สังคมไทยของเราถูกหล่อหลอมด้วยคำสามคำที่เราหลายคนท่องจำจนขึ้นใจนับตั้งแต่เล็กแต่น้อย นั่นก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งปวง และสถาบันที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแทบจะเรียกได้ว่า มากกว่าครึ่งก็คือ สถาบัน “ศาสนา” อันเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นแนวทางในการประพฤติตนให้อยู่ในจารีตและจริยธรรมอันดีงาม เป็นต้นกำเนิดของศาสนพิธีที่คนไทยชาวพุทธต้องคลุกคลีแทบจะทั้งชีวิตก็ว่าได้ แต่มีใครเคยสงสัยไหมครับว่า ประเทศไทยของเรา ให้กำเนิดศาสนาพุทธนิกายปัจจุบัน หรือเรารับเอาศาสนาพุทธเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติตอนไหน แล้วทำไมความเชื่อในส่วนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถึงได้ติดสอยห้อยตามมาด้วยอย่างเหนียวแน่น แถมยังไปดึงเอาวัฒนธรรมตะวันออกอย่างศาสนาพุทธฝ่ายมหายานเช่นเมืองจีนมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งหากเราลำดับเหตุการณ์ตามหน้าประวัติศาสตร์ จะทำให้เราเข้าใจบริบทส่วนนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ
ย้อนกลับไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ปกครองแคว้นมคธ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย ครองราชย์ห้วงปีพุทธศักราช ๒๗๐-๓๑๑ ขณะนั้นแคว้นมคธมีอำนาจปกครองครอบคลุมไปทั่วชมพูทวีป จรดปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน และศรีลังกาในปัจจุบัน พระองค์ได้มีการทำนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด และมีการจัดสมณทูตขึ้นเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙ สายด้วยกัน ซึ่งในยุค สมัยนั้น ประเทศไทยยังอยู่ในยุคสมัยของสุวรรณภูมิ และได้รับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากสมณทูตสายที่ ๘ นับเป็นวาระแรกที่พุทธศาสนาได้เจริญตามลำดับ ถึงแม้จะสลับปรับเปลี่ยนนิกายที่มีอิทธิพลในแต่ละยุคสมัยอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถสืบทอดมาสู่ประเทศไทยในยุคปัจจุบันอย่างลงตัว
ข้อสังเกตของจุดเริ่มต้นแห่งการก่อตั้งพุทธศาสนานั้น ต้องย้อนไปถึงยุคพระเวท (Vedic Period) ในช่วงประมาณ ๘๐๐-๓๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว บ้างถูกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์เก่า เพราะว่าสมัยพระเวทแต่งขึ้นจากการเล่าสืบต่อกันโดยใช้ภาษาอินโดอารยัน และเมื่อคราวที่พวกอารยันเข้ามาสู่อินเดีย ก็ตั้งถิ่นฐานทางตะวันตกเฉียงเหนือเลยแม่น้ำสินธุขึ้นไป ชาวอารยันนั้นถูกจัดว่าเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ป่าเถื่อนและมีวัฒนธรรมอันดีแล้วในระดับหนึ่ง มีความยึดถือความคิดเกี่ยวกับเรื่องของการแบ่งชนชั้นมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอินเดีย พบเห็นคนผิวคล้ำกว่าตน ก็เกรงกลัวเรื่องการผสมผสานทางสายเลือดกับหมู่ตน จึงเกิดการเหยียดสีผิวขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ข้ามชนเผ่า จึงแยกประเภทวรรณะ (ชนชั้น) ออกเป็น ๔ กลุ่มคือ
๑.) พราหมณ์ (Brahmana) มีหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีบูชา และพิธีอื่นๆ
๒.) กษัตริย์ (Kshatriya) เป็นผู้ปกครองแคว้น หรือเมือง เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์
๓.) แพศย์ (Vaishya) เป็นชาวบ้านที่มีอาชีพการงาน ทำไร่ทำนา ค้าขาย ช่าง
๔.) ศูทร (Sudra) เป็นทาสหรือกรรมกร
