"สติบำบัด" พุทธวิธีกับการรักษาโรคทางใจ

นักบำบัดไทยพัฒนาโปรแกรม "สติบำบัด" นำแก่นของพุทธศาสนามาประยุกต์กับหลักจิตวิทยา พร้อมส่งออกความรู้ทั่วโลก ด้านกรมสุขภาพจิตเล็งเป้าผลิตนักบำบัดจิตทุกโรงพยาบาลที่มีการให้บริการสุขภาพจิต

          เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว หลังจากมีอาการซึมเศร้า แป้ง (สงวนชื่อ-สกุลจริง) ได้ไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งได้แนะนำให้เธอพบกับ "นักสติบำบัด"
"เขาจะเหมือนนั่งสมาธิก่อน แล้วตามลมหายใจตัวเอง ไม่ต้องท่องอะไร แค่รู้สึกถึงลมหายใจที่หายใจเข้าและออก" แป้งกล่าว ซึ่งเธอยอมรับว่าเมื่อกลับมาฝึกที่บ้านในช่วงแรก รู้สึกว่านานและต้องฝืน เนื่องจากไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน แต่พอนั่งไปประมาณสามถึงสี่วันก็รู้สึกดีขึ้น
แป้งได้ไปพบนักสติบำบัดทั้งหมด 8 ครั้ง โดยได้ฝึกการนั่งสมาธิและการสังเกตความเปลี่ยนแปลงในรางกาย ตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมถึงการเฝ้าดูความคิดของตนเอง แล้วติดป้ายความคิดเหล่านั้น เช่น เบื่อ กังวล คิดมาก ฟุ้งซ่าน
"เหมือนตั้งชื่อว่าเป็นความคิดนั้นคืออะไร แล้วพอจับความคิดนั้นได้ ความคิดนั้นมันจะค่อยๆ หายไป" เธอกล่าว "แป้งรู้สึกว่ามันเวิร์คมาก เพราะทำให้แป้งมีสมาธิและรู้ว่าตัวเองสามารถที่จะหยุดความคิดพวกนั้นที่มันเยอะแยะไปหมด ทำให้รู้ตัวมีสติมากขึ้น ใจเย็นมากขึ้น" เธอกล่าว

ideaพัฒนาการของไทยidea

          น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการที่มีกลุ่มผู้ที่เผยแพร่การวิปัสสนาในรูปแบบที่ไม่ใช่ศาสนาจากโลกตะวันออกไปยังตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนตะวันตกเริ่มสนใจเรื่องของวิปัสสนา โดยเริ่มมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นโปรแกรมสำหรับใช้ในวงการแพทย์ ชื่อ Mindfulness-based stress reduction สำหรับคนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และ Mindfulness-based cognitive therapy สำหรับคนไข้จิตเวช ถือว่าเป็นสองโปรแกรมหลักของสติบำบัดในตะวันตก


แนวคิดเรื่องสติบำบัดมาจากเรื่องสติในพระพุทธศาสนา

          ในประเทศไทยเองก็มีการบำบัดโดยใช้หลักของพุทธธรรมมาก่อน หรือที่เรียกว่า จิตวิทยาแนวพุทธ (Buddhist psychotherapy) ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งนำเอาหลักของเรื่องสมาธิและสติมาใช้ในการบำบัด โดยการแปลงสิ่งที่เป็นคำสอนทางศาสนาให้กลายเป็นภาษาจิตวิทยาง่ายๆ

          สิ่งที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อ น.พ.ยงยุทธและทีมงาน ได้เริ่มพัฒนาโปรแกรมสติบำบัด หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Mindfulness based therapy and counselling โดยผสมผสานการบำบัดโดยใช้จิตวิทยาแนวพุทธ และโปรแกรมสติบำบัดของต่างประเทศ โดยกรมสุขภาพจิต ในฐานะผู้ริเริ่มโปรแกรมนี้ ได้เริ่มระบบการให้การรับรองผู้บำบัดเมื่อสองปีที่แล้ว โดยเป็นโปรแกรมของไทยโปรแกรมแรกที่ทำเป็นระบบการรับรองด้วยการออกประกาศนียบัตร และขณะนี้มีผู้ที่ผ่านการรับรองเป็นผู้บำบัดอิสระ 20 คน

