อลเวงรักสองภพ ตอนที่ 10
โดย...ล. วิลิศมาหรา
พอแสงฟ้าทาบทาพื้นพสุธานครสรอง ช่อชบาก็พบว่าตัวเองต้องมานั่งซ้อนหลังม้าอยู่กับชายหนุ่มผู้เป็นอนุชาของเจ้าย่า ข้างๆ คือเกวียนเทียมวัวที่บรรทุกสองพี่เลี้ยงของพระธิดาเจ้าผู้ครองเมืองนี้
รื่นและโรยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด เคียนศีรษะมัดเอวด้วยผ้าสีสด นางทั้งสองเปลี่ยนจากนุ่งผ้าซิ่นเป็นนุ่งโจงกระเบนแทน แถมแต่งหน้าทาปากแดงแจ๋ ทาแป้งหน้าขาววอก ม้าและเกวียนออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ชายแดนเมืองสรอง ริมฝั่งแม่น้ำชื่อโรแมนติกที่ว่านั่น...แม่น้ำกาหลง
“เพราะแม่น้ำมันสวยน่ะซี เจ้าต้องได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองถึงจะเข้าใจ” คนบังคับม้าอยู่ข้างหน้าเธอเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อแม่น้ำ เฮ้อ...คนในยุคนี้คงไม่ชอบพรรณนาถึงของสวยของงาม เอะอะก็ให้ไปดูด้วยตาตัวเอง
“น้ำใสสะอาด เป็นสีเขียวเรื่อๆ เหมือนเจือด้วยใบไม้ไปทั้งลำน้ำ สวยจนกายังต้องหลงรัก”
แต่ก็ยังอุตส่าห์เอี้ยวหน้ามาอธิบายต่อด้วยน้ำเสียงรื่นเริง ออกอาการทั้งสีหน้าและแววตาถึงความเป็นคนโรแมนติก ชายหนุ่มคนนี้มีอารมณ์เพ้อฝัน ช่อชบาจึงไม่แปลกใจว่าทำไมน้อยศิลป์ไชยถึงได้กล้ารักกันกับสีมอย และยังกล้าขัดขืนขนบธรรมเนียมที่เคยมีเสียอีกด้วย
เขากับรื่นโรยเป็นมิตรสหายที่น่าคบหา นิสัยไร้เล่ห์เหลี่ยมและจริงใจของเขานั้นน่าประทับใจ รวมไปถึงแม่สาวน้ำหมากคนรักของเขาด้วย ซึ่งบัดนี้ข่าวคราวของเจ้าหล่อนเงียบหาย น้อยศิลป์ไชยเองจำต้องละทิ้งเรื่องราวของคนรักเอาไว้ก่อน เพราะพระธิดาฝาแฝดผู้เป็นทั้งเจ้านายและสหายรัก ได้ไหว้วานให้เขาช่วยพาช่อชบากับพี่เลี้ยงรื่นโรย ไปทำภารกิจสำคัญยังริมฝั่งแม่น้ำกาหลง อีกอย่าง สีมอยใช่ไปไหนไกล หล่อนไปอยู่รับใช้พี่สาวสองคนของเขาที่บ้านเดิมนั่นเอง
“อือฮึ...” ช่อชบาครางรับในลำคอ เดี๋ยวคงได้เห็นแม่น้ำแสนสวยอะไรนั่นหรอก เห็นเขาว่ากันว่า ชายแดนเมืองสรองด้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำกาหลงนั้นอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเท่าไหร่
“เหมือนคนฟ้อนผีเม็งมากกว่าช่างซอนะข้าว่า”