หนักกว่านั้นก็เห็นจะเป็นกลุ่มชนที่ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเกิดจากการที่บิดาและมารดาเป็นคนต่างวรรณะกัน จึงเกิดมามีสถานะทางสังคมต่ำกว่าวรรณะศูทร ถูกเรียกว่า “จัณฑาล” ความหมายแฝงของจัณฑาลก็คือ “ผู้ไร้วรรณะ” ซึ่งผู้ที่เกิดในวรรณะระดับบน ก็จะเป็นจัณฑาลที่ถูกยอมรับมากกว่าผู้ที่เกิดในระดับล่าง เช่น แพศย์ + ศูทร กลุ่มจัณฑาลกลุ่มนี้จะถูกเหยียดหยามมากที่สุด (ในปัจจุบันการเหยียดวรรณะลดน้อยลงแล้ว)
การที่ชาวอารยันเข้ามาสู่อินเดีย ก็นำเอาหลักความเชื่อแนวทางปฏิบัติทางศาสนาดั้งเดิมของพวกตนติดตัวมาด้วย เช่น การประกอบพิธีเกี่ยวกับไฟเพื่อเป็นการพลีกรรม (การบูชา) การสร้างวิหารหรือเทวาลัยเพื่อบุชาเทพเจ้า และนำเข้ามาก่อรูปสร้างร่าง ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดียดั้งเดิม ที่จะถูกเรียกว่า “ทราวิฑ” หรือ “มิลักขะ” อันเป็นคำเรียกและการดูถูกจากชาวอารยันว่าเป็นพวกทมิฬ พวกล้าหลัง พวกแปลกประหลาด และ “นิษาท” คือชาวอินเดียเก่าพวกที่มีอาชีพ พราน ประมง หรือเป็นโจร การมุ่งเน้นไปที่ธรรมชาติ ๔ ประการ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เป็นตัวแปรหลักในการมอบความอุดมสมบูรณ์ให้แก่มวลมนุษย์ จนคติความเชื่อของชาวอารยันผสมกลมกลืนกลายเป็นที่ยอมรับ ก่อตัวเป็นลัทธิใหม่ และพัฒนามาเป็นศาสนาพราหมณ์ (Brahmana) ส่วนมูลเหตุที่ต้องเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ก็เพราะการให้ความนับถือในวรรณะพราหมณ์ ในฐานะผู้ศึกษาและสืบทอดความรู้ที่แม้แต่กษัตริย์ก็ต้องเชื่อฟัง เพราะความเชื่อที่ว่า พราหมณ์สามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้โดยตรง และนำสิ่งที่เทพเจ้าบอกมาเป็นความรู้นั่นเอง
และด้วยหลักคำสอนหรือความเชื่อที่ถูกแบ่งแยกจากยุคพระเวทออกมาเป็นพุทธศาสนา จากการที่เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงเริ่มต้นจากการศึกษาพระเวทจนแตกฉานหมดสิ้น ไม่มีให้ศึกษาเพิ่มเติมอีก ภายหลังได้ทรงค้นพบหนทางหลุดพ้นจากทุกขเวทนา หลังจากบำเพ็ญทุกรกิริยา จนรู้แจ้งในหนทางแห่งการดับทุกข์ จึงประกาศศาสนาพุทธ และทิ้งหลักคำสอนไว้เป็นแนวทางแก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ทำให้การนับถือศาสนาพราหมณ์ลดน้อยลงในห้วงเวลาหนึ่ง ด้วยเหตุที่พระธรรมคำสอนเข้าถึงผู้คนมากในห้วงเวลานั้น
(ภาพประกอบบทความ)
ในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ศาสนาพราหมณ์ได้เริ่มฟื้นฟูอีกครั้ง โดยประยุกต์หลักคำสอนเชื่อมโยงพระพุทธศาสนาเข้ากับพราหมณ์ และสถาปนาขึ้นใหม่เป็นศาสนาที่เราเรียกกันว่าฮินดู (คำนี้อาจไม่คุ้นชินกับศาสนาฮินดูนัก เนื่องจากเป็นการขนานนาม และสันนิษฐานว่าจะเพี้ยนมาจาก “สินธุ” แม่น้ำทางเหนือของอินเดีย เพราะคำว่าฮินดู ไม่มีปรากฏในเอกสารโบราณของศาสนาฮินดู และไม่ได้เป็นคำสันสกฤตดั้งเดิมแต่อย่างใด) โดยมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นปางอวตารหนึ่งขององค์พระวิษณุนารายณ์ นับได้เป็นปางที่ ๙ พระนามว่า พุทธมายา และกำหนดคำสอนให้คล้ายคลึงกับพระรัตนตรัย โดยกำหนดถึงมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามพระองค์ คือพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ รวมเรียกว่า พระตรีมูรติ
เมื่อมีการผสมผสานความเชื่อและหลักคำสอน และเพื่อเป็นการป้องกัน มิให้ศาสนาพุทธเสื่อมถอยและหมดไปจากอินเดีย สงฆ์สาวกจึงมีการประยุกต์หลักปฏิบัติทางพุทธศาสนาให้มีการสวดมนต์เพื่ออาศัยพุทธคุณอันเป็นการเคารพนอบน้อม และแสดงคุณอันประเสริฐแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาธยายพุทธปาฏิหาริย์สอดแทรกในบทสวดหลายบท ที่เห็นได้ชัดคือนิกายมหายาน ที่จะมีเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ สอดแทรกฤทธานุภาพ ปาฏิหาริย์ไม่ด้อยไปกว่าศาสนาฮินดู สิ่งเหล่านี้ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนิยมอย่างแท้จริง และจุดเริ่มต้นของการสาธยายมนต์ ก็น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานจากพฤติการณ์ดังกล่าว
