.. ประเด็น เรื่อง "Respect My Tax Money"

กระทู้ข่าว
เหวยๆ คนรวยต่างหากที่เสียภาษีน้อยกว่าคนจน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
.
เมื่อเร็วๆ นี้มีการถกเถียงกันในประเด็น "Respect My Tax Money" โดยบอกว่าบริษัทห้างร้านและประชาชนในกรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าประชาชนต่างจังหวัด โดยนัยนี้ตีความว่าน่าจะมีสิทธิเสียงมากกว่าคนต่างจังหวัด ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย 1 สิทธิ 1 เสียง หรือ One Man, One Vote. ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อความเข้าใจร่วมกันดังนี้:
.
รายได้ของประเทศไทยแยกตามประเภทของภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556
รายได้แยกตามประเภท ล้านบาท %
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 698,087 27%
ภาษีเงินได้นิติบุคคล 592,499 23%
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 299,034 12%
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 113,291 4%
ภาษีอื่นๆของสรรพากร 61,796 2%
ภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน รถ เบียร์ ยาสูบ ฯลฯ) 432,868 17%
ภาษีกรมศุลกากร 113,382 4%
รายได้รัฐวิสาหกิจ 101,448 4%
รายได้หน่วยงานอื่น 159,016 6%
รวมรายได้ประจำปีงบประมาณ 2556 2,571,421 100%
.
ที่คิดว่าภาษีส่วนใหญ่มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น เป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27%
.
ส่วนที่ว่ากรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าเพราะมักเป็นแหล่งผลิตสุดท้ายหรือแหล่งส่งออก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงเกินครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไปของรายได้ประชาชาติโดยรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทห้างร้านหรือคนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียภาษีมากกว่าประชาชนในชนบทแต่อย่างใด
.
อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย
.
อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี) ส่วนคนร่ำรวย มีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรเลย
.
เมื่อพิเคราะห์ถึงภาษีเหล่านี้ จึงเกิดคำถามว่าใครกันแน่ที่เสียสละเพื่อชาติ คนร่ำรวยล้นฟ้า หรือประชาชนทั่วไป และถ้าถึงกาลสิ้นชาติเช่นประเทศในอินโดจีน ประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นก็ชี้ชัดว่าพวกคนร่ำรวยต่างหากที่หนีไปจากมาตุภูมิของตนเอง ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวชนบท ฝุ่นเมืองทั่วไป กู้ชาติให้พวกเขากลับมาเสพสุขกันอีกครั้งหนึ่ง
.
อ้างอิง: ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 – กันยายน 2556) www.fpo.go.th/FPO/modules/Content/getfile.php?contentfileID=5285
https://www.facebook.com/sopon.pornchokchai

3 เหตุผลที่ “การจ่ายภาษี” ไม่ใช่ข้ออ้างของการ “ละเมิดสิทธิผู้อื่น”

สลิสา ยุกตะนันทน์
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

หลายครั้งที่ข้ออ้างของการจ่ายภาษีเงินได้ส่วนบุคคล (Personal Income Tax) มากกว่า มักถูกหยิบยกไปสร้างความชอบธรรมแก่การเรียกร้อง “สิทธิที่มากกว่า” ของคนกรุงเทพเหนือคนต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนพิจารณาถึงปรัชญารากฐานของการเก็บภาษี โครงสร้างภาษี และการใช้จ่ายภาษีของภาครัฐแล้ว เราจะพบว่ามี 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “การจ่ายภาษี” ไม่ใช่ข้ออ้างของการ “ละเมิดสิทธิ” ของคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะสิทธิในการเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองทุกคนในสังคม

