ว่าด้วยพระคุยหะและพระชิวหาของพระมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

กรรมแตกต่างกันทำให้คนแตกต่างกัน  คนไม่เคยทำกรรมดีแล้วจะไปรู้อะไร  ก็คิดเพียงว่าเกิดมาต้องเหมือนกันเท่ากันทุกประการ อวิชชาโดยแท้


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๗. ลักขณสูตร (๓๐)
ภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษในโลกนี้
             ๑. มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี ภิกษุทั้งหลาย การที่พระมหาบุรุษ
มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ ฯ
             ๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาท ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำ
ข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ภิกษุทั้งหลาย แม้การที่พื้น
ภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง
มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็มหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ ฯ
             ๓. มีส้นพระบาทยาว ฯ
             ๔. มีพระองคุลียาว ฯ
             ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ฯ
             ๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ฯ
             ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ฯ
             ๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย ฯ
             ๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึง
พระชาณุทั้งสอง ฯ
             ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ฯ
             ๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณะแห่งทองคำ คือ มีพระตจะ ประดุจหุ้ม
ด้วยทอง ฯ
             ๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ใน
พระกายได้ ฯ
             ๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ ฯ
             ๑๔. มีพระโลมชาติมีปลายขึ้นช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอก
อัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ ฯ
             ๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม ฯ
             ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน ฯ
             ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ ฯ
             ๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็ม ฯ
             ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์
พระกายของพระองค์ก็เท่ากับวาของพระองค์ ฯ
             ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน ฯ
             ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี ฯ
             ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ฯ
             ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ฯ
             ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ฯ
             ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง ฯ
             ๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม ฯ
             ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ ฯ
             ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกกรวิก ฯ
             ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท [ดำคม] ฯ
             ๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค ฯ
             ๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน ควร
เปรียบด้วยนุ่น ฯ
             ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=3182&Z=3922


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
   [๕๘๗] ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคได้ทรงมีพระดำริว่า อุตตรมาณพนี้เห็นมหาปุริส-
*ลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑
ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระมหาปุริสลักษณะ ๒
ประการ. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้อุตตรมาณพได้เห็น
พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก.  และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา
สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่พระชิวหาปิดมณฑลพระนลาตทั้งสิ้น.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9484&Z=9672


อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า
               ๑. อรรถกถาพรหมายุสูตร
  อนึ่ง ในคำว่า ช่องพระกรรณทั้งสอง เป็นต้นนี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า
               มลทินก็ดี สะเก็ดก็ดี ในช่องพระกรรณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี ย่อมเป็นเหมือนหลอดเงินที่เขาล้างแล้ววางไว้. ในช่องพระนาสิกก็เหมือนกัน. ก็แม้ช่องเหล่านั้น ย่อมเป็นเหมือนหลอดทองที่เขาทำการตระเตรียมไว้เป็นอันดีและเหมือนกับหลอดแก้วมณีฉะนั้น. เพราะฉะนั้น จึงทรงแลบพระชิวหาออกม้วนเข้าไปในที่สุดพระโอษฐ์ไปข้างบน กระทำดุจเข็มเย็บผ้ากฐิน สอดเข้าสู่ช่องพระกรรณข้างขวา นำออกจากช่องขวานั้น สอดเข้าทางช่องพระกรรณซ้าย. นำออกจากช่องพระกรรณซ้าย สอดเข้าช่องพระนาสิกขวา นำออกจากช่องพระนาสิกขวา สอดเข้าช่องพระนาสิกาซ้ายได้. ครั้นนำออกจากช่องพระนาสิกซ้ายแล้ว เมื่อจะแสดงความใหญ่ จึงปิดมณฑลพระนลาฏตลอดทั้งสิ้นด้วยพระชิวหา ซึ่งเป็นเหมือนสายฟ้าอันรุ่งเรืองด้วยผืนผ้ากัมพลแดง ดุจพระจันทร์ครึ่งซีก ถูกเมฆวลาหกสีแดงปิดไว้กึ่งหนึ่ง และประดุจแผ่นทองฉะนั้น.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=584


"พระพุทธเจ้ากับลักษณะมหาบุรุษ''  อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ (2546)
http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=209&articlegroup_id=60

     จากนั้น ทรงอธิบายสาเหตุที่ทรงได้ลักษณะ มหาบุรุษแต่ละประการโดยทรงจัดกลุ่มตามลักษณะ ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกัน มิได้เป็นไปตามลำดับที่ทรง จำแยกไว้ในตอนต้น ดังนี้