ประเทศไทยเอง ก็มีการรับเอาความเชื่อทางศาสนาเข้ามายึดถือปฏิบัติในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน และมีอิทธิพลกันในแต่ละยุคสมัย ทั้งศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ หรือความเชื่อของศาสนาผีดั้งเดิม ซึ่งในแต่ละยุคสมัย ก็จะสอดแทรกประเพณีปฏิบัติไปตามแนวคิดและศรัทธาในห้วงนั้น ดังนั้น เมื่อจุดเด่นของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธตีขนาบควบคู่กันมาอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีค่านิยมตามคำสอนจะถือกำเนิดเกิดขึ้นผ่านยุคสมัยต่าง ๆ ในส่วนของศาสนานั้น แน่นอนว่าถูกแบ่งแยกตามหลักคำสอนชัดเจน แต่ในส่วนของประเพณีและวิถีปฏิบัติ กลับถูกขัดเกลาให้เป็นอารยธรรมประจำชาติอย่างแยกไม่ออก ทั้งเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาก็ตาม จึงเรียกได้ว่าเป็นการหล่อหลอมทางศาสนา ให้เกิดวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย จนกระทั่งยุคสมัยหนึ่ง คนไทยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือแนวคิดและวิถีปฏิบัติของศาสนาใดเพราะทุกอย่างขมวดรวมไปอยู่ในวัด สถานที่ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของคนทั่วไป ทั้งคำสอนทางศาสนาพุทธ หรือความเชื่อแบบพรามหมณ์พ่วงฮินดู ก็ปะปนอยู่ในวัดเช่นเดียวกัน จนกระทั่งปัจจุบัน จึงมีการแยกแยะคำสอนอย่างชัดเจนจากกระแสสังคม เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า คนไทยหลายกลุ่มได้ตื่นรู้และแยกแยะวิถีปฏิบัติอย่างชัดเจนได้
😊คิดเห็นอย่างไรเข้ามาคอมเมนต์กันได้ครับ 😊
แชร์เนื้อหาจากหนังสือ "สายมูต้องมนต์" แนวทางปฏิบัติสำหรับสายมูที่ยังสับสน สายมูที่แสวงหาโชคลาภ หรือลาภผล ให้เดินทางอย่างมีแบบแผน ไม่งมงายจนเกินไป แต่ก็ยังไม่ถึงซึ่งคำสอนทางศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่หนังสือธรรมะสำหรับผู้ใฝ่ศึกษาธรรมระดับปฏิบัติ เป็นเพียงเศษเสี้ยวแนวคิดสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่แสวงหาความสุขและความสำเร็จทางโลกเพียงเท่านั้น
การหล่อหลอมศาสนาพุทธ-พราหมณ์ เข้าสู่สังคมไทย
ย้อนกลับไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ปกครองแคว้นมคธ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย ครองราชย์ห้วงปีพุทธศักราช ๒๗๐-๓๑๑ ขณะนั้นแคว้นมคธมีอำนาจปกครองครอบคลุมไปทั่วชมพูทวีป จรดปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน และศรีลังกาในปัจจุบัน พระองค์ได้มีการทำนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด และมีการจัดสมณทูตขึ้นเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙ สายด้วยกัน ซึ่งในยุค สมัยนั้น ประเทศไทยยังอยู่ในยุคสมัยของสุวรรณภูมิ และได้รับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากสมณทูตสายที่ ๘ นับเป็นวาระแรกที่พุทธศาสนาได้เจริญตามลำดับ ถึงแม้จะสลับปรับเปลี่ยนนิกายที่มีอิทธิพลในแต่ละยุคสมัยอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถสืบทอดมาสู่ประเทศไทยในยุคปัจจุบันอย่างลงตัว
