ติรัจฉานวิชา กับ พระหนุ่มเณรน้อย ในพระพุทธศาสนา

ด้วยเห็นว่า มีชาวพุทธชายขอบบางหมู่เหล่า เกิดอาการ "รับไม่ได้" ขึ้นมากับกรณีของ ติรัจฉานวิชา ในทำนองว่า ........
แม้วิชาที่พวกเขาร่ำเรียน และพร่ำสอนกันอยู่นี้ จะเป็น ติรัจฉานวิชา หรือ โลกายัต ก็จริง แต่ก็ใช่ว่า จะผิดศีลผิดวินัยไปเสียทุกกรณี !

ในเบื้องแรก ท่านทั้งหลายพึงพิจารณากันเสียก่อน ก็คือ ที่เรียกกันในพระพุทธศาสนาว่า (๑) ติรัจฉานวิชชา และ (๒) ติรัจฉานกถา หมายถึงอะไร ?

ติรัจฉานวิชา และ ติรัจฉานกถา กล่าวโดยสรุป หมายถึง ถ้อยคำ หรือ ข้อความ หรือ วิชชา ที่ขวางต่อทางนิพพาน  เป็นเรื่องราว หรือ วิชชา ที่ภิกษุ
ไม่ควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสนทนา เล่าเรียน หรือ ปฏิบัติ เพราะโดยส่วนใหญ่ เมื่อเรียน หรือ ปฏิบัติ หรือ สนทนากันด้วยเรื่องเหล่านี้ ก็มักก่อให้เกิด
ความคิดฟุ้งเฟ้อ งมงาย หลงเพลิน เสียเวลา ไม่เป็นอันปฏิบัติภาระกิจอันเหมาะสม ขวางกั้น ขัดถ่วง จนไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ !



ประเด็นต่อมา ที่พึงพิจารณา ก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่าอย่างไร กับภิกษุทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

(๑) พระพุทธเจ้าตรัสห้าม มิให้ ภิกษุณี สอน ดิรัจฉานวิชาเหล่านี้ ปรากฏอยู่ในพระปาฏิโมกข์  ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์
แต่ก็มี อนาบัติ เช่นว่า ถ้าเป็นการสอนหนังสือ สอนวิชาท่องจำ ฯลฯ ก็จะไม่ถือว่าต้องอาบัติ ขอให้สังเกตด้วยว่า พระพุทธเจ้าทรงมิได้ห้าม
มิให้ "เรียน" แต่ทรงห้ามมิให้ "สอน" เท่านั้น หมายความว่า สิกขาบทนี้ เป็นแต่เพียงการ "จำกัดขอบเจต" ว่าจะสอนเรื่องอะไรได้บ้างเท่านั้น
แต่หาก ภิกษุณี สามารถไปเล่าเรียนเขียนอ่านกับผู้อื่นได้ ก็มิทรงห้าม ทั้งนี้ก็เพราะ ในสมัยโบราณ ผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ของสังคม
มักไม่ได้รับการศึกษา จึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่สตรีทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญ



(๒) ส่วนในกรณีของภิกษุ สิกขาบทที่ห้ามมิให้ เรียน และ สอน ดิรัจฉานวิชชา อยู่นอกพระปาฏิโมกข์ ทรงปรับอาบัติเบากว่าของภิกษุณี คือ ทุกกฏ
แต่กระนั้น สิกขาบทนี้ ก็ไม่มี "อนาบัติ" แปลว่า ทรงห้าม ภิกษุทั้งหลาย  เรียนและสอน ดิรัจฉานวิชชา ในทุกๆ กรณี
ดังนั้น ภิกษุ ผู้เรียน และ สอน ดิรัจฉานวิชาเหล่านั้น ย่อมต้องอาบัติ ในทุกๆ คำที่เรียนและสอน จนกลายเป็นผู้ต้องอาบัติเป็นอาจินต์
เป็นผู้มีอาบัติรุงรัง โดยอาจลุกลามไปถึงอาบัติอื่นๆ ในฐานที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย จนปลงอาบัติกันไม่หวาดไหว เลยทีเดียว