หนุ่มตัวสูงเปลี่ยนเรื่องพูด เขานิ่วหน้าพลางพยักพเยิดไปทางคนบนเกวียน ส่ายศีรษะอย่างไม่เห็นด้วยกับการแต่งเนื้อแต่งตัวของสองสาว นินทาดังๆ ให้ได้ยิน ซึ่งพวกหล่อนก็หันมาค้อนขวับ
“ช่างซอเดี๋ยวนี้เขาต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูเด่น ถึงจะดึงดูดความสนใจให้คนมาดูมาฟังกันเยอะๆ”
“ว่าไปเรื่อย คนมาฟังซอเขาก็มาฟังเสียงใสๆ หวานๆ ซอล้อเล่นกันสนุก เกี่ยวอะไรกับแต่งเนื้อแต่งตัวแบบนี้”
“ท่านนี่หัวโบราณจริงเจียว”
รื่นย่นจมูกใส่ ทำทีเบ้ปากแกว่งศีรษะคล้ายดูถูกความคิด หล่อนทั้งคู่มักอยู่ร่วมสนทนากับหญิงข้ามภพและพระธิดาฝาแฝดเสมอ พอคุยกันไปนานๆ ก็ชักรู้สึกว่าพวกตนมีความรู้ใหม่อันล้ำยุค จนดูเหมือนตอนนี้ตัวเองเป็นคนฉลาดขึ้นอีกโข
“การแสดงทุกอย่างมันต้องมีจุดเรียกร้องความสนใจจากคนดู” โรยเชิดหน้าพูด แต่ชายหนุ่มคนฟังทำหน้าเหรอหรา
“ห๊ะ...อะไรนะ จุดเรียกร้องความสนใจ...หมายความว่าอย่างไร เดี๋ยวนี้คำพูดคำจาพี่ทั้งสองช่างพิสดารนัก ข้าเริ่มฟังไม่ค่อยเข้าใจ”
รื่นกับโรยยิ้มในหน้าอย่างภาคภูมิใจ รื่นพยักหน้าไปทางร่างผอมเกร็งด้านหลังน้อยศิลป์ไชย
“เกี๋ยงมันบอกดอก มันว่าการแสดงทุกชนิดต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้...อะไรนะ เห็นปุ๊บสะดุดตาปั๊บจนต้องเดินเข้ามาดู...ใช่ไหมนางเกี๋ยง”
คนพูดก็ชักไม่แน่ใจในคำพูดของตัวเองเหมือนกัน ต้องหันมาขอคำรับรองจากคนต้นคิดอีกที ช่อชบาพยักหน้าหงึกอยู่หลังหนาใหญ่ของน้อยศิลป์ไชย มือผอมบางยึดชายเสื้อเขาไว้มั่น
ผู้ชายโบราณแถวนี้แม้เพิ่งกำลังโตเป็นหนุ่ม แต่ก็ไม่ค่อยมีใครรูปร่างสะโอดสะองสีข้างยาวแบบวัยรุ่นในยุคของเธอ ผู้ชายที่นี่ต่างมีร่างกายล่ำสันบึกบึน ซึ่งคงเพราะต้องออกแรงใช้กำลังกันอยู่ตลอดตั้งแต่ตื่นยันหลับเลยกระมัง ในยุคล้านนาโบราณไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยเบาแรงให้ เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันจึงล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ต้องใช้แรงคน
“ก็ทำนองนั้นแหละ เป็นนักแสดงก็ต้องทำตัวให้แตกต่างจากคนดูสิ มัวทำหน้าจืดเป็นเป็ดง่วงจะไปน่าดูอะไร...นี่ พ่อคุณ เมื่อไหร่จะหยุดม้าให้ฉันลงไปนั่งเกวียนเสียทีล่ะ เจ็บก้นจะแย่แล้ว”
