Begin Again (2014): เริ่มใหม่ในขวดเก่า

กระทู้สนทนา
คืนนี้ได้ดูหนังไตรภาคแห่งเสียงเพลงของจอห์น คาร์นีย์ ครบเสียที แม้จะไม่เรียงลำดับ เพราะพอจะรู้ว่าหนังเพลงเรื่องที่สองของเขานี้ค่อนข้างเป็นงานตลาดกว่า Once (2006) หนังในดวงใจของปีนั้น และ Sing Street (2016) ซึ่งก็กลายเป็นหนังดวงใจของปีที่แล้วเช่นกัน จนไม่คิดอยากดูเรื่องนี้เพราะต้องการเก็บความประทับใจของทั้งสองเรื่องแรกไว้

แต่เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่เราควรหาแรงบันดาลใจในการเริ่มอะไรใหม่ ๆ ตัวเลือกนี้ก็คงไม่เลวเกินไปนัก และเมื่อชมจบก็พบว่ามันดีกว่าที่คิดไว้จริง ๆ แม้อาจไม่เทียบกับอีกสองเรื่องของผู้กำกับคนนี้

แน่นอนว่าพื้นฐานหนังทั้งสามเรื่องของผู้กำกับคนนี้คือความรักในดนตรี แต่หากจะนิยาม Once คงเป็นเรื่องของความเชื่อ(ในการพาชีวิตไปสู่ทางที่ดีขึ้นและเกื้อกูลแก่กันของพระนาง), Sing Street คงเป็นเรื่องของความฝัน (ของทุกคนตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน และตัวเองในเรื่อง), ส่วน Begin Again ก็เป็นตัวแทนความรัก (ทั้งของหนุ่มสาว ครอบครัว และดนตรี)

จุดอ่อนของ Begin Again ก็เป็นตามคาดคือ การทำหนังระดับสตูดิโอใหญ่ขึ้นมาที่เน้นการขายในวงกว้างต่างจากอีกสองเรื่อง แต่เมื่อชมจริง ๆ แล้วผมกลับพบว่า จุดอ่อนจากการดำเนินเรื่องแบบตลาด กลับถูกชดเชยด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เป็นเส้นตรง และเทคนิคนี้เองที่ถูกนำมาใช้ในตอนจบ จนคนที่เข้าใจก็จะตบเข้าฉาดใหญ่ และมองภาพต่างจากการดูผ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวแบบสลับด้านกันเลยทีเดียว ซึ่งนี่คงเป็นข้อดีของเรื่องที่เด่นชัดสุด นอกจากพล็อตที่เข้าถึงไม่ยากและเคมีตัวละครที่อาจไม่หนักหน่วงเท่า Once หรือพลังของเรื่องเท่า Sing Street แต่ทุกอย่างก็อยู่ในระดับดีงามอยู่ดี

ผู้กำกับที่เขียนบทและกำกับเองทั้งสามเรื่อง มาเรื่องนี้ก็คงรู้จุดอ่อนข้อนี้ ถึงใส่เรื่องของการทำงานตามอารมณ์กับความต้องการของตลาดมาล้อหนังตัวเองอีกต่อ ซึ่งทุกอย่างก็ยังคงลงตัว และพล็อตหลักที่พูดถึงการเริ่มใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัยตัวเอง หรือคนอื่น การกลับไปเริ่มใหม่กับสิ่งเก่า หรืแเริ่มใหม่กับตัวเอง ของแต่ละตัวละคร ก็ยังเป็นสารของเรื่องและเป็นเสน่ห์ของผู้กำกับคนนี้ที่สื่อหนังแต่ละเรื่องของเขาได้ละเมียดอย่างน่าประหลาด

แต่สุดท้ายที่ผมขนลุกเมื่อ End Credit ขึ้นมา นั่นคือการอุทิศหนังเรื่องนี้ให้ Jim พี่ชายของผู้กำกับ ซึ่งหาเราดูในครั้งที่หนังเรื่องนี้ฉายคงไม่คิดอะไร หากแต่เพราะใน Sing Street ของเขานั้นเป็นที่ชัดเจนว่านำเอาเรื่องราวส่วนหนึ่งในวัยเด็กของเขามาเล่า รวมไปถึงพี่ชายของพระเอกที่เป็นเหมือน Loser เพราะการเป็นพี่มนครอบครัวแตกสลาย และเอาชีวิตตัวเองสละเพื่อปูทางบางอย่างให้กับน้องชายตัวเอง หรือในชีวิตจริงก็คือจอห์น ผู้กำกับนั่นเอง จึงทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไม "การเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง" หรือ Begin Again จึงเป็นงานที่อุทิศให้กับพี่ชายคนนี้ของเขา และทุกคนที่รับสารตามแต่ประสบการณ์ของตัวเอง

8/10
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่