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงอย่าได้แปลกใจว่า ในทุกๆ กรณีของ นักบวชนอกรีตในพระพุทธศาสนา ที่ประกอบดิรัจฉานวิชา
ข้อเท็จจริง มักกลายเป็นว่า แม้นักบวชนั้น จะแก่จนหัวหงอก แต่ก็ยังมีสถานะเป็นเพียงแค่ "สามเณร" เท่านั้น
ซึ่งนี่ก็คือ วิธีการเลี่ยงบาลีอย่างหนึ่ง ของพวกอลัชชี เก้อยาก เพื่อหวังว่าจะเลี่ยงอาบัติจากสิกขาบทนี้ นั่นเอง !



****************************************************************************************

ในกรณีของ ศีล จากศีลขันธวรรค นั้น พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ อย่างชัดเจนว่า .............
(๑) พระองค์ และ ภิกษุทั้งหลาย "เว้นขาด" จากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา
(๒) เช่นอย่าง สมณพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉาวิชา



ความข้อนี้ ท่านทั้งหลายพึงฟังให้ชัด นะครับ กล่าวคือ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา โดยทรงยกตัวอย่างให้ดูด้วยว่า
หมายถึง ในกรณีที่ "ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉาวิชา"

แปลความได้ว่า หากแม้ภิกษุผู้รู้วิชาแพทย์ พบคนป่วย ก็สามารถรักษาเขาได้ โดยไม่ผิดศีล หากไม่รับสิ่งใดเป็นการตอบแทน
แต่ภิกษุ ไม่สามารถ เปิดโรงหมอ ปรุงยา ต้มยา แจกจ่ายชาวบ้านได้ แม้จะไม่รับข้าวของเงินทองจากชาวบ้าน เป็นสิ่งตอบแทน ก็ตาม

เพราะอะไร ?

ก็เพราะเราไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า การที่ชาวบ้านเขาเกิด "ศรัทธา" เอาข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรให้ท่านนั้น
มันเกิดจากความศรัทธาในพระธรรมคำสอน หรือ เกิดจากการประกอบ อายุรกรรม เวชชกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นดิรัจฉานวิชาของท่าน กันแน่ ?

มีกรณีตัวอย่าง นะครับ

เมื่อพราหมณ์ สุนทริกภารทวาชะ ได้ฟังพระพุทธดำรัส ก็เกิดความศรัทธาว่า เขาได้พบกับ "ผู้ถึงพระเวท"
ที่สมควรแก่การ บริโภคปายาส อันจะทำให้ การบูชายัญของเขา เป็นการบูชาที่สมบูรณ์ !
แต่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าไม่รับบาตร โดยตรัสเหตุผลว่า ........ "เราไม่บริโภคโภชนะที่ขับด้วยคาถา"



จากหลักฐานชิ้นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า แม้ภิกษุจะเข้าใจว่า ตนประกอบดิรัจฉานวิชาต่างๆ ด้วยเจตนาดี มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสรรพสัตว์
อีกทั้งยังมิได้มีความประสงค์ต่อทรัพย์สินเงินทอง ก็จริง แต่องค์ประกอบสำคัญของ ศีล ใน สีลขันธวรรค ก็คือ ท่านจักต้องพิจารณาโดยแยบคายด้วยว่า
ความศรัทธาของชาวบ้านที่เกิดขึ้น อันนำมาซึ่ง "โภชนะ" ที่ท่านขบฉันอยู่นั้น เป็นศรัทธาที่เกิดจาก พระธรรมคำสอนเพื่อความดับทุกข์ หรือเกิดจาก
การประกอบดิรัจฉานวิชาของท่านกันแน่ ?

