ฟังความเห็นเรื่องสิกขาบท 150 จากพระคันธสาราภิวงศ์

ในวงการแปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถ้าใครไม่รู้จักพระคันธสาราภิวงศ์หรือพระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโรแห่งวัดท่ามะโอ นักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากบาลีเป็นไทยอันดับต้นๆของเมืองไทย คือว่า เชยแหลก ท่านเป็นใครมาจากไหนติดตามได้จากเว็บวัดท่ามะโอ(http://www.wattamaoh.org/home/wattamaoh/master-history-2) ครับ

ต่อไปนี้คือ ทัศนะของท่านต่อกรณีดังกล่าว
********
ความเห็นที่กล่าวว่า "สิกขาบทมี ๑๕๐ ข้อถ้วน" ไม่ถูกต้อง
ในปัจจุบันมีบางท่านกล่าวว่า "สิกขาบทมี ๑๕๐ ข้อถ้วน" แต่ความจริงแล้วต้องแปลว่า "สิกขาบท ๑๕๐ กว่าข้อ" จึงจะถูกตามหลักภาษาและพระวินัยกล่าวคือ ข้อความที่กล่าวว่า "สิกขาบท ๑๕๐ กว่าข้อ" พบใน พระสูตร ๔ สูตร คือ
๑. วัชชิปุตตสูตร (องฺ.ติก. ๒๐/๘๕/๒๒๔) ตรัสไว้ในขณะประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
๒. สิกขาสูตรที่ ๑ (องฺ.ติก. ๒๐/๘๗/๒๒๕) ไม่ปรากฏสถานที่ตรัสพระสูตรนี้
๓. สิกขาสูตรที่ ๒ (องฺ.ติก. ๒๐/๘๘/๒๒๖) ไม่ปรากฏสถานที่ตรัสพระสูตรนี้
๔. สิกขาสูตรที่ ๓ (องฺ.ติก. ๒๐/๘๙/๒๒๘) ไม่ปรากฏสถานที่ตรัสพระสูตรนี้
ดังข้อความว่า
สาธิกมิทํ ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ อนฺวฑฺฒมาสํ อุทฺเทสํ อาคจฺฉติ.
“สิกขาบท ๑๕๐ กว่าข้อนี้มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน”
ในวัชชิปุตตสูตรมีคำว่า ภนฺเต (ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ) อยู่ท้าย สาธิกมิทํ เพราะเป็นข้อความที่ภิกษุกราบทูลพระพุทธเจ้า ส่วนในสิกขาสูตรทั้ง ๓ สูตรมีคำว่า ภิกฺขเว (ภิกษุทั้งหลาย) อยู่ท้าย สาธิกมิทํ เพราะเป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วยพระองค์เอง และสันนิษฐานว่าพระสูตรทั้ง ๔ สูตรนี้คงตรัสไว้ในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะมีจำนวนสิกขาบทเท่ากัน
มีบางท่านกล่าวว่า คำว่า สาธิกมิทํ ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ แปลว่า "สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้" แล้วถือว่าสิกขาบทมีเพียง ๑๕๐ ข้อถ้วน แต่ในปัจจุบันการถือว่าสิกขาบทมี ๒๒๗ ข้อ ไม่ถูกต้อง เพราะไม่สอดคล้องกับพระสูตรดังกล่าว จึงน่าจะมีสิกขาบทเพิ่มเติมจากภายหลัง ๗๗ ข้อ คือ อนิยต ๒ ข้อ เสขิยวัตร ๗๕ ข้อ
ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่าความเห็นดังกล่าวไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเหล่านี้ คือ
๑.คำว่า สาธิก แปลว่า "กว่า" มาจาก สห ศัพท์ (พร้อมทั้ง, กับ) + อธิก ศัพท์ (เกิน) เมื่อแปลง สห เป็น ส เพื่อย่อคำ จึงได้รูปว่า สาธิก มีรูปวิเคราะห์ (คำจำกัดความ) ว่า อธิเกน สห วตฺตเตติ สาธิกํ (สิกขาบทที่เป็นไปกับส่วนเกิน ชื่อว่า สาธิกะ) คำนี้เป็นไตรลิงค์ตามเนื้อความที่กล่าวถึง จึงอาจมีรูปว่า สาธิโก, สาธิกา, สาธิกํ แต่ในที่นี้มีรูปเป็นนปุงสกลิงค์ว่า สาธิกํ ตาม สิกฺขาปทํ ที่กล่าวถึงในเรื่องนี้
