เรื่องพระเล่นหุ้น ถึงขั้นปาราชิกเลยหรือ?

เมื่อคืนผมได้ดู ทีวี ช่องหนึ่ง ที่อัยการได้ทำการตรวจสอบ การเงินของวัดธรรมกาย แล้วตรวจพบ พระธรรมกายเอาเงินวัดไปให้ ฆราวาส หรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่สงฆ์ เพื่อทำการซื้อขายหุ้น ซึ่งขาดไปจากการเป็นทรัพย์สินของวัด อย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีหลักฐานกู้ยืมใดๆ ไว้จากวัด หมายความว่าเงินนั้นได้หายไปจากทรัพย์สินของสงฆ์ ไม่สามารถเรียกคืนได้ ด้วยไม่มีสัญญาใดๆ รองรับอยู่.

       พระภิกษุ ผู้กระทำนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปเดียวหรือเป็นคณะ ย่อมรู้เรื่องศีล ข้อห้ามไม่อนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ ทำการซื้อขาย แสวงหาทรัพย์ด้วยการลงทุนซื้อขายย่อมผิดศีล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้.

       เมื่อยังฝืนกระทำ โดยแอบบังซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้ผู้อื่นรู้ นั้นแหละย่อมเกิดไถยจิต(คิดจะลักขโมยแล้ว) โดยทำให้ทรัพย์ของสงฆ์เคลื่อน จากบัญชีของสงฆ์ ไปเป็นของบุคคลอื่น หรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สงฆ์ โดยไม่มีนิติกรรมสัญญาว่าทรัพย์นั้นยังเป็นของสงฆ์อยู่ หรือเพื่อบริจากแก่ผู้ยากไร้ขัดสน หรือเพื่อประโยชน์กับสังคมที่ยังขาดปัจจัย 4 หรือเพื่อประโยชน์กับสงฆ์อื่น(แต่ก็ต้องมีหลักฐานเอกสารยื่นยันอยู่ดี) ก็เป็นลักษณะของการขโมยทรัพย์หรือเงิน นั้นเอง   ผู้ที่กระทำนั้นก็ขาดจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์ทันที่ ณ. ขณะนั้น เพราะรู้อยูว่าผิดศีลเล็กน้อย แต่ฝืนเกิดไถยจิตจนผิดศีลปาราชิกนั้นเอง แม้ว่าจะหลอกลวงว่าตนยังห่มเหลืองหัวล้านอย่ก็ตาม.

       ถ้าตามตุกตา หรือตัวอย่างที่ผมเสนอไว้ ทำนเห็นว่า ผู้กระทำนั้นถึงขั้นผิดศีลปาราชิกตามธรรมวินัยแท้จริงหรือยัง ?.   

       หมายเหตุ ตามธรรมจริงๆ แล้วไม่จำเป็นว่าต้องมีผู้ใดตัดสิน เพราะกรรมนั้นได้สมบูรณ์แล้วในขณะที่ได้กระทำลงไปแล้ว นั้นเอง.  ผู้ที่เชื่อเรื่องกรรมหรือไม่เชื่อเรื่องกรรม นั้นเป็นเรื่องของทิฏฐิความเห็นทั่วไป   แต่ธรรมชาติของกรรม ย่อมส่งผลไปตามกำลังตามลำดับของกรรม เป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง.
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ทุติยปาราชิก ขาดความเป็นภิกขุเพราะลักขโมย

