08 องค์ประกอบของ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วน

เมื่อพิจารณาข้อความจาก ปัญจสติกขันธกะ ในประเด็นการพิจารณาเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย โดยคณะสงฆ์เมื่อครั้งปฐมสังคายนา จะพบว่า สิกขาบท ที่พระอรหันตเถระทั้งหลาย กล่าวถึงนั้นประกอบไปด้วย

    (๑) ปาราชิก ๔ สิกขาบท
    (๒) สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
    (๓) อนิยต ๒ สิกขาบท
    (๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
    (๕) ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท
    (๖) ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท
    (๗) และอื่น ๆ อีก

    ซึ่งจากสิกขาบทเท่าที่เอ่ยถึง ในที่ประชุมสงฆ์ครั้งปฐมสังคายนานี้จะมีจำนวนเท่ากับ ๑๔๕ สิกขาบท  ดังนั้น ประเด็นที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ สิกขาบทอีก ๕ ข้อที่เหลือนั้นคืออะไร  ซึ่งหากพิจารณาโดยใช้ข้อความจาก ปัญจสติกขันธกะ เป็นข้อมูลพื้นฐานก็จะได้ว่า สิกขาบทที่เหลืออีก ๕ ข้อนั้น จะต้องเป็นสิกขาบทที่มีอาบัติ “เล็กน้อย” ยิ่งกว่า เมื่อเทียบกับ สิกขาบท ที่พระอรหันตเถระทั้งหลายได้กล่าวถึงเสียอีก เช่น อาบัติทุกกฏ เป็นต้น

    แต่ทั้งนี้ เราจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถึงลักษณะของสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์เอาไว้เช่นกันว่า  พระปาฏิโมกข์จำนวน ๑๕๐ สิกขาบทถ้วนนั้น จะต้องประกอบไปด้วย สิกขาบทจำพวก
    (๑) อาทิพรหมจรรย์
    (๒) สิกขาบทเล็กน้อย โดยที่สิกขาบทเหล่านี้จะต้องมี “อาบัติ” กำกับอยู่ด้วย

กรณี อนิยตะ ๒ สิกขาบท

    ในกรณีของ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ รวมทั้งสิ้น ๑๔๓ สิกขาบทนี้ ย่อมปราศจากข้อกังขาทั้งปวง หากแต่ อนิยตะ ๒ สิกขาบทนั้น อาจมีปัญหาที่จะต้องพิจารณากันตามสมควร  ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระมหาปชาบดีโคตมี ความว่า

    “ดูกร โคตมี สิกขาบทของภิกษุณีเหล่านั้นใด ที่ทั่วถึงภิกษุ พวกเธอจงศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้น ดุจภิกษุทั้งหลายศึกษาอยู่นั้น” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๒๒)

    ครั้นเมื่อพิจารณาเนื้อความของอนิยตะทั้ง ๒ สิกขาบทแล้ว จะเห็นได้ว่าสมควรนับเป็นสิกขาบท ที่ภิกษุณีจะต้องนำมาศึกษาด้วย  หากแต่ข้อความจาก มหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และคัมภีร์ปริวาร กลับระบุตรงกันว่า อนิยตะทั้ง ๒ สิกขาบทนี้ไม่สาธารณะแก่ภิกษุณี  ซึ่งความข้อนี้สามารถวินิจฉัยได้ว่า  เมื่อคราวฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ เมื่อต้นศตวรรษที่ ๑๘ นั้นปรากฏว่าภิกษุณีได้ขาดวงศ์ไปนานแล้ว  ในที่ประชุมเพื่อชำระและเรียบเรียงพระไตรปิฎกในสมัยนั้น  จึงมิอาจสืบค้นหลักฐานหรือข้อมูลใดๆ ได้ว่า ภิกษุณีจะต้องสวดอนิยตะ ๒ สิกขาบทนี้ด้วยหรือไม่  คณะสงฆ์ในครั้งนั้น จึงอาจวินิจฉัยว่า  ภิกขุนีวิภังค์ ไม่(ต้อง)มีอนิยตะก็เป็นได้ !!!!

    ดังนั้น หากเราจะยอมรับว่า อนิยตะ ๒ สิกขาบทนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระปาฏิโมกข์ดั้งเดิมในสมัยพุทธกาลจริง  นั่นก็จะต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า  ภิกษุณีทั้งหลายจะต้องสวดอนิยะทั้ง ๒ สิกขาบทนี้ด้วย  มิฉะนั้น พุทธพจน์ตามที่อ้างถึง จะขัดแย้งกันเองซึ่งเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

    หรือมิใช่ ?

