หนึ่งในวิธีการรักษาอำนาจการเมืองของรัฐทหารในช่วงสมัย 3 จอมพล - ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

จาก ป.-สฤษดิ์-ถนอม&ประภาส จากปี 2494-2513 หรือสองทศวรรษ คือ ใช้ชื่อนายปรีดี พนมยงค์ เป็นปีศาจคอมมิวนิสต์สังกัดจีนแดงปักกิ่ง

ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526) เข้าสู่สนามการเมืองไทยเมื่ออายุ 26 ปี ขณะที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศส โดยร่วมกับเพื่อนอีกรวม 7 คน ก่อตั้ง คณะราษฎร (the People’s party) เพื่อปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการเมืองจาก the Absolute Monarchy เป็น Democracy และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเมื่อปี 2475 ขณะอายุ 32 ปี

ปรีดีเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรที่เป็นเป้าของการกำจัดออกจากเวทีทางการเมืองเป็นคนแรก จากฝ่ายระบอบเก่าและกลุ่มอนุรักษ์นิยม ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2476 ได้ออกกฎหมาย “คอมมิวนิสต์” ด้วยอำนาจคณะรัฐมนตรีเพื่อกำจัดปรีดีคนเดียวโดยตรง

ปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ แต่สถานการณ์พลิกกลับเมื่อคณะราษฎรสายทหารทำการรัฐประหารครั้งที่ 2 เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 ล้มรัฐบาล “มโนเครซี” (Monocracy)

ปรีดีได้กลับประเทศ และสามารถทำงานเพื่อสร้างชาติไทยใหม่ตามแนวทางนโยบาย 6 ข้อของคณะราษฎร

แต่เพียง 5-6 ปีเท่านั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น ทำให้แนวทางลัทธิทหารและลัทธิเชื่อผู้นำสามารถครอบครองอำนาจทางการเมืองและสร้างฐานเศรษฐกิจให้กับทหาร ส่วนฝ่ายพลเรือนและ ส.ส. เคลื่อนไหวใต้ดิน

รัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะญี่ปุ่น ทำให้สามารถเป็นรัฐบาลเผด็จการโดยกฎอัยการศึกทั้งประเทศ

ขณะที่ฝ่ายพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พยายามประสานกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งสหรัฐและจีน และสร้างขบวนการเสรีไทย

หลังสงครามโลกยุติ ปรีดีและเสรีไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่แพ้สงคราม ฝ่ายพลเรือนมุ่งฟื้นระบอบประชาธิปไตยสากลขึ้นอีกครั้ง

แต่จุดอ่อนประการสำคัญคือการที่ไทยไม่ถูกลงโทษทำลายด้านการทหารกองทัพเหมือนเช่นญี่ปุ่นและเยอรมัน ที่ทำให้ไม่มีการเกณฑ์ทหารอีกต่อไป ไม่มีกองทัพ ไม่มีงบประมาณกลาโหมที่สิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์ในโลกยุคใหม่ ทำให้ทั้งสองประเทศนั้นมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศและสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน

เพียงสองปีต่อมา ทหารก็ทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นพฤศจิกายน 2490 นับตั้งแต่นี้มา รัฐทหารไทยก็สร้างตัวให้เข้มแข็งขึ้น

ปรีดีก็ต้องหนีตายลี้ภัยไปต่างประเทศ แม้จะพยายามกลับเข้ามาช่วงชิงอำนาจกับทหารไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยอีกครั้งในต้นปี 2492 แต่ก็พ่ายแพ้ และได้ลี้ภัยไปอยู่จีนสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

จีนได้เปลี่ยนเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงปลายปี 2493 ปรีดียังคงได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยต่อไป

เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนเป็นการสู้กันระหว่างโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐ กับโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยโซเวียตและจีนแดง รัฐบาลทหารไทยก็กระโจนเข้าอยู่ข้างสหรัฐ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่