โย ปะนะ ภิกขุ คามา วา อะรัญญา วา อะทินนัง…

“อนึ่ง ภิกขุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารเสียแล้ว จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้างด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกขุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกขุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์.
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปที่เป็นมิตรสหายกัน ได้ทำกุฏีหญ้า จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นด้วย. ภิกษุอื่น ๆ
เมื่ออกพรรษาก็รื้อกุฎีหญ้า เก็บหญ้า เก็บไม้ แล้วจาริกไปสู่ชนบท
ส่วนพระธนิยะคงอยู่ในที่นั้นไม่ไปไหนตลอด 3 ฤดู ขณะที่เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน
พวกคนเก็บหญ้า เก็บไม้ มารื้อกุฎี นำหญ้าและไม้ไป
ท่านต้องทำใหม่ แต่พวกนั้นก็มารือ ขโมยหญ้าและไม้ไปอีกถึง ๓ ครั้ง
ท่านพระธนิยะจึงคิดสร้างกุฎีดิน เพราะเป็นผู้ชำนาญในการผสมดินปั้นหม้อมาก่อน
เมื่อตกลงใจดั่งนั้น จึงเอาดินเหลวมาขยำ แล้วทำเป็นกุฎีดินล้วน เอาหญ้าไม้และมูลโคมาสุมกุฎีที่ทำไว้แล้ว ให้เป็นกีฎีดินเผา สวยงามมีสีแดงดังตัวแมลงเต่าทอง
(อินทโคปกะ อาจแปลได้ว่า หิ่งห้อย แมลงทับ แต่ทั้งสองชนิดนี้ไม่มีสีแดง การแปลคำนี้ในที่นี้ เป็นปัญหาที่ค้นคว้ากันมากในผู้ศึกษาภาษาบาลีหลายประเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่า ได้แก่แมลงเต่าทอง (Lady birds) แมลงชนิดนี้ โดยปกติตัวสีแดง มีจุดดำ แต่ที่ตัวสีเหลือง ก็มีบ้าง)
กิตติศัพท์ของกุฎีนี้ที่ว่าสวยงาม แพร่ไป
พระพุทธเจ้าทรงทราบ ตรัสสั่งให้ทุบทำลายเสีย เพื่อมิให้ภิกษุรุ่นหลังเอาอย่าง
เพราะการขุดดินเอามาทำกุฎี อาจทำสัตว์ให้ตายได้
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำกุฎีดินล้วน ปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด

ท่านพระธนิยะไม่ยุติเพียงเท่านั้น
เข้าไปหาคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง
เล่าความให้ฟังถึงเรื่องที่คนรื้อกุฎีหญ้า ขโมยหญ้า และไม้ไปถึง ๓ ครั้ง
ท่านจึงคิดทำกุฎีดินเผา ก็ถูกสั่งให้ทำลายเสีย
จึงมาขอไม้จากคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง
คนเฝ้าปฏิเสธว่า ตนไม่มีไม้ที่จะให้ มีแต่ไม้ที่เป็นของพระราชาหวงแหน
เพื่อใช้ซ่อมพระนคร เก็บไว้ในคราวมีอันตราย
ถ้าพระราชาพระราชทานก็นำไปได้
พระธนิยะตอบว่า พระราชาพระราชทานแล้ว
คนเฝ้าโรงไม้เชื่อว่าเป็นพระคงไม่พูดปด จึงอนุญาตให้นำไป
ท่านพระธนิยะก็นำไม้มาตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยใส่เกวียนขนไปทำกุฎีไม้.