ตอบสองพี่เลี้ยงไปแล้วก็โอดครวญขึ้น เพราะร่างของนางเกี๋ยงที่ตัวเองสิงอยู่นั้นผอมแห้งบอบบาง ทั้งร่างมีแต่กระดูกเก้งก้างราวกับไม้เสียบผี แขนขาก็ลีบเล็ก ขยับตัวแต่ละทีน่ากลัวว่ามันจะหักเอาง่ายๆ หากเกิดไปกระทบอะไรแรงๆ เข้า เธอต้องกอดเอวคนข้างหน้าไว้แน่น ยามเมื่อตัวเองกระเด้งกระดอนไปตามจังหวะโขยกวิ่งของม้า เจ็บก้นกบแทบน้ำตาเล็ดเพราะไม่มีกล้ามเนื้อเป็นเบาะรองกันกระแทกให้ ทำเอาต้องสูดปากเป็นระยะเมื่อม้าเร่งความเร็วของฝีเท้าขึ้น
“เจ้าไม่เคยขี่ม้ามาก่อนเลยฤา” น้อยศิลป์ไชยก็คงได้ยินเสียงบ่งบอกถึงความเจ็บปวดนั้น เมื่อเธอร้องขออยากเปลี่ยนไปนั่งเกวียนแทนจึงเอียงหน้ามาถาม
“ก็เคยบ้าง แต่ที่โน่นเวลาขี่ม้าเขามีอานให้นั่ง ทำไมคนเมืองนี้ไม่เห็นใช้อานม้ากันบ้างเลยล่ะ เวลาขี่ม้าไปไหนไม่พากันเจ็บก้นแย่เรอะ” ตะโกนตอบแข่งกับเสียงเกือกม้าดังกุบกับ
“บ้านเมืองเจ้าผู้คนช่างอ่อนแอแท้ แค่ขี่ม้าไปไม่ไกลเท่าใดจะใช้อานม้าทำไมกัน เขาขี่แบบนั้นเวลาต้องไปต่างเมืองดอก แต่เราไปแค่แม่น้ำกาหลงนี่เอง ขี่ไปประเดี๋ยวเดียวก็ถึง ข้าให้เจ้าซ้อนท้ายมาเผื่อจะพูดจาหารือกันไงล่ะ” ผู้ชายข้างหน้าทำเสียงดูแคลน บอกเหตุผลที่ให้เธอซ้อนท้ายม้ามาด้วย แต่ก็พยักหน้าไปทางเกวียนข้างๆ แล้วเอ่ยอนุญาต
“ถ้าเจ้าเจ็บก้นนักจะขึ้นไปนั่งบนเกวียนก็ได้นะ...เอ้า คนขับเกวียน หยุดวัวที นางเกี๋ยงจะขึ้นไปนั่ง”
เขาสั่งให้รื่นหยุดวัว ซึ่งหล่อนก็ดึงเชือกบังคับวัวให้เดินช้าลง แต่ช่อชบากลับเกิดไม่มั่นใจว่าจะย้ายไปนั่งเกวียนดีหรือไม่ เธอกำลังคำนึงถึงวิธีขึ้นมัน วัวในยุคโบราณที่ใช้เทียมเกวียนทำไมตัวมันถึงได้สูงใหญ่นัก ไม่ยักเหมือนวัวที่เคยเห็นตามทุ่งนาแถวบ้านยาย เกวียนเองก็สูงใหญ่ ประกอบขึ้นด้วยแผ่นไม้หนาใหญ่อย่างดี สลักเสลาเป็นลวดลายสวยงาม ซึ่งคงเพราะเป็นพาหนะของพวกเจ้านายนั่นเอง
นึกพลางก้มลงมองร่างเล็กแคระแกร็นของตัวเอง มองแล้วก็ให้อดสูใจ ท่าทางคงจะกระเย่อกระแย่งขึ้นเกวียนลำบาก ดีไม่ดีจะพลัดตกลงมาขาแข้งหักเสียก่อนก็ไม่รู้...ไม่ไว้ใจในความมั่นคงแข็งแรงของร่างนางเกี๋ยงเอาเสียเลย
ไม่เหมือนตอนนางพี่เลี้ยงขึ้นนั่งบนเกวียนเมื่อขามา เพราะหล่อนขึ้นไปอยู่บนชานเรือนแล้วให้เกวียนมาเทียบ จากนั้นจึงค่อยข้ามมานั่งในเกวียนอย่างสะดวกง่ายดาย ครั้นพอถึงที่หมายก็คงทำแบบเดียวกัน ผิดกับตัวเองที่จะขึ้นไปนั่งตอนนี้ก็ต้องปีนล้อเกวียนขึ้นไป หรือไม่ก็ข้ามจากหลังม้าที่นั่งซ้อนท้ายอยู่เอา ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะปลอดภัยสักทาง จึงถามไปว่า