กรณี อธิกรณ์สมถะ ๒ สิกขาบท

    ในกรณีของอธิกรณ์สมถะ ๗ ข้อนั้น ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน  ทั้งนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงกับพุทธพจน์  ที่ตรัสไว้ในวัชชีปุตตสูตรและเสขสูตร กล่าวคือ เราอาจยอมรับอธิกรณ์สมถะไว้ได้แค่เพียง ๒ ข้อเท่านั้น คือ
    (๑) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมคือ ตัชชนียกรรมก็ดี นิยสกรรมก็ดี ปัพพาชนียกรรมก็ดี ปฏิสารณียกรรมก็ดี อุกเขปนียกรรมก็ดี อันภิกษุไม่พึงทำ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ลับหลัง ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๑ ข้อ ๕๘๕)
    (๒) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมคือ ตัชชนียกรรมก็ดี นิยสกรรมก็ดี ปัพพาชนียกรรมก็ดี ปฏิสารณียกรรมก็ดี อุกเขปนียกรรมก็ดี อันภิกษุไม่พึงทำ แก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ตามปฏิญาณ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๑ ข้อ ๖๐๘)

    ในกรณีของอธิกรณ์สมถะทั้ง ๒ นี้ แม้จะมีคุณสมบัติตรงตามพุทธพจน์จาก วัชชีปุตตสูตและเสขสูตร กล่าวคือมีอาบัติประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่ข้อความจากคัมภีร์ปริวาร กลับไม่นับว่าอธิกรณ์สมถะนี้เป็นสิกขาบท  โดยระบุว่า สิกขาบทของภิกษุจากมหาวิภังค์ มีทั้งสิ้น ๒๒๐ สิกขาบท  ชะรอยพระเถระผู้วินิจฉัยความ คงกำหนดว่า หากพระบัญญัติใดในมหาวิภังค์ ที่มิได้ระบุอาบัติไว้ ย่อมไม่นับว่าเป็นสิกขาบทกระมัง หรือท่านอาจเห็นว่าอธิกรณ์สมถะนี้มีการปรับอาบัติ แต่ปรากฏอยู่นอกมหาวิภังค์ ก็มิอาจทราบได้ จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลาย จักต้องพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป

    แต่ทั้งนี้ ก็ย่อมเป็นดังที่ได้อธิบายมาแล้วว่า หากไม่นับอธิกรณ์สมถะว่าเป็นสิกขาบทเสียแล้ว ความเชื่อถือของนักศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายอนุรักษ์นิยมลัทธิลังกาวงศ์ที่ว่า พระปาฏิโมกข์ประกอบด้วย ๒๒๗ สิกขาบทนั้น ก็ย่อมเป็นหมันไปด้วยเช่นกัน  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพระสูตรแล้ว สามารถสรุปความได้ว่า อธิกรณ์สมถะ ที่มีคุณสมบัติตรงตามพุทธพจน์จากวัชชีปุตตสูตรและเสขสูตร ย่อมมีได้อย่างมากที่สุดเพียงแค่ ๒ สิกขาบทเท่านั้น

กรณี เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท

    แม้ว่าการสวดพระปาฏิโมกข์ตามแบบอย่างนิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ในปัจจุบันนี้จะสวด เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบทนี้ด้วยก็จริงอยู่  อีกทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมอาจอ้างได้อีกว่า เสขิยวัตรเหล่านี้ ก็มี “อาบัติ” ตรงตามคุณสมบัติตามที่อ้างถึงจากเสขสูตรเช่นกัน แม้ว่าอาบัติเหล่านั้นจะปรากฏอยู่ในสิกขาบทวิภังค์ก็ตาม  แต่เมื่อพิจารณาถึงธรรมเนียมการสวดพระปาฏิโมกข์ซึ่งจะสวดแต่ “มาติกา” ที่เป็นพระบัญญัติเท่านั้น ซึ่งความจากวัชชีปุตตสูตร ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนถึงสิกขาบทเล็กน้อยว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ ฯ”

    และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำของท่านพระอานนท์ ที่กล่าวกับวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ซึ่งข้อความจากพระสูตร ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นเหตุการณ์หลังจากพระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ย่อมส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า  มีการพิจารณาสิกขาบทและอาบัติในขณะฟังการสวดพระปาฏิโมกข์ ความว่า