เมื่อวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ มาตรวจ พบว่าไม้หายไป จึงไต่สวน
แล้วนำความกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร
มีรับสั่งให้นำตัวคนเฝ้าโรงไม้เข้าไปเฝ้า เขาจึงถูกมัดนำตัวไป
ท่านพระธนิยะเห็นคนเฝ้าไม้ถูกมัดนำตัวไป จึงสอบถามได้ความแล้ว ก็ตามไปด้วย
พระเจ้าพิมพิสารถวายนมัสการท่านพระธนิยะ
แล้วตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือที่ว่า พระองค์ถวายไม้นั้น
ท่านพระธนิยะตอบว่า เป็นความจริง
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า พระองค์เป็นพระราชา มีกิจธุระมาก ถวายไปแล้ว อาจนึกไม่ออกก็ได้
ถ้าท่านพระธนิยะนึกออก ก็ขอให้ชี้แจงมา
ท่านพระธนิยะทูลถามว่า
ทรงระลึกได้หรือไม่ ที่ทรงเปล่งวาจาในวันอภิเษกเสวยราชย์ว่า
หญ้า ไม้ และน้ำ เป็นอันข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ขอจงใช้สอยเถิด
ตรัสตอบว่า ทรงระลึกได้ แต่ที่ตรัสอย่างนั้น
ทรงหมายสำหรับสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย ผู้มีความรังเกียจ
หมายถึงเป็นผู้มีศีลอันดี ย่อมละอายใจ รังเกียจในความชั่ว แม้มีธุระจะใช้หญ้าใช้ไม้เล็กน้อยในป่า ก็ไม่กล้าใช้ จึงประทานอนุญาตไว้ ไม่ได้หมายอนุญาตของในเมือง
ใคร่ต่อการศึกษา ผู้เกิดความรังเกียจ แม้ในความชั่วเพียงเล็กน้อย
และทรงหมายถึงสิ่งของที่ไม่มีใครหวงแหนในป่า
ท่านถือเอาไม้ที่มิได้ให้ด้วยเลสนี้
คนอย่างพระองค์จะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศสมณะหรือพราหมณ์ได้อย่างไร
ท่านจงไปเถิด ท่านพ้นเพราะเพศ (บรรพชิต) ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก

มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนด้วยประการต่าง ๆ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค
จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน
เมื่อท่านพระธนิยะรับเป็นสัตย์แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปเปล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว”

จึงทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
ซึ่งเข้ามาบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้
ทรงประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร
ก็ได้รับคำตอบว่า บาทหนึ่ง
ราคาบาทหนึ่ง หรือ 5 มาสกของนครนั้น มีราคาสูงพอใช้ เพราะในเรื่องตัวอย่างบางเรื่อง ผ้าโพกที่ขโมยมาจากตลาด ราคายังไม่ถึงบาทหนึ่งด้วยซ้ำ ดูวินัยปิฎก เล่ม 126 แต่ผ้าโพกที่ราคาถึง ปรับอาบัติปาราชิกก็มีในหน้า 108
หรือมีราคาเท่ากับบาทหนึ่ง หรือเกินกว่าบาทหนึ่ง
ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ บาทหนึ่งเท่ากับ 5 มาสก
จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้
ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก 6 คือเป็นพวกร่วมใจกัน 6 รูป)
ไปที่ลาน (ตากผ้า) ของช่างย้อมขโมยห่อผ้าของช่างย้อมนำมาแบ่งกัน
ความทราบถึงภิกษุทั้งหลาย เธอแก้ตัวว่า
นี่เธอไปลักในป่า ไม่ได้ลักในบ้าน
สิกขาบทที่บัญญัติมุ่งหมายถึงลักในบ้าน
(ความจริงในตัวสิกขาบท มิได้ระบุสถานที่)
แต่เพื่อที่จะปิดมิให้ข้อโต้เถียงต่อไป
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า
ลักของจากบ้านก็ตาม จากป่าก็ตาม
(ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิก).

ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายสิกขาบททุกคำโดยละเอียด
พร้อมทั้งเติมถ้อยคำที่กันข้อแก้ตัว เช่น
คำว่า ของตั้งอยู่บนพื้น บนบก บนอากาศ (เช่น นก) บนเวหาส (เช่น ของแขวนไว้)
ในน้ำ บนเรือ บนยาน บนเครื่องแบก (เช่น ศีรษะ, สะเอว)
ในอาราม ในวิหาร ในนา ในสวน ในบ้าน ในป่า เป็นต้น

อนาบัติ ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ มี 8 ประการ
ภิกษุถือเอาด้วยเข้าใจว่าเป็นของตน (หยิบผิด)
ถือเอาด้วยเข้าใจว่าคุ้นเคยกัน แม้เจ้าของรู้ก็คงไม่ว่า
ถือเอาโดยเป็นของยืม
ถือเอาของที่ผู้ล่วงลับไปแล้วหวงแหน (ไม่รับรองสิทธิของคนที่ตายไปแล้ว เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกต่อ)
ถือเอาของที่สัตว์หวงแหน (เช่น เสือกัดเนื้อตาย ภิกษุถือเอามาบางส่วน เพื่อเป็นอาหาร)
ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา คือเข้าใจว่าเป็นของเขาทิ้งแล้ว
ภิกษุเป็นบ้า วิกลจริต
ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