“แล้วฉันจะขึ้นเกวียนยังไงดีล่ะ” คนทั้งหมดพากันหัวเราะขบขันคำถามของนางเกี๋ยงกันครืน
“แกก็ปีนล้อเกวียนขึ้นมาซีวะ ฮา ฮา” รื่นว่าพลางหัวเราะประสานเสียงกันกับโรยน้ำหูน้ำตาเล็ด น้อยศิลป์ไชยพลอยหัวเราะขำไปด้วย คงนึกภาพร่างนางเกี๋ยงตะเกียกตะกายปีนป่ายล้อเกวียนกันสิท่า...ช่อชบาฮึดฮัดสะบัดเสียงตอบอย่างไม่ชอบใจ
“หายเจ็บก้นแล้ว ฉันนั่งม้าไปต่อก็ได้”
“อ้าว ไม่ขึ้นเกวียนแล้วรึมิง” โรยยังเย้าต่อ หัวร่อคิกๆ ไม่สนใจท่าทีไม่พอใจของอีกฝ่าย
“เออสิ...ไม่ขึ้นแล้วโว้ย ที่นี่อะไรๆ ก็ลำบากไปเสียทั้งนั้น อึดอัดจนจะบ้าตายอยู่แล้ว อย่าให้ได้กลับไปเข้าร่างเดิมก็แล้วกัน ฉันเกลียดร่างนางเกี๋ยงนี่ชิบ...” แต่ช่อชบาไม่ตลกไปด้วย โวยวายออกมาเสียงดังลั่นด้วยความหัวเสีย
“พูดแบบนี้อีกแล้ว ได้ฟังทีไรข้ารู้สึกไม่ดีทุกครั้ง มันเหมือนกับว่าเจ้าเป็นทุกข์นักหนาเมื่อต้องมาอยู่กับพวกข้า”
(มีต่อ)
อลเวงรักสองภพ ตอนที่ 10
โดย...ล. วิลิศมาหรา
พอแสงฟ้าทาบทาพื้นพสุธานครสรอง ช่อชบาก็พบว่าตัวเองต้องมานั่งซ้อนหลังม้าอยู่กับชายหนุ่มผู้เป็นอนุชาของเจ้าย่า ข้างๆ คือเกวียนเทียมวัวที่บรรทุกสองพี่เลี้ยงของพระธิดาเจ้าผู้ครองเมืองนี้
รื่นและโรยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด เคียนศีรษะมัดเอวด้วยผ้าสีสด นางทั้งสองเปลี่ยนจากนุ่งผ้าซิ่นเป็นนุ่งโจงกระเบนแทน แถมแต่งหน้าทาปากแดงแจ๋ ทาแป้งหน้าขาววอก ม้าและเกวียนออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ชายแดนเมืองสรอง ริมฝั่งแม่น้ำชื่อโรแมนติกที่ว่านั่น...แม่น้ำกาหลง
“เพราะแม่น้ำมันสวยน่ะซี เจ้าต้องได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองถึงจะเข้าใจ” คนบังคับม้าอยู่ข้างหน้าเธอเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อแม่น้ำ เฮ้อ...คนในยุคนี้คงไม่ชอบพรรณนาถึงของสวยของงาม เอะอะก็ให้ไปดูด้วยตาตัวเอง
“น้ำใสสะอาด เป็นสีเขียวเรื่อๆ เหมือนเจือด้วยใบไม้ไปทั้งลำน้ำ สวยจนกายังต้องหลงรัก”
