ศาสนาเป็นบางสิ่งที่ติดตัวจริงหรือ?

กระทู้คำถาม
(ขออภัยอย่างสูงไว้ ณ เบื้องต้นก่อนสำหรับผู้ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ เพราะจะค่อนข้างผสมผสานหลายความคิด หลายศาสตร์เข้าเป็นหนึ่งเรื่อง หากผิดพลาดประการใด โปรดให้อภัยด้วยนะครับ)

- (1) ผมเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความรู้สึกว่า ศาสนาของเราไม่ใช่ศาสนาที่แยกเดี่ยว เป็นเอกเทศไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีมิตรภาพระหว่างศาสนา ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะผมก็ได้มีโอกาสลองศึกษาหลักเบื้องต้นของแต่ละศาสนามาบ้างในระดับหนึ่ง และมีโอกาสคลุกคลีกับคริสศาสนิกชนที่เป็นเพื่อร่วมชั้นเรียนในสมัยศึกษาอยู่ในระดับ ปวช.

- ผมชอบคำหนึ่งที่เพื่อนผมมักพูดกับผมเสมอเมื่อเจอเหตุการณ์ร้ายๆ เช่น เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน หรือ อุบัติเหตุจากการขับรถประมาทของนักศึกษาวิทยาลัยนี้ คำที่เพื่อนพูดคือ “พระเจ้าเป็นผู้กำหนดเหตุการณ์ทุกอย่าง และ พระองค์ก็ทรงควบคุมเองทุกอย่าง” ในช่วงนั้นผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไม เพราะโดยพื้นฐานเป็นพุทธที่ถือคติว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” พระเจ้าอะไรกันจะเป็นผู้กำหนดชีวิต เราเองต่างหากที่เป็นผู้กำหนดชีวิตเอง แต่เมื่อได้เข้ามีอุปสมบทเป็นพระ ได้ศึกษาธรรมะมากขึ้น โดยเฉพาะพระอภิธรรม ทำให้ผมเริ่มเข้าใจคำว่า “พระเจ้าเป็นผู้กำหนดชีวิต”

- (2) พระเจ้า คำนี้ค่อนข้างโอนเอนไปทางศาสนาแบบเทวนิยมเสียส่วนใหญ่ ที่นับถือพระเจ้าเป็นที่พึ่งแห่งจิตใจ ที่เห็นได้ชัดคือศาสนาคริสต์, อิสลาม ฯลฯ เป็นต้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาเราไม่นับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า แต่เรานับท่านว่าเป็นบรมครู ผู้ชี้หนทางสว่าง ชี้หนทางเดินที่ถูกต้อง แต่พระองค์ไม่ได้เป็นคนที่จะมากำหนดชีวิตมนุษย์เหมือนกับพระเยซู หากแต่มานั่งพิจารณาให้ถี่ถ้วน พระพุทธศาสนาก็มีในสิ่งที่พระเยซูทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่พระพุทธศาสนานั้นอาจจะดูเป็นนามธรรมมากกว่าเท่านั้นเอง พระพุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า “วิบาก-กรรม”

- ลองมาเล่นอะไรสนุกๆ กันก่อนที่จะไปสู่เนื้อหาต่อไป หากผมให้คุณจินตนาการคำ 2 คำ ระหว่างคำว่า “พระเจ้า” กับ “วิบาก-กรรม” แล้ววาดภาพออกมา คุณจะวาดภาพออกมาอย่างไร? ถ้าเป็นผม ผมไม่มีปัญหากับคำว่า “พระเจ้า” เพราะมันค่อนข้าง Make Sense ที่ทั่วๆ ไปจะวาดเป็นรูปคนเพศชาย ใบหน้าออกไปทางฝรั่ง มีวงรีสีขาวลอยอยู่เหนือศีรษะของบุคคลนั้น แต่งตัวด้วยผ้าของชาวกรีกห่ม ประมาณนี้ แต่ถ้าเป็นคำว่า “วิบาก-กรรม” ค่อนข้างนามธรรมจริงๆ ผมคงต้องใช้เวลานั่งครุ่นคิดเป็นวันเหมือนกันถ้าจะให้วาดภาพนี้ แต่ผมจะสมมุติให้เป็นวงกลม 2 วง อยู่ติดกัน วงแรกคือวิบาก วงที่สองคือกรรม (เอาแบบนี้ไปก่อนนะครับ)