    “ดูกรพราหมณ์ มีอยู่แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย ทุกๆ วันอุโบสถ อาตมภาพทั้งหลายเท่าที่มีอยู่นั้น จะเข้าไปอาศัยคามเขตแห่งหนึ่งอยู่ ทุกๆ รูปจะประชุมร่วมกัน ครั้นแล้วจะเชิญภิกษุรูปที่สวดปาติโมกข์ได้ให้สวด ถ้าขณะที่สวดปาติโมกข์อยู่ ปรากฏภิกษุมีอาบัติและโทษที่ล่วงละเมิด อาตมภาพทั้งหลายจะให้เธอทำตามธรรม ตามคำที่ทรงสั่งสอนไว้ เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า ภิกษุผู้เจริญทั้งหลาย มิได้ให้พวกอาตมภาพกระทำ ธรรมต่างหากให้พวกอาตมภาพกระทำ ฯ” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๑๑๑)

    อันธรรมเนียมการสวดพระปาฏิโมกข์นั้น ย่อมมิได้มีการสวดสิกขาบทวิภังค์ นั่นจึงหมายความว่า พระปาฏิโมกข์ตามที่ท่านพระอานนท์กล่าวถึงนั้น มิได้หมายความไปถึง เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท อย่างแน่นอน เพราะมาติกาของเสขิยวัตรทั้งหลาย  มิได้มีอาบัติประกอบอยู่  จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่าจะสามารถพิจารณา(ตน)ตามอาบัติใด ในขณะที่ฟังการสวดพระปาฏิโมกข์ ทั้งนี้ ไม่ว่าสิกขาบทวิภังค์นั้นจะเป็นพุทธพจน์ หรือจะเป็นเพียงแค่มติของพระเถระชั้นหลัง ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาแต่อย่างใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่

    (๑) ถ้าหากอาบัติของเสขิยวัตร ตามที่ปรากฏอยู่ในสิกขาบทวิภังค์นั้นเป็นมติของพระเถระชั้นหลัง  ก็สามารถตัดเสขิยวัตรทั้ง ๗๕ สิกขาบทออกไปจากพระปาฏิโมกข์ดั้งเดิมในสมัยพุทธกาลนี้ไปได้เลย  เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติตามที่ตรัสไว้ในพระสูตร
    (๒) หากอาบัติของเสขิยวัตรเป็นพุทธพจน์มาแต่เดิมจริง  ก็จะมีความหมายว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปรับอาบัติในภายหลังจากที่ทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายสวดพระปาฏิโมกข์ไปแล้ว  โดยความข้อนี้ก็จะเท่ากับเป็นการยืนยันหลักการที่ว่า พระปาฏิโมกข์นี้นับได้ว่าเป็นหลักการสำคัญของคณะสงฆ์เทียบได้กับกฏหมายรัฐธรรมนูญในประเทศที่เจริญแล้ว ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของ กฏหมายหลักแห่งสังคมอริยชน จึงย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ในพระปาฏิโมกข์อีกนับแต่วันที่ได้ทรงบัญญัติ

    แปลความได้ว่า  แม้จะเชื่อถือกันว่า อาบัติในสิกขาบทวิภังค์เป็นพุทธพจน์จริง แต่เพราะการที่อาบัติมิได้ปรากฏอยู่ในมาติกานั้นเอง  จึงเท่าเป็นการยืนยันว่า หากมีการนำเสขิยวัตร ๗๕ ข้อไปบรรจุไว้ในพระปาฏิโมกข์จริง นั่นย่อมเป็นการกระทำโดยพระเถระในชั้นหลัง  เพราะข้อมูลจากท่านพระอานนท์ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แม้เมื่อหลังจากพุทธปรินิพพานไปแล้ว  สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ก็ยังต้องประกอบไปด้วยอาบัติ เหมือนดังสมัยเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่

    ดังนั้น พระปาฏิโมกข์ดั้งเดิมนับแต่ที่ได้ทรงบัญญัติขึ้นมา จวบจนถึงเมื่อหลังจากปรินิพพานไปแล้วนั้น  จึงไม่เคยประกอบไปด้วยเสขิยวัตรทั้ง ๗๕ สิกขาบทนี้เลย  หากแต่น่าจะเป็นการยกขึ้นสู่พระบาลีโดยพระเถระชั้นหลังเสียมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่