แต่ก็ยังอุตส่าห์เอี้ยวหน้ามาอธิบายต่อด้วยน้ำเสียงรื่นเริง ออกอาการทั้งสีหน้าและแววตาถึงความเป็นคนโรแมนติก ชายหนุ่มคนนี้มีอารมณ์เพ้อฝัน ช่อชบาจึงไม่แปลกใจว่าทำไมน้อยศิลป์ไชยถึงได้กล้ารักกันกับสีมอย และยังกล้าขัดขืนขนบธรรมเนียมที่เคยมีเสียอีกด้วย
เขากับรื่นโรยเป็นมิตรสหายที่น่าคบหา นิสัยไร้เล่ห์เหลี่ยมและจริงใจของเขานั้นน่าประทับใจ รวมไปถึงแม่สาวน้ำหมากคนรักของเขาด้วย ซึ่งบัดนี้ข่าวคราวของเจ้าหล่อนเงียบหาย น้อยศิลป์ไชยเองจำต้องละทิ้งเรื่องราวของคนรักเอาไว้ก่อน เพราะพระธิดาฝาแฝดผู้เป็นทั้งเจ้านายและสหายรัก ได้ไหว้วานให้เขาช่วยพาช่อชบากับพี่เลี้ยงรื่นโรย ไปทำภารกิจสำคัญยังริมฝั่งแม่น้ำกาหลง อีกอย่าง สีมอยใช่ไปไหนไกล หล่อนไปอยู่รับใช้พี่สาวสองคนของเขาที่บ้านเดิมนั่นเอง
“อือฮึ...” ช่อชบาครางรับในลำคอ เดี๋ยวคงได้เห็นแม่น้ำแสนสวยอะไรนั่นหรอก เห็นเขาว่ากันว่า ชายแดนเมืองสรองด้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำกาหลงนั้นอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเท่าไหร่
“เหมือนคนฟ้อนผีเม็งมากกว่าช่างซอนะข้าว่า”
หนุ่มตัวสูงเปลี่ยนเรื่องพูด เขานิ่วหน้าพลางพยักพเยิดไปทางคนบนเกวียน ส่ายศีรษะอย่างไม่เห็นด้วยกับการแต่งเนื้อแต่งตัวของสองสาว นินทาดังๆ ให้ได้ยิน ซึ่งพวกหล่อนก็หันมาค้อนขวับ
“ช่างซอเดี๋ยวนี้เขาต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูเด่น ถึงจะดึงดูดความสนใจให้คนมาดูมาฟังกันเยอะๆ”
“ว่าไปเรื่อย คนมาฟังซอเขาก็มาฟังเสียงใสๆ หวานๆ ซอล้อเล่นกันสนุก เกี่ยวอะไรกับแต่งเนื้อแต่งตัวแบบนี้”
“ท่านนี่หัวโบราณจริงเจียว”
รื่นย่นจมูกใส่ ทำทีเบ้ปากแกว่งศีรษะคล้ายดูถูกความคิด หล่อนทั้งคู่มักอยู่ร่วมสนทนากับหญิงข้ามภพและพระธิดาฝาแฝดเสมอ พอคุยกันไปนานๆ ก็ชักรู้สึกว่าพวกตนมีความรู้ใหม่อันล้ำยุค จนดูเหมือนตอนนี้ตัวเองเป็นคนฉลาดขึ้นอีกโข
“การแสดงทุกอย่างมันต้องมีจุดเรียกร้องความสนใจจากคนดู” โรยเชิดหน้าพูด แต่ชายหนุ่มคนฟังทำหน้าเหรอหรา
“ห๊ะ...อะไรนะ จุดเรียกร้องความสนใจ...หมายความว่าอย่างไร เดี๋ยวนี้คำพูดคำจาพี่ทั้งสองช่างพิสดารนัก ข้าเริ่มฟังไม่ค่อยเข้าใจ”
รื่นกับโรยยิ้มในหน้าอย่างภาคภูมิใจ รื่นพยักหน้าไปทางร่างผอมเกร็งด้านหลังน้อยศิลป์ไชย