- คำถามที่อาจจะตามมาหาผมนั่นก็คือ “เอ๊ะ!! แล้ววิบาก-กรรม 2 สิ่งนี้มีส่วนเหมือนหรือส่วนคล้ายกับพระเจ้าอย่างไร? คำตอบของผมคือ ให้ผลเหมือนกัน แม้ว่าทั้ง 2 สิ่งจะแตกต่างกันในด้านรูปแบบการนำเสนอที่ว่า พระเจ้าดูเป็นรูปธรรมมากกว่า วิบาก-กรรมดูเป็นนามธรรมมากกว่า แต่ทั้ง 2 ให้ผลเหมือนกัน ผมตั้งประเด็นน่าสนใจเอาไว้ 2 ข้อ เผื่อว่ามันอาจจะเป็นไปได้ว่า
1) พระเจ้ามีลักษณะและรูปธรรมจริงและสามารถควบคุมชีวิตมนุษย์ได้จริงด้วยวิบาก-กรรม
2) วิบาก-กรรม เป็นเสมือนพลังบางอย่างที่พระเจ้าสามารถนำไปควบคุมชีวิตมนุษย์ได้
2 ข้อนี้ขอตั้งเอาไว้เฉยๆ แค่นำเสนอพอกรึ่มๆ เท่านั้นนะครับ

- (3) ที่ว่า “พระเจ้า” และ “วิบาก-กรรม” ให้ผลเหมือนกันนั้น อย่างไร? อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงต้นว่า “พระเจ้าเป็นผู้กำหนดเหตุการณ์ทุกอย่าง และ พระองค์ก็ทรงควบคุมเองทุกอย่าง” ถ้ามาในแนวนี้ผมคิดว่าถ้าพระเจ้าเองไม่มีพลังอะไรบางอย่างที่จะสามารถใช้ควบคุมคนได้ พระเจ้านั้นก็อาจจะเป็นพระเจ้าเปล่าๆ มีไว้เฉยๆ เหมือนโมเดลกรุ๊งกริ๊งหน้าบ้าน พระเจ้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพลังอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวพระองค์ที่ทำให้พระองค์มีอิทธิฤทธิ์มากพอที่จะควบคุมชีวิตมนุษย์กำหนดชีวิตมนุษย์ได้ หากเราเคยดูภาพยนตร์สตาร์วอร์ส จะเห็นเหล่าอัศวินเจไดมีพลังในการสะกดจิตควบคุมคนได้ ทำให้คนเชื่อในคำของเจไดคนนั้นได้ แปลว่า อัศวินเจไดคนนั้นต้องมีพลังในการสะกดจิต ไม่อย่างนั้นคงจะเป็นได้แค่ เจไดฝึกหัดธรรมดา ใช้ความสามารถได้แค่ดาบเลเซอร์เท่านั้น ผมว่าพระเจ้าน่าจะมาในแนวๆ นั้น (แต่พระเจ้าจะต้องยิ่งกว่าอัศวินเจไดอย่างแน่นอน) พลังภายในของพระเจ้าผมคิดว่าคงไม่ใช้พลังที่ไหนหรอก เชื่อมั่นว่า พลังที่พระเจ้าสามารถควบคุมชีวิตมนุษย์ได้นั้นก็คือ “วิบาก-กรรม” นั่นแหละ อาจจะดูขัดแย้งกันในด้านศาสนา แต่อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้น ผมมั่นใจว่าทุกศาสนาเอามาสมาสสนธิกันได้ (บางอย่าง)

- คราวนี้หันกลับมาดูคำว่า “วิบาก-กรรม” บ้างว่าให้ผลอย่างไร วิบาก-กรรม คำนี้ใช้กันทั่วไปในทางพระพุทธศาสนาและส่วนใช้กันผิด คือ ใช้คำว่า วิบาก-กรรมไปในทิศทางที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ 2 คำนี้มีค่าเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่สามารถถูกชักจูงไปได้ด้วยอำนาจของบุญและบาป หากบุญดึงไปเราจะถือว่าเป็นวิบากดี เป็นกรรมดี เช่น ดึงไปให้พบกับพระ ดึงไปให้พบเห็นผู้คนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนสวดมนต์ เป็นต้น หากเป็นวิบากไม่ดี กรรมไม่ดี ก็จะไปในลักษณะที่ว่า ดึงไปพบกับคนพาล ดึงไปอยู่กับคนที่ฉ้อโกงเงินคลังประเทศ เป็นต้น ดังนั้นเริ่มต้นให้ถูกก่อนว่า คำว่า “วิบาก-กรรม” เป็นคำกลางๆ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ รวมอยู่ในจิตของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นดวงกลมใส จิตของมนุษย์ปกติที่ยังไม่บรรลุฌานสมาบัติอะไร มีหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องรับสัญญาณจากแหล่งที่ส่งมา คำถามต่อมาคือ แล้วแหล่งส่งคืออะไร ที่ไหน อย่างไร? หากคิดกันตามตรรกะง่ายๆ คือ สิ่งใดที่เป็นนามธรรมส่วนมากไม่มีชีวิต เมื่อไม่มีชีวิตมันก็อยู่ของมันเฉยๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นรูปธรรมมาควบคุมนามธรรม มันจะสามารถนำมาใช้งานได้ ดังนั้นผมอาจจะสรุปง่ายๆ ปิดประเด็นไปได้เลยว่า วิบาก-กรรม คือพลังที่พระเจ้าถืออยู่ แล้วพระเจ้าเองก็เป็นผู้คอยเอามาใส่ให้กับชีวิตมนุษย์กำหนดลิขิตชีวิตให้มนุษย์เดินทางตามทางที่พระเจ้ากำหนดให้

