ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะก้าวผ่านปัญหาด้านแรงงาน?

ผมพยายามเขียนให้สั้น เอาเฉพาะประเด็นที่อยากนำเสนอนะครับ

ประเทศไทยเกิดการขาดแคลนแรงงานมานานแล้ว และต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก แรงงานเหล่านี้มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ แต่ก็แฝงไว้ด้วยปัญหาหลายประการ ทั้งจากด้านนายจ้างและด้านของแรงงานเอง จึงเกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทเรื่องแรงงานในปัจจุบันทั้งภาคประมง อุตสาหกรรมทูน่า ฟาร์มไก่ และภาคการเกษตร ทำให้เป็นจุดที่ถูกโจมตีจากสังคมโลก (บรรดาผู้มีมนุษยธรรมทั้งหลาย รวมถึงพวกที่หาเลี้ยงชีพด้วยเรื่องมนุษยธรรม) และเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่นับวันจะถูกยกให้เป็นประเด็นหลักในการกีดกันสินค้าจากประเทศไทย

ไม่เท่านั้น ลักษณะการผลิตของอุตสาหกรรมข้างต้น ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ต้นทุนด้านแรงงานถือเป็นต้นทุนหลักอย่างหนึ่ง โดยเงินที่จ่ายไปก็ไหลออกไปนอกประเทศอย่างมหาศาล

การจะแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน เราต้องเพิ่มต้นทุนอีกไม่รู้เท่าไหร่ ในการยกระดับความเป็นอยู่และสวัสดิการของแรงงาน ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานที่ต่างชาติกำหนดให้เรา อย่างเช่น มาตรฐาน BSCI, SEDEX, SA8000 ซึ่งไหนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำมาตรฐานเหล่านี้อีกก้อนใหญ่ ด้วยการ Audit และค่อนข้างแน่ใจว่าระบบต่างๆเหล่านี้มีถูกปรับปรุงเพิ่มเติมข้อกำหนดต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต มากขึ้นเรื่อยๆ

มีคำถามว่า เราจะแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้อย่างไร?

การแก้ปัญหาแบบตรงๆที่ผมอยากได้คือ การลดการใช้แรงงาน โดยการใช้เครื่องจักรมาทดแทนให้มากที่สุด

แต่ปัญหาคือ การพัฒนาระบบ automation มาทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ต้องใช้งบวิจัยพัฒนาอีกมหาศาลเช่นกัน ลำพังบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะลงทุนเรื่องนี้ก็ต้องทุ่มงบมากมายแต่จะไม่เกิดความได้เปรียบในระยะยาว เพราะอีกไม่นานผู้ผลิตรายอื่นก็จะลอกเลียนแบบไปใช้ โดยมีต้นทุนที่น้อยกว่ามากๆ เรียกว่าทำก่อนเสียเปรียบก็ว่าได้

ดังนั้นผมคิดว่า รัฐต้องเป็นฝ่ายสนับสนุน ด้วยการให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งแน่ใจว่าสามารถหาบุคลากรที่ดีๆ มาพัฒนาระบบ Automation ให้เป็นเทคโนโลยีของส่วนกลาง โดยรัฐสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาระบบ และเผยแพร่ให้ผู้ผลิตนำไปใช้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ด้วยสำหรับการเริ่มต้น

หากเรายังปล่อยให้ปัญหาแรงงานมีอยู่ต่อไป เราก็จะโดนกีดกันไม่จบสิ้น ต้องใช้เงินอีกไม่รู้เท่าไหร่ใส่ลงไปเพื่อแก้ปัญหา แต่กลับไม่ยั่งยืน เพราะความต้องการของแรงงานมีเพิ่มมากขึ้นเสมอ และไม่มีจำกัด

นอกจากนี้ยังมีบรรดา NGO ต่างๆที่หากินอยู่กับการเรียกร้องเพื่อสิทธิแรงงาน นักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับเงินทุนจากแหล่งต่าง ที่พยายามจะสรรหาเรื่องใหม่ๆ มาเล่นงานผู้ผลิตอยู่เสมอ เพราะงานของพวกเขาไม่สามารถอยู่กับที่ได้ (ไม่มีงานก็ไม่มีทุนสนับสนุน)

ที่น่าขำคือ ต้นทุนเหล่านี้ ผู้ซื้อจากต่างประเทศไม่เคยสนใจนะครับ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าจากประเทศที่บูชาสิทธิมนุษยชนสูงส่งแค่ไหน มาตรฐานต่างๆจะถูกนำมาบีบบังคับให้เราต้องทำ แต่ต้นทุนของมันจะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนมาบอกว่าผู้ผลิตว่า เฮ้ ยู เพิ่มสวัสดิการให้พนักงานของยูมากหน่อยสิ แล้วบวกค่าใช้จ่ายเข้าไปในราคาสินค้าได้เลย มีแต่จะซื้อของถูกที่สุด ถ้าคุณทำระบบมาตรฐานนี้ แต่ราคาสูงกว่าผู้ผลิตอื่นที่ไม่ได้ทำ ลูกค้าก็จะบอกว่า ราคาตลาดควรจะเป็นแค่นี้นะยู ของยูแพงไป ไอ ไม่ซื้อ (บ่นเราอีกต่างหาก ว่าต้นทุนเราสูงผิดจากชาวบ้าน)

สรุปการแก้ไขปัญหาที่อยากเห็นก็คือ การให้รัฐสนับสนุนเทคโนโลยีสำเร็จรูป และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ผลิตเปลี่ยนจากการใช้แรงงานมาเป็นระบบ Automation ด้วยระดับการลงทุนที่ไม่สูงเกินเอื้อม ลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือ และเพิ่มอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานฝีมือให้มากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้นด้วยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่