“เกี๋ยงมันบอกดอก มันว่าการแสดงทุกชนิดต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้...อะไรนะ เห็นปุ๊บสะดุดตาปั๊บจนต้องเดินเข้ามาดู...ใช่ไหมนางเกี๋ยง”
คนพูดก็ชักไม่แน่ใจในคำพูดของตัวเองเหมือนกัน ต้องหันมาขอคำรับรองจากคนต้นคิดอีกที ช่อชบาพยักหน้าหงึกอยู่หลังหนาใหญ่ของน้อยศิลป์ไชย มือผอมบางยึดชายเสื้อเขาไว้มั่น
ผู้ชายโบราณแถวนี้แม้เพิ่งกำลังโตเป็นหนุ่ม แต่ก็ไม่ค่อยมีใครรูปร่างสะโอดสะองสีข้างยาวแบบวัยรุ่นในยุคของเธอ ผู้ชายที่นี่ต่างมีร่างกายล่ำสันบึกบึน ซึ่งคงเพราะต้องออกแรงใช้กำลังกันอยู่ตลอดตั้งแต่ตื่นยันหลับเลยกระมัง ในยุคล้านนาโบราณไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยเบาแรงให้ เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันจึงล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ต้องใช้แรงคน
“ก็ทำนองนั้นแหละ เป็นนักแสดงก็ต้องทำตัวให้แตกต่างจากคนดูสิ มัวทำหน้าจืดเป็นเป็ดง่วงจะไปน่าดูอะไร...นี่ พ่อคุณ เมื่อไหร่จะหยุดม้าให้ฉันลงไปนั่งเกวียนเสียทีล่ะ เจ็บก้นจะแย่แล้ว”
ตอบสองพี่เลี้ยงไปแล้วก็โอดครวญขึ้น เพราะร่างของนางเกี๋ยงที่ตัวเองสิงอยู่นั้นผอมแห้งบอบบาง ทั้งร่างมีแต่กระดูกเก้งก้างราวกับไม้เสียบผี แขนขาก็ลีบเล็ก ขยับตัวแต่ละทีน่ากลัวว่ามันจะหักเอาง่ายๆ หากเกิดไปกระทบอะไรแรงๆ เข้า เธอต้องกอดเอวคนข้างหน้าไว้แน่น ยามเมื่อตัวเองกระเด้งกระดอนไปตามจังหวะโขยกวิ่งของม้า เจ็บก้นกบแทบน้ำตาเล็ดเพราะไม่มีกล้ามเนื้อเป็นเบาะรองกันกระแทกให้ ทำเอาต้องสูดปากเป็นระยะเมื่อม้าเร่งความเร็วของฝีเท้าขึ้น
“เจ้าไม่เคยขี่ม้ามาก่อนเลยฤา” น้อยศิลป์ไชยก็คงได้ยินเสียงบ่งบอกถึงความเจ็บปวดนั้น เมื่อเธอร้องขออยากเปลี่ยนไปนั่งเกวียนแทนจึงเอียงหน้ามาถาม
“ก็เคยบ้าง แต่ที่โน่นเวลาขี่ม้าเขามีอานให้นั่ง ทำไมคนเมืองนี้ไม่เห็นใช้อานม้ากันบ้างเลยล่ะ เวลาขี่ม้าไปไหนไม่พากันเจ็บก้นแย่เรอะ” ตะโกนตอบแข่งกับเสียงเกือกม้าดังกุบกับ
“บ้านเมืองเจ้าผู้คนช่างอ่อนแอแท้ แค่ขี่ม้าไปไม่ไกลเท่าใดจะใช้อานม้าทำไมกัน เขาขี่แบบนั้นเวลาต้องไปต่างเมืองดอก แต่เราไปแค่แม่น้ำกาหลงนี่เอง ขี่ไปประเดี๋ยวเดียวก็ถึง ข้าให้เจ้าซ้อนท้ายมาเผื่อจะพูดจาหารือกันไงล่ะ” ผู้ชายข้างหน้าทำเสียงดูแคลน บอกเหตุผลที่ให้เธอซ้อนท้ายม้ามาด้วย แต่ก็พยักหน้าไปทางเกวียนข้างๆ แล้วเอ่ยอนุญาต