- (4) ขอปิดประเด็นแบบเด็กนักเรียนประถมฯ คิดไปเลยนะครับสำหรับข้อด้านบน คราวนี้มาถึงหัวข้อที่พาดหัวไว้ตั้งแต่แรกว่า “บางสิ่งที่ติดตัว” หากผู้อ่านคิดได้เอง ก็จะเข้าใจโดยที่ผมไม่ต้องบอก แต่หากยังไม่เข้าใจ จะสรุปความอย่างง่ายว่า มนุษย์หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตบนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่ได้รับการกำหนดขึ้นมาทั้งสิ้นนั่นเอง แม้เราเองจะกล่าวว่า “ไม่ใช่มั้งครับ บางอย่างเราก็กำหนดเองได้นี่ เช่น ตัวผมเองกำลังพิมพ์บทความอยู่ ตัวผมก็ต้องพิมพ์เองสิจะเป็นใครพิมพ์” ผมไม่มองอย่างนั้น ผมมองว่ามนุษย์เป็นเหมือนกับหุ่นกระบอกที่กำลังถูกเชิดด้วย 2 สิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้นมากกว่า เราไม่ได้เป็นคนทำเอง แต่มีคนเชิดเราอยู่ข้างหลังโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น ทุกความคิด ทุกการกระทำล้วนแล้วแต่ได้รับการกำหนดมาแล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้ที่จะจัดการสิ่งนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่เก่งมากๆ มีพลังพิเศษอย่างที่เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าพลังในการใส่วิบาก-กรรม นั้น คืออะไร ชื่ออะไร เขาทำอย่างไร

- แต่ก็อาจจะมีคนมีคำถามเพิ่มขึ้นมาอีกว่า “แล้วในเมื่อเราได้รับการจัดการชีวิต ลิขิตชีวิตมาแล้ว ทำไมชีวิตเราไม่ราบลื่น สุขสบาย ร่ำรวยเหมือนกับคนอื่นที่เขาเป็นกัน” เรื่องนี้แต่ละศาสนามีวิธีในการตอบที่แตกต่างกันไป เช่น ศาสนาคริสต์ก็จะตอบว่า “พระเจ้าเป็นผู้บัญชาลงมา หากท่านได้รับสิ่งที่ไม่ดี นั่นคือบททดสอบจากพระเจ้าให้ท่านได้ลองใช้ชีวิตอยู่กับความลำบากนั้น” เป็นต้น แต่หากเป็นพระพุทธศาสนา จะกล่าวว่า “นั่นคือวิบาก-กรรมของท่าน ที่ท่านได้ทำมาข้ามภพข้ามชาติในหลายๆ ชาติที่เกิดขึ้นมาแล้ว ตัว วิบาก-กรรม ได้มาส่งผลให้ท่านเป็นอย่างนี้ยังไงล่ะ” ศาสนาอื่นๆ คงมีคำตอบอีกมากมาย แต่ผมขอแค่ 2 ศาสนานี้เพราะมีข้อมูลมากกว่า

- ดูเหมือนเรื่องราวในบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์อะไรบ้าง และท่านผู้อ่านอาจจะได้ทิศทางในการดำเนินชีวิตบ้างนะครับ หากว่ามีข้อสงสัยอย่างไร สอบถามได้นะครับ อาจจะมีผิดพลาดด้านข้อมูลบ้างหรือข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ถูกใจบ้างขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

Wyr.D
21 Feb, 2017
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่