เมื่อกล่าวถึงความเชื่อ มันสามารถตีความไปได้อีกหลากหลายนะครับ เช่น เชื่อในเรื่องอะไร มีทั้งเชื่อในสิ่งที่เป็นไปได้ และเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือแม้กระทั่งความเชื่อในสิ่งที่มองเห็น และเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น บริบทของความเชื่อนี้ ถูกตีความไปต่าง ๆ นานา เช่นบางสิ่ง คนที่เคยเห็นด้วยตาก็จะบอกว่า “ฉันเชื่อนะว่าสิ่งนั้นมีตัวตนจริง ๆ” ในขณะที่คนที่ไม่เคยเห็นก็จะเถียงสุดชีวิตว่า “สิ่งนั้นไม่มีจริง อย่ามาโกหก” ดังนั้นบรรทัดฐานของความเชื่ออาจถูกมองไปในสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนเห็นว่าถูก หรือสิ่งที่ตนเห็นว่าผิด เกิดความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ว่าฉันเชื่อแบบนี้ใครก็อย่ามาเถียง พอเข้าลักษณะนี้ก็กลายเป็นเหตุของความงมงายครับ พอกล่าวมาถึงตรงนี้ก็ต้องพิจารณากันแล้วว่า “งมงายคืออะไร” คำว่า งมงาย แปลว่า “ความเชื่อโดยไม่มีเหตุผล เชื่อโดยไม่รับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลของผู้อื่น” ซึ่งถ้าพฤติกรรมเหล่านี้คือความงมงาย คนสุดโต่ง ดื้อรั้น ไม่ยอมรับฟังใครก็แสดงถึงความเป็นคนงมงายได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. และนาย ข. เคยเดินไปซอยเปลี่ยว แล้วเห็นดวงวิญญาณผู้หญิง นั่งอยู่ข้างทาง ลักษณะเป็นหมอกควันสีขาวปกคลุมไปทั้งตัว มีเพียงรูปร่างที่ยืนยันได้ว่าเสมือนคน แต่ไม่มีใบหน้า นาย ก. และนาย ข. ตกใจอย่างมาก วิ่งเตลิดกลับบ้าน ครั้งรุ่งเช้านำมาเล่ากับทุกคนว่า “ผีมันมีอยู่จริง ฉันเห็นจริง ๆ ผีผู้หญิงในซอย..” ในขณะที่ นาย ค. และนาย ง. ไม่เคยเห็น และไม่เชื่อว่าผีมีจริง จึงร่วมหัวกันถล่มนาย ก. กับนาย ข. ว่างมงาย เชื่ออะไรไร้สาระ จะสังเกตได้ว่า เรื่องนี้มีความเชื่อ ๒ แบบด้วยกัน คือ นาย ก. และนาย ข. เชื่อว่าผีมีจริง เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนเห็นไม่ได้หลอกสายตาตัวเอง ส่วนนาย ค. และนาย ง. เชื่อว่าผีไม่มีจริง เพราะไม่เคยเห็นสักครั้งในชีวิต แล้วจะพูดว่ามีจริงได้อย่างไร แล้วถ้าเป็นคุณที่ต้องตัดสินว่าใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายงมงาย คุณจะพูดได้เต็มปากหรือไม่ เราจะยกเพียงเหตุผลที่เราเชื่อมันเพียงพอหรือไม่
ก็เหมือนกับคนที่เชื่อว่าพญานาคมีอยู่จริง เหตุเพราะพุทธประวัติก็มีการกล่าวถึงการถวายตนต่อพุทธองค์ เพื่อเป็นธรรมบาล หรือผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาหรือตามตำนานไทย (เฉพาะไทยนะครับ) ที่เชื่อว่าพญานาคได้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์เมื่อคราวเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก ซึ่งครั้งนั้นเกิดพายุฝนติดต่อกันถึง ๗ วัน ๗ คืน และเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก และยังเชื่ออีกว่าเป็นพระพุทธรูปประจำคนเกิดวันเสาร์ แต่ในฝั่งของคนที่เชื่อว่าพญานาคเป็นสิ่งงมงาย พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้กราบไหว้พญานาค เราจะเห็นหน้าที่ของคำว่า “เชื่อ” แตกต่างกัน เชื่อในสิ่งที่มี หรือเชื่อว่าสิ่งนั้นไม่มี เชื่อเพราะอ่านมา หรือเชื่อว่าสิ่งที่อ่านเป็นไปไม่ได้