ถ้าหาก ความศรัทธาของชาวบ้าน มิได้เกิดจากพระธรรมคำสอนเพื่อความดับทุกข์ แต่เกิดจากการประกอบดิรัจฉานวิชา แม้จะอ้างว่า
ทำไปโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักบวชเหล่านั้น กำลังฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติ ในทุกๆ คำข้าวที่กลืนลงไป !

ประเด็นเงื่อนไขเหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ เจ้ากูทั้งหลาย จักต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบชัดเจน ด้วยนะครับ

****************************************************************************************

ประเด็นปัญหา ที่พึงพิจารณา ในลำดับถัดไป ก็คือ ........
แล้วเราจะจัดการกับระบบการศึกษาของสงฆ์ ในปัจจุบันอย่างไร ให้สอดคล้องกับพระพุทธบัญญัติ ?

(๑) สิ่งที่ท่านทั้งหลายพึงทำความเข้าใจให้ดีๆ ก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงปิดกั้นการศึกษา สำหรับ พุทธสาวก าสวิกา ทั้งหลาย นะครับ
ดังในกรณีของ สามเณรี สิกขมนา และ ภิกษุณี นั้น พระพุทธเจ้า ก็เพียง จำกัดของเขตว่า ให้ภิกษุณีสามารถสอนเรื่องอะไรได้บ้าง

นั่นจึงหมายความว่า นักบวชหญิง สามารถเรียนหนังสือได้อย่างเต็มที่ โดยมีผู้สอนเป็น "คนนอก" ที่มิใช่นักบวช ซึ่งสอดคล้องกับ
ระบบการศึกษาในโลกยุคปัจจุบันอยู่แล้ว ดังนั้น ความรู้ใดๆ แม้จะไม่ใช่เรื่องของความดับทุกข์ แต่หากสามารถยกระดับการศึกษา
ของสตรีในสังคมให้สูงขึ้นได้ การเรียนการสอนนั้นๆ ย่อมไม่ขัดต่อพระพุทธบัญญัติ นี่เป็นกรณีของนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา นะครับ

(๒) ส่วนในกรณีของนักบวชชายนั้น สิกขาบท ห้ามเรียนห้ามสอน ดิรัจฉานวิชา และ คัมภีร์โลกายัต นี้เฉพาะสำหรับ "ภิกษุ" เท่านั้น
นั่นย่อมหมายความว่า มิได้ทรงห้ามการเรียนหนังสือของ "สามเณร" ดังนั้น บรรดาเณรน้อยทั้งหลายในพระพุทธศาสนา ย่อมสามารถได้รับการศึกษา
อย่างเต็มที่ โดยไม่ผิดสิกขาบทวินัยใดๆ โดยสามารถเรียนหนังสือให้จบปริญญาใดๆ ในทางโลก ก็ย่อมได้ในสถานะของ "สามเณร"

เมื่อเรียนหนังสือจบแล้ว ท่านจักสึกหาลาเพศไป หรือจักอุปสมบท เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน
แต่ท่านไม่ควรเรียน ดิรัจฉานวิชา และ คัมภีร์โลกายัต ทั้งๆที่ยังเป็นภิกษุอยู่ แม้ว่าพระพุทธเจ้า จะปรับอาบัติเบาเพียงแค่ ทุกกฏ ก็ตาม
เพราะการกระทำผิด อย่างนั้นซ้ำๆ ซากๆ  ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ ก็ย่อมเท่ากับว่า ท่านไม่ "เอื้อเฟื้อ" ต่อพระธรรมวินัย อันเป็นพระพุทธดำรัสเลย !

หรือมิใช่ ?

