ผู้นำความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีพื้นบ้าน เห็นจะเป็น “หมอผี” ผู้ถือศาสตร์วิชาขอมโบราณ มาถึงขอมไทย การสืบทอดความเชื่อหลักในปัจจุบัน ก็คาดว่าน่าจะมาจากพราหมณ์-ฮินดู ผสมผสานกับศาสนาผีดั้งเดิม ต่อมาก็มาผสมผสานพุทธวิถีเข้าไปอีก (แนวทางแบบพุทธ) เมื่อกล่าวถึงศาสนาผี จะเห็นเด่นชัดคือมีลักษณะเป็นสรรพเทวนิยม (เรียกได้ว่านับถือกันแบบสารพัดเทวดาอารักษ์ เจ้าพ่อเจ้าแม่ อะไรก็ได้หมด) ศาสนาผี เป็นศาสนาดั้งเดิมของ “ชาวไท” กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่ตั้งรกรากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่สมัยโบราณ ประกอบด้วยพม่า, ลาว, ไทย, เวียดนาม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยที่กระจัดกระจายไปแถบเอเชียใต้บางส่วน เช่น อินเดีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานเรื่องของการอพยพย้ายถิ่นมากมาย จึงมีอิทธิพลเป็นรากเหง้าของความเชื่อและความศรัทธาในการกราบไหว้บูชาจิตวิญญาณ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือประเพณีการบูชา เกี่ยวกับการบูชาเทวดาและการไหว้ผี มีความเชื่อว่าวิญญาณ ๓๒ ตน ซึ่งเรียกว่า “ขวัญ” มีหน้าที่ปกปักรักษาร่างกาย จึงเห็นได้บ่อยในประเพณีบายศรีสู่ขวัญ และความเชื่อเกี่ยวกับ “ผี” ที่มีศักดิ์เป็นเทพารักษ์ หรือผีที่เป็นวิญญาณบรรพบุรุษ ผีวัด ผีหลักเมือง และก็มีวิญญาณร้ายกาจที่คอยทำร้ายคน เรียกว่า “ขวัญชั่ว” ของคนในชาติก่อนจำพวก “ผีเผต” ปอบ ผีดิบ ฯลฯ ต้องทำการไล่ผีร้ายออกไปจากการสิงสู่ในร่างกายคน และยังมีความเชื่อเรื่องของเรือนเจ้าที่ หรือที่เรียกว่า “ผีปู่ผีย่า” หรือ “ศาลตายาย” อันเชื่อว่าเป็นวิญญาณเจ้าของที่เดิม หรือบรรพบุรุษของตนที่ยังวนเวียนอยู่ในที่ดินแห่งนั้น มีการกราบไหว้เพราะเชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษาอาณาเขต หรือบริเวณบ้านเรือน และคนในครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข การเคารพในผืนป่า และความเชื่อเรื่องผีป่า หรือเจ้าป่าเจ้าเขา รุกขเทวา รุกขเทวี หรือผีพญาแถน อันเชื่อว่าเป็นเทวดาที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ ผีหลักเมือง (พระหลักเมือง), ผีเสื้อเมือง (พระเสื้อเมือง), ผีทรงเมือง (พระทรงเมือง) เป็นต้น
เห็นได้ว่า ความเชื่อเหล่านี้ผูกพันกับคนไทยมาช้านาน และฝังรากลึกนับแต่โบราณกาลมาถึงปัจจุบัน ถ้าจะถามในมุมของผู้เขียนว่า “คิดอย่างไรกับความเชื่อนอกหลักคำสอนพระพุทธศาสนา” ผู้เขียนเองกลับมองอย่างให้เกียรติว่า แต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อย่อมมีที่มาที่ไป อย่างเช่นศาสนาใหญ่บนโลกก็ไม่ได้มีแค่เจตนาเดียวกันกับพุทธศาสนา และในขณะที่เราเชื่อในแบบของเรา เขาก็เชื่อในแบบของเขา ในขณะที่เรามองว่าเขาอาจไม่พบแสงสว่าง ไม่เห็นทางหลุดพ้น เขาก็มองว่าเรางมงายกราบไหว้มนุษย์ด้วยกัน ทำไมไม่ไหว้เทพเจ้าผู้สร้างและเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หลักการง่าย ๆ ครับสำหรับผู้เขียนคือ “ใจเขาใจเรา” ต่างคนต่างวิถี ต่างความคิด ต่างเป้าหมายในชีวิต หากว่าเรานับถือพุทธศาสนาด้วยใจที่เป็นกลาง น้อมนำคำสอนมาปฏิบัติได้ และให้ความเหมาะสมกับชีวิตปัจจุบัน ไม่ดำดิ่งงมงายจนเกินไป จะผิดมากไหม หากใครจะเชื่อถือศรัทธาอะไร ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดครับ ปรับสมดุลที่ชีวิตให้เหมาะสมกับคุณค่าและบทบาทของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ การมุ่งไปสู่ผลสำเร็จทางศาสนาย่อมเป็นผลดีต่อผู้ถึงพร้อม แต่คนที่ยังไม่พร้อมและต้องการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีอยู่มาก หากเราเข้าใจบริบทของความเชื่อ และน้อมนำมาใช้หรือยึดถือปฏิบัติอย่างไม่หลงทาง ย่อมทำให้เข้าถึงและเข้าใจวิถีปฏิบัติด้วยศรัทธาที่แท้จริง จะว่าด้วยอิทธิพลของศาสนาผีก็คงไม่มีบทบาทมากกว่าไปกว่า "กรรม" และผลของบุญกุศลที่พึงมี พึงสร้าง ในหนทางปัจจุบัน
😊คิดเห็นอย่างไรเข้ามาคอมเมนต์กันได้ครับ 😊
แชร์เนื้อหาจากหนังสือ "สายมูต้องมนต์" แนวทางปฏิบัติสำหรับสายมูที่ยังสับสน สายมูที่แสวงหาโชคลาภ หรือลาภผล ให้เดินทางอย่างมีแบบแผน ไม่งมงายจนเกินไป แต่ก็ยังไม่ถึงซึ่งคำสอนทางศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่หนังสือธรรมะสำหรับผู้ใฝ่ศึกษาธรรมระดับปฏิบัติ เป็นเพียงเศษเสี้ยวแนวคิดสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่แสวงหาความสุขและความสำเร็จทางโลกเพียงเท่านั้น
ศาสนาผีกับสังคมไทย