คำนี้แปลตามศัพท์ว่า “พร้อมทั้งส่วนเกิน, กับส่วนเกิน” หมายความว่า มากกว่าจำนวนที่กล่าวไว้ ๑๕๐ จึงหมายถึงจำนวน ๑๕๐ กว่า ดังคำว่า
- สาธิกนวุติ (๙๐ กว่า)
- สาธิกโปริส (ช่วงบุรุษกว่า)
- สาธิกวีสติโยชน (๒๐ โยชน์กว่า)
- สาธิกานิ ตีณิ อฏฺฐสตานิ (กระดูก ๓๐๐ ท่อนกว่า)
- สาธิกานิ ปญฺญาสวสฺสานิ (๕๐ ปีกว่า)
คำว่า สาธิก นี้เป็นคำไวพจน์ของ สาติเรก (สห + อติเรก แปลง สห เป็น ส) ดังข้อความว่า
สาธิกนวุตีติ อติเรกนวุติ. (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๐๖/๓๖๓)
“คำว่า สาธิกนวุติ แปลว่า ๙๐ กว่า”
มีตัวอย่างของ สาติเรก ศัพท์ในพระไตรปิฎกว่า
- สาติเรกานิ ปญฺจสตานิ (๕๐๐ กว่า)
- สาติเรกานิ ฉ อมฺพณานิ (๖ อัมพณะกว่า)
- สาติเรกานิ วีสติโยชนานิ (๒๐ โยชน์กว่า)
- สาติเรกานิ จตุวีสติสตสหสฺสานิ (๒,๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน)
ส่วนคำว่า สาธิก ที่แปลว่า "ถ้วน" ไม่มีใช้ในภาษาบาลี เพราะมีรากศัพท์มาจากคำดังกล่าว นอกจากนั้น ในพระไตรปิฎกไทยบางฉบับแปลคำนี้ว่า “ที่สำเร็จประโยชน์” ถือว่าไม่ถูกตามความหมาย เพราะไม่มีความหมายอะไรในเรื่องนี้ และไม่ถูกตามหลักภาษา เพราะความหมายเช่นนั้นต้องมีรูปเป็นอิตถีลิงค์ว่า สาธิกา โดยมาจาก สาธ ธาตุ (สาธเน = สำเร็จ) + เณ การิตปัจจัย + ณฺวุ ปัจจัยในกัตตุสาธนะ + อา อิตถีปัจจัย
๒. ในอรรถกถาของวัชชิปุตตกสูตร (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๙๓) กล่าวว่า สิกขาบท ๑๕๐ กว่าข้อที่กล่าวไว้ในพระสูตรนี้ หมายถึงสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในเวลานั้น แต่ยังมีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ในเวลาอื่นอีกด้วย เพราะพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทเรื่อยมาตามเหตุการณ์ที่ภิกษุล่วงละเมิดเรื่องราวนั้นๆ
๓. ความเห็นที่กล่าวว่าสิกขาบทมี ๑๕๐ ถ้วน ถือว่าสิกขาบท ๗๗ ข้อเป็นสิ่งที่แต่งในภายหลัง ได้แก่ อนิยต ๒ ข้อ และเสขิยวัตร ๗๕ ข้อ แต่ความจริงแล้ว อนิยตและเสขิยวัตรดังกล่าวเป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นก่อนปาราชิก ๔ ข้อ และสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ทั้งนี้เพราะในปฐมโพธิกาลระหว่าง ๒๐ พรรษาพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติปาราชิก ๔ ข้อ และสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ
แม้จะไม่อาจระบุว่าสิกขาบท ๑๕๐ กว่าข้อนั้นมีปาราชิกและสังฆาทิเสสอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทราบเวลาบัญญัติสิกขาบทเหล่านั้นแน่นอน แต่ก็อนุมานรู้ได้ว่า ถ้ามีอาบัติทั้งสองดังกล่าว ก็ต้องมีอนิยตและเสขิยวัตรแน่นอน แต่ถ้ายังมิได้ทรงบัญญัติปาราชิกและสังฆาทิเสส อนิยตและเสขิยวัตรก็มีไม่ได้ตามความเห็นนั้น ทำให้ไม่อาจนับสิกขาบท ๑๕๐ ข้อนั้นได้