ข้อสังเกตของจุดเริ่มต้นแห่งการก่อตั้งพุทธศาสนานั้น ต้องย้อนไปถึงยุคพระเวท (Vedic Period) ในช่วงประมาณ ๘๐๐-๓๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว บ้างถูกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์เก่า เพราะว่าสมัยพระเวทแต่งขึ้นจากการเล่าสืบต่อกันโดยใช้ภาษาอินโดอารยัน และเมื่อคราวที่พวกอารยันเข้ามาสู่อินเดีย ก็ตั้งถิ่นฐานทางตะวันตกเฉียงเหนือเลยแม่น้ำสินธุขึ้นไป ชาวอารยันนั้นถูกจัดว่าเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ป่าเถื่อนและมีวัฒนธรรมอันดีแล้วในระดับหนึ่ง มีความยึดถือความคิดเกี่ยวกับเรื่องของการแบ่งชนชั้นมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอินเดีย พบเห็นคนผิวคล้ำกว่าตน ก็เกรงกลัวเรื่องการผสมผสานทางสายเลือดกับหมู่ตน จึงเกิดการเหยียดสีผิวขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ข้ามชนเผ่า จึงแยกประเภทวรรณะ (ชนชั้น) ออกเป็น ๔ กลุ่มคือ
๑.) พราหมณ์ (Brahmana) มีหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีบูชา และพิธีอื่นๆ
๒.) กษัตริย์ (Kshatriya) เป็นผู้ปกครองแคว้น หรือเมือง เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์
๓.) แพศย์ (Vaishya) เป็นชาวบ้านที่มีอาชีพการงาน ทำไร่ทำนา ค้าขาย ช่าง
๔.) ศูทร (Sudra) เป็นทาสหรือกรรมกร
หนักกว่านั้นก็เห็นจะเป็นกลุ่มชนที่ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเกิดจากการที่บิดาและมารดาเป็นคนต่างวรรณะกัน จึงเกิดมามีสถานะทางสังคมต่ำกว่าวรรณะศูทร ถูกเรียกว่า “จัณฑาล” ความหมายแฝงของจัณฑาลก็คือ “ผู้ไร้วรรณะ” ซึ่งผู้ที่เกิดในวรรณะระดับบน ก็จะเป็นจัณฑาลที่ถูกยอมรับมากกว่าผู้ที่เกิดในระดับล่าง เช่น แพศย์ + ศูทร กลุ่มจัณฑาลกลุ่มนี้จะถูกเหยียดหยามมากที่สุด (ในปัจจุบันการเหยียดวรรณะลดน้อยลงแล้ว)
การที่ชาวอารยันเข้ามาสู่อินเดีย ก็นำเอาหลักความเชื่อแนวทางปฏิบัติทางศาสนาดั้งเดิมของพวกตนติดตัวมาด้วย เช่น การประกอบพิธีเกี่ยวกับไฟเพื่อเป็นการพลีกรรม (การบูชา) การสร้างวิหารหรือเทวาลัยเพื่อบุชาเทพเจ้า และนำเข้ามาก่อรูปสร้างร่าง ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดียดั้งเดิม ที่จะถูกเรียกว่า “ทราวิฑ” หรือ “มิลักขะ” อันเป็นคำเรียกและการดูถูกจากชาวอารยันว่าเป็นพวกทมิฬ พวกล้าหลัง พวกแปลกประหลาด และ “นิษาท” คือชาวอินเดียเก่าพวกที่มีอาชีพ พราน ประมง หรือเป็นโจร การมุ่งเน้นไปที่ธรรมชาติ ๔ ประการ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เป็นตัวแปรหลักในการมอบความอุดมสมบูรณ์ให้แก่มวลมนุษย์ จนคติความเชื่อของชาวอารยันผสมกลมกลืนกลายเป็นที่ยอมรับ ก่อตัวเป็นลัทธิใหม่ และพัฒนามาเป็นศาสนาพราหมณ์ (Brahmana) ส่วนมูลเหตุที่ต้องเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ก็เพราะการให้ความนับถือในวรรณะพราหมณ์ ในฐานะผู้ศึกษาและสืบทอดความรู้ที่แม้แต่กษัตริย์ก็ต้องเชื่อฟัง เพราะความเชื่อที่ว่า พราหมณ์สามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้โดยตรง และนำสิ่งที่เทพเจ้าบอกมาเป็นความรู้นั่นเอง
และด้วยหลักคำสอนหรือความเชื่อที่ถูกแบ่งแยกจากยุคพระเวทออกมาเป็นพุทธศาสนา จากการที่เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงเริ่มต้นจากการศึกษาพระเวทจนแตกฉานหมดสิ้น ไม่มีให้ศึกษาเพิ่มเติมอีก ภายหลังได้ทรงค้นพบหนทางหลุดพ้นจากทุกขเวทนา หลังจากบำเพ็ญทุกรกิริยา จนรู้แจ้งในหนทางแห่งการดับทุกข์ จึงประกาศศาสนาพุทธ และทิ้งหลักคำสอนไว้เป็นแนวทางแก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ทำให้การนับถือศาสนาพราหมณ์ลดน้อยลงในห้วงเวลาหนึ่ง ด้วยเหตุที่พระธรรมคำสอนเข้าถึงผู้คนมากในห้วงเวลานั้น