“ถ้าเจ้าเจ็บก้นนักจะขึ้นไปนั่งบนเกวียนก็ได้นะ...เอ้า คนขับเกวียน หยุดวัวที นางเกี๋ยงจะขึ้นไปนั่ง”
เขาสั่งให้รื่นหยุดวัว ซึ่งหล่อนก็ดึงเชือกบังคับวัวให้เดินช้าลง แต่ช่อชบากลับเกิดไม่มั่นใจว่าจะย้ายไปนั่งเกวียนดีหรือไม่ เธอกำลังคำนึงถึงวิธีขึ้นมัน วัวในยุคโบราณที่ใช้เทียมเกวียนทำไมตัวมันถึงได้สูงใหญ่นัก ไม่ยักเหมือนวัวที่เคยเห็นตามทุ่งนาแถวบ้านยาย เกวียนเองก็สูงใหญ่ ประกอบขึ้นด้วยแผ่นไม้หนาใหญ่อย่างดี สลักเสลาเป็นลวดลายสวยงาม ซึ่งคงเพราะเป็นพาหนะของพวกเจ้านายนั่นเอง
นึกพลางก้มลงมองร่างเล็กแคระแกร็นของตัวเอง มองแล้วก็ให้อดสูใจ ท่าทางคงจะกระเย่อกระแย่งขึ้นเกวียนลำบาก ดีไม่ดีจะพลัดตกลงมาขาแข้งหักเสียก่อนก็ไม่รู้...ไม่ไว้ใจในความมั่นคงแข็งแรงของร่างนางเกี๋ยงเอาเสียเลย
ไม่เหมือนตอนนางพี่เลี้ยงขึ้นนั่งบนเกวียนเมื่อขามา เพราะหล่อนขึ้นไปอยู่บนชานเรือนแล้วให้เกวียนมาเทียบ จากนั้นจึงค่อยข้ามมานั่งในเกวียนอย่างสะดวกง่ายดาย ครั้นพอถึงที่หมายก็คงทำแบบเดียวกัน ผิดกับตัวเองที่จะขึ้นไปนั่งตอนนี้ก็ต้องปีนล้อเกวียนขึ้นไป หรือไม่ก็ข้ามจากหลังม้าที่นั่งซ้อนท้ายอยู่เอา ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะปลอดภัยสักทาง จึงถามไปว่า
“แล้วฉันจะขึ้นเกวียนยังไงดีล่ะ” คนทั้งหมดพากันหัวเราะขบขันคำถามของนางเกี๋ยงกันครืน
“แกก็ปีนล้อเกวียนขึ้นมาซีวะ ฮา ฮา” รื่นว่าพลางหัวเราะประสานเสียงกันกับโรยน้ำหูน้ำตาเล็ด น้อยศิลป์ไชยพลอยหัวเราะขำไปด้วย คงนึกภาพร่างนางเกี๋ยงตะเกียกตะกายปีนป่ายล้อเกวียนกันสิท่า...ช่อชบาฮึดฮัดสะบัดเสียงตอบอย่างไม่ชอบใจ
“หายเจ็บก้นแล้ว ฉันนั่งม้าไปต่อก็ได้”
“อ้าว ไม่ขึ้นเกวียนแล้วรึมิง” โรยยังเย้าต่อ หัวร่อคิกๆ ไม่สนใจท่าทีไม่พอใจของอีกฝ่าย
“เออสิ...ไม่ขึ้นแล้วโว้ย ที่นี่อะไรๆ ก็ลำบากไปเสียทั้งนั้น อึดอัดจนจะบ้าตายอยู่แล้ว อย่าให้ได้กลับไปเข้าร่างเดิมก็แล้วกัน ฉันเกลียดร่างนางเกี๋ยงนี่ชิบ...” แต่ช่อชบาไม่ตลกไปด้วย โวยวายออกมาเสียงดังลั่นด้วยความหัวเสีย
“พูดแบบนี้อีกแล้ว ได้ฟังทีไรข้ารู้สึกไม่ดีทุกครั้ง มันเหมือนกับว่าเจ้าเป็นทุกข์นักหนาเมื่อต้องมาอยู่กับพวกข้า”
(มีต่อ)