ต่อจากนั้น มีการแสดงตัวอย่างที่ภิกษุทำไปเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ในลักษณะต่าง ๆ กัน ประมาณ ๑๔๙ เรื่อง พระผู้มีพระภาคทรงวินิจฉัยไต่สวนแล้ว ทรงชี้ขาดว่าต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ตามควรแก่กรณี

วิภังค์ (จำแนกความ)

ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่าทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้

บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่ มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก.

บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย.

ที่ชื่อว่า เห็นปานใด คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี

คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้นแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใดภิกขุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไมได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นการ กระทำผิดตามสิกขาบทดังกล่าวจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

องค์แห่งอาบัติ
เป็นของผู้อื่นเป็นชาติมนุษย์หวงแหนอยู่
สำคัญรู้ว่า เป็นของผู้อื่นหวงอยู่
ของนั้นราคาบาทหนึ่งหรือราคากว่าบาทหนึ่งขึ้นไป
จิตเป็นขโมย
ลักได้ด้วยอวหาร (อาการที่ถือว่าเป็นลักทรัพย์) อย่างใด อย่างหนึ่ง
พร้อมด้วยองค์ 5 นี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 124)
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ผมเชื่อว่า นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงวันนี้ ไม่มี "พระที่ดี" คนไหนที่เกี่ยวข้องกับเงินทอง

ทั้งหมดล้วนเป็นอลัชชีทั้งสิ้น

ธัมมชโนมักจะบอกว่าไม่เคยจับเงิน ผมเองก็เป็นนักธุรกิจ ตั้งแต่สร้างตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน 20 กว่าปี หากไม่นับเงินสดเล็กๆ น้อยๆ หลักร้อย หลักพัน พกติดตัว ก็แทบไม่ได้จับเงินเลยเช่นกัน

การจ่ายเช็ค โอนเงิน (รวมถึงบัตรเครดิต) มันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ

รายละเอียดอื่นๆ เช่น คนบริจาคให้ธัมมชโย แต่ธัมมชโยไม่ได้จับเงิน ผมไม่พูดถึงนะครับ มันไร้สาระมาก

การบวชเป็นพระ หากเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก โอกาสปาราชิกสูงกว่า 90% หากนำไปใช้นอกเหนือจากเรื่องวัด บางทีอาจจะ 100%

แต่ที่แน่ๆ ผมมีความเห็นคล้ายอาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ คือ หากเกี่ยวข้องกับเงินทอง จะมีผู้หญิง (หรือไม่ก็ผู้ชาย) มาเกี่ยวข้อง (อาจารย์ใช้คำว่า "ที่ใดมีเงิน ที่นั่นมีเลี่ยน" เปลี่ยนจาก "ล" เป็น "ง" นะครับ)

แต่ถึงยังไง ผมก็ยังเชื่อว่าสาวกธรรมกายมองไม่ออกแน่ ยังคงเคารพศรัทธา เช่นเดียวกับสาวกอลัชชีอื่นๆ มีทางเดียวคือ ต้องเห็นนอนกับใครสักคนเท่านั้น

ผมได้แค่บ่นนะครับ เพราะการจะจัดการอลัชชีพวกนี้ มาเจาะจงเป็นรายๆ คงไม่ได้ (และไม่คุ้ม) ต้องคิดเป็นภาพใหญ่ ภาพรวม ออกเป็นกฏหมาย ซึ่งก็คือการปฏิรูปพระพุทธศาสนาใหม่นั่นเอง

เราเคยมีรัฐบาลที่ไม่ดีมานาน ประชาชนก็ให้ความสำคัญกับการเมืองไม่มากนัก แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เรากำลังเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น เริ่มจะเต็มใบมากขึ้น ก็คงต้องอาศัยช่วงเวลานี้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่