ย้อนแย้งกันเอง?? เมื่อดีเอสไอเซ็นต์รับรองให้สหกรณ์โปร่งใส ไฉนจึงมีการอายัดที่ดินต่อ

ขมวดไทม์ไลน์ปมขายที่ดิน ‘ศุภชัย’ 477 ล้าน พบกระบวนการซับซ้อน-ขัดแย้งในตัวเอง ‘ธาริต’ เซ็นรับรองสหกรณ์คลองจั่นโปร่งใส ไฉนถึงมีการอายัดที่ดินต่อ ก่อนปล่อยล่วงมาหลายเดือนมีการขายที่ดินไปแล้ว จึงเพิกถอนอายัด พบเพิกถอนอายัดที่ดิน จ.โคราช ในวันทำสัญญาขายที่ดิน ทำสัญญานายหน้าหลังขายที่ดินไปแล้ว







นอกเหนือจากที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เซ็นหนังสือรองรับความโปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ตามที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ ทำหนังสือถามมา โดยใช้เวลาแค่ 7 วันในการตัดสินใจ (หนังสือสหกรณ์ฯ ลงวันที่ 12 เม.ย. 2556 นายธาริตเซ็นรับรอง 19 เม.ย. 2556) นั้น

อย่างไรก็ดีแม้จะมีการเซ็นรับรองดังกล่าวออกไป แต่ทางดีเอสไอร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังคงดำเนินการสอบสวนในคดียักยอกทรัพย์สิน และคดีฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเช่นเดิม

โดยเฉพาะในคดีการยักยอกทรัพย์สินนั้น ในช่วงเดือน ต.ค. 2556 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีดังกล่าว โดยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอดำเนินการ โดยการขายที่ดินจำนวน 1,838 ไร่ วงเงินกว่า 477 ล้านบาท ที่ถูกดีเอสไออายัดไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 2556 ให้กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด

หากพิจารณาจาก ‘ไทม์ไลน์’ ในเอกสารดังกล่าว จะพบข้อขัดแย้งและความซับซ้อน ดังนี้

หากพิจารณาจาก ‘ไทม์ไลน์’ ในเอกสารดังกล่าว จะพบข้อขัดแย้งและความซับซ้อน ดังนี้

หนึ่ง นายธาริต เซ็นรับรองความโปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์ฯตามที่นายศุภชัยถามมาภายในเดือน เม.ย. 2556 ไฉนเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 ดีเอสไอจึงดำเนินการอายัดที่ดินของนายศุภชัย ในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์ฯ

สอง ในการขายที่ดินที่ถูกอายัดไว้ของนายศุภชัย ทำไมนายศุภชัยจึงติดต่อไปยังบุคคลที่อ้างว่าจะเข้ามาซื้อที่ดินเองได้ ทั้งที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ.2544 ซึ่ง ปปง. ต้องตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดขึ้นมา ไม่ใช่ให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอไปดำเนินการเอง

สาม การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลกฯ ทำเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่อยู่ ๆ มีการทำสัญญานายหน้าที่ดิน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 หรือภายหลังการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปแล้วกว่า 1 เดือน พร้อมกับมีการระบุว่า หากชี้ช่องขายที่ดินได้มากกว่า 300 ล้านบาท จะต้องมีการจ่ายค่านายหน้าให้กับบริษัทของเครือนายณฐพร 60 ล้านบาท

ซึ่งตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจะมีการเขียนสัญญานายหน้าค้าที่ดินขึ้นใหม่ ภายหลังสำนักข่าวอิศราเผยแพร่เอกสารที่นายณฐพร ได้รับแคชเชียร์เช็ค 60 ล้านบาทจากการขายที่ดินดังกล่าวไปแล้ว ?

สี่ ในการขายที่ดินดังกล่าว ปรากฏเอกชน/นิติบุคคล ที่เป็นเครือข่ายของนายศุภชัย ได้รับเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน รวมถึงตัวนายศุภชัยได้รับเงินคืนกว่า 249 ล้านบาทด้วย ทำไมถึงไม่คืนเงินให้กับสหกรณ์ฯไปบริหารจัดการจ่ายให้กับผู้เดือนร้อนดังกล่าวเอง

ห้า นายกิตติก้อง ทำหนังสือขอให้อายัดที่ดิน จ.นครราชสีมา และ จ.ปทุมธานี ของนายศุภชัยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 ทำไมนายธาริต ถึงปล่อยให้เกิดกระบวนการขายที่ดินดังกล่าวไปก่อน จนล่วงเลยมาหลายเดือน จึงตอบนายกิตติก้องว่า ที่ดินดังกล่าว (ของ จ.นครราชสีมา ทุกแปลง ของ จ.ปทุมธานี 2 แปลง) ให้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว

หก ในการขายที่ดินดังกล่าว ปรากฏแค่ที่ดินใน จ.นครราชสีมา ส่วนที่ดิน 2 แปลง ใน จ.ปทุมธานี ที่ถูกเพิกถอนอายัดไม่ปรากฏว่าปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ครอบครอง รวมถึงที่ดิน จ.ปทุมธานี ที่เหลือที่ถูกอายัดอยู่ ก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ปัจจุบันยังอยู่ดีหรือไม่ ?

ทั้งหมดคือความซับซ้อนในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในส่วนของการขายที่ดินนายศุภชัย เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย ท่ามกลางการสอบสวนของดีเอสไอในอีกหลายสำนวน ซึ่งปัจจุบันไม่รู้ว่ามีกี่สำนวนกันแน่

ขณะเดียวกันแม้ดีเอสไอจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องการขายที่ดินไปแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2557 (มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดีดีเอสไอ) แต่ปัจจุบันผ่านมาปีเศษแล้ว เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้าถึงไหน และยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า เรื่องนี้เกิดอะไรขึ้น และจะมีมาตรการอย่างไรต่อ ?

ดังนั้นเรื่องนี้ ดีเอสไอ ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนกับสาธารณชน เพราะหากปล่อยไว้นานเช่นนี้ จะนำเงินดังกล่าวคืนมาได้อย่างไร !
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่