บางคนบอกว่า “คนไทยนี่งมงาย เห็นอะไรก็กราบไหว้ไปหมด ขนาดน้ำผุดมาจากผืนดินก็ไหว้” เราลองมาพิจารณากันนะครับว่า ตรงส่วนนี้ความเชื่อเป็นเหตุนำไปสู่ความงมงายจริงหรือไม่ ถ้าจะบอกว่าที่หลงผิดเพราะความเชื่อ ต้องมาลำดับก่อนว่าใครทำให้เขาเชื่อ เขาเชื่อด้วยตัวเองหรือมีคนบอกให้เชื่อ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีผู้แอบอ้างเป็นร่างทรงองค์ปู่ องค์ย่า มาชี้เป้าปักหมุดให้ทั้งสิ้น ความงมงายแบบนี้จึงเกิดจากคำหลอกลวง ความงมงายที่เกิดจากคนโกหก และเป็นความจริงอย่างหนึ่งนะครับว่า คนโกหกมักจะชอบพูดให้คนหลงเชื่อได้จริง ๆ จากกรณีนี้ ผู้เขียนสรุปว่า ความงมงายแบบนี้เกิดจากความเชื่อได้จริงครับ เพราะถ้าไม่เชื่อคนโกหก ก็ไม่งมงายนั่นเอง และในความงมงายของมนุษย์ที่เชื่อ ก็ตัดได้ยากหยั่งรากฝังลึกได้เสมือนต้นไทรที่ชอนไชลงดิน จะถอนก็ลำบาก เพราะคนไทยบางกลุ่ม ลองได้เชื่อแล้ว ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง ลองได้ศรัทธาแบบฝังจิตฝังใจแล้ว อะไรก็ห้ามไม่ได้ จึงเป็นคำกล่าวปกป้องตัวเองว่า “ความเชื่อไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” แต่บางทีก็ต้องมองในภาพรวมด้วยนะครับว่า เชื่อส่วนตัว หรือเชื่อแบบชักจูง ชักชวน กลายเป็นอุปทานหมู่อย่างที่คนกล่าวติเตียนหรือไม่
ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านก็มีคำสอนที่เรียกว่า “กาลามสูตร” เหตุพระท่านไปแสดงธรรมให้กับชาวกาลามะ ที่ชอบอวดอ้างความวิเศษ และเชิดชูแต่ลัทธิของตน ทั้งยังชอบพูดจากระทบกระเทียบเปรียบเปรย เมื่อพระพุทธเจ้าไปถึง ก็ถกเถียงกันด้วยข้อสงสัยว่า ใครพูดจริง ใครพูดไม่จริงกันแน่ กาลามสูตรจึงถูกแสดงในครั้งนั้นว่า
๑. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบต่อกันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ หรือข่าวลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ (คิดตรองโดยสมเหตุสมผลจากการโต้แย้ง)
๖. อย่าปลงใจเชื่อ โดยอนุมาน (คิดคาดคะเนตามหลักเหตุผลหรือสมมติฐาน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อ โดยคิดเอาตามอาการที่ปรากฏ มองเห็น ลักษณะที่เป็นไปได้
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรงกับความคิดของตนเอง เข้ากับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเห็นรูปลักษณะที่น่าเชื่อถือ หรือผู้พูดดูน่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา
บางคนอ่านมายังไม่ถึงข้อที่ ๕ ก็บ่นแล้วว่า “โห .. ทำไมห้ามเยอะจัง แล้วสรุปจะให้เชื่อใครได้บ้าง นู่นก็อย่าเชื่อ นั่นก็อย่าไปเชื่อ” ตรงส่วนนี้ขอให้พิจารณาดี ๆ นะครับ ๑๐ ข้อนี้เป็นแค่ข้อคิดเตือนสติเท่านั้นเอง “อย่าปลงใจเชื่อ” คือ “อย่าพึ่งตัดสินใจเชื่อนะ คิดดี ๆ ก่อนนะ” เวลาเราฟังอะไรมา หรือทฤษฎีหลักการเหตุผลสารพัดใดในตำรับตำรา ก็อย่าพึ่งเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เผื่อใจไว้สัก ๕๐/๕๐ ในกับทุกเรื่อง และพยายามหาข้อพิสูจน์ด้วยตนเองเสียก่อน แบบนั้นแล้วเราจะไม่เป็นคนหูเบา หรือ