          ปัจจุบันประเทศไทยได้จัดอบรมอย่างเป็นระบบให้กับประเทศไต้หวัน ศรีลังกา พม่า และแคนาดา และมีแผนที่จะจัดอบรมให้กับประเทศฟิลิปปินส์และฮ่องกงในปีหน้า

     "เวลานี้เรื่องของการใช้สติ (Mindfulness) นี่มันมีมากจนมันมีคำล้อว่า "McMindfulness" เหมือน McDonalds อยากเรียนหนังสือเก่ง มาฝึกสติ อยากเป็นนักกีฬาที่ดี อยากจะเป็นนักดนตรีที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี มาเรียนเรื่องสติ" น.พ.ยงยุทธกล่าว "แต่ต้องระวังว่าสติที่เราเรียนรู้อยู่ไม่ใช่แค่สติกับกิจกรรมทางกาย เช่น เรียนหนังสือ เล่นดนตรี ซึ่งฝรั่งจะให้ความสำคัญค่อนข้างเยอะ แต่ของเราตัวที่ให้ความสำคัญมาก ก็คือเรื่องการมีสติต่อจิต โดยเฉพาะความคิดและอารมณ์ จะทำให้เกิดความสามารถในการปล่อยวาง แทนที่จะตามความโกรธไปและได้รับความทุกข์จากความโกรธ เราฝึกดูความโกรธ เราก็จะเห็นความโกรธเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่ต้องไปว้าวุ่นกับมันหรือได้รับผลร้ายจากมันมาก"

น.พ.ยงยุทธละทีมงาน ได้เริ่มพัฒนาโปรแกรมสติบำบัด โดยผสมผสานการบำบัดโดยใช้จิตวิทยาแนวพุทธ และโปรแกรมสติบำบัดของต่างประเทศ

ideaหัวใจของการฝึกจิตidea
     โปรแกรมสติบำบัดนั้นแบ่งออกเป็น 8 ครั้ง โดยมีการติดตามคนไข้ทุกหนึ่ง สาม และหกเดือน ซึ่งหลักๆ แล้วสิ่งที่คนไข้ต้องทำที่บ้านคือ ต้องฝึกจิตทุกวัน โดยแบ่งเป็นนั่งสมาธิ 10 นาที จับความรู้สึกของร่างกาย 10 นาที และติดตามความคิดอีก 10 นาที นอกจากนั้นยังต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติระหว่างวัน โดยการรู้ลมหายใจและรู้ในกิจที่ทำ

     "การนั่ง 30 นาทีนี้เป็นการสร้างวงจรการเรียนรู้ในสมองทุกวัน ให้สามารถที่จะพัฒนาความสงบภายใน แล้วก็ปล่อยวางได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเจอสถานการณ์จริง เช่น เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด เขาก็สามารถกลับมาทำให้ตัวเองสงบได้" น.พ.ยงยุทธ์กล่าว "หัวใจสำคัญที่สุดของโปรแกรมสติบำบัดคือ สติในความรู้สึก เช่น เวลาโกรธ แทนที่จะเป็น ฉันโกรธ ก็จะเป็น ฉันเห็นความโกรธ และสติในความคิด คือ แทนที่จะว่ามันเป็นอย่างที่ฉันคิดแล้วเราก็เลยมีความทุกข์จากความคิดนั้น ก็กลายเป็นฉันเห็นความคิด แล้วความคิดก็เพียงแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราก็ไม่ต้องไปเป็นทาสหรือยึดติดกับความคิดลบนั้น"

     นอกจากนั้นจะมีการประยุกต์ใช้สติกับเรื่องสัมพันธภาพ การเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างมีสติ ใช้อารมณ์ให้น้อยลง และมีสติในการเมตตาให้อภัย เป็นต้น