ดังข้อความในอรรถกถาพระวินัยว่า
อถ ภควา อชฺฌาจารํ อปสฺสนฺโต ปาราชิกํ วา สํฆาทิเสสํ วา น ปญฺญเปสิ. ตสฺมึ ตสฺมึ ปน วตฺถุสฺมึ อวเสเส ปญฺจ ขุทฺทกาปตฺติกฺขนฺเธ เอว ปญฺญเปสิ. เตน วุตฺตํ “อปฺปญฺตฺเต สิกฺขาปเท”ติ. (วิ.มหา.อ. ๑/๓๕/๒๒๑)
“ครั้งนั้น[ระหว่าง ๒๐ พรรษา] พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเห็นการล่วงละเมิด จึงไม่ทรงบัญญัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส แต่ทรงบัญญัติกองอาบัติเล็กน้อย๕ หมวดที่เหลือ [คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต] ในเพราะเรื่องนั้นๆ ฉะนั้นพระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า อปฺปญฺญตฺเต สิกฺขาปเท ([ไม่เห็นโทษ]ในสิกขาบทที่ยังไม่ได้ทรงบัญญัติไว้”
การที่พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสสในระหว่าง ๒๐ พรรษา ก็เพราะว่าในสมัยนั้นมีกุลบุตรที่ออกบวชได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นจึงไม่ทำความผิดที่ร้ายแรงถึงขั้นเสพเมถุนหรือลักขโมยเป็นต้น แต่อาจทำความผิดเล็กน้อยบางอย่างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในกกจูปมสูตรว่า
“ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากทำให้เรามีจิตยินดี เรากล่าวกับภิกษุ ณ ที่นั้นว่า เราฉันอาหารมื้อเดียว เมื่อเราฉันอาหารมื้อเดียวย่อมรู้สึกว่าไม่มีอาพาธ ไร้ทุกข์ เบากายมีกำลัง และอยู่สบาย มาเถิด ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารมื้อเดียว เธอฉันอาหารมื้อเดียวอยู่จักรู้สึกว่าไม่มีอาพาธ ไร้ทุกข์ เบากาย มีกำลัง และอยู่สบาย เราไม่ต้องสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่เตือนสติเท่านั้น” (ม.มู. ๑๒/๒๒๕/๑๗๙)
ดังคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถาพระวินัยว่า
อปฺปญฺญตฺเต สิกฺขาปเทติ ปฐมปาราชิกสิกฺขาปเท อฏฺฐปิเต. ภควโต กิร ปฐมโพธิยํ วีสติวสฺสานิ ภิกฺขู จิตฺตํ อาราธยึสุ, น เอวรูปํ อชฺฌาจารมกํสุ. ตํ สนฺธาเยว อิทํ สุตฺตมาห “อาราธยึสุ วต เม ภิกฺขเว ภิกฺขู เอกํ สมยํ จิตฺตนฺ”ติ. (วิ.ม.อ. ๑/๓๕/๒๒๑)
“คำว่า อปฺปญฺญตฺเต สิกฺขาปเท (ในสิกขาบทที่ยังไม่ได้ทรงบัญญัติไว้) หมายความว่า ในปาราชิกสิกขาบทข้อแรกที่ยังไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ได้ยินมาว่า ภิกษุทั้งหลายทำจิตของพระผู้มีพระภาคให้พอพระทัยตลอด ๒๐ พรรษาในปฐมโพธิกาล ไม่ทำการล่วงละเมิดเช่นนี้ [คือการเสพเมถุน] พระพุทธองค์จึงตรัสพระสูตรนี้ว่า ‘สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากทำให้เรามีจิตยินดี’ โดยหมายความถึงเรื่องนั้น (การทำจิตของพระผู้มีพระภาคให้พอพระทัย)”