ตกเข้าสู่ความงมงายโดยง่าย การที่พระพุทธองค์บอกว่า ฟังตามกันมา ก็เหมือนกับคนแรกฟัง แล้วบอกต่อคนที่สอง คนที่สองฟังจากคนแรก บอกต่อคนที่สาม บางทีความมันก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปก็ได้, สืบต่อกันมา ก็เช่น ประเพณี ความเชื่อที่ทำกันมาแต่โบราณ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเริ่มจากไหน จะเอาเหตุผลแค่ ก็เขาทำกันมานมนานแล้ว มันก็ไม่พอให้เชื่อ, การเล่าลือ หรือข่าวลือ ก็เข้าข่ายข่าวในโซเชียลตอนนี้ บางทียังไม่ทันชัวร์ ก็แชร์กันเสียแล้ว จริงไม่จริงเราเท่านั้นที่ต้องพิสูจน์ แต่มันก็ต้องเลือกพิสูจน์ในเหมาะกับบางเรื่องด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่า เขาแชร์ว่ายาตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเอาตัวเองเป็นหนูลองยา แบบนั้นอันตรายนะครับ, การอ้างตำราหรือคัมภีร์ เช่นคัมภีร์บทสวด เราก็ต้องสืบค้นว่า ใครบันทึก คนบันทึกเรียนมาจากใคร และใครเป็นต้นฉบับการสอน การถ่ายทอดนั้นสมบูรณ์แค่ไหน จริงแค่ไหน, อย่าพึ่งเชื่อเพราะตรรกะ ก็เหมือนกับคนที่มีความรู้มาก คิดว่าเหตุผลรองรับของตนนั้นครบถ้วนแล้ว เหตุใดที่พิสูจน์ได้ ท่านว่าก็สมควรแก่การเชื่อ แต่บางอย่างถ้ายังไม่พิสูจน์ ก็ต้องหาหนทางพิสูจน์ให้ได้ด้วยตนเองเสียก่อนจึงจะเชื่อสนิทใจ, การอนุมาน ก็คล้ายกับข้อสันนิษฐานเชิงทฤษฎีต่าง ๆ ที่อาจะมีผลสำเร็จรองรับ ท่านก็ว่าอย่าพึ่งเชื่อไปทั้งหมด ให้หาวิธีพิสูจน์ด้วยตนเอง ให้ประจักษ์ด้วยตนเองก่อน, ในส่วนที่เหลือผู้เขียนคงไม่ต้องอธิบายนะครับ เอาความเข้าใจง่าย ๆ ของกาลามสูตร คือ ไม่ว่าจะได้ยิน ได้ฟัง ได้พบ ได้เห็นสิ่งใด อย่าปลงใจเชื่อโดยง่าย (ปลงใจ คือตัดสินใจในสิ่งนั้นโดยทันที หรือตกลงในทันใด) แม้กระทั่งคำสอนของพระพุทธองค์เอง ความหมายโดยนัยของกาลามสูตรก็คือ “เธออย่าพึ่งเชื่อนะ ถ้าเธอยังไม่ได้ปฏิบัติ” เช่น ถ้าเราจะเชื่อในพระพุทธเจ้า และตั้งใจที่จะเชื่อในหลักธรรมข้อใด เราต้องน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ได้ด้วยตัวเราเองเสียก่อน (หลายคนไปตีความกาลามสูตรผิด ว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อเลยสักอย่าง แบบนั้นก็ห้ามเชื่อ แบบนี้ก็ห้ามเชื่อ เลยมีแนวคิดย้อนแย้งกันไปว่า แบบนี้ก็ห้ามเชื่อพระไตรปิฎกด้วยสิ หรือ แบบนี้ก็ห้ามเชื่อคำสอนด้วยสิ ) และในการพิสูจน์ด้วยตนเองนี้ ผลจะปรากฏประจักษ์แจ้งแก่ตัวเราเอง จึงประกาศได้ว่า “ฉันเชื่อในธรรมข้อนั้นเพราะฉันทำมันสำเร็จด้วยตนเอง” ดังนั้น สิ่งที่พระพุทธองค์สอน ไม่ได้ใช้เชื่อในสิ่งใดง่าย ๆ โดยไม่พิสูจน์ จึงเป็นดังกล่าวครับ
