JJNY : ‘ไชยันต์’ ชี้ หากประเทศไม่เป็นปชต.สมบูรณ์ ‘ปรีดี’ จะโดนขุดเรื่องเท็จโจมตีต่อไป

วงถกแนวคิดปรีดี มธ. ชี้ ถ้าไทยยังไม่เป็นปชต.สมบูรณ์ “ปรีดี” จะต้องโดนขุดเรื่องเท็จโจมตีต่อไป หวังใช้ประโยชน์ รื้อฟื้น “ระบอบเจ้าขุนมูลนาย”

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 11 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย” เนื่องจากวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560 โดยมี นายไชยันต์ รัชชกูล จากคณะรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายบริหารและความยั่งยืน และนายปฤณ เทพนรินทร์ จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร่วมอภิปราย

นายไชยันต์ กล่าวว่า จะเห็นว่า นายปรีดีถูกโจมตีมากกว่าใครในคณะราษฎร และเป็นการโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสะท้อนความสำคัญของนายปรีดี ตนมองว่า ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นายปรีดีจะไม่ถูกโจมตีนานเท่านี้ เพราะโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยยังเป็นเหมือนเดิม ขณะที่ยุทธวิธีในการทำลายประชาธิปไตยก็ยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งนายปรีดีมักถูกโจมตีหลายเรื่อง เช่นเป็นคน มักใหญ่ใฝ่สูง ชิงสุกก่อนห่ามตัดหน้าเอาเครดิตเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมาพร้อมกับความพยายามฟื้นฟูอิทธิพลของเจ้าขุนมูลนายด้วย ขณะที่การทำลายพลังประชาธิปไตย ก็ยังเป็นแท็กติกเดิมๆ ยุทธวิธียังเป็นเหมือนกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2490 พรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นพรรคเดียวกันกับที่เคยล้มประชาธิปไตยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ทำการอภิปรายกล่าว ในสภาเป็นเวลา 8 วัน 8 คืน จนรัฐบาลซวนเซ เสียเครดิตเพื่อปูทางให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2557 เพียงแต่ว่า ไม่ได้มีแต่ในรัฐสภาเท่านั้นเพราะสภาพทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็น การเมืองมวลชน จึงใช้มวลชน บั่นทอนทำลายรัฐบาล และเชื่อว่า แท็กติกนี้จะถูกใช้ต่อไป

“หลังเกตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 อาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่าจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ เมื่อมองย้อนกลับไปข้อความนี้สำคัญมาก หมายถึงเมื่อชนะแล้วต้องพิทักษ์ไว้ เพราะคณะราษฎรชนะแต่เขี่ยลูกไปให้พระยามโนปกรณ์ มาเป็นนายกฯส่วนเจตนารมณ์คือความมุ่งมั่นในความปรารถนาประชาธิปไตยมันอยู่กับเราวันหนึ่งเราจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่ง ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหายตราบใดที่ยังมีความพยายามรือฟื้นระบอบเจ้าขุนมูลนายตราบนั้นปรีดี พนมยงค์ ก็จะยังมีความหมายกับสังคมไทย” นายไชยันต์ กล่าว

นายปริญญา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย ที่นายปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้มาใช้เป็นฉบับถาวร แต่ร.7 เห็นว่า ควรเป็นฉบับชั่วคราวก่อน โดยเฉพาะ คำปรารภเพราะมันเป็นรอยต่อ ระหว่าง ระบอบสมบูรณาญสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรขอร้องให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อการพัฒนาของชาติ และทรงยอมรับตามคำร้อง เป็นที่มาของมาตรา1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหลักการที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ โดยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนประเด็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่นายปรีดีพูดถึงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะ ความแตกต่างทางแนวคิดทางเศรษฐกิจของลัทธิมาร์กซ์ กับปรีดีต่างกันคือ ความเสมอภาคของระบอบประชาธิปไตยภาคคือโอกาสคือคนทำมากได้มาก คนทำน้อยได้น้อย เป้าหมายของปรีดีมุ่งไปที่โอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดิน

“แต่น่าเสียดายที่ปรีดีก้าวหน้าเกินไปในตอนนั้น ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าได้ ประชาชนต้องเป็นพลเมืองมีความรับผิดชอบต่อประชาชน สิ่งที่จะช่วยคือการศึกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2476 จึงก่อตั้งม.ธรรมศาสตร์ขึ้น ผมชื่นชม นายปรีดีมาก ที่เคยยอมรับว่า ตัวเองผิดพลาด ที่พูดว่าตอนที่ข้าพเจ้ามีอำนาจข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์แล้ว ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจเราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้ในวันข้างหน้า” นายปริญญา กล่าว

นายปฤณ กล่าวว่า แนวคิดประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของนายปรีดี เป็นการประณีประนอมระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ จะเกิดความเป็นไปได้ ถ้ามีชาตินิยมของประชาชน ที่ผ่านมา นายปรีดีตระหนักและเข้าใจระบอบเก่า พร้อมทั้งลงหลักปักฐานระบอบใหม่ บทเรียนที่ได้จากหลักการแบบนี้คือ ความพยายามเปลี่ยนการเมืองให้พร้อมรับมือกับเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องอยู่ภายใต้ชนชั้นนำที่เข้มแข็งยาวนาน เพราะคนเหล่านี้ครอบครองทรัพยากรทั้งกำลัง และความคิด รัฐประหารครั้งนี้หลายคนเชื่อจริงๆว่า จะมีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เชื่อในคำสัญญาว่า พวกเขาจะเมตตาแบบนั้นจริงๆ แต่หากต้องการให้คนตัวเล็กมีส่วนร่วม ก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง อย่างน้อยนักการเมืองเหล่านั้น ประชาชนชนกดดันได้ ทั้งยังต้องมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อคัดค้านต่อรองผู้มีอำนาจ เพื่อเข้าถึงทรัพยากร ตามหลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จริงๆ

“การประณีประนอมกับระบอบเก่าของปรีดี เป็นไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เราเห็นดุลยความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่ผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าได้บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ตอนนี้ความแตกแยกพัฒนามาไกลมาก ผู้คนรู้สึกขมคอ หากต้องให้ญาติดีกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เงื่อนไขสำคัญในความสำเร็จของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือการประณีประนอมต้องค่อยๆเริ่มจากคนที่พอคุยกันได้แล้วเริ่มขยายไป เพื่อคว้าโอกาสที่เราสามารถสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ได้ มรดกทางภูมิปัญญาของปรีดีเหมาะสำหรับคนที่แสวงหาสังคมไทยที่ดีกว่า ในช่วงศักราชใหม่ที่เรากำลังผูกตัวเข้ากับทุนนิยมอย่างเข้มข้น” นายปฤณ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่