อาบัติทุกกฏที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ เสขิยวัตร ๗๕ ข้อที่มาในพระปาติโมกข์ และวัตรอื่นๆ ที่พบในคัมภีร์มหาวรรคและจูฬวรรค เพราะในปทภาชนีย์ของเสขิยวัตรทั้งหมดตั้งแต่ข้อ ๕๗๖ หน้า ๓๘๐ เป็นต้นไป มีข้อความว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส (ต้องอาบัติทุกกฏ) แม้ในคัมภีร์กังขาวิตรณีก็กล่าวว่า
ปทภาชเน ปน“อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสา”ติ วุตฺตตฺตา สพฺพตฺถ อนาทริยกรเณ ทุกฺกฏํ เวทิตพฺพํ. (กงฺขา. หน้า ๓๒๑)
“แต่พึงทราบอาบัติทุกกฏเพราะไม่ทำความเอื้อเฟื้อในสิกขาบททั้งหมด เนื่องจากตรัสว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ไว้ในปทภาชนีย์”
๔. มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า เสขิยวัตรมีบัญญัติไว้ก่อนอาบัติปาราชิก ถ้าพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติการครองอันตรวาสกในเสขิยวัตร ก็คงไม่มีข้อความที่กล่าวว่าท่านพระสุทินปฏิบัติวินัยข้อนี้ ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานว่าเสขิยวัตรเป็นวินัยที่บัญญัติไว้ก่อนอาบัติปาราชิกข้อ ๑ แน่นอน กล่าวคือ ในปฐมปาราชิกมีข้อความที่พระสุทินครองอันตรวาสก (ผ้านุ่ง, สบง) ในเวลานั้นว่า
อถ โข อายสฺมา สุทินฺโน เต สฏฺฐิมตฺเต ถาลิปาเก ภิกฺขูนํ วิสฺสชฺเชตฺวา ปุพฺพณฺหสมยํ นิวาเสตฺวา ปตฺตจีวรมาทาย กลนฺทคามํ ปิณฺฑาย ปาวิสิ. (วิ.ม. ๓๐/๑๙)
“ลำดับนั้น ท่านพระสุทินสละอาหาร ๖๐ หม้อถวายภิกษุทั้งหลายแล้วครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านกลันทคาม ในตอนเช้า เที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านกลันทคามตามลำดับเรือน”
การครองผ้าอันตรวาสกนี้ ก็คือการนุ่งสบงให้เป็นปริมณฑล โดยปิดบริเวณสะดือ บริเวณหน้าแข็ง ไม่ปล่อยให้สบงห้อยข้างหน้าหรือข้างหลัง ตามที่กล่าวไว้ในเสขิยวัตร ข้อ ๑ ว่า
“ปริมณฺฑลํ นิวาเสสฺสามี’ติ สิกฺขา กรณียา. (วิ.ม. ๑/๕๗๖/๓๘๐)
“พึงทำความสำเหนียกว่า เราจักครองอันตรวาสกให้เรียบร้อย”
จะเห็นได้ว่า ในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาของพระวินัยระบุถึงการครองผ้าอันตรวาสกว่าเป็นการนุ่งตามเสขิยวัตร ดังข้อความว่า
นิวาเสตฺวาติ คามปฺปเวสนนีหาเรน นิวาสนํ นิวาเสตฺวา กายพนฺธนํ พนฺธิตฺวา. (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๘๖/๓๘๕)
“คำว่า นิวาเสตฺวา (ครอง) หมายความว่า ครองผ้านุ่งตามทำนองที่เข้าไปในบ้านแล้วรัดประคตเอว”
๕. ตามปกติพระสูตรเป็นข้อความที่ตรัสตามบุคคลและโอกาส ดังนั้น การนับสิกขาบทว่ามี ๑๕๐ ถ้วนโดยอ้างพระสูตรจึงไม่ถูกต้อง เพราะขัดแย้งกับข้อความในพระวินัยปิฎก กล่าวคือ ในคัมภีร์ปริวาร กล่าวถึงสิกขาบทของภิกษุ ๒๒๐ ข้อนับรวมอธิกรณสมถะ ๗ ข้อเป็น ๒๒๗ ข้อ (อธิกรณสมถะเป็นวิธีระงับอธิกรณ์คือเรื่องวิวาทในสงฆ์ จึงไม่นับเป็นสิกขาบท แต่มาสู่อุเทศในการสวดพระปาติโมกข์เช่นเดียวกัน) และสิกขาบทของภิกษุณี ๓๐๔ ข้อนับรวมอธิกรณสมถะ ๗ ข้อเป็น ๓๑๑ ข้อ ดังข้อความว่า