1. ปรัชญารากฐานของการเก็บภาษี: แนวคิดว่าด้วย “เสรีภาพ” (Freedom) อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 นั้น ได้แบ่งประเภทของเสรีภาพออกเป็น 2 ประเภท คือ เสรีภาพในเชิงลบ (Negative Freedom) หรือเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยนักคิดคนสำคัญที่ได้เสนอเสรีภาพในแนวทางนี้ คือ J.S. Mill และ เสรีภาพในเชิงบวก (Positive Freedom) หรือเสรีภาพที่เรียกร้องให้รัฐต้องเข้ามาสร้างเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้การใช้เสรีภาพของพลเมืองในสังคมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม นักคิดคนสำคัญที่เสนอเสรีภาพในแนวทางนี้คือ Isaiah Berlin

ตัวอย่างเช่น หากพิจารณาตามหลักเสรีภาพในเชิงลบ (Negative Freedom) แล้ว ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพพื้นฐานในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษา อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคม คือ แม้ประชาชนจะมีเสรีภาพดังกล่าว ทว่ายังมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้เสรีภาพเหล่านั้นได้ โดยพวกเขาเหล่านี้ได้แก่ คนจน ที่ไม่มีเงินในการรักษาพยาบาลและการศึกษา ข้อจำกัดทางการเงินจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้ ด้วยเหตุนี้แล้ว นักคิดที่สนับสนุนแนวทางเสรีภาพในเชิงบวก (Positive Freedom) ได้เข้ามาเรียกร้องให้รัฐเข้ามาสร้างเงื่อนไขเพื่อให้การใช้เสรีภาพของประชาชนเป็นไปได้จริงอย่างเป็นธรรม ด้วยการจัดระบบรัฐสวัสดิการ รักษาพยาบาลฟรี การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในเชิงบวก (Positive Freedom) จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการเก็บภาษีของภาครัฐ เพราะจะทำให้รัฐไม่มีงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจการเหล่านี้ ดังนั้นแล้ว ปรัชญาพื้นฐานของการเก็บภาษี โดยเฉพาะการเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลแบบก้าวหน้า คือ การมองว่าปัจเจกบุคคลที่มีรายได้มาก ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากขึ้นตามมา อันเนื่องมาจากรายได้ของพวกเขาเหล่านั้น ล้วนเป็นดอกผลที่เขาได้จากการเป็นสมาชิกของสังคม ดังนั้น ภาษีเหล่านี้จึงเป็นภาษีเพื่อสร้างเสรีภาพที่เสมอหน้ากันและเป็นธรรม

ทว่าข้ออ้างของคนกรุงเทพจำนวนหนึ่งที่กล่าวว่าตนเสียภาษีเงินได้มากกว่า รัฐบาลจึงควรฟังเสียงของตนมากกว่าชนบทนั้น เปรียบเสมือนกับการกล่าวอ้างว่าตน “จ่ายภาษีมากกว่า ต้องมีสิทธิมากกว่า” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เงินสามารถซื้อเสรีภาพได้ และเสรีภาพที่ซื้อได้ด้วยเงินนี้ก็สามารถละเมิดเสรีภาพของผู้ที่จ่ายงินน้อยกว่าได้ด้วย จะเห็นได้ว่าข้ออ้างนี้ได้ขัดต่อปรัชญาหลักเสรีภาพในเชิงบวก (Positive Freedom) ที่เสนอว่าภาษี คือ การสร้างเงื่อนไขให้เสรีภาพที่เท่าเทียมเสมอภาคและเป็นธรรมทางสังคมอย่างร้ายแรง และขัดต่อแนวคิดเสรีภาพขั้นต่ำสุด คือ เสรีภาพในเชิงลบ (Negative Freedom) ด้วย เพราะแม้แต่แนวคิดนี้ยังเสนอว่า เสรีภาพคือเสรีภาพที่จะกระทำอะไรก็ได้ที่ไม่ไปละเมิดผู้อื่น ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าตนจ่ายภาษีจึงมีสิทธิในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนต่างจังหวัดในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นจึงเป็นแนวคิดที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

