สติปัฎฐาน๔หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก กับ "อภิชฌา และ โทมนัส"

......ยะทิทัง จัตตาโร สะติปัฏฐานา. ทางนี้คือสติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔ อย่าง,
กะตะมา จัตตาโร. สติปัฏฐาน ๔ อย่าง คืออะไรบ้าง?,
อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆอยู่,....
.........เวทะนาสุ เวทะนานุปัสสี วิหะระติ. เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ,........
.........จิตเต จิตตานุปัสสี วิหะระติ. เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆอยู่,............
.........ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆอยู่,
อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา. มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ,
วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง. พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ,
อุทเทโส จบอุทเทส.

...วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง.= พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ....
โลกคืออะไร?
ลองดู"โลกสูตร"ตามนี้ครับ
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งโลก
เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน ความเกิดแห่งโลกนั้น คือ อาศัย
จักษุ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)และรูป เกิดจักขุ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)วิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะ
เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหา
เป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็น
ปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสนี้เป็นความเกิดแห่งโลก ฯลฯ....

นี่จะเห็นว่า เมื่อ อายตนะของอุปาทานขันธ์ เกิด ผัสสะ ขึ้น
ก็จะเกิด เวทนา ทำให้เกิดความชอบ(อภิชฌา) ความชัง(โทมนัส)ในโลก(ในวงจร ปฎิจจสมุปบาท)ขึ้น
แต่ถ้ามี"อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา"แล้วปฎิบัติจน"สติ"นั้นกลายเป็น"มหาสติ" (สติเกิดต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ)แล้ว
ผู้ปฎิบัติก็จะอยู่ในปัจจุบันขณะตลอดเวลา
ซึ่งจะทำให้เมื่อเกิดผัสสะแล้ว อภิชฌา และโทมนัส ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้

ลองดูตามนี้ครับ

(จาก การฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
         ...ส่วนการสำรวมระวังใจ  ถ้าอยู่เฉยๆ ใจไม่มีเครื่องอยู่  ให้เอาคำบริกรรมอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องอยู่มาเป็นหลักผูกใจ  เช่น  พุทโธ  อานาปานสติ  ตามลมหายใจเข้าออก  ยุบหนอพองหนอ  หรือสัมมาอรหังก็ได้    เอาอันนั้นมาเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน  นึกคิดอยู่เสมอๆจนเป็นอารมณ์  มีสติควบคุมจิตอยู่ตรงนั้นแหละ  จิตอยู่ที่ใดให้เอาสติไปตั้งตรงไว้ในที่นั่น  จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต  รักษาจิต  ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด  ธรรมดาของจิตมันต้องมีคิดมีนึก  แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ  คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ  เรียกว่า  บริกรรมภาวนา

         การบริกรรมภาวนานี้มิใช่ของเลว  คนบางคนเข้าใจว่าเป็นของเลว เป็นเบื้องต้น  ที่จริงไม่ใช่เบื้องต้น  ธรรมไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดหรอก  ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ   ถ้าหากสติอ่อนเมื่อไรก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น   สติแก่กล้าเมื่อไรก็เป็นท่ามกลางและที่สุดเมื่อนั้น  คือหมายความว่าสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ  จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน  จะยืน  เดิน  นั่ง  นอน ในอิริยาบถใดๆทั้งหมด มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ  แต่มันเป็นของมันเอง  สติควบคุมจิตไปในตัว   เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ    เมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  ลิ้นลิ้มรสต่างๆ  กายได้สัมผัส  มันก็เป็นสักแต่ว่า  สัมผัสแล้วก็หายไปๆ  ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์  ไม่เอามาคำนึงถึงใจ  อันนั้นเป็น "มหาสติ"  แท้ทีเดียว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่