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


หัวใจสำคัญที่สุดของโปรแกรมสติบำบัดคือ สติในความรู้สึก

ideaต่อยอดงานวิจัยidea

     กว่า 4 ปีที่ น.ส.วิภาวี เผ่ากันทรากร พยาบาลวุฒิบัตร สาขาจิตเวชที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ใช้โปรแกรมสติบำบัดในการรักษาคนไข้ทั้งหมด 100-200 ราย

     "ทุกรายฟังก์ชันได้หมด 100% เช่น ทำงาน เรียนต่อได้ และกินยาน้อยลงทุกราย" เธอกล่าว

     กว่าหนึ่งปีที่ทำวิจัยกับคนไข้ 21 คน น.ส.วิภาวีพบว่าอาการซึมเศร้าของคนไข้เหล่านั้นลดลงได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการบำบัดทางจิตอย่างอื่น แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมสติบำบัดใช้ได้อย่างดีในกลุ่มคนไข้โรคซึมเศร้า ซึ่งถือว่าเป็นคนไข้ที่มีอุบัติการณ์สูงสุดในโรคทางจิตเวชทั้งหมด ซึ่ง น.พ.ยงยุทธ์กล่าวว่า แม้คนไข้กลุ่มนี้จะรักษาได้ผลดีด้วยยาก็จริง แต่ 70% มีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นซ้ำ

     ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หรือ 4% ของประชากรโลก เป็นโรคซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.4% ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคนหรือ 2.5% ของประชากรไทย และยังพบว่า ผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า

น.ส.วิภาวีใช้โปรแกรมสติบำบัดในการรักษาคนไข้ทั้งหมด 100-200 ราย พบว่าคนไข้ทุกรายมีอาการดีขึ้น

          นอกจากนี้ น.ส.วิภาวียังเคยใช้โปรแกรมสติบำบัดกับคนไข้จิตเภทเรื้อรังชนิดหวาดระแวง โดยให้รู้ลมหายใจในขณะที่ลืมตา

     "จากที่หลงผิดเยอะมาก ตอนนี้หลงผิดน้อยลง และความระแวงหายไป ปกติระแวงจนอยู่บ้านไม่ได้ ตอนนี้ไม่ระแวงมาปีกว่า" เธอกล่าว
ในอนาคต กรมสุขภาพจิตได้วางแผนที่จะทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบ และกำลังแปลคู่มือจากภาษาไทยเป็นอังกฤษ ทำให้โปรแกรมของประเทศไทยได้ออกสู่สายตาชาวโลกอย่างแท้จริง

     ทั้งนี้ น.พ.ยงยุทธกล่าวว่า ในอนาคตโปรแกรมสติบำบัดอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นปกติในโรงพยาบาลที่มีการให้บริการสุขภาพจิตและโรงพยาบาลจิตเวช โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลจิตเวชทั้งหมด 13 จาก 18 แห่งที่มีบริการสติบำบัด

     สมัยก่อนที่แป้งมีอาการเศร้ามาก เธอเล่าว่าเธอรู้สึกอยากจะร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ช่วงนอนจะนอนไม่ค่อยหลับ และมองรอบข้างในแง่ลบ รวมถึงเคยคิดฆ่าตัวตายด้วย ปัจจุบัน เธอฝึกสติวันละประมาณ 30 นาที ซึ่งเธอยอมรับว่าบางครั้งยังเลิกคิดความคิดในแง่ลบทันทีไม่ได้ แต่ความคิดเหล่านั้นจะไม่เยอะเหมือนแต่ก่อน
"เวลาเราเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่โอเคหรือพูดจาใส่เราไม่ดี ถ้าเป็นแต่ก่อน จะโกรธเขา โมโหเขา เอาเรื่องที่เคยผ่านๆ มามารวมกัน แต่พอตอนนี้เราจะเหมือนกับติดป้ายว่าคิดลบแล้วนะ จะรู้ตัวว่าคิดลบกับเขา โกรธแล้วนะ โมโหแล้วนะ แล้วสักพักหนึงมันก็จะหายไป จากที่คิดลบจะคิดบวกไป จากที่โกรธจะโกรธน้อยลงเรื่อยๆ" แป้งกล่าว


บทความโดย
นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่