ในการน้อมนำคำสอนมาใช้หากพิจารณาให้ดีแล้วไม่ใช่เรื่องยากครับ ถ้าเรายึดหลักมาเป็นแนวทางปฏิบัติย่อมส่งผลดีต่อชีวิตเราได้แน่นอน เพียงแต่เราต้องปล่อยวางใช้ชีวิตตามธรรมชาติของเรา อย่าไปเอาแนวคิดขวางทางเช่นกลุ่มผู้แขวนศีล และห้อยปัญญาติดตัว คอยพร่ำสอนในอินเทอร์เน็ต กับคำจำกัดความแปลกแยกแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย พุทธแท้ พุทธเทียม ปุถุชนไม่บริสุทธิ์ เข้าถึงพระธรรมไม่ได้ ต้องระดับนั้น ระดับนี้เท่านั้น คนธรรมดาที่ไม่รักษาศีล แล้วจะมานับถือศาสนาพุทธทำไม นานาสารพัน ขอให้ละคำพูดเหล่านี้ไปเลยนะครับ ไร้ประโยชน์มาก พวกนี้หลงในศีล หลงในธรรม หากแต่ไม่ใช่ความหลงใหลอิ่มเอมในทางที่สุขสบายกาย สบายใจ แต่เป็นความหลงผิด ยึดติดความคิดตน ยึดติดศีลตนว่าบริสุทธิ์กว่า ดีกว่า เข้าข่ายทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและวัตร คือไปยึดเอาแบบเข้าใจผิด ว่าทำกันมาแบบนั้น แบบนี้ คนเคร่งครัดดีแบบนี้ คนไม่เคร่งครัดแย่แบบนั้น เขาเรียกว่าเชื่อถือข้อปฏิบัติอย่างงมงาย เห็นว่าตนจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่ดีคือ ฝึกการหาเหตุพิสูจน์ด้วยตัวเอง สิ่งใดที่ดี ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ คนดีเขาไม่ติเตียนแถมยังสรรเสริญ ทำแล้วเป็นสุขไม่เป็นทุกข์ ก็หาทำครับ ในขณะที่ สิ่งใดที่ไม่ดี คนดีเขาติเตียน ทำแล้วเกิดโทษ ไม่มีประโยชน์ ทำแล้วเป็นทุกข์ ก็ให้ละไว้ อย่าไปหาทำ สิ่งใดที่ยังสงสัยว่ามันจะจริงหรือไม่จริง ก็ให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว นำทางไปก่อน อย่างน้อยก็เพื่อความสบายใจ ผลที่ตามมาอย่างไร รู้เห็นกันในชาตินี้ก็มีมาก
ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ให้ค่ากับประโยคที่ว่า “ความเชื่อนำไปสู่ความงมงาย” มากสักเท่าใดนัก เพราะเป็นคำพูดที่เลื่อนลอย เป็นคอนเทนต์ที่ไม่ถูกเติมเต็ม ออกจะเป็นอุปมาอุปไมยไปเสียมากกว่า ไม่แน่ว่าคนพูด อาจงมงายหนักกว่าก็เป็นได้ เราจะสังเกตุได้ว่า สังคมออนไลน์ทุกวันนี้เป็นสังคมที่ท็อกซิก (Toxic = เป็นพิษ) และไม่พิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง ยิ่งถ้าเราเสพข้อมูลข่าวสารมากขึ้นทุกวัน เราก็มีโอกาสวางยาพิษตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ได้แนะนำให้ปฏิเสธการแชท การอ่าน การคอมเมนต์อะไรนะครับ เพียงแต่เราต้องมีสติ คิดตามให้ทัน พิสูจน์ให้เป็น อีกข้อคิดก็คือ การตอบโต้คอมเมนต์กันดุเดือดตกหลุมพลางเจ้าพ่อเจ้าแม่คอนเทนต์ไปเสียแล้ว
😊คิดเห็นอย่างไรเข้ามาคอมเมนต์กันได้ครับ 😊
แชร์เนื้อหาจากหนังสือ "สายมูต้องมนต์" แนวทางปฏิบัติสำหรับสายมูที่ยังสับสน สายมูที่แสวงหาโชคลาภ หรือลาภผล ให้เดินทางอย่างมีแบบแผน ไม่งมงายจนเกินไป แต่ก็ยังไม่ถึงซึ่งคำสอนทางศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่หนังสือธรรมะสำหรับผู้ใฝ่ศึกษาธรรมระดับปฏิบัติ เป็นเพียงเศษเสี้ยวแนวคิดสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่แสวงหาความสุขและความสำเร็จทางโลกเพียงเท่านั้น
ความเชื่อนำไปสู่ความงมงายจริงหรือไม่?