเข้าไปอันตราย และเป็นลูกรัง จะเข้าได้แค่รถ 4x4 หรือจะวัดดวงกับมอไซค์ ก็จะทุลังทุเลไปหน่อย

ย้ำว่าทางจะประมาณนี้...

แต่เชื่อเถอะ..ว่าปลายทางคุ้มค่า


มาถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน
            ความเชื่อของชาวอาข่าที่นี้นับถือบรรพบุรุษ เหมือนชาวไทยที่นับถือศาสนาต่างๆ บรรพบุรุษสร้างทางเข้าไว้เพราะความเชื่อหลายอย่าง ประการหนึ่งคือ เปรียบเสมือนด่านกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามายังหมู่บ้าน และกันภัยที่เกิดจากโรคต่างๆ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทที่ 2  วัฒนธรรม ประเพณี ของชาวอาข่า

     ประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติ มิตรภาพ ที่นี้ดูสวยงามและคงอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์..
ในคืนแรกที่มาก็ได้พบ ประเพณีการเต้นรำแบบอาข่า มาต้อนรับ ให้อบอุ่นใจ หรือภาษาอาข่าจะเรียกว่า "บ่อฉ่องตูเออ"
ผู้คนในหมู่บ้านต่างแต่งชุดประจำเผ่า มาล้อมวง ร้องเพลง กระทุ้งไม้ไผ่ เหมือนที่ชาวไทยจะรำถวายพระพรอะไรทำนองนั้น
หญิงสาวชาวเผ่า ร้องรำ และกระทุ้งลำไผ่เป็นจังหวะทำนอง ประกอบกับ กลอง ฉิ่ง ฉาบ อย่างเข้าจังหวะกัน
ในรอบแรก ชาวบ้านจะแสดงให้ชมก่อน ถือเป็นพิธีที่ลูกหลานจะปฏิบัติกัน รอบต่อๆมาก็จะเป็นนักท่องเท่ี่ยวเข้าไปเล่นด้วยกัน
มิตรภาพสร้างได้ในไม่กี่นาที ...แต่ความสุขนั้นยาวนาน
                อีกความหมายหนึ่งที่สำคัญ.. การรวมตัวของชาวบ้านนี้ ก็เป็นการปลูกฝังลูกหลาน ให้รู้จัก และผูกมิตรไมตรีกันแต่ละหลังคาเรือน ผู้เฒ่าผุ้แก่ ได้นั่งคุย แลกเปลี่ยนทุกข์สุข กันตลอดคืน


ความสุขนั้นยาวนานในค่ำคืนเดียว..
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ในเช้าวันถัดมา..

        ชาวบ้านจะตื่นกันแต่เช้าตรู่ เสียงไก่ขันทำหน้าทีแทนนาฬิกาปลุกมีชีวิต หนุ่มสาวชาวเผ่าหุงหาอาหาร และเตรียมของประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะช่วยกันทำ "ข้าวปุก" หรือ การตำข้าวเหนียวที่หุงสุกใหม่ๆ ด้วยครกไม้ยักษ์ จนได้ข้าวเหนียวที่นุ่มแล้วคลุกกับงาขี้ม่อน และเกลือเล็กน้อย

เสร็จแล้วก็จะหน้าตาประมาณนี้.. คลุกงานะคะ ไม่ได้เลอะ อร่อย ร้อนปาก มีความสุขสุดๆ

ขณะที่ แม่หญิงทำข้าวปุก ป่อหนุ่มทั้งหลายก็จะไปชำแหละวัว

      การชำแหละวัวนี้เหมือนพิธีกรรมอย่างนึง ที่จะทำแค่ปีละครั้งเท่านั้น! ไม่ใช่เพื่อการกิน หรือความบันเทิง ชาวบ้านจะหุ้นกันซื้อวัว 1 ตัว หรือ เรียกว่า "วัวหุ้น" สมมติว่าวัวตัวนี้ราคา 18,000 บาท ชาวบ้านก็จะรวมเงินกันทุกครัวเรือน แล้วถึงจะชำแหละวัวได้ จากนั้นก็จะแบ่งกันไปแต่ละหลังคาเรือน ทำกินประกอบอาหาร
แบ่งเนื้อวัวกลางขุนเขา ....อากาศหนาวเย็นตลอดปี
ขออภัย ณ ที่นี้ หากรูปไม่สุภาพ แต่ย้ำว่า เขียนเพื่อความรู้ และถ่ายทอดเรื่องราวประเพณีเท่านั้น..


               พอสาย...หลังจากที่บูชาไหว้บรรพบุรุษแล้ว ผู้คนทั้งหลายมาร่วมกันเล่นชิงช้า ที่กลางหมู่บ้าน ประเพณีโล้ชิงช้าของชนเผ่าอาข่า จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกันของทุกปีคือเดือนสิงหาคม พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้เปรียบเสมือน ประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวอาข่า ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังเจริญงอกงาม หรือพร้อมจะเก็บเกี่ยว ภาษาอาข่าเรียกประเพณีนี้ว่า "แย้ขู่อ่าเผ่ว" เป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่าทางจิตใจ และมีคุณค่าที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ผู้คนต่างถิ่นที่ไม่ได้เดินทางมาในช่วงนี้ จะไม่ได้ชมการโล้ชิงช้า เพราะชาวเผ่าจะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จะเล่นได้แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวอาข่าเท่านั้น

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทที่ 3 เครื่องแต่งกายชาวอาข่า

     ชาวอาข่า มีธรรมเนียมปฏิบัติในผู้หญิงและชายที่เกิดมา จะได้รับสิ่งของเครื่องแต่งกายสืบทอดต่อกันรุ่นต่อรุ่น แม่ย่า หรือ คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัวจะทำหมวกเพื่อรับขวัญ เหมือนว่าเด็กที่ได้เกิดมาคือสิ่งที่มีค่าและเป็นของขวัญจากบรรพบุรุษให้ดำรงเผ่าพันธุ์ ความสวยงามของเสื้อผ้าแต่ละชุด ราคาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เมือได้ยินยังสะดุ้ง เสื้อผ้าที่ทอใส่ถ้าลวดลายน้อยๆ ก็ประมาณ สองพันบาทแล้ว ไปจนถึงหมื่นก็มี หมวกเงินประดับที่เห็นในภาพ เป็นเงินแท้ ทั้งกระดุม และลูกปัดต่างๆที่ประดับอยู่นั้น ราคาเกือบ แสนห้า! ย้ำ! ...ว่าแสนห้า!!

ขอกลับบ้านสักใบ..

หน้าตาตอนได้ยินว่า ใบละ แสนห้า! ก็จะประมาณนี้...
ชื่อสินค้า:   โฮมสเตย์เชียงราย
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่