                    ลักษณะที่ ๑ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้สมาทานมั่นในกุศล กรรมบถ ๑๐ สมาทานมั่นในสุจริต ๓ บริจาคทาน รักษาศีล ๕ รักษาอุโบสถศีล เกื้อกูลมารดาบิดา สมณ-พราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลและสมาทานมั่นในกุศลธรรมอื่น ๆ อีก

                     ลักษณะที่ ๒ พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบครบทุกอย่าง
                    สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความสะดุ้ง จัดการป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม และให้ทานพร้อมทั้งของที่เป็นบริวาร

                     ลักษณะที่ ๓-๕ (๓) มีส้นพระบาทยื่นยาว ออกไป (๔) มีพระองคุลียาว และ (๕) มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีความละอายต่อบาป มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์

                    ลักษณะที่ ๖ มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง เต็ม บริบูรณ์๒
                    สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว ของ ที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่มอันประณีตและมีรสอร่อย

                    ลักษณะที่ ๗-๘ (๗) มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม และ (๘) ฝ่าพระหัตถ์ และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย๓
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ได้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ (๑) ทาน (การให้) (๒) เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก) (๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) (๔) สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)

                    ลักษณะที่ ๙-๑๐ (๙) มีข้อพระบาทสูง และ (๑๐) มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวา ดังกุณฑล สีครามเข้มดังดอก อัญชัน๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม แนะนำคนหมู่มาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมโดยปกติ

                     ลักษณะที่ ๑๑ มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อ ทราย๒
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ (วิชาชีพ) วิชา (เช่น วิชาหมอดู) จรณะ (ศีล) หรือกรรม (ความรู้เรื่องกฎแห่งกรรม) โดยประสงค์ให้คนทั้งหลายได้รับความรู้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติได้เร็ว ไม่ต้องลำบากนาน

                     ลักษณะที่ ๑๒ มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลี ไม่อาจติดพระวรกายได้
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ ได้เข้าไปหาสมณะพรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไร มีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อะไรที่ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน แล้วตั้งใจฟัง คำตอบด้วยดี มุ่งประโยชน์ ไตร่ตรองเรื่องที่เป็น ประโยชน์

                    ลักษณะที่ ๑๓ มีพระฉวีสีทอง๓
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่แค้น (คือทำให้บรรเทาได้) แม้ถูกว่ากล่าวอย่างรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง ไม่พยายาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่สำแดงความ โกรธ ความอาฆาตและความเสียใจให้ปรากฏ เป็น ผู้ให้เครื่องลาดเนื้อดีอ่อนนุ่ม ให้ผ้าห่มที่เป็นผ้า โขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดีและผ้ากัมพลเนื้อดี

                    ลักษณะที่ ๑๔ มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก๔
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหาย ผู้มีใจดีที่หายไปนาน จากกันไปนาน ให้กลับมาพบกันคือนำมารดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับมารดา นำบิดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับบิดา นำพี่ชายน้องชายให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่ชายน้องชายให้พบพี่สาวน้องสาว นำพี่สาวน้องสาวให้พบพี่ชายน้อง ชาย นำพี่สาวน้องสาวให้พบพี่สาวน้องสาว

                     ลักษณะที่ ๑๕-๑๖ (๑๕) มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูง เท่ากับ ๑ วา ของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงของพระวรกาย และ (๑๖) เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่า พระหัตถ์ทั้งสองได้๕
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ก็รู้จักบุคคลเท่าเทียมกัน รู้จักตนเอง รู้จักฐานะของบุคคล รู้จักความแตกต่างของบุคคล หยั่งรู้ว่าบุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ บุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ แล้วทำให้เหมาะกับความแตกต่างในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน

                     ลักษณะที่ ๑๗-๑๙ (๑๗) มีพระวรกายทุกส่วน บริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ และ (๑๘) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน และ (๒๐) มีลำ พระศอกลมเท่ากันตลอด๑
                     สาเหตุ เพราะทรงสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อทรงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความ เกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่คนหมู่มาก ด้วยความคิดนึกตรึกตรองว่า ทำอย่างไร ชนเหล่านี้จะเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ พุทธิ จาคะ ธรรม ปัญญา ทรัพย์ และธัญชาติ เจริญด้วยนา และสวน สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า บุตรและภรรยา ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ญาติ มิตร และเจริญด้วยพวกพ้อง
                      ..........ฯลฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่