วีสํ เทฺวสตานิ จิเม โหนฺติ ภิกฺขูนํ สิกฺขาปทานิ อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ อุโปสเถสุ. ตีณิ สตานิ จตฺตาริ ภิกฺขุนีนํ สิกฺขาปทานิ อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ อุโปสเถสุ. (วิ.ป. ๘/๓๓๘/๓๑๐)
“สิกขาบทของภิกษุมาสู่อุเทศทุกวันอุโบสถ (ยกขึ้นสวดทุกวันอุโบสถ) รวม ๒๒๐ สิกขาบท ของภิกษุณีมาสู่อุเทศทุกวันอุโบสถ รวม ๓๐๔ สิกขาบท”
สรุปความว่า การกล่าวว่าสิกขาบทของภิกษุที่นำขึ้นสวดพระปาติโมกข์มีเพียง ๑๕๐ ข้อถ้วน ไม่ถูกต้องตามเหตุผลที่กล่าวมานี้
ขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถาโดยย่อ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความสำคัญของคัมภีร์นี้ กล่าวคือ ในพระไตรปิฎกมีเนื้อความอธิบายเป็นภาษาบาลีชื่อว่า มหาอรรถกถา คือ อรรถาธิบายอันประเสริฐ หรือมูลัฏฐกถา คือ อรรถาธิบายดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วนสำคัญ คือ
๑. ปกิณกเทศนา เทศนาทั่วไปที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายไว้ด้วยพระองค์เองเมื่อมีผู้ทูลถาม หรือเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจ
๒. สาวกภาษิต ถ้อยคำของพระสาวกมีพระสารีบุตร พระอานันท์ พระมหากัจจายนะ เป็นต้น ที่กล่าวอธิบายหรือประมวลพระพุทธพจน์ไว้ จะเห็นได้ว่า มีตัวอย่างในพระสูตรบางสูตร เช่น
๒.๑ พระสารีบุตร กล่าวแนวทางในการสังคายนาไว้โดยย่อในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร
๒.๒ พระอานนท์ แสดงอุเทศและวิภังค์ของภัทเทกรัตตสูตรไว้ในอานันทภัทเทกรัตตสูตร
๒.๓ พระมหากัจจายนะ อธิบายภัทเทกรัตตสูตรไว้ในมหากัจจายนภัทเทกรัตตสูตร
คัมภีร์มหาอรรถกถาที่จารึกปกิณกเทศนาและสาวกภาษิต ได้รับสังคายนาในปฐมสังคายนาและสังคายนาครั้งอื่นๆ ต่อมาพระมหินทเถระได้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาทวีปหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยได้นำพระไตรปิฎกและมหาอรรถกถาไปด้วย ท่านและพระสิงหลได้ร่วมกันแปลพระไตรปิฎกและมหาอรรถกถาเป็นภาษาสิงหล เพื่อให้กุลบุตรชาวสิงหลสามารถศึกษาได้โดยสะดวก ซึ่งต่อมาภายหลังคัมภีร์มหาอรรถกถาฉบับบาลีเดิมได้สาบสูญไป เพราะภัยสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้ง
(อ่านต่อ ความคิดเห็นที่ 2)
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
(ต่อ)
เมื่อพระพุทธโฆสาจารย์ได้เดินทางไปลังกาทวีปในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม (พ.ศ. ๙๕๓-๙๗๕) ได้ปริวรรตคัมภีร์มหาอรรถกถามาเป็นภาษาบาลี เพื่อให้กุลบุตรผู้รู้ภาษาบาลีในประเทศต่างๆ ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาพระไตรปิฎก ต่อมาพระอรรถกถาจารย์รูปอื่นๆ ก็ดำเนินรอยตามโดยปริวรรตคัมภีร์จากภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี ปัจจุบันคัมภีร์อรรถกถาที่ปริวรรตจากภาษาสิงหลจึงมีอยู่อย่างครบถ้วน
