"รายได้ของรัฐบาล" มาจากไหนบ้าง ?


“รายได้ของรัฐบาล” เป็นสิ่งที่หลายๆคนชอบตั้งคำถามว่า เค้าเอารายได้ตรงนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง ? แต่อีกมุมนึงที่อยากจะชวนมาหาคำตอบกันในบทความนี้ นั่นก็คือรายได้ของรัฐบาลมาจากไหนกันบ้าง ?

เราต้องเคยได้ยินข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติงบโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โครงการโน้นโครงการนี้เป็นหลักหมื่นล้าน แสนล้าน หรือล้านล้านบ้างล่ะ แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่า รัฐบาลไปเอาเงินจากที่ไหนมาสร้าง ? หรือ รายได้ของรัฐบาลมาจากไหน ?

"รายได้ของรัฐบาล" มาจาก การจัดเก็บภาษี กำไรและรายได้ของรัฐวิสาหกิจ (รัฐบาลถือหุ้น) ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ซึ่งจะต่างจากคำว่า "รายรับของรัฐบาล" นะ โดยแหล่งที่มารายได้ของรัฐบาลจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

1. "รายได้ของรัฐบาล" จากภาษีอากร (Tax Revenue)

"ภาษีอากร" ที่เก็บประชาชนทั้งหลาย ที่หลายคนบ่นเวลาจ่ายช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีนั่นแหละ หรือว่าบางคนอาจจะโดนหักอยู่ทุกๆเดือนอยู่แล้วก็เป็นหนึ่งในภาษีอากรเช่นกัน บอกได้เลยว่าอันนี้เป็นแหล่งรายได้หลักๆที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลเลยทีเดียว

แล้ว "รายได้จากภาษีอากร" ก็แบ่งได้อีก 2 ประเภทหลักๆ คือ

- ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
- ภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีสรรพสามิต (สินค้าฟุ่มเฟือย) ภาษีศุลกากร (นำเข้า-ส่งออก)
ในส่วนนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลเองและความสามารถในการเสียของประชาชนด้วย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามบริหารทรัพยากรจัดสรรรายจ่ายให้ประชาชนและธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น งานนี้พูดง่ายแต่ทำยากมากๆเลย

2. รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร (Non-Tax Revenue)

คือรายได้จากแหล่งอื่นๆที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาจากภาษีอากร หลักๆเราก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

- รายได้จากการอุดหนุนและการให้ มาจากเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่าของประชาชน ภาคเอกชน หรือรัฐบาลประเทศอื่น เช่น การบริจาคเงินให้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานรัฐ
- รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ เป็นรายได้ที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาติ ค่าขายหรือเช่าทรัพย์สินของรัฐ ค่าขายของกลางที่ยึดมาจากคดีต่างๆ
- รายได้จากการประกอบการรัฐวิสาหกิจ มาจากการที่รัฐบาลเข้าไปลงทุนในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทต่างๆ พอมีกำไรก็จะเอาเข้าคลังมาเป็นรายได้ของรัฐนั่นเอง
- รายได้อื่นๆ เช่น ค่าปรับ สแตมป์อากร เงินคืนจากส่วนเหลือจ่ายปีก่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เป็นต้น

จากข้อมูลในอดีตสำหรับประเทศไทย โครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก รองลงมาคือภาษีทางตรง และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ซึ่งในความจริงแล้วรายได้ของรัฐบาลอย่างเดียวอาจไม่พอในการลงทุนพัฒนาประเทศที่ต้องใช้เงินเป็นหลักแสนล้านหรือล้านล้านอย่างที่เกริ่นไปตอนแรกหรอกนะ

เพราะบางครั้งการลงทุนในประเทศก็ไม่ได้ใช้เงินจาก "รายได้รัฐบาล" อย่างเดียว แต่ยังมีที่มีส่วนอื่น เช่น เงินกู้ อยู่ด้วย มองง่ายๆรัฐบาลก็เหมือนกับบุคคลนั่นแหละ ถ้าเราอยากซื้อบ้านราคา 3,000,000 บาท แต่เรามีรายได้แค่ 50,000 ต่อเดือน สิ่งที่เราทำๆกัน คือ ไปกู้เงินจากธนาคารใช่มั้ยล่ะ รัฐบาลก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีรายได้ไม่เพียงพอก็ไปกู้เงินมาจากที่อื่นแทน เอาไว้ถ้ามีเวลาจะมาแชร์กันอีกนะครับ หัวเราะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/vPSUwY

ติดตามเรื่องเล่าเข้าใจง่ายๆของ Money Buffalo ได้ที่
Website http://www.moneybuffalo.in.th หรือ
FB Page : fb.com/moneybuffalo
LINE : https://goo.gl/GAQxF8
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่