2. โครงสร้างภาษี: หากพิจารณาสัดส่วนของเงินภาษีประเภทต่างๆ แล้ว จะพบว่าภาษีเงินได้ส่วนบุคคลคิดเป็นร้อยละ 10.6 เท่านั้น ในขณะที่รายได้ของรัฐจากภาษีทางอ้อม (VAT) ที่ประชาชนทุกคนในประเทศต้องจ่ายผ่านการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 26 จากเงินภาษีทั้งหมด โดยจำนวนประชากรของกรุงเทพคิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าประชากรร้อยละ 83 ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด คือ กลุ่มคนที่จ่ายภาษีทางอ้อมมากที่สุด ในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าคนต่างจังหวัดมิได้จ่ายภาษีน้อยกว่าคนกรุงเทพที่มักหยิบอ้างภาษีเงินได้ส่วนบุคคลแต่อย่างใดเลย เพราะคนต่างจังหวัดก็จ่ายภาษีเช่นกัน หากแต่จ่ายในรูปแบบภาษีทางอ้อมแทนต่างหาก

ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งรายได้หลักประการถัดมาของรัฐ คือ ภาษีนิติบุคคลซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25.9 ภาษีนิติบุคคลนี้ยังหมายรวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่มีสาขาอยู่ทั่วไปในประเทศ โดยในประเทศไทยมิได้มีกฎหมายบังคับให้แต่ละสาขาต้องเสียภาษี ณ สาขาของตน ดังนั้นแล้ว ภาษีที่สาขาต่างๆ ต้องเสียจึงมักถูกยื่นเสียภาษีโดยสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น การกล่าวอ้างว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพและมีพนักงานเป็นคนกรุงเทพเป็นกลุ่มที่เสียภาษีนั้นจึงไม่เป็นจริง เพราะภาษีของต่างจังหวัดได้ถูกรวมเข้าไปในตัวเลขเหล่านี้ด้วย

3. การใช้จ่ายภาษีของภาครัฐ: หากพิจารณาตัวเลขการใช้จ่ายภาษีของภาครัฐจะพบว่า รัฐได้ใช้จ่ายเงินภาษีถึงร้อยละ 72 เพื่ออำนวยความสะดวกสร้างความสบายให้กับคนกรุงเทพที่มีจำนวนเพียงร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ภาคเหนือที่มีประชากรร้อยละ 18 และภาคกลางที่มีประชาร้อยละ 17 เท่ากับกรุงเทพ รัฐได้ใช้จ่ายเงินภาษีเพียงภาคละร้อยละ 7 เท่านั้น ภาคใต้ซึ่งมีประชากรร้อยละ 14 มีการใช้จ่ายเงินภาษีร้อยละ 8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประชากรถึงร้อยละ 34 กลับมีการใช้จ่ายเงินภาษีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น

ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐได้อุ้มชูคนกรุงเทพมากกว่าคนต่างจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า รัฐบาลไทยได้ดูดส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดมาจุนเจือกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่าในกรุงเทพเสมอมา โดยที่ประชากรในต่างจังหวัดล้วนเป็นฐานสำคัญของการเก็บภาษีทางอ้อมหรือคนต่างจังหวัดล้วนเสียภาษีเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าขัดต่อหลักการเสรีภาพในเชิงบวก (Positive Freedom) อย่างชัดเจน เพราะเงินภาษีไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมหรือเพื่อเสรีภาพแต่อย่างใด ทว่ากลับถูกนำมาสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากยิ่งขึ้นด้วย

คนกรุงเทพไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่เสียภาษี คนกรุงเทพเป็นคนที่ได้ผลประโยชน์จากเงินภาษีของทั้งประเทศอยู่แล้ว โปรดอย่าอ้างการจ่ายภาษีเงินได้ มาปล้นสิทธิของคนต่างจังหวัดเลย
https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy/posts/668072886570781:0
( ข้อมูลประกอบ: http://goo.gl/zXFgnx
และ http://goo.gl/iAYue1 )

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่