คัมภีร์อรรถกถาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระอรรถกถาจารย์ท่านอื่นๆ ได้เอื้อประโยชน์ให้อนุชนเข้าใจหลักภาษาได้ชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะภาษาบาลีเป็นภาษาตายที่ไม่นิยมพูดกันในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธนิกายเถรวาทจึงไม่ถือว่าคัมภีร์อรรถกถาเป็นหลักฐานรุ่นหลังอย่างที่พูดกันในสมัยปัจจุบันว่า “คัมภีร์ชั้นอรรถกถา” แต่มีความสำคัญเทียบเท่าพระไตรปิฎก เพราะหากปราศจากคำอธิบายจากคัมภีร์อรรถกถาแล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจพระพุทธพจน์ได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ที่เข้าใจพุทธาธิบายได้คงมีเพียงพระพุทธเจ้าและสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้น
ข้อความข้างต้นกล่าวไว้ในคาถาเริ่มต้นของคัมภีร์อรรถกถาทุกฉบับ แม้คัมภีร์มหาวงศ์ก็กล่าวว่า
สีหฬฏฺฐกถา สุทฺธา มหินฺเทน มตีมตา
สงฺคีติตฺตย’มารุฬฺหํ สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ.
สาริปุตฺตาทิคีตํ จ กถามคฺคํ สเมกฺขิย
กตา สีหฬภาสาย สีหเฬสุ ปวตฺตติ.
(มหาวํส ปริจเฉทที่ ๓๗ คาถา ๒๒๘-๒๒๙)
“อรรถกถาสิงหลอันหมดจดที่ประมวลคำอธิบายอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้และคำกล่าวของพระสารีบุตร เป็นต้น อันยกขึ้นสู่สังคายนาทั้งสามครั้ง ซึ่งพระมหินทเถระผู้มีปัญญาได้แปลไว้ด้วยภาษาสิงหลย่อมปรากฏแก่ชาวสิงหล”
คัมภีร์ฎีกาพระวินัยชื่อสารัตถทีปนีกล่าวถึงเรื่องปกิณกเทศนาว่า
น หิ ภควตา อพฺยากตํ นาม ตนฺติปทํ อตฺถิ สพฺเพสํเยว อตฺโถ กถิโต, ตสฺมา สมฺมาสมฺพุทฺเธเนว ติณฺณํ ปิฏกานํ อตฺถวณฺณนากฺกโมปิ ภาสิโตติ ทฏฺฐพฺพํ. ตตฺถ ตตฺถ ภควตา ปวตฺติตา ปกิณฺณกเทสนาเยว หิ อฏฺฐกถา. (สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๖-๒๗)
“บทบาลีที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงไว้หามีไม่ ทรงแสดงเนื้อความของทุกบท ดังนั้น โปรดทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสลำดับคำอธิบายเนื้อความของพระไตรปิฎกไว้ โดยแท้จริงแล้ว ปกิณกเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในที่นั้นๆ ชื่อว่า อรรถกถา (คัมภีร์อธิบายความ)”
อนึ่ง ในคัมภีร์อรรถกถาบางแห่งมีการอธิบายหลักภาษา เช่น การตัดบท การอธิบายศัพท์หรือความหมาย การประกอบรูปศัพท์ และการแสดงรูปวิเคราะห์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายของพระอรรถกถาจารย์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังที่เรียนบาลีเป็นภาษาที่สองได้เข้าใจบทพยัญชนะได้ชัดเจน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้เข้าใจความหมายเป็นอย่างดี
หวังว่าบทความนี้จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อการธำรงรักษ์พระพุทธศาสนาต่อไป.

พระคันธสาราภิวงศ์
ปธ. ๙, ธรรมาจริยะ, พธ.ด.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่