วินิจฉัยเรื่อง พระทำอาหารไปแจกญาติโยมทำได้หรือไม่?


การที่พระทำอาหารแล้วเอาไปแจกให้ชาวบ้าน ไม่มีอาบัติในเพราะฉันอาหารที่ทำให้สุกเองที่เรียกว่า สามังปักกะก็จริง เพราะพระมิได้ฉันเอง
แต่จะเข้ากับสิกขาบทในเรื่องการขวนขวายให้แก่คฤหัสถ์เรียกว่า คิหิเวยยาวัจจสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๔ ของจิตตาคารวรรค) ดังมีพุทธบัญญัติว่ายา ปน ภิกฺขุนี คิหิเวยฺยาวจฺจํ กเรยฺย, ปาจิตฺติยํ


ภิกษุณีใดทำการขวนขวายให้คฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนึ่งเพราะความที่สิกขาบทนี้เป็นสาธารณบัญญัติ จึงถึงแก่ภิกษุทั้งหลายด้วย โดยถ้าภิกษุณีทำจะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ส่วนภิกษุทำจะต้องอาบัติทุกกฏ
ในปทภาชนีย์ (อธิบายคำในสิกขาบท) ของสิกขาบทนี้ ท่านอธิบายคำว่า #ขวนขวายให้คฤหัสถ์ (คิหิเวยยาวัจจะ) ว่าหมายถึง การที่ภิกษุณีไปต้มยาคู หุงข้าว ทำของเคี้ยว (พวกขนมเป็นต้น) หรือซักผ้าสาฎก ผ้าโพก ให้แก่ชาวบ้าน (อรรถกถาอธิบายว่า เป็นทุกกฏในทุกๆ ความพยายาม, เป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนภาชนะใส่อาหาร)


ส่วนอนาบัติ (เหตุที่ทำให้ไม่ต้องอาบัติ) ของสิกขาบทนี้ จะมีได้ในกรณีที่พวกชาวบ้านกำลังต้มยาคูปานะ หุงข้าว เพื่อถวายสงฆ์หรือเพื่อบูชาเจดีย์ แล้วภิกษุณีก็เข้าไปช่วยพวกชาวบ้านทำ (นี่เป็นอนาบัติสำหรับภิกษุณีก็จริง แต่สำหรับภิกษุก็ยังไม่สมควรอยู่ เพราะภิกษุจะมีสิกขาบทว่าด้วยการทำอาหารให้สุกเองอยู่ด้วย)
อนาบัติอีกกรณีหนึ่งคือ การทำการขวนขวายให้แก่ไวยาวัจกรของตน (ไวยาวัจกรคือ ผู้ทำงานช่วยเหลือภิกษุ เช่น ช่วยเป็นธุระเกี่ยวกับการหาของสมควรมาถวายหรือช่วยตัดไม้ขุดดินเป็นต้นให้ภิกษุ)
องค์อาบัติ (คือองค์ประกอบที่ต้องมีครบจึงจะต้องอาบัติ)
คิหิเวยยาวัจจสิกขาบทนี้ มีองค์ ๒ คือ
๑. ทำการขวนขวายให้คฤหัสถ์
๒. ไม่มีเหตุที่ทรงอนุญาต (คือ เหตุที่กล่าวไว้ในตอนอนาบัติ)

สรุปว่า การทำอาหารไปแจกให้โยมนั้น เข้าในลักษณะของคิหิเวยยาวัจจสิกขาบท อันว่าด้วยการไปทำงานช่วยเหลือคฤหัสถ์ดังกล่าว ภิกษุจึงไม่สมควรทำ


วินิจฉัยพระวินัยตามนัยของพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นต้น

โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานันโท

ปาฏิโมกข์มีบอก ไม่เคยสวดกันหรืออย่างไร?

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่