ดังนั้น ข้อสรุป สำหรับประเด็นนี้ ก็คือ หากถามว่า การศึกษาทางโลก ซึ่งอยู่ในฝ่าย ดิรัจฉานวิชา และ คัมภีร์โลกายัต นี้ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ?
สามารถตอบได้เลยว่า ควรมีอยู่ และสมควรได้รับการพัฒนา ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และมีความสอดคล้องกับพระธรรมวินัยมากขึ้นด้วย

ในเมื่อพระพุทธบัญญัติ ห้ามมิให้ภิกษุเป็นผู้สอน วิชาต้องห้ามเหล่านั้น เจ้ากู ทั้งหลาย ก็ไม่ควรล่วงละเมิด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
สำหรับท่านผู้เป็นนักเรียนนักศึกษานั้นเล่า ท่านย่อมมีสิทธิ์เล่าเรียนเขียนอ่านอย่างเต็มที่ ในสถานะ "สามเณร" ดังนั้น ต่อให้ท่านจักต้องกลายเป็น
"สามเณรโค่ง" ท่านก็จักต้องยอมรับสถานภาพอันต่ำต้อยนั้น หากว่าท่านยังต้องการศึกษาในแบบทางโลกอยู่

หาใช่  ฉวยโอกาสศึกษาวิชาทางโลก ไปพร้อมๆ กันกับ ต้องการเลื่อนสถานะในทางสงฆ์ จากอนุปสัมบันเป็นภิกษุ ไปพร้อมๆ กัน
เพียงเพราะ คิดเห็นด้วย กิเลสตัณหาฝ่ายต่ำว่า แม้จะเป็นการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติ แต่ก็ทรงปรับอาบัติเบา และไม่มีใครใส่ใจ
หรือให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ มากนัก ด้วยเห็นว่าเป็นแค่เพียง "เรื่องเล็กน้อย" เท่านั้น

การไม่เล็งเห็นความสำคัญ ของสิกขาบท โดยอ้างว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายย่อยยับ
ทั้งกับ การเจริญสมณธรรมในทางส่วนตัว และ พระพุทธศาสนาโดยรวม เพราะ สิกขาบทวินัยนี้แล คือ อายุของพระศาสนา

หรือมิใช่ ?

****************************************************************************************

ประเด็นสุดท้าย ที่พึงพิจารณา ก็คือ การที่พระหนุ่มเณรน้อย ศึกษาเล่าเรียน หลักสูตรทางโลก
ซึ่งนับว่าเป็น ดิรัจฉานวิชา และ คัมภีร์โลกายัต ในพระพุทธศาสนานั้น ถือได้ว่าเป็นการดำรงชีวิตที่เบียดเบียนชาวบ้านอยู่หรือไม่ ?

ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ที่ท่านทั้งหลายพึงทราบ ก็คือ ภิกษุทั้งหลายจักต้องยังชีพด้วยการบิณฑบาต
หรือ ก็คือ ยังชีพด้วยการ "ขอ" ชาวบ้านกิน นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ บรรดาเจ้ากูทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า "ภิกขุ"

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง ที่ท่านทั้งหลายพึงทราบ ก็คือ เหตุผลที่สำคัญที่สุดในการออกบวช ก็คือ ......

"คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น

ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี
บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต ......

สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ฯลฯ" (อ้างจาก สีลขันธวรรค)

ดังนั้น สิ่งที่พึงพิจารณา ก็คือ บรรดาพระหนุ่มเณรน้อยทั้งหลายเหล่านั้น
ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผล ตามพระพุทธดำรัสนี้ หรือไม่ ?

และถ้าหากว่า ท่านเหล่านั้น ผู้ซึ่งอาศัยยังชีพ ด้วยข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน
แต่กลับ หมกมุ่นอยู่ด้วยการ ศึกษาหาความรู้ ในวิชาที่มิได้เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้(โพธิปักขิยธรรม)
สมควรกล่าวได้หรือไม่ว่า พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านั้น คือผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเบียดเบียนชาวบ้าน ?

พระพุทธเจ้าตรัส เอาไว้อย่างนี้ว่า ..........

ถ้าภิกษุทั้งหลาย (๑) ซ่องเสพเมตตาจิต หรือ (๒) เจริญเมตตาจิต หรือ (๓) ใส่ใจเมตตาจิต แม้ชั่วการเพียงลัดนิ้วมือเดียว
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า !

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่